เราเป็นชาวพุทธ?”

 

 

พระพรหมคุณาภรณ์เคยเทศน์ไว้ว่า

ชาวพุทธมักฝากศาสนาไว้กับพระเพียงอย่างเดียว

แทนที่จะถือคติตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า

พระศาสนานั้นอยู่ได้ด้วยบริษัททั้ง ๔

คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

ไม่ใช่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่จะต้องช่วยกัน

พวกเรามักจะมองว่าศาสนานั้นเป็นเรื่องของพระ...

 

ผมจึงไม่แปลกใจ(อีกแล้ว)

ว่าทำไมเราจึงเป็นพุทธกันเพียงแต่ในนาม

นั่นเป็นเพราะเราไม่ต้องปฏิบัติวัตรใดดังที่พระพุทธองค์ทรงคำสอน

เราก็เป็นชาวพุทธกันได้แล้ว?

 

เมื่อถึงวันพระใหญ่

เมื่อถึงคราวที่เราทุกข์ใจ

เมื่อถึงคราวที่เราอยากจะได้รับโชคลาภ

เมื่อถึงคราวมีวันขึ้นปีใหม่

เมื่อถึงคราววันคล้ายวันเกิดของตนเองและคนรัก

เมื่อนั้นเราถึงจะเข้าวัดทำบุญ

การเข้าวัดก็มิใช่เพื่อปฏิบัติกิจเยี่ยงชาวพุทธ

แต่เราเข้าไปเพื่อลักขโมยเอาความสบายใจกลับมาจากพระพุทธรูป!?!

เราเข้าวัดไปเพื่อต้องการเสพพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์!?!

ไฉนเราจึงไม่ปฏิบัติตนให้ตนเองสงบร่มเย็นในใจ!?!

ไฉนเราจึงไม่ปฏิบัติตนให้ตนเองเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์!?!

ไฉนเราจึงไม่ปฏิบัติตนให้เป็นที่พึ่งได้ด้วยตนเอง!?!

มิใช่หวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นใด...

 

อีกคำถามที่น่าสนใจและควรค่าแก่การแสวงหาคำตอบยิ่ง คือ

หากพระพุทธศาสนาไม่มีพระพุทธรูป เราจะกราบไหว้อะไร?

หากพระพุทธศาสนาไม่มีพระพุทธรูปให้เราทำการกราบไหว้

เราจะสามารถสงบจิตสงบใจด้วยตนเองได้ไหม?

หากพระพุทธศาสนาไม่มีพระพุทธรูป เราจะศรัทธาอะไร?

ระหว่างพระพุทธรูปอันเป็น วัตถุ กับ พุทธธรรม อันเป็นภาวะที่ควรค่าแก่การเข้าถึง?

 

สมัยพุทธกาลมีพระพุทธรูปแล้วหรือยัง?

พระพุทธรูปเพิ่งเริ่มมีการสร้างขึ้น

เมื่อราว ๕๐๐ ปี หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วใช่ไหม?

บางตำราบางคัมภีร์ก็อ้างอิงว่าสร้างขึ้นเมื่อพระองค์ยังคงพระชนม์ชีพอยู่?

โดยมีหลักฐานจากจดหมายเหตุของพระถังซัมจั๋ง?

บ้างว่าเกิดในสมัยพระเจ้ามิลินท์ หรือเมนันเดอร์ซึ่งเป็นกษัตริย์กรีกผู้ปกครองอินเดีย?

บ้างว่าเกิดในสมัยพระเจ้ากนิษกะมหาราช ซึ่งปกครองอินเดียเหนือ

ซึ่งรับสั่งให้ช่างกรีกสร้างพระพุทธรูปขึ้นตามแนวพุทธลักษณะศิลปะผสมกรีก-โรมัน?

 

ผมมิใช่นักประวัติศาสตร์พุทธศิลป์

ผมจึงไม่อาจจะชี้ชัดได้ถึงการเกิดขึ้นของพระพุทธรูป

และมันก็ไม่ใช่หน้าที่ของผมที่จะต้องมาบรรยายถึงเรื่องเหล่านี้

 

สิ่งที่ผมกำลังจะสื่อสารถึงท่านผู้อ่าน คือ

เรากราบไหว้สักการะพระพุทธรูปเพื่ออะไร?

เรากราบไหว้พระพุทธรูปแล้วเราได้ทำการระลึกนึกถึง

พระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้าหรือไม่?

 

หรือเรากราบไหว้วัตถุแล้วมีเจตคิดติดสินบนเพียงอามิสบูชา?

เราไม่ค่อยได้คิดถามและแสวงหาคำตอบต่อคำถามเหล่านี้

เรามัวแต่ยึดติดถือมั่นในวัตถุ รูปเคารพ และพิธีกรรม

ซึ่งเป็นดั่งหยากไย่รกรุงรังปิดบังแก่นแท้แห่งพุทธธรรม

ทั้งที่พระพุทธเจ้าแนะไม่ให้เราทำการยึดติดถือมั่นในวัตถุ

อีกทั้งควรละวางซึ่ง

โลภะ (ความโลภ ทะยานอยากไม่รู้จักพอ)

โทสะ (ความโกรธ เพราะการยึดถือในตัวตน)

โมหะ (ความหลง หลงโดยที่ไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้แจ้ง)

ทว่าเรากลับปฏิบัติตรงกันข้าม ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น?

เราควรตั้งคำถามเหล่านี้กับตัวเองอย่างจริงจัง...

 

ไฉนเราจึงโลภด้วยการขอสิ่งต่างๆนานาจากสิ่งที่ตนคิดว่าศักดิ์สิทธิ์

ไฉนเราจึงโกรธในยามที่มีผู้ช่วยแนะนำในหนทางอันควรพินิจ

ไฉนเราจึงหลง เขลา ไม่ใช้ปัญญา ไม่ใช้ความรู้เพื่อทำการศึกษาให้แจ้งประจักษ์

ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น? เราควรตั้งคำถามเหล่านี้กับตัวเองอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ช่วยกันกะเทาะเปลือกกระพี้หนานั้นออกเสีย

เพื่อจะได้ทะลุไปถึงแก่นแท้และภาวะแห่งพุทธธรรม...

 

หากท่านใดเคยศึกษาผลงานของท่านพุทธทาส

ดังคำที่ว่า พระพุทธรูปบังพระพุทธเจ้า

หรือจากการแสดงปาฐกถาเรื่อง ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม

ณ พุทธสมาคม กรุงเทพฯ ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2491

ก็จะเข้าใจในสิ่งที่ผมกำลังพยายามสื่อสารนี้

หากท่านที่ไม่เคยศึกษา ก็เพียรศึกษาเถิดนับเป็นประโยชน์ยิ่งแก่ท่าน...

 

ทว่าในทุกทุกวันที่ผ่านพ้น

ทั้งในระหว่างการทำงาน ระหว่างการร่ำเรียน

เราสามารถปฏิบัติตนให้เป็นคนที่มีความสุขได้

เรากลับไม่ปฏิบัติตนด้วยศีล สมาธิ และปัญญา

ทั้งที่เราสามารถปฏิบัติกันได้ทุกวัน

ไม่จำเป็นต้องเป็นวันพระหรือวันสำคัญทางพุทธศาสนา

เป็นเพราะอะไร นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องมาช่วยกันตอบคำถามนี้

 

หากบริษัททั้ง ๔ มีบริษัทหนึ่งใด

ปฏิบัติบูดเบี้ยว มิได้มี ศีล สมาธิ และปัญญา

มิได้ยึดมั่นในสิ่งนั้นเป็นที่พึ่งในการปฏิบัติตน

มิช่วยเหลือซึ่งกันและกันในบริษัททั้ง ๔

ก็มิต้องทำหน้าฉงนสงสัย

ว่าเหตุใดสังคมพุทธแบบไทยไทยจึงเลวร้ายยิ่งขึ้นเรื่อยเรื่อย

 

เราเคยตั้งคำถามกับตนเองบ้างไหม

ในการที่เราประกาศตนว่า...

 

พุทธัง สรณัง คัจฉามิฯ

(ข้าพเจ้า ขอถึง ซึ่งพระพุทธเจ้า ว่าเป็นสรณะ ที่พึ่ง ที่อาศัย ฯ)

ธัมมัง สรณัง คัจฉามิฯ

(ข้าพเจ้า ขอถึง ซึ่งพระธรรมเจ้า ว่าเป็นสรณะ ที่พึ่ง ที่อาศัย ฯ)

สังฆัง สรณัง คัจฉามิฯ

(ข้าพเจ้า ขอถึง ซึ่งพระสงฆเจ้า ว่าเป็นสรณะ ที่พึ่ง ที่อาศัย ฯ)

 

เราเคยปฏิบัติตนดังที่ได้กระทำการท่องจำสิ่งเหล่านี้บ้างไหม?

หรือเราไม่เคยรู้เลยว่าเราท่องจำไปเพื่ออะไร?

หรือเราไม่ทราบความหมายของการประกาศตนเช่นนั้น?

นับเป็นอีกหนึ่งคำถามสำคัญที่มีต่อผู้ที่อ้างตนว่าเป็นชาวพุทธครับ

 

ก่อนจบบทความนี้

ผมขอนำเอาพุทธพจน์มาฝากไว้ให้ชาวพุทธทั้งหลายได้อ่านกันครับ

ดังต่อไปนี้ครับ...

 

บุคคลประพฤติชอบเวลาใด เวลานั้นได้ชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี

มงคลดี เป็นเช้าดี อรุณดี เป็นขณะดี ยามดี

และเป็นอันได้ทำบูชาดีแล้วในท่านผู้ประพฤติพรหมทั้งหลาย

แม้กายของเขาก็เป็นสิทธิโชค วจีกรรมก็เป็นสิทธิโชค มโนกรรมก็เป็นสิทธิโชค

ประณิธาณของเขาก็เป็นสิทธิโชค

ครั้นกระทำกรรมทั้งหลายที่เป็นสิทธิโชคแล้ว

เขาย่อมได้ประสบแต่ผลที่มุ่งหมายอันเป็นสิทธิโชค

(พุทธพจน์ จากหนังสือพุทธธรรม : หน้า 215)

 

การเพียรพยายามเป็นหน้าที่ที่ท่านทั้งหลายต้องทำเอง

ตถาคตเป็นแต่ผู้บอกทาง (พุทธพจน์ จากหนังสือพุทธธรรม : หน้า 217)

 

ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงมีตนเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย

จงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย

(พุทธพจน์ จากหนังสือพุทธธรรม : หน้า 218)

 

ขอให้ทุกท่านมีความสุข มีความเจริญ

มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา

ขอให้บุญรักษา ขอให้พระคุ้มครองครับ

 

 

*********

 

ป.ล. การเขียนบทความของผมในลักษณะเช่นนี้

ผมนับว่ามันเป็นการทิ้งประเด็นคำถามอันกระแทกกระทั้นจิตวิญญาณของผู้อ่าน

หรือที่ท่านพุทธทาสนิยมใช้คำว่า spiritual bomb

 

Views: 132

Replies to This Discussion

หลายวันก่อนได้รับชมตัวอย่างรายการพื้นที่ชีวิตทางทีวีไทย
ซึ่งช่วยกระตุกต่อมคิดและสำนึกได้ชะงัดยิ่งนัก
ดังที่นักวิชาการอเมริกันท่านหนึ่งกล่าวไว้ประมาณว่า
ประเทศไทยหรือสังคมไทย
บัดนี้ "มิใช่สังคมของชาวพุทธ" อีกต่อไป

แต่เป็น "สังคมบริโภคนิยม!!!"



ช่างน่าติดตามแสวงหาคำตอบจร
ิงจริง
เหตุใดนักวิชาการชาวอเมริกันจึงกล่าวไว้แบบนั้น
แต่หากนำเอาไปเปรียบกับภาพสังคมชาวพุทธของประเทศพม่าหรือลาว
ก็คงจะเห็นได้ชัดเจนยิ่ง ว่าเรากำลังนำพาประเทศชาติและประชาชนของเรา
เดินไปสู่การรักษาอัตลักษณ์ที่มีค่ายิ่งของชนชาติและวัฒนธรรมตนไว้
หรือกำลังจะพากันเดินไปสู่หุบเหวแห่งการทำลายอัตลักษณ์ตนเอง
และนี่ก็เป็นส่วนของคำถามที่ว่า

"เราเป็นชาวพุทธกันอย่างไรหนอ?"

"เราเป็นชาวพุทธกันจริงละหรือ?"

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service