แนะนำสถานที่เที่ยว : ถ้ำทิพุเชะ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

ห่างจากกรุงเทพราว 3 ชั่วโมงครึ่ง ในช่วงเวลาที่น้ำในถ้ำลดต่ำประจำปีซึ่งมักจะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายน ถ้ำทิพุเชะก็พร้อมเปิดให้นักท่องเที่ยวที่รักผจญภัยเต็มรูปแบบเข้ามาเยี่ยมชม


ถ้ำทิพุเชะแปลกันตรงๆว่าถ้ำน้ำลอด ปีหนึ่งๆมีคนมาเยี่ยมเพียงแค่สิบกว่าคณะ ไม่มากเมื่อเทียบกับสถิตินักท่องเที่ยวทั้งหมดในประเทศไทย แต่ก็ไม่น้อยเมื่อนึกถึงความเปราะบางของถ้ำ

ผมอยากจะนับว่าถ้ำนี้ตื่นตาตื่นใจถึงที่สุด มากกว่า'ถ้ำเสาหิน'ที่มีเสาหินหรือ Stalagmite ที่สูงที่สุดในโลกในอุทยานแห่งชาติลำคลองงูเสียอีก ไม่ได้เทียบกับความอลังการของโถงถ้ำหินย้อยอันยิ่งใหญ่ แต่พูดถึงความสดใหม่ของถ้ำเมื่อเห็น ตลอดระยะทางเราจะเห็นกระบวนการของแคลเซียมที่พร้อมจะเป็นหินงอกอยู่ตลอดทางไม่ต่างกับการที่ได้เห็นทารกที่กำลังจะเติบโตเต็มวัยในอนาคตอีกแสนปีข้างหน้า

มันจะยิ่งใหญ่เติบโตเป็นหินผาอย่างมั่นคงจนเป็นอัญมณีแห่งใต้ภิภพ ถ้าคราบไขมันจากมือของมนุษย์ไม่ไปหยุดกระบวนการเติบโตเสียก่อน นั่นคือสาเหตุที่ถ้ำที่ 'เป็น' มักไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปเข้าไปชม เฉพาะคนที่มีจิตใจอนุรักษ์เท่านั้นที่คู่ควรกับการเที่ยวถ้ำประเภทนี้ มิเช่นนั้น เราอาจจะฆ่าสิ่งสำคัญทางธรรมชาติที่ควรมีอายุยืนนานให้ตายลงจากมือตัวเองอย่างไม่รู้ตัว


นอกจากความเปราะบางของถ้ำที่มักกีดกันไม่ให้นักท่องเที่ยวทั่วไปชมอย่างง่ายๆแล้ว ผมว่าที่ถ้ำทิพุเชะนี้ยังสามารถคงความสดใหม่เพราะสกรีนทั้งคนขยาดที่แคบ คนขยาดที่มืด คนที่รักสบาย คนที่รักสะอาดออกไปอีกมาก บอกตรงๆ ผมทั้งทึ่งและอดชื่นชมคนที่เข้ามาสำรวจคณะแรกที่เข้ามาสำรวจถ้ำทิพุเชะนี้ไม่ได้ ภายในถ้ำเรียกว่าแทบต้องคลานสี่เท้ารวมทั้งต้องเลื้อยเป็นงูตลอดเวลาห้าชั่วโมงครึ่ง อีกทั้งอาการความเสี่ยงการต่อการเป็นไฮโปเทอเมีย (Hypothermia) หรือการสูญเสียความร้อน เขาวงกตภายในถ้ำนี้เรียกความกลัวได้อย่างไม่ยาก เพียงแค่มุดไปครึ่งทางหากดับไฟฉายหมดจะมองไม่เห็นอะไรเลย ความรู้สึกขนหัวลุกที่มักจะเกิดขึ้นเสมอๆว่าถ้าเกิดเหตุไม่คาดคิดเหมือนในหนังภาพยนตร์หรือในข่าวน้ำหลากเราไม่มีสิทธิ์เรียกร้องความช่วยเหลือจากโลกภายนอกได้เลย เมื่อนึกมันทำให้อยากออกไปเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้จริงๆ

ถ้ำนี้มีระยะจริงๆแค่ 800 เมตรแต่เป็นระยะวัดเป็นเส้นตรงที่วัดโดย GPS ส่วนระยะคดเคี้ยวแบบวงกตในถ้ำเทคโนโลยีปัจจุบันที่ต้องพึ่งดาวเทียมอย่าง GPS ยังจนใจที่จะวัดได้ การเดินทางมาถ้ำนี้มีอยู่วิธีเดียวเท่านั้น คือใช้บริการมืออาชีพของทีมงาน Hyperventure เท่านั้น ซึ่งสามารถติดต่อโดยตรง หรือ ติดต่อผ่านรีสอร์ทบ้านห้วยอูล่องที่ทองผาภูมิเท่านั้น การมาเที่ยวต้องเป็นหมู่คณะอย่างน้อยแปดคนขึ้นไป และต้องติดต่อทีมงานล่วงหน้าอย่างน้อยสองอาทิตย์

ก่อนเริ่มเข้าถ้ำ เราจะต้องมีการทดสอบการใช้อุปกรณ์กันก่อน ลืมบอกไปว่าการเที่ยวถ้ำทิพุเชะนี้ราจะต้องโรยตัวในถ้ำถึงสองรอบ มีความสูงที่ 20 เมตร และ 15 เมตร แต่ไม่ต้องกลัวคณะเราในครั้งนี้เกือบทั้งหมดมือใหม่ไม่เคยมีประสบการณ์เที่ยวถ้ำและโรยตัวมาก่อน ดังนั้นอาจจะลำบากแต่ถ้าใจรักและมีจิตใจอนุรักษ์แล้วไม่ใช่เรื่องยากเสียทั้งหมด

เมื่อทุกคนได้ซักซ้อมความเข้าใจพื้นฐานของการโรยตัวก็ถึงเวลาการทดสอบจริงโดยมีอุปกรณ์สำคัญคือ Harness ที่เอาไว้รัดตัวเองกับเชือก รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆเช่น ไฟฉาย แบตเตอรี่ หมวก ถุงมือ และสนับข้อศอกและเข่า จากนั้นจึงเริ่มการใช้จริง รถใช้เวลาไม่ถึง 10 นาทีก็ถึงปากถ้ำ


เพียงจากปากถ้ำเล็กน้อยเราก็เริ่มด่านวัดใจคือที่ความสูง 20 เมตร การลงจะลงเป็นคู่โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างไม่ห่าง ความยากจริงคือการเริ่มต้นวัดใจเริ่มลงมาครั้งแรก แต่พอไปสักเล็กน้อยความหวาดวิตกเริ่มหายไปเหลือแต่ความลื่นเพราะทางลงเป็นหินที่ไม่เรียบสม่ำเสมอและลื่น ทำให้ใจหายวาบบ้างเมื่อตัวเราสไลด์ลื่นออกจากแนวดิ่ง งานนนี้ทุกคนผ่านไปได้ฉลุยเหลือแต่มือสั่นๆและกล้ามเนื้อแขนที่เมื่อยล้าเพราะจับเชือกแรงไป


จากนั้นจึงเป็นการเดินก้มๆเงยๆซะส่วนมาก อากาศเริ่มเย็นวาบๆเป็นบางครั้ง เราต้องผ่าไปแต่ละด่านซึ่งส่วนมากก็ยังไม่ต้องถึงกับคลานแต่ต้องเดินอย่างระมัดระวังเพราะมันเป็นทางก้อนหินขึ้นลงตลอดเวลาม มีแอ่งน้ำให้เปียกที่ขาเป็นบางช่วง เมื่อเดินมาถึงจุดสำคัญคือรูน้ำที่ต้องมุดรูลงไปสู่พื้นเบื้องล่างราว 2 เมตร ทำให้นึกถึงสันคมมีดที่เขาช้างเผือก ความที่ก้อนหินจับยาก และก้มมองไม่เห็นทำให้การวางขาเพื่อยึดตัวค่อนข้างลำบาก ถึงตอนนี้รู้สึกอึดอัดไม่น้อยเมื่อพ้นลงมาก็หล่นตู้ม เดินทางไปต่อด่านที่โหดกว่า


มาถึงเกือบครึ่งทางคราวนี้เราต้องโรยตัวลงอีก 15 เมตร ความยากคราวนี้อยู่ที่การโรยตัวช่วงแรก ต้องหันหลังมุดรูเพื่อพร้อมจะได้โรยตัวลงไป เจ้าหน้าที่ต้องจับดีๆเพราะขณะมุดลงตัวเราจะเคว้งอยู่กลางอากาศ ก่อนที่จะเริ่มใช้มือจับเพื่อเบรคตัวเองไต่ลงมา ถึงตอนนี้ยิ่งทึ่งใหญ่ว่า คนมาสำรวจช่างจะสรรหาสำรวจสถานที่นี่เสียจริง เพราะหลักๆคือต้องมุดๆๆๆ ทุกรูแคบๆกว่าจะไปทะลุออกอีกฝั่งหนึ่ง ทำได้ยังไงกัน!?

ประสบการณ์ครั้งแรกที่ได้กินข้าวในถ้ำก็เกิดขึ้นหลังจากโรยตัวจุดที่สองเสร็จ เป็นโถงถ้ำกว้างๆ เรากินกันบนก้อนหินและเลนแฉะๆ ทุกคนตอนนี้เริ่มสูญเสียความร้อน มีไอพุ่งออกมาจากผิวหนังคลุ้งเหมือนปางอุ๋งกันทุกคน จากนี้ไปเรามาถึงกลางทางเรียบร้อยแล้ว ส่วนครึ่งหลังนี้ เราจะเห็นจุดกำเนิดของหินงอกเต็มไปหมด ซึ่งการเดินเราต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก ตามทางจะปรากฏเป็นดวงสีขาวๆปรากฏอยู่ตามพื้นซึ่งก็คือแร่แคลเซียมที่กำลังพร้อมก่อตัวขึ้นไปเป็นแท่งหินงอก ความรู้สึกตอนนี้เหมือนเราได้เห็น 'เอ็มบริโอ' หรือตัวอ่อนในท้องแม่ แม่ในที่นี้คือถ้ำทิพุเชนี่เอง

นอกจากนี้เรายังมีโอกาสได้เห็นสิ่งมีชีวิตภายในถ้ำเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นปลาตาบอด ปู หรือแม้แต่ปลาไหลที่อาศัยอยู่ภายในถ้ำ เสียดายที่ไม่มีโอกาสได้เห็นเจ้าตัว HAIRY MARY ที่มีลักษณะคล้ายแมงมุมเป็นแมลงขายาวหลายขา อยู่ในไฟลัม อาร์โทรพอด (Arthropod) ซึ่งหมายถึงสัตว์ที่มีรยางค์ต่อกัน เป็นข้อๆ หน้าที่ของมันคือย่อยสลายซากสัตว์และสัตว์เล็กๆภายในถ้ำ (ดูหน้าตาของมันได้ที่ http://img.earth-touch.com/NC010_21.10.07/images/NC010_21.10.07_ph0...) นอกจากนั้นยังไม่มีโอกาสได้เห็น เขียดถ้ำ หรือ จิ้งหรีดถ้ำ


เมื่อถึงเวลาเราก็ต้องเริ่มมุดถึงคลานกันแล้ว ความรู้สึกเมื่อยล้าเริ่มเข้ามาแทนที่ ทั้งคลานเป็นหมา ปีนเป็นลิง สไลด์เป็นงู โดยเฉพาะด่านแสบๆอย่างรู Slim นี่แทบงงว่าเราจะลอดไปได้หรือ!? เพราะต้องแทบแขม่วพุงมุดค่อยๆกระดึ๊บช้าๆออกไปจนหล่นปุ๊ลงไปในโคลนแหยะๆ (เฮ้อ) ต้องค่อยๆผ่านไปทีละคัน และหลังจากนั้นก็มีแต่มุดๆๆเท่านั้น ทั้งเอาหน้าลง เอาข้างตัวสไลด์ หรือหงายหน้าขึ้นก็แล้ว การเดินทางก็ยังไม่สิ้นสุดเสียที หัวโขกผนังถ้ำจนท้อ หัวเข่าเต็มไปด้วยกรวดทำให้คลานแล้วเจ็บ มือ แขน เอว ล้วนเป็นลอยถลอกเต็มไปหมด


ถึงแม้ๆจะก้มๆเงยๆ ลากกระเป๋าจนท้อ สุดท้ายเราก็ถึงทางออกมองเห็นแสงอาทิตย์ที่อยู่ด้านบน จนเราไม่รู้เลยว่าเราเดินอยู่ใต้สวนยางพารานี่เอง รางวัลที่ได้รับนั้นคุ้มค่ากับการเห็นถ้ำที่สดและ'เป็น' การได้เห็นรูปร่างหินงอกหินย้อยแปลกๆอย่างที่มีชื่อกำแพงเมืองจีนบนผนังถ้ำที่หาเห็นได้ไม่ง่ายนัก การผจญภัยครั้งนี้ก็ได้สิ้นสุดลงพร้อมเนื้อตัวมอมแมมจนอยากกระโดดน้ำให้ชื่นใจ ต้องขอบคุณทีมงานที่ดูแลเป็นอย่างดี และสมาชิกทริปทุกคนที่ลุยมาด้วยกัน


วิธีการถ่าย

การถ่ายในถ้ำไม่ง่ายนักโดยเฉพาะที่นี่ ส่วนตัวผมถ่ายถ้ำไม่เก่งหรอก จึงได้แต่แนะนำแค่ผิวเผิน

อุปกรณ์
สำคัญที่สุด ถุงกันน้ำ และกระเป๋ากล้อง - ที่นี่หากไม่มีกระเป๋ากล้องในถุงกันน้ำอีกชั้นอาจจะถูกกระแทกได้ตลอดเวลา กระป๋องกล้องควรจะเปิดซิปจากด้านบนเพื่อให้หยิบได้ง่าย
ผ้าเช็ดตัว - เอาไว้เช็ดมือให้แห้งก่อนเปิดกระเป๋ากล้อง อาจมีผ้าขาวม้าอีกผืนเพื่อไว้เช็ดโคลนโดยเฉพาะ
เลนส์ - เน้นเลนส์ไวด์ ตัวเดียวก็พอ
ขาตั้งกล้อง - ถ้าแบกไหวก็โอเค แต่แบกสองอย่างทุลักทุลมากเพราะเราแทบจะไม่มีมือจับหินเวลาปีนป่ายหรือมุดเลย แถมเอาจริงๆด้านในเพื่อนต้องรอนาน การตั้งขาตั้งบ่อยๆรู้สึกเกรงใจมาก
ผู้ช่วย - ยิ่งเดินยิ่งท้อจนไม่น่าเอากล้องเข้า ถ้ามีผุ้ช่วยๆจับถุงกันน้ำ ถือฝากล้องจะดีขึ้น เพราะภายในถ้ำจุดสวยๆหลายๆจุดเราอยู่กลางน้ำ ด้วยความขี้เกียจและรักกล้อง ผมจึงถอดใจไม่ควักออกมาถ่ายเสียด้วยซ้ำ
รองเท้า - เอาที่ยึดดีๆ แตะรัดส้นก็ยังได้
เสื้อ-กางเกงพร้อมทิ้ง ไม่ต้องคิดถึงซักเลย
แฟลช - ไม่รู้ เพราะผมไม่มี


วิธีถ่ายโดยไม่ใช้แฟลช- ถ้าตั้งบนขาตั้ง ใช้ ISO ต่ำๆได้ เมื่อถ่ายให้ใช้ไฟฉายลากไฮไลต์ไปทั่วบริเวณถ้ำในจุดที่เราถ่าย จุดไหนที่ต้องการเน้นก็ไฮไลต์ลากไปลากมามากหน่อย ลากจนกว่า ชัตเตอร์หยุดก็จะได้ภาพที่น่าสนใจ
หากถ่ายช็อตอื่นๆหรือขี้เกียจถ่าย ถ่ายสิ่งมีชีวิต ตั้ง ISO ให้สูงสุด รูรับแสงกว้างสุด แล้วถ่ายรัว เพราะภายในถ้ำแสงน้อยมาก ถ้าได้เพื่อนร่วมคณะพร้อมใจส่องไฟเพิ่มขึ้นก็จะถ่ายได้ง่ายขึ้น แต่ยาก เพราะทางเดินมันแคบ มีคนอยู่ใกล้เราช่วยส่องไฟสองคนก็เก่งแล้ว ทริปนี้ผมถ่ายเสียหลายรูปแม้กระทั่งเจ้าปลาไหลก็ถ่ายชัดสุดได้แค่นี้

สุดท้ายต้องทำใจเพราะกล้องอาจเยินเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ถ้ารักจะถ่ายถ้ำแล้วต้องแลกมาด้วยอะไรๆอีกเยอะมากกว่าการถ่ายประเภทอื่นมากเลยทีเดียว


มีเพียงสองเจ้าเท่านั้นที่คุณจะติดต่อได้หากต้องการมาเยี่มถ้ำทิพุเชะ ได้แก่

- ทีมงาน Hyperventure www.hyperventure.com

- บ้านห้วยอูล่อง http://www.banhuayulong.com ติดต่อคุณเจิม

บ้านห้วยอู่ล่องรีสอร์ท 281/3 หมู่ 4 ต. ท่าขนุน อ. ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี 71180
สำนักงานทองผาภูมิ TEL : 0-3453-1050-1 , 0-3455-1543
FAX : 0-3455-1544
สำนักงานกรุงเทพ TEL : 0-2449-5377 , 081-821-2621
FAX : 0-2449-5606

E-mail : info@banhuayulong.com

Views: 3535

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service