Food Stylist เบื้องหลังอาหารจาน "สวย"


"Food Stylist" คนกลุ่มนี้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในกลุ่มธุรกิจอาหารมากขึ้นทุกวัน เพราะนับวันตัวชี้วัดความสำเร็จของธุรกิจในกลุ่มนี้เป็นการสร้าง "อาหารตา" เพื่อเพิ่มมูลค่าอาหารให้สูงลิ่ว

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ทำไมก๋วยเตี๋ยวในร้านรถเข็นข้างถนนชามละ 20 บาท ช่างราคาแตกต่างกับบะหมี่ฮ่องกงในโรงแรมสุดหรู...เพราะว่าการดีไซน์หน้าตาอาหาร ภาชนะ สถานที่และการตกแต่งบรรยากาศต่างกันนั่นเอง

วันนี้ คำว่า "Food Stylist" ไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับคนไทยอีกต่อไปแล้ว

แต่เป็นเทรนด์ของอาหารที่ต้องมีการปรับหน้าตาให้ดูดี มีสีสัน น่ารับประทาน ให้ไปไกลกว่าการที่อาหารเอร็ดอร่อย เพราะในโลกของการแข่งขันการทำธุรกิจอาหาร คนกลุ่มนี้ถูกจับจ้องเป็นเป้าหมายของการต่อยอดเพื่อพัฒนาสินค้าตั้งแต่กลุ่มธุรกิจต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

"บทบาท" ของ ฟู้ด สไตลิสต์ แทบจะไม่ต่างจาก "ดีไซเนอร์" ที่คิดสร้างสรรค์นำจุดเด่นของอาหารมานำเสนอให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มงานโฆษณาที่จำเป็นต้องมี ฟู้ด สไตลิสต์ เข้ามาจัดองค์ประกอบให้ภาพที่ออกมาประทับใจต่อสายตาผู้ชม

ชุมชนของกลุ่มคน ฟู้ด สไตลิสต์ จึงกว้างขวางยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และเป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ให้เดินทางเข้ามาในเส้นทางสายตานี้

"ปกติแล้ว การทำงานในต่างประเทศจะมีช่างภาพ พ่อครัว และฟู้ด สไตลิสต์ ซึ่งจะทำหน้าที่ดูแลอาหาร องค์ประกอบ และสไตลิ่ง เช่น นมจากฟาร์มวัว หรือ อาหารเช้าของคู่รักจะนำเสนออย่างไร

ในบ้านเรายังไม่มีอาชีพนี้เป็นเรื่องเป็นราว ส่วนใหญ่จะมาจากสไตลิสต์ แฟชั่น แต่คนแฟชั่นก็มีความเข้าใจเรื่องอาหารค่อนข้างน้อย ขณะเดียวกัน คนทำอาหารก็มีความเข้าใจเรื่องแฟชั่นค่อนข้างน้อย" ประวิตร เปรื่องอักษร ประธาน Mega Vis ผู้ผลิตนิตยสาร Food Stylist และ Food Update กล่าว

ฟู้ด สไตลิสต์ อาจไม่ใช่คนที่ทำอาหารเป็นหรือเก่ง แต่ต้องมีความเข้าใจในเรื่องของอาหาร

ยกตัวอย่างเช่น การถ่ายรูปไอศกรีมเป็นเรื่องยากเพราะไอศกรีมจะละลายง่าย แต่ต้องใช้วิธีนำมันฝรั่งผสมกับสีผสมอาหารแล้วจะได้เนื้อไอศกรีม จากนั้นนำไอศกรีมใส่ตู้แช่แข็ง ซึ่งต้องเข้าใจผิวสัมผัสของเนื้อไอศกรีมที่ดีจะเป็นอย่างไร หรือแม้แต่การย่างเนื้อให้สวยต้องมีลายบาร์บีคิวต้องใช้วิธีการย่างอย่างไร

ฟู้ด สไตลิสต์ จึงต้องฝึก "คิดนอกกรอบ" ในการทำอาหาร

และไม่จำเป็นว่าอาหารที่ถ่ายรูปให้ออกมาดูสวยไม่จำเป็นต้องอร่อย หรือรับประทานได้ เพราะนี่เป็นการสื่อถึง "อาหารตา" ซึ่งคนที่จะเข้ามาเป็นฟู้ด สไตลิสต์ ได้ จึงมักมีทั้งจิตรกร สไตลิสต์แฟชั่น กุ๊ก และเชฟ

ด้วยจุดนี้เองนิตยสาร "ฟู้ด สไตลิสต์" จึงถือกำเนิดขึ้นเป็นรายแรกของเมืองไทยตั้งแต่ 1 ปีมาแล้ว

ประวิตร เองอยากให้ ฟู้ด สไตลิสต์ เป็นแรงบันดาลใจให้คนทำอาหาร เพราะคอนเซปต์โดยรวมเป็นเรื่องของสไตล์และแฟชั่นของอาหาร หรือผู้ที่สนใจการตกแต่งอาหารที่สามารถทำเป็นงานอดิเรกหรืออาชีพได้

"ตอนนี้วัยรุ่นมีสไตล์การทำอาหารของตัวเอง สังเกตว่าคนรุ่นใหม่สนใจไปเรียนการทำอาหารที่เลอดองเบอ ประเทศอังกฤษ หรือ สมัครใจเรียนหลักสูตรในมหาวิทยาลัย เพราะเด็กๆ มีแรงบันดาลใจในการทำอาหาร ต่างจากในอดีตที่คนไทยเดินทางเข้าสู่การเป็นเชฟ เพราะมีทางเลือกค่อนข้างน้อย คนไทยส่วนใหญ่จะเป็นกุ๊กมากกว่า รู้เรื่องแต่การทำอาหาร แต่ไม่รู้ประโยชน์ของส่วนประกอบอาหาร ต่างจากเชฟที่นอกจากจะปรุงอาหารเก่งแล้ว ยังรู้เรื่องหลักโภชนาการ และเรื่องราวประวัติศาสตร์ของอาหารด้วย" ประวิตร กล่าว

คนสองเจเนอเรชั่นระหว่างคนรุ่นเก่าที่ส่วนใหญ่มักถนัดในเรื่องการปรุง อาศัยวิชาครูพักลักจำ แต่คนรุ่นใหม่ที่ก้าวมาถนนเส้นนี้เพราะแรงบันดาลใจ

สมาชิกของ ฟู้ด สไตลิสต์ จึงเป็นคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจอาหารกว่า 80% ส่วนที่เหลืออีก 20% เป็นกลุ่มแม่บ้าน ซึ่งนิตยสารเล่มนี้มียอดการพิมพ์ 70,000 เล่มต่อเดือน

"ผมเชื่อว่ามีแนวโน้มโตขึ้นเรื่อยๆ เป็นเรื่องของรสนิยม ความเป็นศิลปะ ศิลปะว่าด้วยอารมณ์บวกกับเหตุผลที่เหมาะสม ผมมั่นใจว่ามันโตขึ้นเรื่อยๆ จนจะเป็นหลักสูตรในเรื่องของอาหาร การนำเสนออาหารเพื่อการโฆษณา เพราะในสายธุรกิจบริการด้านอาหาร (Food Service) จะมีธุรกิจต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สิ่งเหล่านี้ผู้ที่สร้างเทรนด์ คือ ดีไซเนอร์ ที่จะเป็นเสมือนซอฟต์แวร์ขับเคลื่อนทั้งระบบ มีผลไปถึงผู้ผลิตที่ต้องดูเทรนด์ของการทำอาหาร" ประวิตร กล่าวเสริม

ประสบการณ์ที่คร่ำหวอดในวงการธุรกิจอาหารมากว่า 20 ปี ทั้งธุรกิจซัพพลายเออร์อาหาร อาทิเช่น ผักสด อาหารทะเลแช่แข็ง ให้กับโมเดิร์น เทรด ร้านอาหาร และโรงแรมระดับห้าดาว ประวิตรจึงรู้ช่องทางการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ประกอบการเป็นอย่างดี

"การลงทุนในธุรกิจอาหารงบประมาณ 80% อยู่ที่การดีไซน์ ช้อมส้อม บ้านเราการทำอาหาร การเปิดร้านๆ หนึ่ง กุ๊กมีหน้าที่ทำอาหาร ในต่างประเทศเชฟจะคิดทั้งคอบเซปต์ แต่บ้านเราจะจ้างเชฟมาทำอาหารเท่านั้น เชฟเลยถูกจำกัด สังเกตว่าร้านอาหารที่ประสบความสำเร็จ การตกแต่ง ล้อไปธีมของอาหาร ทำให้อาหารมีมูลค่ามากขึ้น ในมุมมองของธุรกิจอาหาร อาหารไม่ต่างกันแต่ราคาต่างกัน ยกตัวอย่าง ร้านอาหาร Blue Elephant ใช้วัตถุดิบในการปรุงอาหารไม่ต่างกัน แต่เรื่องสไตลิ่ง ทำไมไปถึงได้ 20 สาขา" เขา กล่าว

เขาเห็นธุรกิจอาหารที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวมามาก มีธุรกิจที่เกิดขึ้นจำนวนมากและล้มหายตายจากไปมากมายเช่นกัน ในยุคนี้การแข่งขันของร้านอาหารมีปัจจัยเพิ่มขึ้น การที่อาหารอร่อยเป็นมาตรฐานขั้นต้นเท่านั้น แต่หากต้องการจะสร้างมูลค่าเพิ่ม เงินลงทุนกว่า 80% จะทุ่มไปกับการตกแต่งสถานที่ อาหาร และองค์ประกอบอื่นๆ

"วันนี้เราต้องการเป็นสื่อในสายอาหาร รวมในเรื่องธุรกิจอาหารตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ผมมองว่าเป็นวงจรในเรื่องของความรู้ ยกตัวอย่างทำไมมีกุ๊กมากกว่าเชฟ แต่ในต่างประเทศมีเชฟมากกว่ากุ๊ก สิ่งเหล่านี้น่าค้นหาและมีประวัติความเป็นมา หรือ ทำไมเชฟคนไทยได้รับเงินเดือน 50,000 บาท แต่เชฟฝรั่ง 100,000 บาท" เขา กล่าว

เทรนด์การสร้างสรรค์อาหารตาที่จะเข้าไปเป็นหนึ่งในใจ ยังต้องการนักคิดเข้ามาสร้างความงามในแบบใหม่ๆ ของอาหาร

"Food Stylist Chalenge Camp"

บันไดค้นหาดาวรุ่งรุ่นใหม่

๐ ค้นหาคนรุ่นใหม่เพื่อให้เป็นตัวแทนด้านอาหาร (Food Ambassador) เพื่อผลักดันสู่โครงการครัวไทยสู่ครัวโลก

๐ เปิดโอกาสการสื่อสารและรับรู้ข่าวสารข้อมูลของนักศึกษาผ่านสื่อ กิจกรรม และโรดโชว์ภายในมหาวิทยาลัย

๐ สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่รู้จักความเป็น ฟู้ด สไตลิสต์ ให้มากขึ้น

๐ สร้างทีมการทำงานนักศึกษาที่มีทั้งช่างภาพ พ่อครัว และ ฟู้ด สไตลิสต์

๐ การตัดสินจากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 80 ทีม จากการไปโรดโชว์ทั้งหมด 17 มหาวิทยาลัย

๐ สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจอาหาร 2,000 ราย ที่เป็นสมาชิกให้มีข่าวสารอัพเดทความเคลื่อนไหว

อัญชรี พรหมสกุล
Food Stylist เบื้องหลังอาหารจาน "สวย"
14 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 08:00:00
ที่มา : BangkokBizNews

Views: 10304

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service