สวัสดีครับ พี่น้อง.......... อย่าเพิ่งเดาว่า ผมมาหางาน ผมมาขายกล้องนะครับ และก็คงไม่มีใครอยากซื้อ ไม่มีใครอยากจ้าง
เป็นเรื่องของช่างภาพแก่ๆ ตกยุคคนหนึ่งที่ต้องถ่ายฟิล์มให้ลูกค้า
อยากมาบอกเล่าถึงการทำงานของกล้องตัวนี้
ภาพนี้ถ่ายให้ลูกค้าเสร็จ เมื่อปีที่แล้ว

เรื่องดิจิตอลเนี่ยมันเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำยุคจริงๆ
งานที่เห็นกำลังถ่ายอยู่นี้ ผมเอาไปถ่ายด้วย Hasselblad 500CM + Phase One P45 (39 ล้านพิกเซล) ออกมาครั้งหนึ่งแล้ว คุณภาพของงาน เรื่องการเก็บรายละเอียด 100% การเก็บสีที่เจ้าของงานต้องการ ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาได้ 100% (เหมือนต้นฉบับ ในทุกสี ทุกจุด) เรื่องนี้เป็นปัญหาโลกแตก ขบกันไม่ตกทั่วโลก เปิดดูจากเครื่องช่างภาพ แบบหนึ่ง เจ้าของเอาไปเปิดอีกแบบหนึ่ง โรงพิมพ์เอาไปทำงานไปอีกแบบหนึ่ง จบที่งานพิมพ์ ไม่รู้ออกมาเป็นอะไร

และ ผมไปเจอเจ้าของงานคนนี้ เป็นฝรั่ง คนเขียนภาพนี้ขึ้นมา แกเป็นคนที่ต้องการคำตอบ ที่มีเหตุผลชัดเจนว่า ทำไมถึงเก็บสีที่แกเขียนออกมาไม่ได้ (แกเปิดภาพจากเครื่อง PC ที่บ้าน) ผมก็อธิบายตามเหตุผลข้างบน แต่แกก็ยืนยันว่าจะให้แก้สีทุกสีที่ไม่เหมือน (ที่มองจากหน้าจอบ้านแก) ให้เหมือนต้นฉบับ....

โอ...พระเจ้า.....ผมเลยตัดสินใจถ่ายด้วยฟิล์ม 120 จากกล้อง Sinar F2 Large Format ดีกว่า....จบเลย

เหตุผลที่ผมต้องจบงานแบบนี้เพราะว่า
1. ภาพจากฟิล์ม เก็บรายละเอียดสีได้ใกล้เคียงต้นฉบับที่สุด เหตุผลนี้มาจากองค์ประกอบต่อไปนี้

1.1 วิธีการถ่ายใช้ฟิล์มสไลด์ EPP (ผมเคยถ่ายให้แกมานานหลายปี EPP เก็บสีงานของแกได้ดีที่สุด คาแลคเตอร์ของฟิล์มตรงกับงานแก) ใช้ Flash Studio ที่อุณหภูมิสีตรงกับฟิล์ม
1.2 ภาพจากสไลด์ที่ล้างเสร็จแล้ว นำเสนอลูกค้าด้วย Light Box 5500 Kavin

2. สไลด์ส่งให้ลูกค้าเป็น Material ที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ ลูกค้า (เฉพาะคนนี้) เชื่อถือสายตาที่มองสไลด์ผ่านจาก กล่องไฟ ถ้าสีไม่เหมือนตอบได้ตรงนั้นเลย เช่น ฟิล์มชนิดนี้สีจัดไป, หรือสีเพี้ยนเพราะอุณหภูมิสีไม่ตรง
ซึ่งถ้าแก้ไข ถ่ายซ่อมตามเหตุผลที่บอกไว้ แล้วเห็นชัดเจน
แต่กับเหตุผลที่ว่า เปิดหน้าจอเครื่องของผมสีดีกว่านี้ ตรงกว่านี้ หรือ กล้องไม่สามารถเก็บได้ ทุกสีเหมือนตาเห็น เหตุผลแบบนี้แกไม่ค่อยยอมรับ ทำนองที่ว่า แล้วทางออก ทางแก้ล่ะ ทำอย่างไร.....โอย....ผมไม่อยากพูดถึง มันจะไปกันใหญ่

3. การใช้งานของลูกค้าคนนี้ สำคัญที่สุดคือแกต้องการเก็บไว้เป็นคอลเลคชั่น ไว้ในไฟล์เก็บภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสไลด์ ส่วนเอาไปพิมพ์หรืออย่างอื่นๆ เป็นเรื่องรองลงไป

Views: 1316

Replies to This Discussion

เรื่องเหตุผลการทำงานคงบรรยายไว้แค่นี้ ต่อไปนี้เป็นการเล่าเรื่องรายละเอียดของการใช้กล้องตัวนี้นะครับ
กล้องที่ผมใช้ถ่ายนี้คือ sinar F2 เป็นรุ่นที่รองลงมาจาก P2
อักษร F2 เอฟหมายถึง Field ที่เหมาะกับการใช้ถ่ายภายนอกหรือ On Loation เพราะไม่หนักมาก 2 เป็นรุ่นที่ 2 ส่วน P2 พี2 หมายถึงโปรเฟสชั่นแนล รุ่นที่สอง เหมาะกับการใช้ถ่ายในสตูดิโอ น้ำหนักมากกว่าเอฟ2 แต่ระบบการทำงานปรับง่ายและเร็วกว่า เอฟ2 ผมมีทั้งสองรุ่น แต่ พี2 ตอนนี้ เดี้ยง ไปหนึ่งขาไม่ค่อยได้ใช้เลยไม่ซ่อม

ภาพนี้เป็นการ โอปะเรท กล้อง sinar F2 ช่างภาพหรือผู้ช่วยที่มีหน้าที่โอปะเรท ต้องเซ็ททุกอย่างให้เป็นศุนย์ (0) หรือเราจะเรียกว่า เซ็ทซีโร่ การตั้งระดับน้ำสำคัญมาก ต้องให้ได้ระดับทั้งแกนก้มเงย และแกนเอียงซ้ายขวา ตำแหน่งลูกศรชี้ (a) คือร่องล็อคขาเลนส์ และขาฟิล์ม ต้องเซ็ทไปที่ร่องล็อคอันแรก
ตอนผมมีผู้ช่วยโอปะเรทกล้องให้ ถ้าผู้ช่วยทำจุดใดจุดหนึ่งพลาดไปจะโดนตำหนิ (พูดให้สุภาพหน่อยจริงๆแล้วก็คือ.....ด่ากระจาย 555

กล้อง Large Format ทุกยี่ห้อ ถอดออกได้เป็นชิ้นๆ เมื่อไม่ใช้จะถอดเก็บไว้ในกระเป๋าขนาดใหญ่ ส่วนประกอบสำคัญมีสามส่วน
A. คือแผงเลนส์หรือ เลนส์อิเมจ Lens Image
B. คือ เบลโล่ Bellow หรือ เปรียบเสมือนตัวบอร์ดี้กล้องถ่ายภาพทั่วไป
C. คือ ฟิล์มอิมเมจ หรือแผงฟิล์ม เป็นที่เสียบแม็กกาซีนฟิล์มขนาดต่างๆ 120, 4" x 5" หรือ Polaroid ในขณะเดียวกันก็เป็น วิวไฟนเดอร์ หรือ Ground Glass สำหรับมองภาพด้วย และในปัจจุบันสามารถใช้งานร่วมกับดิจิตอลแบ็ค ของ Phase One โดยใช้อะแด็ปเตอร์มาต่อด้านหลัง

ส่วนที่เป็นเบลโล่มรถยืดเข้ายืดออกได้ ถ้ายืดออก จะเป็นการถ่ายใกล้ ถ้าหดเข้าจะเป็นการถ่ายไกล เหมือนเลนส์ เมื่ออยู่ในตำแหน่งอินฟินิตี้ เลนส์จะหดตัวสั้นที่สุด แถ้ถ่ายระยะใกล้มากๆ เลนส์จะยืดตัวออก

ภาพเลนส์สามตัวที่ผมใช้งานอยู่เรียงตามลำดับจากใกล้ไปไกล
1. 150 mm Normal lens
2. 240 mm Tele Foto
3. 90 mm Wide Angle
ทั้งสามตัวเป็นเลนส์ ชัตเตอร์ระหว่างเลนส์ หรือ Shutter Between Lens มีเลนส์อีกแบบ ที่เรียกว่า ชัตเตอร์หลังเลนส์ หรือ Shutter Behind Lens เลนส์แบบนี้มีแต่ชุดเลนส์เลี่ยนๆ
ต้องซื้อชุด ชัตเตอร์เพิ่มอีก แบบนี้ปรับสปีดและหน้ากล้องด้านหลังเลนส์ ทำงานสะดวกกว่า แต่....แพงกว่า อิอิ

ภาพแรก เป็นการเซ็ทกล้องเพื่อความสะดวกในการใช้งานโดยอุปกรณ์กล้องส่วนที่เกิน เหลือใช้เอามาทำเป็น ที่บังแสงด้านหลัง และที่บังแสง Hood ด้านหน้าในส่วนของเลนส์ ส่วนหลังที่ตัวอักษรและศรชี้คือเบลโล่ไวด์แองเกิล ที่ไว้ใช้ใส่ส่วนกลางของกล้อง (ที่ตอนนี้เป็นแบบยืดๆ หยักๆ) กล้อง Large Format เมื่อเปลี่ยนไปใช้เลนส์ไวด์แองเกิล ไม่สามารถใช้เบลโล่ทรงแบบยืดๆ หยักๆ ได้ เพราะระยะทางยาวโฟกัสสั้น ช่วงห่างของเลนส์อิมเมจและฟิล์มอิมเมจ จะมีระยะไม่ยืดยาวเท่าไหร่ และบางครั้งต้องหดสั้นจุดจู๋ เมื่อหดสั้นแล้วในการถ่ายหากมีการเลื่อน แผงอิมเมจให้เยื้องกัน หรือทิลท์ (Tilt)(ผมอ่านว่าทิ๊ว) จะทำไม่ได้ ต้องเปลี่ยนไปใช้ เบลโล่ไวด์แองเกิล (ถ้ามีเวลาหรือใครอยากเห็นภาพตอนเซ็ทเลนส์ไวด์จะถ่ายมาให้ดูครับ)
พูดซะยาวไปหน่อย คือเอาเบลโบลโล่ไวด์มาบังแสงด้านหลังครับ



ส่วนลูกศรชี้สีเหลืองเห็นเป็นรอยต่อ จากจุดนี้(a)ไปทางซ้าย (B และลูกศรสีน้ำเงิน) คือแกนมาตรฐาน ใช้กับเลนส์ไวด์และเลนส์ที่มีระยะทางยาวโฟกัสไม่เกิน 210 mm.
ส่วนเลนส์ที่เห็นในภาพเป็นเลนส์ 240 mm. ดังนั้นต้องต่อแกนมาตรฐานออกไปจากจุดขวาหรือด้านหน้า (C และลูกศรสีน้ำเงิน) ไม่เช่นนั้นจะยืดระยะ ระหว่างแผงเลนส์กับแผงฟิล์มไม่พอครับ

ผมเคยถ่ายภาพ 1:1 โดยเลนส์ตัวนี้ ใช้แกนมาต่อกันหลายชิ้นยาวกว่าสองฟุต ต้องใช้แผงเลนส์และแผงฟิล์มของกล้อง F2 และ P2 รวมทั้งเบลโล่ที่มีอยู่มาต่อกัน ยาวปรี๊ด ใช้แคลมป์ (ตัวจับแกนด้านล่าง) ถึงสองตัว

ต่อมามาดูลักษณะการใช้งานของฮู๊ดบังแสงด้านหลัง ภาพหนุ่มน้อยเอาหน้ายื่นเข้าไปเพื่อบล็อคแสงเอาไว้ สามารถดูภาพสบายๆ ชัดเจน ไม่มีแสงรบกวน
ส่วนภาพเล็กหนุ่มใหญ่ (555) ไม่มีฮู๊ดบังแสง ทำให้มองภาพลำบาก ต้องหลี่ตาดูอย่างน่าสงสาร (กร๊ากกกก....) รวมทั้งต้องใช้ หลูป (Loop) แบบทึบแสงเพื่อดูภาพที่กราวนด์กลาส

ความจริงผมมีอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่เรียกว่า Binocular Reflextor (ผมกับลูกน้องเรียกเจ้านี่แบบย่อๆในสตูว่า ไบโนรีเฟล็กซ์) ลักษณะเป็นกล่องแข็งๆมีกระจกสะท้อนภาพอยู่ด้านใน เอาต่อกับกราวนด์กลาส ดูภาพได้ดีไม่มีแสงรบกวน (ทำให้ดูดีมีชาติตระกูล....555....) วันหลังจะงัดออกมาให้ดูครับ

ขอบคุณ portfolios.net ที่ให้ใช้เนื้อที่เพื่อเผยแพร่ความรู้ครับ
การใช้คอมในเรื่องค่าสีมันสามารถทำได้นะครับ แต่ค่อนข้างยุ่งยากพอควร
จริงๆมันเป็นเทคโนโลยีของฝรั่งแท้ๆ แต่ทำไมฝรั่งไม่รู้เรื่องได้
อีกอย่างนึง ผมคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมันควรหาวิธีแก้ไขนะครับ
ไม่ใช่กลับไปใช้ของเดิมที่นับวันมันจะหายไปเรื่อยๆ
และปัญหาที่เกิดขึ้นก็เหมือนชนกลุ่มน้อยในประเทศใหญ่ๆน่ะครับ

ผมเคยมีกล้องฟิล์มอยู่ตัวนึง(NIKON FM) ชำรุดหาร้านซ่อมไม่ได้เลย
แม้บริษัทผู้แทนจำหน่ายนิกคอน ยังไม่รับซ่อม
ผมเล่าเรื่องฝรั่งคนนี้ให้ฟังหน่อย....
เธอเป็นแม่บ้านสามีทำงานเป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีสาขาในประเทศไทย อยู่บ้านว่างๆเธอจะเขียนภาพสีน้ำมัน วาดภาพมาหลายสิบปี จนฝีมือเทียบชั้นศิลปิน มีลักษณะงานเฉพาะตัว เมื่อเธอวาดภาพเสร็จก็จะจัดแสดงงาน และขายได้หมดทุกครั้ง ก่อนเธอจะแสดงงานแต่ละครั้งจะเรียกตัวผมไปถ่ายเป็นสไลด์ 4" x 5" เก็บเอาไว้ เธอเคยให้ผมดูแฟ้มใส่สไลด์ที่ผมถ่ายไว้ให้ตั้งหนึ่ง แล้วพูดกับผมว่า

"คุณเจี๊ยบ ดูสิ นี่คืองานภาพเขียนของฉันที่คุณถ่ายไว้ให้ รู้มั๊ย ตอนนี้งานทั้งหมดน่ะ ฉันขายออกไปหมดแล้ว แต่ฉันกลับรู้สึกว่า งานทุกชิ้นยังอยู่กับฉัน เมื่อฉันหยิบฟิล์มสไลด์เหล่านั้นขึ้นมาส่องดู ฉันสัมผัสมันได้ด้วยตาของฉัน ด้วยมือของฉัน เมื่อฉันเอามือลูบคลำแผ่นฟิล์ม มันเปรียบเสมือนฉันได้เอามือสัมผัสไปบนเฟรมที่ฉันเขียนภาพ มันเป็นความจริงนะ" เธอพูดเช่นนี้จริงๆครับ

"คุณเจี๊ยบ ฉันไม่รู้สึกอะไรเลยเมื่อฉันเปิดคอมพิวเตอร์เพื่อดูภาพเขียนของฉันจากหน้าจอ"

ไม่ใช่ว่าผมจะหาทางแก้ปัญหาด้วยการถอยหลังเข้าคลองนะครับ คนบางกลุ่มก็ยังต้องการมันอยู่ ความรู้สึกบางอย่างเขายังสัมผัสมันได้อยู่และยังซึมซับอยู่ในตัวเค้า ผมขอเปรียบเทียบกับการขับรถรุ่นเก่า รุ่นโบราณนะครับ ทำไมคนยังขี่เวสป้าอยู่ ทั้งๆที่มี ฟีโน เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดออกมาแล้ว ทำไมคนยังขี่โฟลค์เต่าอยู่ ทั้งๆที่มีรถนิวบีทเทิลออกมาแล้ว ทำไมคนยังแสวงหารถสปร์ตเบนซ์ 300 Sl อยู่ ทั้งๆที่มี เบนซ์สปอร์ต 300 Slk ออกมาแล้ว

และผมบอกไว้แล้วว่า เธอถ่ายภาพไว้เพื่อเป็นคอลเลคชั่น การใช้งานอย่างอื่นเช่นสิ่งพิมพ์ถือเป็นเรื่องรอง

และก็เป็นเรื่องแปลกที่ความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ดูว่าผมจะมีมากกว่าเธอ โฟโต้ชอป เธอไม่ชำนาญในการใช้ สเปคเครื่องในบ้านแค่ไว้ใช้งานทั่วไปไม่ได้เหมาะกับการทำกราฟฟิคซึ่งเธอก็คงจะไม่ต้องการรู้แบบ Advance ดังนั้นการที่จะให้เธอเซ็ทเครื่องขึ้นมาใหม่ให้สูงขึ้น หรือ เซ็ทเป็น แอปเปิ้ลแมคอินทอช คงไม่เหมาะ การเซ็ทค่าสี หากทำไปแล้วผู้ใช้ไม่ได้ใช้งานแบบลึกซึ้งก็ไม่มีประโยชน์ใช่ใหมครับ
เห็นด้วยอย่างแรงคับจารย์ เพราะผมขี่ เวสป้า อิอิ
นึกถึงความหลังสมัยยกเอาฟิล์ม slide มาส่องๆ เลยครับ มันรู้สึกดีจริงๆ
FM หาซ่อมได้นะครับ แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะเจอร้านที่ซ่อมได้ และเขามีอะไหล่อยู่ในมือหรือเปล่า
ผมว่าบางทีเทคโนโลยีก็ไม่สามารถเข้าถึงอารมณ์และ

ความคิดของคนได้นะครับ แฟนคลับของโบราณครับผม

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service