ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ... เสี้ยวขณะ 'คนใจสัตว์' คืนเมือง

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ...เสี้ยวขณะ 'คนใจสัตว์' คืนเมือง




"บางสิ่งบางอย่างที่สัตว์ป่ารับรู้และสัมผัสได้นั้น มนุษย์ยังไปไม่ถึง...สัตว์ป่า แสดงให้เห็นอยู่เสมอๆ ว่าพวกมันตรงไปตรงมาอย่างไร-หวาดกลัว โกรธแค้น รวมทั้งรื่นรมย์ สิ่งเหล่านี้ถูกแสดงออกตรงๆ ไม่ปิดบังอำพราง...พวกมันไม่เอาแต่โศกเศร้าฟูมฟายในสิ่งที่สูญเสีย แม้แต่นกเล็กๆ จะรีบสร้างรัง วางไข่ใหม่ทันที หากรังเดิมพบกับความหายนะ...ไม่ว่าจะเรียกว่าคือสัญชาตญาณหรืออะไรก็ตาม การก้าวไปข้างหน้าโดยไม่ให้สิ่งที่ผ่านพ้นและนำกลับคืนมาอีกไม่ได้ถ่วงรั้งเอาไว้...สิ่งนี้ ควรเรียกว่าคุณสมบัติที่ดีของชีวิต...พวกมัน "เดินทาง" ไปไกลแล้ว ผมยังนั่งอยู่ที่เดิม"

-(คอลัมน์ "คนใจสัตว์" นิตยสารสารคดี ฉบับ 278)

กดที่เเถบนี้เพื่อดูรูปขนาดดั้งเดิม


...ผมยังอยู่ที่เดิม...'ที่เดิม'ของเขาคือที่ไหน? ฝูงสัตว์เดินทางไปไกลแล้ว 'ไกล'เพียงใด?

ถ้อยคำเล็กๆ ไม่กี่บรรทัดที่ชายคนหนึ่งถ่ายทอดไว้บนหน้ากระดาษ มีพลังถึงเพียงนั้น มันทั้งก่อเกิดคำถาม ทั้งฉุดรั้งเราให้แหงนหน้าขึ้นมองฟ้า เหลียวหาฝูงนกฝูงค่างในเมืองหลวง เผื่อว่าจะแลเห็นมันปีนป่ายก่ายกอดกิ่งไม้เป็นบุญตา ต่อเมื่อสูดเอาเขม่าควันสีดำจากท่อไอเสียเข้าไป ทั้งแหงนคอตั้งบ่าจนล้าเต็มทีแล้วนั่นล่ะ จึงตระหนักได้ว่า...นี่มันป่าคอนกรีตนี่หว่า? มิน่าเล่า เห็นแต่เงาตึกเบียดบัง...

คิดถึงฟ้ากว้าง คิดถึงพงไพร อยากโลมไล้น้ำค้าง...ความรู้สึกเหล่านั้น คือสัญชาตญาณความเป็นสัตว์ในตัวเราหรือเปล่า? สัญชาตญาณแห่งหัวใจอิสระ ไร้พันธนาการ..ทว่า ชั่วนาตาปี เราก็ยังอยู่ที่เดิม ที่นี่ ที่ป่าคอนกรีต สิ่งใดหนอ กักขังเราไว้...


แม้พยายามหักห้ามความฟุ้งซ่านลงได้ หากสิ่งเดียวที่ไม่อาจสลัดจากใจ ก็คือความหวังที่ว่า ถ้าได้ฟังชายคนนั้นเอ่ยปากบอกเล่าถึงปรัชญาจากพงไพรที่เขาได้สัมผัสมา ก็คงดีไม่น้อย...





แล้ววันนั้นก็มาถึง วันที่ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพและนักเขียนผู้อุทิศชีวิตให้กับการเก็บเกี่ยวบันทึกเรื่องราวชีวิตสัตว์ป่ามาอย่างยาวนาน เดินทางกลับสู่เมืองหลวงในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อร่วมงานนิทรรศการภาพถ่าย "จากป่าลึก สู่ปารีส" People spaceแกลลอรี่เล็กๆ แต่อบอุ่นในย่านชุมชนแพร่งภูธร


เรายึดเวลาอันมากค่านั้นไว้ เพื่อนั่งลงสนทนา กับ "พี่เชน" หรือ "หม่อมเชน"





การพูดคุยเริ่มต้นด้วย 'หัวใจที่มี “สัตว์” อยู่ข้างใน’ …ถ้อยคำนี้กินความกว้างไกลเพียงใด สำหรับคุณ?


“มันก็เปรียบเสมือนว่าเรากับสัตว์ ไม่ต่างกันหรอก เราต่างก็เป็นสิ่งมีชีวิตร่วมโลกด้วยกัน คำว่า หัวใจ 'สัตว์' มันมีความหมายที่ลึก สัตว์มันเป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน แล้วผมก็เคารพมัน คอลัมน์ “คนใจสัตว์” ที่ผมเขียนขึ้นหลังงานเขียนอื่นๆ มันก็เป็นการใช้ชีวิตผ่านการเรียนรู้มาตั้งสิบกว่าปีแล้ว กระทั่งผมรู้สึกว่าเป็นการพูดแทนพวกมัน พูดจากหัวใจของผม”


คุณเคยบอกว่า สัตว์มันไป “ไกล” แล้ว แต่คุณยังอยู่ “ที่เดิม”


“มองจากภาพที่ผมเห็นนะ แต่จริงๆ แล้ว ผมอาจจะพูดผิดก็ได้ อย่างเช่นเมื่อเร็วๆ นี้ ผมไปดูนกเงือก แล้วมันไม่ประสบผลสำเร็จในการเลี้ยงดูลูก แต่มันก็ยังบินมาดูลูกที่ตายอยู่ในโพรง แล้วก็ส่งเสียงร้องตลอด ซึ่งเสียงร้องของมันนั้นเศร้ามาก มันเอาหัวไปแนบโพรง ชะโงกหน้าเข้าไปดู ทั้งๆ ที่ลูกมันตายไปแล้ว ซึ่งถ้าเราเอาความรู้สึกของคนใส่เข้าไป นั่นคงถือเป็นความโศกเศร้า แต่ว่าหลังจากนั้นมันทำอะไร? มันก็ใช้ชีวิตตามปรกติ ปีหน้ามันก็จะกลับมาทำรังตรงนี้ใหม่ ออกลูกตรงนี้ ที่เดิม มันไม่ได้คิดว่า เฮ้ย! ไม่เอาแล้ว ไม่ออกลูกแล้ว มันต้องทำตามสัญชาติญาณ ขณะที่หากเป็นนกเล็กๆ ถ้ามันบินกลับมาแล้วพบว่าลูกมันถูกงูกัดตาย มันก็วางไข่ใหม่เลย มันไม่ได้มัวแต่ฟูมฟายว่า เฮ้ย! งูกินลูกแล้ว ไม่เอาแล้ว ไม่อยากทำอะไรแล้ว แต่ถามว่ามันโศกเศร้าไหม เราก็ไม่รู้หรอก เพียงแต่เอาความรู้สึกของคนเข้าไปใส่มากกว่า”

หม่อมเชน ขยายความว่า ด้วยวิธีคิดแบบนั้น คือนำความรู้สึกคนใส่เข้าไป เขาจึงมองว่าสัตว์ป่าสามารถ “วางเฉย” กับโลกได้


“ขณะที่ผมยังนั่งอยู่ที่เดิม ยังเสียใจกับเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิตอยู่เลย ผมยังคิดถึงอดีตเมื่อวาน ยังคิดถึงอะไรต่อมิอะไร ไม่อาจวางเฉยได้อย่างที่สัตว์ป่ามันทำได้ มันเดินทาง “ข้างใน” ไปได้ไกลกว่าผม”






แล้วสักวัน คุณคิดว่า จะ “ไป” ได้ไหม?


“ด้วยความเป็นมนุษย์ ยัง “ไป” ไม่ได้หรอกครับ แต่ถามว่ารู้ “หนทาง” ไหม ก็รู้ จริงๆ แล้ว มนุษย์เราทำทุกอย่างด้วยความรู้ตัวนะ แต่ว่ามันอาจเป็นสัญชาติญาณมนุษย์ หรือเป็นอะไรสักอย่างที่มันขับ อาจจะเป็นสันดาน ถ้าถามว่าจะไปถึงไหม ผมว่าสิ่งสำคัญกว่านั้นมันขึ้นอยู่กับว่าคุณพร้อมที่จะทำในสิ่งที่คุณทำอยู่หรือเปล่า ทำโดยไม่หวังผลตอบแทน และไม่กลัวว่าจะเกิดอะไรตามมา เพราะมันเป็น "ทาง" ที่เราเลือกเอง”


ในงานเขียนของคุณ คุณเคยคิดอยาก “บิน” ได้เหมือนนก ทุกวันนี้ยังมีความรู้สึกนั้นอยู่ไหม?


“ไม่แล้วครับ เพราะผมรู้แล้วว่า ปีกมันก็แค่เครื่องมือ ขณะที่ผมเป็นคน ผมก็ต้องใช้ “ตีน” นกมันใช้ปีกก็เพราะว่ามันไม่ต้องใช้ตีนไงครับ เรามีตีน เราก็ใช้มันในการเดินทางได้เหมือนกัน นกมีปีกก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะบินไปทั่ว มันก็แค่ใช้หาอาหารจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังอีกต้น แค่นั้นเอง มันไม่ได้บินเป็นโจนาธาน ลิฟวิงสตัน แสวงหาอิสรภาพอะไรขนาดนั้น มันก็แค่หาอาหาร แล้วก็บินกลับมานอน”


คุณให้ค่า "ปีกนก" กับ "ตีนคน" ไม่ต่างกัน?


“ไม่ต่างกันเลย ถ้านกมันรู้สึกว่าบินเหนื่อยชิบหาย มันก็คงมีค่าเท่ากับเรามีตีนน่ะ เอาเข้าจริงเราก็แค่ต้องใช้ตีนและต้องรู้จักมันให้ดี ใช้มันให้เป็นประโยชน์ รู้จักการเดิน ว่าเดินยังไงมันถึงจะไม่เหนื่อยมาก เดินยังไงจะถึงจุดหมาย เวลาเดินลงเนินชันๆ ต้องวางเท้ายังไง เวลาขึ้นเนินชันๆ ต้องเดินยังไง หยุดพักเมื่อไหร่ เช่นเดียวกัน ถ้านกมันบินไม่เป็น มันก็เหนื่อย ดูอย่างเวลามันอพยพมันก็ต้องรู้จักการบินเป็นรูปตัววี ทำไมต้องบินอย่างนั้น ก็เพราะว่ามันต้องอาศัยแรงปีกจากตัวหน้า ช่วยพยุงตัวหลัง แล้วมันก็ต้องผลัดกันขึ้นไปนำ ตัวหน้าจะต้องออกแรงหน่อย แล้วตัวหลังก็จะถูกแรงปีกของตัวหน้าดึง มันต้องช่วยเหลือ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ถ้ามันไม่ใช้วิธีอย่างนี้ ปีกก็ไม่มีประโยชน์อะไร มันก็เหนื่อยเปล่า”





คุณสมบัติข้อไหน ของสัตว์ ที่คุณคิดว่า ถ้ามีอยู่ในหัวใจมนุษย์ มนุษย์เราจะไม่ทำร้ายกัน?...ทันทีที่จบคำถาม หม่อมเชนตอบอย่างหนักแน่น


“คือการรักษาระยะห่างครับ ไม่จาบจ้วงซึ่งกันและกัน ยอมรับความเห็นที่แตกต่างของกันได้ รู้จักหน้าที่ของตัวเองให้ดี สัตว์มันเป็นแบบนี้”


“ระยะห่าง” จึงสำคัญยิ่ง มันหาใช่เพียงที่ว่าง หากคือการเคารพ ให้เกียรติ นำไปสู่ความเข้าใจ เหนืออื่นใด การเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม ย่อมส่งผลให้ความห่างระหว่าง “ข้างนอก” กับ “ข้างใน” หดแคบลง


“ คำว่า“ข้างใน” ก็คือ เราเข้าใจเขามากขึ้น จากที่เคยคิดว่าสัตว์ป่าน่ากลัวอันตราย ไม่น่าคบหา นั่นก็หมายความว่าระยะห่าง "ข้างใน" ของเรากับเขามันห่าง แต่ถ้าเรารักษาระยะห่าง "ข้างนอก" ระหว่างเขากับเราให้มากขึ้น มันก็ทำให้ข้างในเราหดแคบลง ด้วยการนับถือซึ่งกันและกัน"

"สัตว์มันรู้จักการเว้นระยะห่างดีอยู่แล้ว ระหว่างผู้ล่ากับผู้ล่าเองก็มี ซึ่งก็คือการไม่รุกล้ำอาณาเขตซึ่งกันและกัน เป็นการรักษาระยะ ไม่ต่างจากคนเรา เวลาคบหากันก็ไม่ควรจะไปบังคับให้คนอื่นเป็นอย่างที่เราคิด ไม่ไปคาดคั้นเขาว่าทำไมไม่เป็นอย่างนั้น อย่างนี้”





สถานการณ์ของสัตว์ชนิดใด ใกล้สูญพันธุ์ น่าเป็นห่วงที่สุด ในสายตาคุณ?


“ทุกตัวเลยครับ ถ้าศึกษาอย่างจริงจังเราจะเห็นว่า ณ ตอนนี้ ป่า ถูกแบ่งแยกเป็นเกาะเล็กเกาะน้อย เมื่อเป็นอย่างนั้น สัตว์มันต้องผสมพันธุ์กันเองภายในฝูง กลายเป็นปัญหาใหญ่ของสัตว์ทั่วโลกเลยนะครับ ปัญหานี้ทำให้คาดการณ์กันว่า อีกประมาณ 80 ปีข้างหน้า ช้างป่าจะสูญพันธุ์แล้ว เสือก็อีก 50 ปี ด้วยลักษณะด้อยที่เกิดจากการผสมพันธุ์กันในฝูง"

"การแก้ไขก็ทำได้ด้วยการเชื่อมผืนป่า นอกจากนี้ในต่างประเทศ เช่นที่ แคนาดา เขาก็ลองเอางูจากที่อื่นไปปล่อย เพื่อให้มันเกิดความหลากหลายทางชีวภาพ จากนั้นจึงปล่อยสัตว์จากต่างพื้นที่ให้เข้าไปอาศัย แต่ก็ไม่ได้ปล่อยกันมั่วๆ นะครับ เขาผ่านการศึกษามาอย่างยาวนาน จนกระทั่งแน่ใจว่าทำได้"


"ส่วนการเชื่อมผืนป่าที่ถูกตัดขาดไปแล้วเข้าด้วยกันอีกครั้งเพื่อให้สัตว์ป่าสามารถขยายพันธุ์ได้นั้น สิ่งเหล่านี้ มันเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันในระดับนโยบาย ต้องใช้กฎหมาย แต่ผมไม่เคยเห็นคนที่กุมนโยบายในบ้านเรา คิดหรือพูดอะไรที่มันเป็นเรื่องแบบนี้เลย พี่สืบ (สืบ นาคะเสถียร) ถึงต้องยิงตัวตายไป เพราะพยายามจะบอกว่า เฮ้ย! ฟังกูหน่อย แต่ก็ไม่มีใครฟัง”


อยากบอกอะไรกับ “คนเมือง” บ้างไหม?


“เรื่องง่ายๆ เลยครับ คุณอย่าไปคิดว่าแค่การใช้ถุงผ้า มันจะช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้ แต่ต้องพยายามทำความเข้าใจว่า ทำไมเราถึงต้องใช้ถุงผ้า ต้องคิดย้อนกลับไปไกลๆ ลองคิดย้อนดูว่า ถ้าเก้งตายสักตัวนี่ มันเกี่ยวกับโลกร้อนหรือเปล่าวะ? ลองตั้งคำถามดู ซึ่งทุกวันนี้มันก็มีช่องทางให้ศึกษาได้เยอะมาก อย่าไปคิดว่าแค่ใช้ถุงผ้าแล้วจะช่วยลดโลกร้อน โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าในบ้านเราที่รณรงค์ให้คนใช้ถุงผ้านี่ จริงๆ แล้วเขาใช้เครื่องปรับอากาศเปลืองกว่าประเทศลาวทั้งประเทศเลยนะ”

“อย่ามองแค่ปรากฏการณ์ และอย่ามองแค่ปลายเหตุของมัน พยายามศึกษา เพื่อให้เข้าใจมันได้มากขึ้น ไม่อย่างนั้นมันก็เป็นแค่แฟชั่น เป็นแค่การขายของตามกระแส”

.............





บทสนทนาดำเนินมาถึงห้วงขณะที่จำต้องเอ่ยคำลา เราทิ้งคำถามสุดท้ายที่เก็บงำมาเนิ่นนาน


คุณได้ “อะไร” จากการถ่ายภาพสัตว์ป่ามายาวนานถึงเพียงนี้


“ได้ความเป็นตัวผมแบบนี้แหละครับ ได้ความรู้สึกนึกคิดที่ทำให้กลายเป็นคนใจสัตว์”


หม่อมเชนหัวเราะอย่างรื่นรมย์ ราวกับเขากำลังนั่งจิบน้ำจากกระติก ท่ามกลางแดดอุ่นของดอยม่อนจอง


หรือเป็นเช่นนั้น...เมื่อมี “ใจสัตว์” ความลุ่มลึก เยือกเย็น และงดงามแห่งพงไพรคงไม่เคยจางไปจากเบื้องลึกในตัวตน

ไม่ว่าจะใช้ชีวิตอยู่ ณ แห่งหนใด

...............

สัมภาษณ์และเรียบเรียง : ตัวหนอนบนกองหนังสือ
ถ่ายภาพโดย : ตะวัน พงศ์แพทย์


ที่มา: http://www.manager.co.th/MetroLife/ViewNews.aspx?NewsID=9510000089369

Views: 1921

Replies to This Discussion

ขอบคุณครับเป็นบทความที่ดีมากครับ ดีมากๆ จริงๆ.........

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service