“ผมไม่อยากมีชีวิตอมตะผ่านผลงานของตัวเอง ผมอยากมีชีวิตอมตะด้วยการไม่ตาย"

วูดดี อัลเลน

------------



มั่นใจว่าคนหนึ่งที่จะต้องชอบแก๊กตลกข้างบนนี้ของอัลเลนมากๆ คือฌอง ปอล
ซาร์ต
ขณะที่อัลเลนยั่วล้อศิลปินผู้พยายามไขว่คว้าความเป็นอมตะผ่านผลงานศิลปะ
ซาร์ตเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งเพื่อวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมดังกล่าว





What is Literature? ก็คือหนังสือเล่มนั้น



ซาร์ตวิเคราะห์บทบาทของนักเขียน นักอ่าน
และวรรณกรรมฝรั่งเศสตั้งแต่ยุคกลางจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ในยุคกลาง ศาสนาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับวิถีชีวิตของผู้คน
คนที่มีความรู้และเวลาว่างพอจะประกอบอาชีพนักเขียนได้ก็คือเสมียนวัด
และคนอ่านก็หนีไม่พ้นพระสงฆ์องค์เจ้าด้วยกันเอง
หัวข้อที่เขียนจึงมักวนเวียนอยู่แต่กับศาสนา
นี่เป็นยุคที่ผู้เขียนและผู้อ่านมีอุดมคติเดียวกัน
และคนเราอ่านหนังสือเพื่อเสพย์ความคิดที่เจ้าตัวรู้หรือเชื่ออยู่แต่แรก



ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา
โดยเฉพาะหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส
เมื่อชนชั้นกระฎุมพีเริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคม
เมื่อศาสนจักรและอาณาจักรเริ่มแยกออกจากกัน
ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวก็เริ่มพังทลาย
"เมื่อนักอ่านแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและขัดแย้งกันเอง
ทุกสิ่งจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป"
นักเขียนกลายเป็นผู้ยืนอยู่ในตำแหน่งแห่งที่อันพิเศษ
พวกเขาเติบโตและได้รับการศึกษาท่ามกลางชนชั้นสูง
แต่ความชอบในศิลปะและวรรณกรรมปลูกฝังความรักอิสรภาพ
และความเห็นอกเห็นใจชนชั้นล่าง [1]
แต่แม้ว่านักเขียนจะอยากผลิตวรรณกรรมเพื่อชนชั้นแรงงานสักแค่ไหน
ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนประเภทเดียวในสังคมที่จะมีเวลาว่างและความรู้มากกว่าพอ
จะเป็นนักอ่านก็หนีไม่พ้นชนชั้นปกครองนั่นเอง




ความขัดแย้งเช่นนี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง]
[2]
พัฒนาการของวรรณกรรมสมัยใหม่จึงเป็นผลิตผลของการรับมือกับสภาพย้อนแย้งดัง
กล่าว อันนำไปสู่โรคร้ายของนักเขียน
นั่นคือการเอาตัวเองเข้าไปอิงแอบกับนิรันดร (eternal)



พยาธิสภาพของโรคนี้แบ่งออกเป็นสองลักษณะ
ลักษณะแรกเป็นมรดกวิธีคิดที่ตกทอดมาจากนักเขียนในยุคกลาง
ก่อนยุคแห่งการรู้แจ้ง
นักเขียนและนักอ่านมีข้อตกลงร่วมกันว่าว่าสัจธรรมในคริสตศาสนาเป็นสัจธรรม
สัมบูรณ์ (absolute truth)
คนในยุคนั้นจึงเขียนและอ่านกันแต่เรื่องราวที่เกี่ยวกับพระคัมภีร์ไบเบิล
แต่เมื่อศาสนาสูญเสียอำนาจในการตีตราสัจธรรมสัมบูรณ์แล้ว
นักเขียนจึงหนีเข้าไปหาอดีตกาลแทน
อดีตถูกสร้างขึ้นมาและผ่านการยอมรับโดยชนชั้นปกครองเพื่อให้กลายเป็นสัจธรรม
สัมบูรณ์ อดีตคือความสวยงาม ขณะที่ปัจจุบันเป็นเพียงเศษซากอันล่มสลาย
ถึงแม้มนุษย์เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงปัจจุบันให้กลับกลายเป็นอย่างอดีต
แต่สิ่งที่เราพอจะทำได้คือหยุดปัจจุบันเอาไว้
อย่าให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปอีกแม้เพียงเล็กน้อย



สภาพสังคมที่หยุดนิ่งก็คือนิรันดรนั่นเอง
นิยายฝรั่งเศสส่วนใหญ่จึงมักเล่าเรื่องด้วยกิริยาช่องสอง
และเป็นบันทึกความทรงจำว่าด้วยเหตุการณ์ในอดีต
ที่ถูกแต่งแต้มให้สวยหรูเกินจริง เพื่อตอบสนองอุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยม




อีกพยาธิสภาพของการอิงแอบกับนิรันดรคือการกระโจนหนีไปสู่อนาคต
นักเขียนปฏิเสธที่จะพูดถึงปัญหาสังคมของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ
เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่างานศิลปะต้องตอบสนองผู้อ่านที่เป็นสากล [3]
พวกเขาพยายามสื่อถึงความสากลอันเป็นนิรันดร คาดหวังว่า
แม้ในวันนี้จะไม่มีใครอ่านงานของพวกเขา แต่สักวันหนึ่ง
กาลเวลาจะผลิตผู้อ่านขึ้นมาเอง ซาร์ตค่อนขอดพฤติกรรมแบบนี้ว่า
"พยายามทดแทนความล้มเหลวเชิงสถานที่ด้วยเวลา"
(หมายถึงถ้าปัจจุบันนี้ไม่มีใครอ่านงานของฉันก็ไม่เป็นไร
เพราะฉันเขียนให้คนรุ่นหลัง รุ่นต่อๆ ไปอ่าน)



ปัญหาของหนังสือที่อิงแอบกับนิรันดรคือ เพราะมันถูกต้อง
เป็นสัจธรรมสัมบูรณ์ไปเสียหมด เพราะนักเขียนไม่กล้าหรือไม่ยอมที่จะผิดเลย
พวกเขาจึงเสมือนผู้ "ล่องลอยอยู่กลางอากาศ เป็นคนแปลกหน้าแห่งศตวรรษ
ถูกสาปให้อยู่นอกเหนือบริบท"
นักเขียนประเภทนี้จะผลิตได้แต่งานศิลปะบริสุทธิ์ ซึ่ง
"ไม่แตกต่างอะไรเลยกับศิลปะอันว่างเปล่า" [4]



เช่นนั้นแล้ว วรรณกรรมในความคิดของซาร์ตจะต้องเป็นอย่างไร
ไม่ใช่หนังสือที่พูดถึงอดีตหรืออนาคต แต่ต้องอยู่กับปัจจุบัน
นักเขียนไม่ได้เขียนหนังสือเพื่อ "มนุษย์ที่เป็นนามธรรม
ผู้อาศัยอยู่ในทุกยุคทุกสมัย หรือผู้อ่านที่ไร้กาลเวลา แต่
[ต้องเขียนเพื่อ]
มนุษย์เป็นตัวเป็นตนที่อาศัยอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับนักเขียน"
อีกนัยยะหนึ่งคือเขียนเกี่ยวกับปัจจุบัน เบอร์นาร์ด เฟรชต์แมน ผู้แปล
ใช้คำว่า "situated” ซึ่งยากพอสมควรที่จะหาคำแปลไทยให้ตรงตัว
ความหมายใกล้เคียงที่สุดคือ “ตั้งอยู่” หมายถึงนักเขียนต้อง “ตั้งอยู่”
ในโลกและกาลเวลาอันเป็นรูปธรรม ซึ่งก็คือปัจจุบันนั่นเอง



เมื่อสังคมแบ่งฝักแบ่งฝ่าย
ซาร์ตยืนยันว่าเป็นหน้าที่ของนักเขียนที่จะต้องเลือกข้าง และเลือกที่จะ
"ตั้งอยู่" ในข้างเดียวกับอิสรภาพ นักเขียนที่ซาร์ตยกย่องได้แก่ริชาร์ด
ไวร์ท ชาวอเมริกันผิวดำผู้เป็นกระบอกเสียงให้เพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์
สำหรับซาร์ต ไม่ใช่ว่าไวร์ท "ปฏิเสธที่จะเขียนถึงมนุษยชาติ
ด้วยการเขียนถึงเฉพาะแต่ [ชาวผิวดำ] หากเขาเขียนถึงมนุษย์ชาติ
ด้วยการเขียนถึง [ชาวผิวดำ] ต่างหาก"




สิ่งที่ซาร์ตเรียกร้องจากนักเขียนคือความรับผิดชอบต่อสังคมอันหนักหน่วงและ
รุนแรง หากปากกาของเราไม่อาจเปลี่ยนแปลงโลกให้มีอิสรภาพได้แล้วไซร้
สู้หักมันทิ้งเสียแต่เนิ่นๆ จะดีกว่า
เมื่อซาร์ตเรียกร้องให้นักเขียนเลือกข้าง คำถามที่ตามมาคือ
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าชัยชนะของข้างไหนที่รับประกันอิสรภาพ
ในเมื่อต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่าตนเองสู้เพื่อชุดคำอันสวยหรูกันทั้งนั้น
(อิสรภาพ เสรีภาพ ภราดรภาพ ประชาธิปไตย ความจงรักภักดี ความรักชาติ ฯลฯ)
อย่างไรก็ดี อิสรภาพดูจะนิยามได้ง่ายกว่าความดีงาม (virtue)
หรือความยุติธรรม (justice) เป็นไหนๆ
ถ้านักเขียนไม่มีแม้แต่ความสามารถที่จะแบ่งแยกอะไรคือกรงขัง อะไรคือประตู
ก็อย่าคาดหวังเลยว่าเขาจะรู้อะไรคือความดีงาม อะไรคือความยุติธรรม



วรรณกรรมประเภทไหนกันที่จะออกมาจากปลายปากกาแบบซาร์ต
มันคงจะ "situated” เสียจน ผ่านไปไม่กี่ปี
นักเขียนอาจจะพบว่าตัวเองเลือกผิด คิดผิด หรือยิ่งกว่านั้น
คำถามหรือทางเลือกนั้นอาจกลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้วก็ได้ [5]
ซาร์ตกลับเชื่อว่า เพราะวรรณกรรมล้าสมัยได้ต่างหาก
วรรณกรรมถึงเป็นสิ่งที่สวยงาม "พรุ่งนี้ทุกสิ่งที่เราทำ
จะกลายเป็นความผิดพลาด แต่วันนี้มันคือความถูกต้อง เมื่อยุคสมัยสิ้นสุดลง
และเมื่อเรามองย้อนกลับมา เราจะเห็นแต่ความผิดพลาด
หากตราบใดที่ยุคสมัยยังคงอยู่ ตราบนั้นทุกสิ่งก็ล้วนถูกต้อง"
ศีลธรรมและความสวยงามเกิดมาจากความไม่รู้ของมนุษย์ เกิดจากการลองผิดลองถูก
ไม่ใช่เกิดมาจากการทำสิ่งที่รู้ๆ กันอยู่ว่าดีแน่ ถูกแน่
(ดังนั้นเมื่อรู้ตัวว่าทำผิดไป
ก็อย่ามามัวเสียเวลาปกป้องความผิดพลาดของตัวเองในอดีต
มิเช่นนั้นก็จะยิ่งทำให้ความผิดพลาดในอดีตเป็นนิรันดรออกไปยิ่งขึ้น)



ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา จู่ๆ
ผมก็รู้สึกขึ้นมาว่าบางที
"หกบรรทัดต่อปีก็อาจจะมากเกินไปด้วยซ้ำสำหรับวรรณกรรมไทย"
ถ้าไม่หลอกตัวเองจนเกินไปนัก เราคงปฏิเสธได้ยากว่า รัฐประหาร การยึดสนามบิน
จนถึงกองศพ และซากปรักหักพังกลางเมืองหลวง
ส่วนหนึ่งเป็นความรับผิดชอบของนักเขียนไทย
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นพ้นการเมืองไปไกลแล้ว แต่เป็นปัญหาสังคม
เป็นปัญหาทางวัฒนธรรม ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของวรรณกรรม
ความล้มเหลวของสังคมคือความล้มเหลวของวรรณกรรม ผมจึงตั้งคำถามว่า
วรรณกรรมแบบไหนจะผุดออกมาจากความล่มสลายของวรรณกรรมแบบเดิมๆ
(แน่นอนนี่ว่าเป็นคำถามที่มองโลกในแง่ดีมากๆ
เพราะเป็นไปได้ยิ่งกว่าที่สุดท้ายเราก็คงเขียน คงอ่านกันแต่สิ่งเดิมๆ )



ผมหวังมากไปไหม ถ้าวรรณกรรมไทยยุคใหม่จะเป็นอย่างที่ซาร์ตพูด เป็นวรรณกรรมที่กล้าที่จะผิด มากกว่าไม่ยอมผิดเลย



และนี่คือคำถามที่ซาร์ตฝากทิ้งไว้ให้คนอ่าน พวกเราทุกคน





[1] ซาร์ตให้ความสำคัญกับอิสรภาพมาก
วรรณกรรมคือข้อตกลงระหว่างนักเขียนและนักอ่านที่จะมอบและแบ่งปันอิสรภาพให้
แก่กันและกัน นักอ่านมีอิสรภาพที่จะอ่านหรือไม่อ่านหนังสือเล่่มใดก็ได้
แต่เขาก็ตัดสินใจหยิบเล่มนี้ขึ้นมา
อิสรภาพที่คนอ่านเสียสละให้นักเขียนคือสิ่งซึ่งมอบชีิวิตให้แก่ตัวละคร ฉาก
และเหตุการณ์ในหนังสือ ในทางกลับกัน
เมื่อนักอ่านหยิบยื่นอิสรภาพให้แก่นักเขียน
สิ่งที่เขาได้รับตอบแทนมาก็คืออิสรภาพในโลกหนังสือ


ซาร์ตจึงเห็นว่าคุณธรรมขั้นต้นของนักเขียนคือต้องเป็นผู้รักในอิสรภาพ
"นักเขียนที่พยายามกักขังคนอ่าน ถือว่าล้มเหลวในเชิงศิลปะ" และ
"ศิลปะแห่งร้อยกรองจะเฟื่องฟูได้ภายใต้ยุคสมัยเดียว...คือยุคแห่ง
ประชาธิปไตย" ที่ประชาชนมีอิสรภาพ



[2] แน่นอนว่าในแต่ละยุคสมัย
ชนชั้นปกครองและใต้การปกครองก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
ชนชั้นสูงถูกแทนที่ด้วยชนชั้นกลาง
และชนชั้นชายขอบที่เริ่มตื่นตัวทางการเมืองก็กลายมาเป็นชนชั้นล่างต่ออีกทอด
หนึ่ง



[3] นักเขียนประเภทนี้จึงมักชอบทำตัวแบบที่หมอมฮุกแซวใน อ่าน ฉบับ
แผลใหม่ คือแทนที่จะพูดว่า "ที่นี่มีคนตาย" ก็พูดว่า "ทุกที่มีคนตาย"
เพื่อข่มว่าความจริงของฉันนั้นสากลกว่า สูงส่งกว่า



[4] ในบริบทแบบไทยๆ มีคำพูดหนึ่งซึ่งเราจะได้ยินบ่อยๆ
ในช่วงความขัดแย้งของบ้านเมืองในขณะนี้คือ "ธรรมะลอยตัว"
หมายถึงธรรมะที่ผู้หลักผู้ใหญ่ชอบเอามาอ้างประกอบการตัดสินใจ การพูด
หรือการกระทำ ซึ่งบางครั้งธรรมะเหล่านี้ก็ "ถูกต้อง" ไปเสียหมด จนไปๆ มาๆ
กลับนำมาใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย
นอกจากให้ประชาชนพึงพอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น อยู่เฉยๆ
และปฏิเสธที่จะลุกขึ้นมาทำอะไร

สิ่งที่ "ถูกใจ" ไม่จำเป็นต้อง "ถูกต้อง" และสิ่งที่ "ถูกต้อง" บางครั้งก็ "ถูกเอาไปใช้" ไม่ได้



[5] ซึ่งนี่อาจจะเป็นสาเหตุ
ทำไมผลงานนิยายของซาร์ตถึงไม่โด่งดังเท่านักเขียนรางวัลโนเบลร่วมชาติและ
ร่วมสมัยอย่างกามูส์ ซาร์ตมีชื่อเสียงในฐานะนักคิด
นักปรัชญามากกว่านักเขียน




ที่มา: ภาณุ ตรัยเวช
โดย: onopen.com-โอเพ่นออนไลน์ 28 ตุลาคม 2553

Views: 255

Reply to This

Replies to This Discussion

โอะ... กระแทกใจครับ

 

เก็บไปคิดได้หลายอย่างเลย

อ่านไปรู้สึก จุก ชอบจังเลยค่ะ :)

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service