Vivienne Westwood : เมื่อแฟชั่นก้าวสู่ โลกแห่งความจริง


 

พิษสงของภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาไม่เพียงทำให้ทั่วโลกปั่นป่วน แต่ทว่าในแวดวงของแฟชั่นเองก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย โดยเฉพาะในช่วงเวทีแฟชั่นวีกตามเมืองแฟชั่นผุดพรายขึ้นอย่างถี่ยิบทั้งอังกฤษ มิลาน 

ความเป็นไปที่เกิดขึ้นต่างเป็นผลอันสืบเนื่องมาจากภาวการณ์ทางเศรษฐกิจถดถอยแทบทั้งนั้น 

เป็นผลที่ทำให้บรรดาดีไซเนอร์พากันปรับตัวเพื่อรับสภาพความนิ่งเงียบทางการเงิน ซึ่งตามปกติแล้วรันเวย์ของแฟชั่นจะเป็นเวทีแห่งการปลดปล่อยไอเดียสุดแฟนตาซีและเป็นเวทีแห่งการแข่งขันประชันไอเดียกันสุดฤทธิ์สุดเดช 

ทว่าปีนี้ทั้งฟอล-วินเทอร์ 2008 และสปริง-ซัมเมอร์ 2009 ที่นางแบบกำลังเดินอวดโฉมแฟชั่นเสื้อผ้ากันอยู่กลับมีความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด โดยเกือบทุกไฮแบรนด์พากันลดทอนความบ้าคลั่งเพ้อฝันลงมาสู่สเกลที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด 

ขนาดระดับโอต กูตูร์ที่ดูหรูเลิศในทุกซีซั่นก็ยังหลีกหนีความเป็นไปนี้ไม่พ้น 

กุลวิทย์ เลาสุขศรี บก.บห.นิตยสารแอล (ประเทศไทย) ยังจับปรากฎการณ์นี้ได้เลยว่า ทุกแบรนด์ต่างพุ่งเข้าหาสิ่งที่ตลาดต้องการเป็นสำคัญมากกว่าความเพ้อฝันเหมือนวันก่อน นั่นคือ เสื้อผ้าที่คิดและดีไซน์ในยุคนี้ต้องใส่ได้จริง ประเภทกรุยกรายสุดเริ่ดเหมือนเมื่อก่อนแทบไม่มีให้เห็น สิ่งที่สะท้อนออกมาคือ เสื้อผ้าที่ยังคงสวยใส่ได้จริงและแฝงด้วยไอเดียเทคนิคสารพันที่มาพร้อมกับลุกแบบพาวเวอร์ฟูล 

เมื่อเสื้อผ้าไม่ได้เป็นสิ่งที่สร้างความตื่นเต้นเหมือนเมื่อก่อน การจัดแสดงแฟชั่นในรันเวย์ก็ต้องสร้างอิมแพ็กต์ให้มากขึ้น เหมือนอย่างที่ มาร์ก จาคอบส์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า "คุณต้องสร้างแบรนด์ให้ใหญ่ขึ้น ดีขึ้น เร็วขึ้น แรงขึ้น" 

ในช่วงเวลาอย่างนี้ว่ากันว่า บรรดาดีไซเนอร์ต่างพากันงัดไม้เด็ดออกมาแสดงกันบนรันเวย์เพื่อสร้างอิมแพ็กต์แรงๆ ให้เกิดขึ้นกับแบรนด์ของตนเองกันเพียบ อาทิ ชาเนล ที่ยกม้าหมุนขนาด 10 ตันมาไว้บนเวที, มาร์ก จาคอบส์ ยกวงดนตรี Sonic Youth มาเล่นสดระหว่างโชว์, อีฟ แซงต์โลรองต์ สร้างเต็นท์ที่ดูคล้ายสิ่งก่อสร้างในสตาร์วอร์มากกว่ารันเวย์ 

ขนาดดีไซเนอร์รุ่นเก่าระดับปรมาจารย์อย่าง "วิเวียน เวสต์วู้ด" ยังมีไม้เด็ดในเวทีลอนดอนแฟชั่นวีกล่าสุดกับคอลเล็กชั่น "เรด เลเบิล" (Red Label) สปริง-ซัมเมอร์ 2009 ด้วยเซเลบริตี้ดังๆ ที่พากันมาประดับเวทีแฟชั่นเจ้าแม่แฟชั่นคนนี้ให้ตูมตามขึ้น ไม่ว่าจะเป็น พาเมลล่า แอนเดอร์สัน, เคทมอส,เอมม่า วัตสัน 

เสื้อผ้าในคอลเล็กชั่นนี้ของวิเวียนถือได้ว่ามีความเป็นคอมเมอร์เชียลมากขึ้น ผสมผสานระหว่างความเก่าและใหม่เข้าไว้ด้วยกันโดยเน้นการสวมใส่ได้ง่าย จนแสดงให้เห็นว่าเธอเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจอย่างสมบูรณ์แบบคนหนึ่ง แม้ว่าแนวคิดในการนำเสนอของเธอจะออกแนวต่อต้านสังคม แต่เสื้อผ้าของเธอก็ขายได้และขายดีด้วย ไม่เช่นนั้นเธอคงไม่คุยโวถึงธุรกิจเสื้อผ้าที่สามารถสวมใส่ได้จริงของเธอว่าเติบโตขึ้นอย่างน่าชื่นใจ เอาเป็นว่าปัจจุบันมี 120 บูติคในทั่วโลก และมากกว่า 12 สาขาในจีน มียอดขายต่อปีอยู่ที่ 180 ล้านยูโร หรือ 255 ล้านเหรียญสหรัฐ 

วิเวียน เป็นดีไซเนอร์ที่ทั่วโลกจับตามาตลอดแม้ว่าในช่วงแห่งวงการแฟชั่นโชว์โลกที่กำลังก้าวเดินเข้าสู่ความเป็นจริงมากขึ้น วิเวียน เวสต์วูด เจ้าแม่แฟชั่นพังก์แห่งอังกฤษก็ถูกเพ่งมองจนอาจกลายเป็นไอดอลสำคัญของยุคนี้ 

เพราะดูจะเข้าทางกับสไตล์ของวิเวียน เนื่องจากด้วยความที่เธอเติบโตมาในชนชั้นกรรมกร เธอจึงได้ใช้ความกดดันทางสังคมแปรเป็นวัตถุดิบทางความคิดสร้างสรรค์ด้วยความกล้าท้าทายต่อกรอบประเพณีสังคมดั้งเดิมออกมาเป็นเสื้อผ้าแนวพังก์ร็อกในยุค 1970 อันมีสามี มัลคอล์ม แมกลาเรน สามีคนที่สองเป็นแรงผลักดันสำคัญ 

วิเวียนเคยพูดถึงงานของเธอว่า "งานของฉันคือการประจันหน้ากับสถาบันทางสังคม พยายามค้นหาว่าอิสรภาพของฉันเองอยู่ที่ไหน และทำอย่างไรเพื่อให้ได้มันมา" 

เสื้อทีเชิ้ตพิมพ์ลายหน้าอกเป็นรูปผู้หญิงและรูปคาวบอยเปลือย รวมถึงการเฉือนเสื้อผ้าให้ 

ขาดวิ่น จึงกลายเป็นสิ่งที่เธอแสดงออกมา 

เธอเป็นดีไซเนอร์ที่กล้ายืนนอกกรอบตั้งแต่ยุคแรกที่เธอก้าวเข้าสู่เวทีแฟชั่น จนถึงปี 1980 เธอเริ่มฉายแววความเป็นดีไซเนอร์นักแหกกฎการตัดเย็บชั้นสูงแบบอังกฤษ แต่สามารถสวมใส่ได้จริง อันนี้เป็นสิ่งที่เธอเน้น 

คิดดูแล้วกัน ขนาดคอร์เส็ต ชุดชั้นในสาวสังคมชั้นสูงในยุควิกตอเรียที่ใช้รัดให้เอวคอดและมีหน้าอกซึ่งถูกยกเลิกไปเพราะมองว่าเป็นสัญลักษณ์การกดขี่ทางเพศ วิเวียนยังนำกลับมาทำใหม่ แก้โดยการเย็บด้วยผ้ายืดสมัยใหม่เพื่อให้ใส่สบาย และดัดแปลงให้ใส่ได้ทั้งข้างในและข้างนอก แถมยังตั้งชื่อคอลเล็กชั่นว่าเทพีเสรีภาพ 

"การทำงานของฉันจะเริ่มต้นจากการสังเคราะห์สิ่งต่างๆ ในอดีต ดึงรายละเอียดที่น่าสนใจบางอย่างที่มักถูกมองข้ามมาศึกษาอย่างจริงจัง ในที่สุดก็จะได้ผลงานที่แปลกแหวกแนว เพราะฉันได้สอดแทรกความคิดของฉันเข้าไปจนกลบรายละเอียดเดิม" 

 
Vivienne Westwood


สิ่งที่วิเวียนหวังหากมีคนสวมใส่เสื้อผ้าของเธอ มิใช่การภูมิอกภูมิใจกับความนิยมชมชอบ หากแต่เป็นเรื่องที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงคนนั้นดูโดดเด่นโดยไม่ต้องรู้ว่าใส่เสื้อของวิเวียน เวสต์วู้ด 

และในยุคที่เศรษฐกิจนิ่งงันเช่นนี้ วิเวียนน่าจะเป็นไอดอลสำคัญของดีไซเนอร์ยุคน้ำมันแพง เนื่องจากเธอรู้จักใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า เธอรู้สึกว่าไม่อยากสูญเสียผ้าโดยเปล่าประโยชน์ เธอจึงนำเอาผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาตัดเย็บ ทดลองเปลี่ยนฟอร์ม แพตเทิร์น และเทคนิคต่างๆ เพื่อให้เสียผ้าน้อยที่สุด ถ้าสังเกตดีๆ แล้ว เธอมักจะใช้ผืนผ้ารูปสี่เหลี่ยมเพราะจะทำให้เสียผ้าน้อยที่สุด 

นั่นคืออัจฉริยะทางความคิดของ วิเวียน เวสต์วู้ด สตรีวัย 60 กว่าปีที่ได้รับการยกย่องจากวงการแฟชั่นอังกฤษและแฟชั่นทั่วโลกว่าเป็นผู้มีอิทธิพลกับวงการนี้มากที่สุดคนหนึ่ง 

ตำแหน่งท่านผู้หญิงจากราชสำนักอังกฤษที่เธอได้รับ อาจสร้างความภูมิใจได้มากมาย แต่ไหนเลยจะเท่ากับการที่หญิงวัยเกษียณคนนี้ได้เป็นแรงบันดาลใจให้ดีไซเนอร์ยุคใหม่ได้ก้าวสู่โลกแห่งความเป็นจริง 

"นั่นคือสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดที่ฉันได้ทำงานมาตลอดชีวิต" วิเวียน เวสต์วูด กล่าวเช่นนั้น 

************ 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ (หน้าพิเศษ D-Life) 
คอลัมน์ AROUND THE WORLD 
โดย ณฐกร ขุนทอง 
วันที่ 06 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4042 

Views: 265

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service