The Reading Room ห้องสมุดศิลปะทำมือ

โดย : ชาธิป 
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ 9 มกราคม 2553 

 

ไม่ใช่เรื่องแปลกหากใครสักคน จะคิดอ่านลุกขึ้นมาทำธุรกิจ สักอย่างเพื่อสร้างรายได้ แต่ไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา ที่ใครสักคน จะลุกขึ้นมาลงไม้ลงมือ 

ทำ "ห้องสมุด" เพราะเรียกได้ว่า "แค่คิดก็ผิดแล้ว" 

หากคาดหวังจะทำกำไรจากการบริหารห้องสมุด โดยเฉพาะ "ห้องสมุดศิลปะ" ที่แค่คิดว่าทำอย่างไรจะให้ได้ "ลูกค้า" เข้ามาใช้บริการ ก็ยังเป็นคำถามที่ยากจะหาคำตอบ 

เช่นนั้น ความคิดของ นราวัลลภ์ ปฐมวัฒน ที่ก่อเกิดเป็นห้องสมุดศิลปะ "The Reading Room" ย่อมไม่ธรรมดา เพราะเป็นความคิดฝันถึงการสร้างห้องสมุดในรูปแบบเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและเปิดให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ 

ห้องสมุดศิลปะ The Reading Room บริการหนังสือเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยกว่า 1,000 เล่ม ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ สูจิบัตรนิทรรศการ หนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะ ทฤษฎีศิลป์ นิตยสาร และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ 

นอกจากนั้น The Reading Room ยังมีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยเฉพาะการเสวนาพูดคุย จัดฉายภาพยนตร์ทดลอง และทำ workshop ทั้งที่เกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยโดยตรงและสาขาอื่นๆ ทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ฯลฯ ที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมร่วมสมัย รวมไปถึงการเสวนาองค์ความรู้ข้ามสาขา 



อะไรทำให้คิดทำห้องสมุดศิลปะ 
คือสนใจศิลปะมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้วก็เลยไปลงวิชาเลือกทางศิลปกรรมเสียเยอะ ตอนที่เรียนจบอักษรศาสตร์ จุฬาฯ พอไปเรียนต่อก็เลือกเรียนทางด้านศิลปะ แล้วก็ไปเรียนต่อที่นิวยอร์ก เรียนทางการจัดการศิลปวัฒนธรรม ที่นั่นจะเป็นโปรแกรมที่พิเศษเพราะเขาจะเน้นการจัดการด้าน Non-profit (การบริหารจัดการแบบไม่หวังผลกำไร) ก็เลยรู้สึกว่ากลับมาทำด้านนี้ก็เป็นสายตรง อยู่ที่โน่นมา 6 ปี เพราะเรียนจบเราก็ทำงานต่อด้วย แล้วก็ทำด้าน Non-profit นี่ละเพราะเรารู้สึกว่าเราชอบ แล้วก็ได้ทำ Archive เลยรู้สึกว่าเราสนใจทางนี้ ชอบเก็บข้อมูล ชอบหนังสือ ชอบกระดาษ 

พอกลับมาก็ได้งานที่ Asia Art Archive (AAA) ซึ่งถือว่าโชคดี เพราะตอนอยู่ที่โน่นก็เรียนเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยของตะวันตก งานที่ทำก็เกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยของนิวยอร์กเป็นหลัก เราไม่เคยรู้เรื่องศิลปะร่วมสมัยไทยมาก่อนเลย พอได้งานตรงนี้มันทำให้เราต้องออกไปเจอคน ออกไปหาข้อมูลว่ามันคืออะไร มันก็ได้ Educate ตัวเอง พอสุดท้ายแล้วทาง AAA จะเปลี่ยนฐานจากประเทศไทยไปประเทศอื่นๆ ทำให้เรารู้สึกว่าข้อมูลต่างๆ ที่อยู่ที่เราไม่อยากให้มันสูญหายไปหรือว่าอยู่ที่เราคนเดียว ก็เลยตั้งห้องสมุดนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นสถานที่มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน 

ตอนที่อยู่ AAA ทำอะไร 
ตอนนั้นก็ไปตามที่ต่างๆ เก็บข้อมูล เก็บสูจิบัตรนิทรรศการศิลปะ เก็บเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ถ่ายรูปเก็บไว้ คุยกับศิลปิน มันเป็นการเก็บข้อมูลศิลปะร่วมสมัยที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันนี้ พอได้มาก็ประมวลข้อมูลแล้วก็ส่งให้ทาง AAA ที่ฮ่องกง 

ทางนั้นเอาข้อมูลไปทำอะไรต่อ 
ที่นั่นจะมีคล้ายๆ ห้องสมุดให้คนมาใช้งาน มีการจัดกิจกรรมหลายอย่าง จัดเสวนา จัดกิจกรรมศิลปะกับชุมชน ก็เป็นโมเดลที่เราอยากจะทำตาม พอหมดจากตรงนั้นก็เลยเสียดายว่า เรามีข้อมูลแล้ว เรามีคอนเนคชั่นแล้ว เรารู้จักคนในวงการศิลปะ แล้วเราก็รู้สึกว่าเราชอบตรงนี้และเราสามารถทำได้ พอมันเจออะไรที่รู้สึกว่าเราอยู่กับมันไปได้ตลอดชีวิตก็อยากจะทำไปเรื่อยๆ 

ทำไมสนใจเรื่องการจัดการองค์กรแบบไม่แสวงกำไร 
เรียนอักษรฯ จุฬาฯ เรียนทางวรรณคดีอะไรแบบนี้เขาก็สอนให้เรามีอุดมคติอยู่แล้ว สนใจศิลปะสนใจอะไรพวกนี้ ก็ไม่ทราบเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่ไม่สามารถทำธุรกิจได้ ไม่มีหัวทางนั้น ไม่เคยคิดว่าอยากจะทำธุรกิจ พอทำตรงนี้ก็รู้สึกว่ามีความสุขดี 

อยากอยู่กับหนังสือตั้งแต่เด็กแล้ว ไม่ค่อยมีเพื่อน ตั้งแต่เด็กไม่มีคนคบ (หัวเราะ) เราก็อ่านหนังสือแล้วรู้สึกว่ามีความสุข ค้นพบว่าตัวเองไม่มีทักษะในการสื่อสารกับมนุษย์คนอื่นเท่าไหร่ รู้สึกว่าเราชอบตรงนี้ ชอบเก็บข้อมูล ทำงานที่คนอื่นมองว่าน่าเบื่อแต่เราชอบ 

หลักๆ ของห้องสมุด The Reading Room จะทำอะไร 
ก็คงเป็น Archive (ประมาณห้องสมุดหรือหอจดหมายเหตุ) น่ะค่ะ หลักๆ ก็คือที่เก็บข้อมูลศิลปะร่วมสมัย แต่ก็ต้องยอมรับว่าถึงเราจะรักห้องสมุดมาก เราชอบไปร้านหนังสือ แต่ว่าการที่ห้องสมุดอยู่เฉยๆ ก็เหมือนสิ่งที่ตายแล้ว คนคงไม่ค่อยจะมาหรอก เราก็ต้องจัดกิจกรรมที่จะให้คนเข้ามาแล้วก็ทำให้ความรู้มันกลับมามีชีวิตอีกที มีการแลกเปลี่ยน มีการสร้างอะไรใหม่ๆ เพิ่มขึ้น 

ก็มีแผนระยะยาวเหมือนกัน ถ้าเราจัด Talk ให้เป็นซีรีส์ทั้งปี เสร็จแล้วเอามาพิมพ์เป็นเล่ม นอกจากการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดแล้ว มันก็เป็นการเพิ่มองค์ความรู้ ให้กับแวดวงศิลปะร่วมสมัยไทยด้วย ซึ่งก็น่าจะครบวงจรในตัวมันเอง 

ข้อมูลที่เก็บไว้มีอะไรบ้าง 

ก็จะแบ่งเป็นสองส่วนคือ ข้อมูลของศิลปินร่วมสมัยไทย พวกสูจิบัตร ข้อมูลศิลปิน ส่วนข้อมูลของศิลปินต่างชาติก็จะมีทั้งของที่เราเก็บมาเองและของที่ได้รับบริจาคมา เป็นหนังสือ สูจิบัตร นิตยสาร ดิจิทัลไฟล์ด้วย พยายามเก็บให้ได้ในรูปแบบหลากหลายที่สุด 

ถ้าเข้ามาใช้จริงๆ คงเป็นคนที่เรียนสายนี้หรือคนที่มีความสนใจ ศิลปิน คงไม่ได้เยอะ เราก็เข้าใจว่าคงไม่ได้มีคนสนใจศิลปะร่วมสมัยมากขนาดนั้น แต่อยากจะให้คนรุ่นใหม่เข้ามาใช้ ที่นี่เราจะไม่ให้ยืมหนังสือออก แต่จะมีร้านถ่ายเอกสารอยู่ข้างๆ ก็ไปใช้บริการได้ ส่วนที่เป็นรูปเราก็สแกนให้ได้ 



เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาใช้ได้ฟรี? 
ไม่เก็บสตางค์ค่ะ อยู่ก็ไกล ถ้าเก็บสงสัยไม่มีคนมา (หัวเราะ) 

มองความเป็นไปได้แค่ไหนที่คนทั่วไปจะเข้ามาใช้ห้องสมุดศิลปะ 
เราก็ต้องมีเป้าหมายที่มันเป็นไปได้ใช่ไหม (หัวเราะ) ก็คงไม่ได้คาดหวังว่าจะให้มีคนมามากมายแล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไร แค่มองว่าที่เก็บข้อมูลที่มีความเป็นกลางมันก็ไม่ได้มีเยอะ แล้วเราก็โฟกัสไปที่ศิลปะร่วมสมัยด้วย มันมีแหล่งข้อมูลน้อยอยู่แล้ว เพราะว่าศิลปะร่วมสมัยเพิ่งจะเกิดขึ้นประมาณ 20 ปีได้ มันยังสามารถเก็บไปได้เรื่อยๆ และส่วนมากคนที่เก็บก็คือเก็บเฉพาะของตัวเอง อย่างเช่น ศิลปินก็เก็บข้อมูลของตัวเอง แกลเลอรีก็เก็บเฉพาะที่ตัวเองจัดแสดง จะไม่ค่อยมีคนที่เก็บทั้งหมด ก็เลยอยากจะทำ 

คิดว่าจะมีกิจกรรมอะไรบ้าง 
หลักๆ อยากจะจัดเสวนา อยากจัดฉายหนัง ซึ่งจะร่วมมือกับกลุ่มที่ทำหนังมีการจัดโปรแกรมฉายหนังสั้น หนังทดลองร่วมกับกลุ่ม Film Virus ทุกสองอาทิตย์ แล้วก็จะมีเสวนา มีเวิร์คชอป เช่น การวิจารณ์ศิลปะ การเขียนข่าวศิลปะ แล้วอาจจะมีพวกแอนิเมชัน การเปิดตัวหนังสือ ก็เป็นกิจกรรมที่เน้นไปในเชิงสร้างสรรค์และการศึกษา 

ส่วนเรื่องของกิจกรรมรู้สึกว่ามันมีความเป็นไปได้ในการที่จะให้คนมาแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็น โดยที่มันไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปะเท่านั้น เพราะวัฒนธรรมร่วมสมัยมันเป็นสิ่งที่เราควรจะเอามาใช้ในการทำงานศิลปะด้วย ศิลปินบางครั้งอาจจะปิดตัวเองเกินไปหรือเปล่า แล้วไม่ออกไปเจอคนที่อยู่ในสายต่างๆ หรือเปล่า ถ้าเรามีพื้นที่ตรงนี้แล้วเปิดโอกาสให้มันมีการแลกเปลี่ยนความคิดกันก็น่าจะมากันนะ...ก็หวังว่า (หัวเราะ) แต่ก็โอเคนะคะ ได้รับการตอบรับในระดับหนึ่ง แต่ว่าคนที่อยู่ในสายอื่นๆ คงจะเยอะเหมือนกัน เช่น พวกทำหนัง วรรณกรรม ออกแบบ สถาปัตยกรรมก็สนใจอยากจะมาทำกิจกรรม ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง 

เรื่องงบประมาณจะทำอย่างไรให้อยู่ได้ในระยะยาว 
หลักๆ ก็คงเขียนโครงการขอทุนไปตามมูลนิธิต่างๆ ส่วนมากเป็นต่างประเทศ ของไทยก็คงขอกระทรวงวัฒนธรรมหรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แต่น่าจะได้ในเชิงของงบประมาณสำหรับจัดแต่ละกิจกรรมมากกว่า ถ้าจะมาดูในแง่ของการบริหารจัดการห้องสมุดเองส่วนมากไม่มีใครมีนโยบายให้ทุนดำเนินการห้องสมุดเท่าไหร่ 

ตอนนี้ก็เลยทำโปรดักต์ขึ้นมาเป็นสมุดโน้ต ทำขึ้นมาแล้วก็มีรูปผลงานของศิลปินอยู่ด้วย เป็นศิลปินที่ค่อนข้างจะป๊อป 10 คนแล้วเอาไปวางขาย ซึ่งถ้าขายได้จำนวนหนึ่งก็น่าจะอยู่ได้ในระดับหนึ่ง อยากให้คนซื้อไปเป็นของขวัญปีใหม่ น่ารักดี ไม่แพงด้วย 150 บาทเอง เราหวังไว้ว่าแฟนๆ ของศิลปินจะช่วยชีวิตเราไว้ (หัวเราะ) 


........... 

ห้องสมุดศิลปะ The Reading Room ตั้งอยู่ที่ 2351/4 ถนนเจริญกรุง (ปากซอย 91) ยานนาวา กรุงเทพฯ 10120 เวลาทำการ พุธ-เสาร์ 13.00-18.00 น. ดูเพิ่มเติมได้ที่
www.readingroombkk.org 

Views: 55

Reply to This

Replies to This Discussion

น่าสนใจครับ

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service