หนังสือ The Photographer โดย Emmanuel Guibert และ Didier Lefevre

โดย สฤณี อาชวานันทกุล www.fringer.org



ใครที่ไม่เคยอ่านการ์ตูนฝรั่งมาก่อน อาจรู้สึกว่าการ์ตูนฝรั่งไม่หลากหลายเหมือนกับการ์ตูนญี่ปุ่น และมีแต่การ์ตูนสำหรับเด็กและเด็กไม่รู้จักโต อย่างเช่นพวกซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นแบตแมน ซูเปอร์แมน สไปเดอร์แมน ฯลฯ

แต่ในบรรดาการ์ตูนฝรั่งทั้งหมด การ์ตูนที่ตั้งใจเขียนให้ผู้ใหญ่อ่าน คือการ์ตูนที่เรียกว่า "นิยายภาพ" (graphic novel) ซึ่งมีเนื้อหาและรูปแบบที่เข้มข้น และนักเขียนตั้งใจนำเสนอไม่ต่างจากงานวรรณกรรมหรือสารคดีชั้นดี นิยายภาพหลายเล่มได้รับการยกย่องจากนักอ่านทั่วโลกว่าเป็นวรรณกรรมอมตะ เรื่องโปรดของผู้เขียนมี อาทิ Watchmen และ V for Vendetta โดย Alex Moore (ทั้งสองเรื่องนี้สร้างเป็นภาพยนตร์แล้ว), Dark Knight Returns โดย Frank Miller และ Transmetropolitan โดย Warren Ellis

ด้านสารคดี นิยายภาพ เรื่อง The Photographer โดย Emmanuel Guibert และ Didier Lefevre เป็นสารคดีที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งเท่าที่ผู้เขียนเคยอ่าน ทั้งที่เป็นนิยายภาพและไม่ใช่ หนังสือเล่มนี้ถ่ายทอดประสบการณ์จริงของช่างภาพข่าวนาม Didier Lefevre ระหว่างที่เขาร่วมเดินทางกับทีมองค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (Medecins Sans Frontiers : MSF) ในอัฟกานิสถาน ปี 1986

สมัยนั้นการรุกรานอัฟกานิสถานของสหภาพโซเวียตยังไม่จบและไม่มี ทีท่าว่า จะจบ มีองค์กรด้านมนุษยธรรมไม่กี่แห่งที่ยินดีส่งคนเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ในประเทศกันดารที่ทั่วโลกหลงลืมไปนานแล้ว การบันทึกภาพการทำงานของ MSF เป็นงานแรกของ Lefevre ในฐานะช่างภาพข่าว เขาได้ภาพถ่ายขาวดำที่น่าทึ่งกลับมาจำนวนมาก แต่ก็ต้องแลกมาด้วยประสบการณ์เสี่ยงตายที่เกือบทำให้เขาไม่รอดชีวิตกลับมา

The Photographer ตีพิมพ์ครั้งแรกในภาษาฝรั่งเศส ก่อนที่จะได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสแบ่งเรื่องราวของ Lefevre ออกเป็นสามเล่ม ฉบับภาษาอังกฤษนำทั้งสามเล่มมารวมกันเป็นสามช่วงในเล่มเดียว ช่วงแรกเล่าเรื่องการเตรียมตัวของ Lefevre กับทีม MSF จากฐานที่พักในปากีสถาน คนอ่านจะได้ทำความรู้จักกับจูเลียต และเจ้าหน้าที่ MSF อีกหลายคนที่ Lefevre จะทำงานด้วย รวมทั้งนิสัยใจคอของ Lefevre เอง งานของพวกเขาโหดหินตั้งแต่ก่อนออกเดินทาง เนื่องจากไม่มีเที่ยวบินและสหภาพโซเวียตก็ห้ามใครเข้าไป พวกเขาจึงต้องเดินเท้าเป็นระยะทางหลายกิโล แอบย่องเข้าพรมแดนอัฟกานิสถานกลางดึก หลบหลีกเฮลิคอปเตอร์โซเวียตที่จะยิงใส่ทุกสิ่งที่เคลื่อนไหว

ฉากแรกในช่วงที่สองของหนังสือ ทั้งทีมต้องกอดคอกันคลุมโปงอยู่ใต้ผ้าห่ม เมื่อเห็นเฮลิคอปเตอร์โซเวียตบินผ่านมา คำบรรยายตรงนี้ของ Guibert ว่า "แม้แต่เล็บมือที่ต้องแสงอาทิตย์อาจหมายถึงความตาย" ทำให้คนอ่านค่อย ๆ ตระหนักว่า สถานการณ์ของ Lefevre กับทีมนั้นหน้าสิ่วหน้าขวานขนาดไหน ระหว่างที่เราติดตาม MSF ไปยังเมืองต่าง ๆ ในอัฟกานิสถาน เฝ้าดูพวกเขารักษาผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถ ทั้งที่เป็นทหารและเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย ความโหดร้ายของสงครามก็จะทยอยเผยโฉมออกมาชนิดลืมไม่ลง ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายของเด็กตัวเล็ก ๆ ที่บาดเจ็บจากกระสุน เศษระเบิด หรือเหยียบโดนกับระเบิด

ภาพกรามล่างของเด็กคนหนึ่งที่หายไปทั้งซีกหลังถูกระเบิด ตอกย้ำว่า The Photographer ไม่ใช่การ์ตูนสำหรับเด็กแน่ ๆ

ช่วงสุดท้ายของหนังสือ (เล่มที่สามในเวอร์ชั่นฝรั่งเศส) เล่าเรื่องราวการเดินทางขากลับของ Lefevre จากอัฟกานิสถานสู่ปากีสถาน หลังจากที่เขาตัดสินใจว่าจะเดินทางกลับกับกองคาราวานก่อนทีมของ MSF จะได้กลับบ้านได้เร็วกว่ากำหนดหนึ่งสัปดาห์ เนื้อหาในส่วนนี้เป็นบันทึกการเดินทางที่ทั้งน่าหดหู่และรบกวนจิตใจ เพราะ Guibert ถ่ายทอดการกระทำทุกบททุกตอนของ Lefevre อย่างตรงไปตรงมา ปราศจากการสร้างภาพ รวมทั้งตอนที่เขาตัดสินใจผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย จนนำไปสู่เหตุการณ์ที่เอ่อล้นด้วยอารมณ์และน่ากลัวที่สุดในหนังสือ

นอกจากจะดึงความเลวร้ายของสงครามออกมาให้เราเห็นอย่างแจ่มชัด The Photographer ยังนำเสนอทั้งนิสัยใจคอ รวมทั้งชีวิตประจำวันของชาวอัฟกัน ที่ Lefevre กับทีม MSF ได้รู้จักระหว่างทาง ทำให้ภาพในหนังสือเป็นมากกว่าภาพ หากเป็นกระจกสะท้อนคนจริง ๆ ที่มีชีวิตจิตใจ ความคิดอ่าน และความเชื่อที่คนอ่านส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคย แต่น่าสนใจอย่างยิ่งในภาวะสงครามที่พวกเขาประสบ

ต้องยกนิ้วให้นักเขียนการ์ตูนนาม Emmanuel Guibert ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ Lefevre ออกมาได้อย่างน่าติดตามและมีเรื่องให้ลุ้นตั้งแต่แรก เขาผสมการ์ตูนสีที่วาดแบบเหมือนจริง เข้ากับภาพถ่ายของ Lefevre ได้อย่างกลมกลืนและลงตัว ราวกับว่าการ์ตูนของเขาเป็นภาพถ่ายที่สูญหายไประหว่างทาง และได้รับการกอบกู้ขึ้นมาใหม่ในรูปการ์ตูน

นอกจากการ์ตูนของเขาจะสมจริงและถ่ายทอดทั้งบรรยากาศและอารมณ์ได้ อย่างดี เยี่ยม Guibert ยังให้ความสำคัญกับรายละเอียดปลีกย่อยมากมายที่ทำให้ The Photographer เป็นมากกว่าสารคดีสงคราม แต่เป็นส่วนผสมระหว่างสารคดี บันทึกการเดินทาง และข้อมูลประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นไม่แพ้กัน บางหน้าในหนังสือขนาดใหญ่สี่สีทั้งเล่มมีภาพถ่ายเพียง 1-2 ภาพ แต่ทรงพลังจนไม่ต้องอาศัยคำบรรยายใด ๆ ประกอบ อย่างเช่น ภาพถ่ายหลุมศพของสมาชิก MSF หรือทะเลทรายสุดลูกหูลูกตาอันเป็นภูมิประเทศเจนตาของอัฟกานิสถาน

ถ้าคุณอยากรู้ว่าอัฟกันที่แท้หน้าตาเป็นอย่างไร สงครามส่งผลกระทบอย่างไรต่อสภาพความเป็นอยู่และจิตใจของประชาชนตาดำ ๆ หรืออยากรู้แค่ว่า "การ์ตูนผู้ใหญ่" ระดับขึ้นหิ้งนั้นจะทรงพลังเทียบเท่าวรรณกรรมดี ๆ ได้อย่างไร คุณก็ต้องอ่าน The Photographer - นิยายภาพคลาสสิกที่ผู้เขียนเชื่อว่าจะไม่มีวันตาย ตราบใดที่สงครามยังไม่หมดไปจากโลก Very Happy


โดย Emmanuel Guibert และ Didier Lefevre
คอลัมน์ DOG EAR
วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4166
โดย สฤณี อาชวานันทกุล www.fringer.org

Views: 79

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service