South Africa Colorful ! ...จากศิลปะสู่ลูกหนังโลก


 

เสียงแตร วู วู เซลา ที่ดังกึกก้องมหากาฬผ่านสนามฟุตบอลที่ "บาฟาน่า บาฟาน่า" แอฟริกาใต้ บอกให้เราทราบว่า ตอนนี้เรากำลังอยู่ในบรรยากาศการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างเทศกาลฟุตบอลโลกฟีฟ่า (FIFA World Cup) กันอยู่ 

หากมองในมุมศิลปะ สิ่งที่เห็นอย่างชัดเจนจากบรรยากาศฟุตบอลโลกในครั้งนี้ คือ ความสดใสและความแปลกตาในสไตล์ภาคพื้นแอฟริกาที่เต็มไปด้วยสีสันของธรรมชาติที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของป่า ชนเผ่า สัตว์ป่า ดวงอาทิตย์ และผืนดิน 



ขนาดเพียงแค่มองไปที่ธงชาติของประเทศเจ้าภาพอย่างแอฟริกาก็เต็มไปด้วยนัยทางการเมืองที่ดูน่าสนใจแล้ว ก่อนที่ธงผืนนี้จะถูกนำมาใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2537 ซึ่งในตอนนั้นประเทศนี้ยุติการเหยียดสีผิวแล้วมีการจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป เขาจึงจัดประกวดการออกแบบธงชาติขึ้นมาโดยมีการส่งแบบเข้ามาประกวดกันมากมายมากกว่า 7,000 แบบเลยทีเดียว คัดไปคัดมาจึงได้ธง 6 สีที่เป็นรูปทรงตัว Y ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน 

ด้วยลวดลายแสบ ๆ ของธงชาติแอฟริกาใต้นี้ จึงเกิดกระแสการนำเฉดสีเหล่านี้มาเพนต์หน้า เพนต์ตัวก็ว่ากันไป ที่เห็นดัง ๆ ก็อย่างเช่น โฆษณาเครื่องดื่มน้ำอัดลมยี่ห้อหนึ่งที่นำนักฟุตบอลดังของแต่ละประเทศมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ด้วยการถอดเสื้อแล้วเพนต์ตัวด้วยสีสันอันสดใสเต็มไปด้วยกลิ่นอายของภาคพื้นแอฟริกาเสียเลย 

ส่วนมาสคอตสีสันสดใสนามว่า ซาคูมิ (Zakumi) ก็เป็นเรื่องราวที่นำเอาศิลปะการออกแบบมาโยงเข้ากับเรื่องความคิดทางการเมือง 



เจ้าเสือดาวหนุ่มหน้าตาสดใสผมสีเขียวชื่อ ซาคูมิ มาจากการประสมกันของคำว่า ZA อันเป็นรหัสของประเทศแอฟริกาใต้ บวกกับคำว่า kumi อันหมายความว่า 10 ในภาษาแอฟริกา 

ซาคูมิเกิดในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2537 เพื่อเฉลิมฉลอง "วันเยาวชน" ของแอฟริกาใต้ 

ย้อนไปเล่าที่มาของวันเยาวชนสักหน่อย ในเดือนมิถุนายน 2519 เป็นวันเกิดการจลาจลที่โซเวโตในแอฟริกา เพื่อต่อต้านคำสั่งรัฐบาลของคนผิวขาวที่ประกาศให้ทุกโรงเรียนใช้ภาษา "แอฟริกานส์" (Afrikaans) อันเป็นภาษาของชาวดัตช์จากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่อพยพมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ถึง 200 ปีด้วยกัน 



เยาวชนที่โซเวโตจึงรวมกลุ่มกันเดินขบวนประท้วงนโยบายนี้อย่างสงบ แต่แล้วในวันที่ 16 มิถุนายน 2519 เด็กชายเฮคเตอร์ ปีเตอร์สัน เสียชีวิตในการปราบจลาจล จนกลายเป็นหนึ่งในชนวนของการต่อสู้เพื่อล้มนโยบายการแบ่งแยกสีผิว หรือที่เรียกว่า "อพาร์ไทด์" (Apartheid) ในที่สุด 

ปัจจุบันทางแอฟริกาใต้จึงยกให้วันนี้เป็น "วันเยาวชน" แล้วในช่วงฟุตบอลโลกนี้เป็นช่วงคาบเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้พอดี ในวันที่ 17 มิถุนายนอันเป็นวันที่ทีมชาติแอฟริกาใต้ลงเตะฟุตบอลกับทีมชาติอุรุกวัย วันนี้คงมีการเฉลิมฉลองให้กับวันเยาวชน และเจ้าซาคูมิซึ่งมีอายุได้ 15 ปีอย่างคึกคักแน่นอน ศิลปะของฟุตบอลโลกในส่วนอื่น ๆ ที่น่าติดตาม ก็อย่างเช่น การทำโปสเตอร์ศิลปะอย่างเป็นทางการที่ทางฟีฟ่าเวิลด์คัพ (FIFA World Cup) เขาสนับสนุน 

นับเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่ทางองค์กรฟุตบอลอย่างฟีฟ่าเข้ามาสนับสนุนงานของศิลปินสาขานี้ (นอกจากโปรโมตเพลงฟุตบอลโลก) โดยที่โปรเจ็กต์นี้ครั้งแรกเกิดขึ้นตอนฟุตบอลโลกครั้งที่แล้วเมื่อปี 2006 ที่เยอรมนี มาถึงครั้งนี้ฟุตบอลโลกที่แอฟริกาใต้ทางฟีฟ่าจึงได้ร่วมมือกับศิลปินที่มีชื่อเสียงจำนวน 17 คนที่มีความเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับภาคพื้นทวีปแอฟริกามาสร้างสรรค์งานศิลปะลงบนผืนแผ่นโปสเตอร์ 



ผลลัพธ์ที่ได้คือ งานโปสเตอร์อาร์ตเก๋ ๆ จำนวน 17 รูปแบบ โดยผลงานเหล่านี้เขาทำขึ้นมาจำหน่ายแบบลิมิเต็ดเอดิชั่น เรียกได้ว่าขายจำกัด หมดแล้วหมดเลย แต่ละชิ้นงานล้วนแล้วแต่ได้รับการบรรจงออกแบบโดยศิลปินระดับโลก 

สไตล์งานที่ปรากฏในโปสเตอร์ของศิลปินแต่ละคน แม้ว่าจะเป็นการนำเสนอแอฟริกาแต่รูปแบบการสร้างสรรค์มีหลากหลายมาก อย่างเช่น 

01 William Kentridge 
Bicycle Kick
 



งานของ วิลเลียม เคนทริดจ์ (William Kentridge) ศิลปินผู้นี้เกิดที่แอฟริกาใต้ งานของเขามีชื่อว่า "Bicycle Kick" เขาใช้หมึกดำวาดภาพนักฟุตบอลเตะบอลท่าจักรยานอากาศภายใต้พื้นหลังที่เป็นภาพตัดปะจากหนังสือ เขาตั้งใจสื่อความหมายถึงการกระโดดเพื่อความสนุกสนานผ่านงานชิ้นนี้ 

Romero Britto 
South Africa 2010 




ชิ้นต่อมามีชื่อว่า "South Africa 2010" เป็นผลงานของ 
โรมีโอ บริตโต้ (Romero Britto) ศิลปินผู้นี้เกิดที่บราซิลเมื่อปี 1963 ปัจจุบันอาศัยและทำงานอยู่ที่ไมอามี สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเขาเป็นศิลปินสไตล์นีโอพ็อปที่มีชื่อเสียงระดับโลก งานของเขาจึงออกมาในรูปแบบสวยใสกับภาพของช้างแอฟริกาที่กำลังใช้ให้หยิบลูกฟุตบอลขึ้นมาด้วยรูปแบบงานพ็อปอาร์ตสีสดใส 

Kendell Geers 
Free Balling 




เคนเดลล์ เกียร์ (Kendell Geers) ศิลปินผู้เกิดที่แอฟริกาใต้แต่ปัจจุบันเขาทำงานที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม งานของเขาได้รับการจัดแสดงนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ดัง ๆ มาแล้วทั่วโลก ฉายาของเขาคือ "นักเล่นแร่แปรธาตุแห่งยุคสมัยใหม่" โปรเจ็กต์นี้เขาเล่นแร่แปรธาตุเป็นงานศิลปะที่มีชื่อว่า "Free Balling" ที่ดูเหมือนงานภาพพิมพ์ที่เอาลูกฟุตบอลมาพิมพ์ลงบนโปสเตอร์ซ้ำ ๆ กันยังไงยังงั้น 

Zhong Biao 
Football Miracle
 



คราวนี้มาดูงานศิลปะฟุตบอลทางฝั่งเอเชียบ้าง งานนี้เป็นฝีมือของ ซอง เปียว (Zhong Biao) ศิลปินชาวจีนระดับปรมาจารย์ที่มาพร้อมกับงานกราฟิกระดับเทพที่มีชื่อว่า "Football Miracle" ที่สื่อถึงชั่วเวลาสำคัญของการระเบิดฟอร์มที่สมบูรณ์แบบของนักฟุตบอลจนเกิดสิ่งที่เรียกว่า ปาฏิหาริย์ในโลกของลูกหนัง 

Isolde Krams 
Red Elephant
 



งานชิ้นต่อมา แม้จะมีชื่อว่า "Red Elephant" แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเทศไทยแต่อย่างใด เพราะช้างแดงตัวนี้เป็นช้างแอฟริกา ผลงานของไอโซลเด้ แครมส์ (Isolde Krams) ศิลปินผู้เกิดที่แอฟริกาใต้ แต่ปัจจุบันทำงานและพักอาศัยอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี งานนี้มาแหวกแนวสักหน่อยตรงที่เป็นโปสเตอร์ภาพถ่ายประติมากรรมของช้างตัวสีแดงที่กำลังใช้งวงหยิบลูกฟุตบอล (ถ้ามีผลงานของคนไทยบ้างคงจะมีงานเอาช้างมาเตะบอลแบบบ้านเราบ้างล่ะ...ฮา) 

Hassan Musa 
The Good Game 




แม้แต่คัมภีร์ไบเบิลก็ยังถูกนำมาเรียบเรียงใหม่ให้เข้ากับเทศกาลฟุตบอลโลกจนถูกนำมาเป็นประเด็นถกเถียงกันในวงกว้าง โปสเตอร์นี้มีชื่อว่า "The Good Game" ผลงานของศิลปินชาวซูดานนามว่า ฮัสซาน มูซา (Hassan Musa) ที่หยิบแรงบันดาลใจจากคัมภีร์ไบเบิล โดยหยิบยกฉากที่บุคคลในพระคัมภีร์นามว่า 

เจค็อบที่ต่อสู้กับทูตสวรรค์มาเป็นนักเตะฟุตบอลแข่งกันแทน ! 

Lilanga Art 
Celebrations
 



อีกชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ งานของ "ลิลังกา อาร์ต" (Lilanga Art) ซึ่งเป็นชื่อของกลุ่มศิลปิน หรือจะเรียกอีกอย่างว่า ครอบครัวศิลปินก็ได้ เพราะกลุ่มลิลังกา อาร์ตนั้นประกอบไปด้วย บรรดาลูกหลานที่สืบทอดสไตล์งานของศิลปินผู้มีชื่อเสียงจากแทนซาเนียนามว่า จอร์จ ลิลังกา ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2005 โดยที่บรรดาลูกหลานได้พยายามพัฒนางานของนายจอร์จ ลิลังกา ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบตะวันตกซึ่งมีศิลปินตะวันตกอย่าง เคท แฮริ่ง (Keith Haring) เป็นแรงบันดาลใจ จนทำให้ได้ผลงานสีสันสดใสชื่อว่า "Celebrations" ที่มีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมชนเผ่าในแอฟริกาบวกกับรูปนักฟุตบอลทีมชาติต่าง ๆ ออกมาอย่างน่าดูในโปรเจ็กต์นี้ 

Art Poster Edition of the 2010 FIFA World Cup South Africa 

 
Barthelemy Toguo 
Color Your Life 
----------------------------- 

 
Marlene Dumas 
World Cup SA 2010 
---------------------------------- 

 
Soly Cisse 
Football Continent 
---------------------------------- 

 
Julie Mehretu 
Stadia II 
----------------------------------- 

 
Charles Fazzino 
The World Watches...World Cup South Africa 
---------------------------------- 

 
Cameron Platter 
The Battle 
------------------------------- 

 
Kay Hassan 
Swanker Ball 
--------------------------------- 

 
Peter Eastman 
Stadium 
---------------------------------- 

 
Robert Slingsby 
The Midas Touch 
----------------------------------- 

 
Yamaguchi Akira 
Shoo(t) Q Taro and Ten Braves 
--------------------------------------- 

 
Edition Portfolio 
---------------------------------------


ในเทศกาลฟุตบอลโลก นอกจากจะสนุกสนานกับการดูการฟาดแข้งของแต่ละชาติแล้ว ยังสามารถที่จะอิ่มใจกับศิลปะรูปแบบต่าง ๆ ในมหกรรมระดับโลกนี้ได้อีกด้วย



(หน้าพิเศษ D-Life) 
คอลัมน์ STORY 
โดย ณัฐกร เวียงอินทร์ 
วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4220 
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

Views: 1578

Reply to This

Replies to This Discussion

แจร่ม
สุดยอดด :)

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service