SILPAKORN UNIVERSITY PUBLISHING (SUP) สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่มปฐมฤกษ์ เรื่องประวัติศาสตร์ และ แบบอย่างศิลปะ โดยสังเขป A BARE OUTLINE OF HISTORY AND STYLES OF A

คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม 
โดย มติชน วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10786 

 
กระดาษปอนด์หนา 368 หน้า ราคาเล่มละ 350 บาท สั่งซื้อได้ที่สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ หน้าพระลาน กรุงเทพฯ โทร.0-2222-7130 
ซื้อหลายเล่มมีส่วนลดพิเศษ ติดต่อโดยตรงที่ ดร.สุพรรณี ฉายะบุตร รักษาราชการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ และรองประธานสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร
 


มีหนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะจำนวนมากมาย ซึ่งเราอาจรู้สึกแปลกใจว่าทำไมหนังสือประเภทนี้จึงพิมพ์กันมากยิ่งขึ้น แต่หนังสือที่หาซื้อได้จากร้านจำหน่ายหนังสือในประเทศไทยนั้น ส่วนมากเป็นหนังสือตำราเล่มใหญ่ๆ ที่ผู้ศึกษาเบื้องต้นเกิดความยุ่งยากสับสนในรายละเอียดของชื่อและการวิจารณ์ เกิดความลำบากที่จะเข้าใจหลักสำคัญของการวิวัฒนาการของศิลปะทั้งฝ่ายตะวันออกและฝ่ายตะวันตก นอกจากการที่เราจะทราบสิ่งซึ่งเป็น "สังเขป" ในสมัยต่างๆ ของศิลปะว่าเกิดขึ้นเมื่อใดและอย่างใดแล้ว เราก็ควรทราบถึงลักษณะของแบบอย่างศิลปะพอสัณฐานประมาณด้วย ซึ่งเป็นสิ่งอาจศึกษาได้ด้วยความง่ายที่มั่นใจจากแบบสถาปัตยกรรมและลวดลายต่างๆ ย่อมเป็นสิ่งแน่ว่า งานจิตรกรรมและประติมากรรมนั้นแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกอันลึกซึ้งของเชื้อชาติ หรือแสดงให้เห็นถึงลักษณะพิเศษโดยตรงของประวัติศาสตร์สมัยมากกว่า แต่จุดมุ่งหมายของตำราเล่มนี้อยู่ที่การช่วยให้นักศึกษาของเราได้เข้าใจถึงโครงซึ่งเป็น "แก่น" ของเรื่องราวเพื่อที่จะได้ติดตามการศึกษาของตนต่อไปอย่างกว้างขวาง อันชั่วชีวิตของเราก็เรียนไม่รู้จักจบสิ้นในสิ่งที่ตนต้องการ "รู้" 

นักศึกษาชาวตะวันตกมีโอกาสได้เห็นงานศิลปกรรมจากหอศิลป ได้เห็นงานสถาปัตยกรรมอันเป็นอนุสรณ์ และงานจิตรกรรม ประติมากรรม มาแต่เด็กๆ เมื่อเขาเริ่มเรียนศิลปะ เขาก็ได้เตรียมตัวไว้แล้วเป็นอย่างดีในวิชานั้นๆ ประโยชน์ที่ได้ข้อนี้น่าเสียดายว่า นักศึกษาของเราไม่ค่อยสนใจนัก นอกจากไม่มีโอกาสได้เห็นงานศิลปะอย่างมากมายเช่นนักศึกษาชาวตะวันตกแล้ว นักศึกษาของเรายังขาดประโยชน์จากการเรียนรู้อย่างดีจากสิ่งแสดงออกทางวัฒนธรรมอันแตกต่างไปจากของตนอีกด้วย แน่นอนว่าข้อนี้เป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ มันเป็นความจำเป็นแก่ความรู้ทั่วไปของนักศึกษา และการพัฒนาการพลังของมโนภาพ เพราะว่าศิลปะของประเทศตะวันออกนั้นเป็นแบบมีกฎเกณฑ์ตามประเพณี อันเป็นสิ่งบีบการเนรมิต สร้างสรรค์ของส่วนบุคคลมิให้เจริญงอกงาม ด้วยเหตุฉะนี้นักศึกษาจึงต้องพยายามอย่างยิ่งที่จะศึกษาเล่าเรียน และสิ่งสำคัญไปกว่านั้นก็คือ พยายามเข้าใจต่อสิ่งที่ตนเรียนรู้อยู่ 

แต่ความรู้นั้นต้องเกิดขึ้นด้วยความสำนึกอย่างค่อยเป็นค่อยไป มิฉะนั้นแล้วเราจะได้รับผลตรงข้าม และด้วยเหตุผลเช่นนี้เอง ข้าพเจ้าจึงได้เขียนตำราเกี่ยวกับสมัยและแบบอย่างศิลปะของตะวันออกและตะวันตกอย่างสังเขป ให้เข้าใจง่ายที่สุดขึ้นเพื่อใช้เป็น "สะพานกระโดดน้ำ" ซึ่งเราอาจพุ่งลึกลงไปกว่าและศึกษาอย่างจริงจังกว่านี้อีก ดังนั้นข้าพเจ้าจึงอ้างถึงเพียงหัวข้อขั้นพื้นฐานเท่านั้น ซึ่งครูผู้สอนวิชาศิลปะจะขยายข้อความในการสอนของตนให้กว้างขวางออกไปอีก และที่สำคัญนั้นตำราเล่มนี้จะช่วยความทรงจำแก่นักศึกษาศิลปะอีกด้วย 

ศิลป์ พีระศรี 

กรุงเทพฯ 2502 

คำนำ ของ พิษณุ ศุภนิมิตร 

หนังสือ A BARE OUTLINE OF HISTORY AND STYLES OF ART หรือในพากย์ภาษาไทยว่า "ประวัติศาสตร์และแบบอย่างศิลปะโดยสังเขป" เป็นหนังสือศิลปะในเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะและแบบอย่างของศิลปะที่ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เขียนขึ้น และตีพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2502 ก่อนที่ท่านจะถึงแก่มรณกรรม 3 ปี เดิมเป็นภาษาอังกฤษจัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ท่านสังกัดอยู่ในขณะนั้น 

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ แม้ว่าจะเป็นเพียงเล่มบางๆ แต่เต็มไปด้วยเนื้อหาของศิลปะครอบคลุมระยะเวลาทั้งหมด ตั้งแต่ศิลปะยุคก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงช่วงเวลาของยุคศิลปะสมัยใหม่ ซึ่งเป็นศิลปะที่เดินทางมาสู่ยุคปัจจุบันในขณะนั้น อีกทั้งยังแบ่งเนื้อหาออกเป็นทั้งศิลปะของโลกตะวันตกกับศิลปะตะวันออก ศิลปะตะวันตกเริ่มจากศิลปะของชนชาติที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญในอดีตที่ไกลสุด เช่น อียิปต์ เมโสโปเตเมีย อัสสิเรีย เปอร์เซีย เฟอนิเซีย มาจนถึงยุคอันรุ่งเรืองของกรีก โรมัน ศิลปะเรเนสซองส์ของชาติต่างๆ ในยุโรป ศิลปะรอกโกโก้ของฝรั่งเศส และมาจบลงที่ศิลปะสมัยใหม่ หรือ Modern Art 

ส่วนศิลปะตะวันออกนั้นจำแนกโดยชนชาติที่กระจัดกระจายกันอยู่ซีกโลกตะวันออก คือแถบเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มจากอินเดีย ต้นอารยธรรมในเรื่องของศาสนา เนปาล ทิเบต ลังกา ชวา พม่า กัมพูชา ไทย จีน และญี่ปุ่น 

เมื่อกลับมาอ่านหนังสือเล่มนี้อีกครั้ง รู้สึกว่าผู้เขียนเขียนสั้นเกินไป โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ต่อเนื่องจากศิลปะรอกโกโก้ของฝรั่งเศสมาจนถึงศิลปะสมัยใหม่นั้น มีช่องว่างอยู่มากที่มีศิลปะในแบบต่างๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย ส่วนศิลปะตะวันออกนั้นผู้เขียนไม่มีเวลาพอที่จะเชื่อมโยงถึงความสัมพันธ์ในระหว่างชนชาติที่ถ่ายเทอิทธิพลต่อกันและกัน 


แต่เมื่อได้ทำความเข้าใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ในช่วงยุคศิลป์ พีระศรี ก็ต้องชื่นชมด้วยความจริงใจต่อผลงานชิ้นนี้ของผู้เขียน ที่ได้สรุปศิลปะทั้งหมดของมนุษยชาติได้ในพื้นที่เพียงไม่กี่หน้ากระดาษพิมพ์ ตามจุดประสงค์ที่ปรากฏอยู่ที่ชื่อหนังสือที่เป็นเพียง Bare Outline จริงๆ หนังสือเล่มนี้ปรากฏออกมาในช่วงเวลาที่สังคมศิลปะของเราขาดแคลนหนังสือศิลปะ และเป็นหนังสือที่ให้ความรอบรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นอย่างยิ่ง การที่ท่านได้เขียนสรุปพอเป็นสังเขปจึงเป็นประโยชน์กับนักศึกษาศิลปะ นักศึกษาประวัติศาสตร์ และอาจารย์สอนศิลปะในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังเป็นการแสดงความมีอัจฉริยภาพในทางด้านประวัติศาสตร์ของท่านอีกด้วย 

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีเนื้อหาทางด้านประวัติศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว หากแต่มีรูปประกอบเป็นภาพลายเส้น เพื่อให้ได้เห็นแบบอย่างหรือ Style ของศิลปะในแต่ละยุคได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยเหตุที่ผู้ใช้หนังสือเล่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะในแบบทัศนศิลป์ คือ การเขียนรูป ปั้นรูป การอธิบายด้วยรูปลายเส้น จึงเป็นความเหมาะสมมากกว่าการบรรยายด้วยถ้อยคำอย่างเดียว 

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เขียนหนังสือ A BARE OUTLINE OF HISTORY AND STYLES OF ART ในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคณะจิตรกรรมและประติมากรรม (ชื่อในขณะนั้น) พิมพ์ออกจำหน่าย และหมดไปในช่วงเวลาหนึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์เขียน ยิ้มศิริ คณบดีคนที่ 2 มีความตั้งใจที่จะให้หนังสือเล่มนี้ได้เผยแพร่ไปในวงกว้าง และอยากให้นักเรียนนักศึกษาไทยที่ลึกซึ้งกับภาษาอังกฤษไม่มากนักได้ศึกษา ท่านจึงได้แปลเป็นภาษาไทย และจัดพิมพ์ขึ้นอีกครั้ง โดยการจัดพิมพ์ของคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ในปี พ.ศ.2512 

จากนั้นจนถึงบัดนี้เป็นเวลาเกือบ 40 ปี นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ ศิลปะรุ่นปัจจุบันเกือบจะไม่มีใครได้เห็นหนังสือเล่มนี้ เนื่องจากไม่มีการจัดพิมพ์ขึ้นในระหว่างนั้นอีก เข้าใจว่าที่มีอยู่ในห้องสมุดต่างๆ ก็น่าจะชำรุดไปเสียมากแล้ว สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้นอีกครั้ง โดยหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะยังคงประโยชน์เหมือนเช่นที่ได้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อครั้งแรก และทั้งนี้เพื่อเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ท่านต้องการให้หนังสือที่เขียนอย่างง่ายๆ เล่มนี้เป็นเช่น "DIVING BOARD" อันเป็นจุดเริ่มที่ทำให้ผู้สนใจศิลปะได้ศึกษาค้นคว้าให้ลึกซึ้งอย่างยิ่งต่อไป สำหรับการจัดพิมพ์ครั้งนี้ ยังคงภาษา สำนวนการแปลของผู้ช่วยศาสตราจารย์เขียน ยิ้มศิริ และภาพประกอบลายเส้นเช่นต้นฉบับเดิมทุกประการ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้อ่านไม่คุ้นกับสำนวนภาษาและตัวสะกดอยู่บ้าง 

หนังสือตำรา บทความ และข้อเขียนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มีอยู่มากมาย ที่มีสาระแต่ถูกกาลเวลาวางทับไปเสีย ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีของสี ทฤษฎีองค์ประกอบศิลป์ และ ศิลปะสงเคราะห์ที่ประพันธ์ร่วมกับท่านเสฐียรโกเศศ หากหนังสือ "ประวัติศาสตร์และแบบอย่างศิลปะโดยสังเขป" ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี โอกาสที่จะจัดพิมพ์หนังสือดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน 

รองศาสตราจารย์ พิษณุ ศุภนิมิตร 

คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ 

มหาวิทยาลัยศิลปากร 

สิงหาคม 2550 



คำนำ 

ในศุภวาระเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และมหาวิทยาลัยศิลปากรจะครบรอบการก่อตั้ง 65 ปี ในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2551 นี้ มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากรขึ้น เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ที่มีคุณค่าและคุณภาพในด้านต่างๆ มาจัดทำตำราและหนังสือฉบับพกพา ส่งผ่านองค์ความรู้สู่สังคม 

ในการจัดพิมพ์ตำราเล่มปฐมฤกษ์ ได้คัดเลือกหนังสือประวัติศาสตร์และแบบอย่างศิลปะโดยสังเขป (A BARE OUTLINE OF HISTORY AND STYLES OF ART) ซึ่งแต่งเป็นภาษาอังกฤษโดยท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี และแปลเป็นภาษาไทยโดยท่านอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ มาจัดพิมพ์ใหม่ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยไว้ในฉบับเดียวกัน เพื่อเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณชนให้กว้างขวางโดยเฉพาะเยาวชนรุ่นใหม่ๆ จะได้ศึกษาแนวคิดด้านศิลปะจากปรมาจารย์ผู้ล่วงลับไปแล้ว 

มหาวิทยาลัยศิลปากรมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดตั้งสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากรนี้ จะเป็นฟันเฟืองตัวเล็กแต่แข็งแรงช่วยขับเคลื่อนสังคมแห่งฐานความรู้ให้แก่ประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป 

ภราเดช พยัฆวิเชียร 

รักษาราชการแทนอธิการบดี 

มหาวิทยาลัยศิลปากร 

4 กันยายน 2550

Views: 694

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service