[ Interview ] ถ่ายภาพ เปิดมุมมอง 360 องศา - พิทยา พันธุ์เพ็ญโสภณ


การมีใจรักด้านถ่ายภาพ สิ่งที่สืบทอดมาจากผู้เป็นพ่อ ให้ "อะไร" กับ "พิทยา พันธุ์เพ็ญโสภณ" ซีอีโอ บริษัท โคคา โฮลดิ้งอินเตอร์เนชั่นแนล

การมีใจรักด้านถ่ายภาพ สิ่งที่สืบทอดมาจากผู้เป็นพ่อ ให้ "อะไร" กับ พิทยา พันธุ์เพ็ญโสภณ ซีอีโอ บริษัท โคคา โฮลดิ้งอินเตอร์เนชั่นแนล มากกว่าการพัฒนาสมองซีกขวา

นั่นคือ หลักบริหารที่ต้องมองทุกอย่าง หลายมุม และรอบด้าน แบบ 360 องศา

ตั้งแต่วัยเด็กที่ได้คลุกคลีกับพ่อซึ่งชอบการถ่ายภาพเป็นชีวิตจิตใจ ทำให้ พิทยา พันธุ์เพ็ญโสภณ ซีอีโอ บริษัท โคคา โฮลดิ้งอินเตอร์เนชั่นแนล ซึมซับและถ่ายทอดความชอบนั้นมาแบบไม่รู้ตัว

มาถึงปัจจุบัน การได้ถ่ายภาพ นอกจากความสนุก และสนใจที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักและชอบแล้ว ยังให้ข้อคิดอีกมากมาย ที่เขาสามารถนำไปเป็นหลักทั้งในการดำเนินชีวิตและวิถีเพื่อบริหารจัดการองค์กร ที่ต้องสานต่อจากผู้เป็นพ่อ

"พ่อผมเป็นนักถ่ายภาพเหมือนกัน ผมจำได้ว่า ตอนอายุ 12-13 ปี พ่อชวนให้ไปถ่ายภาพนกนางนวลที่บางปู ตอนนั้นพ่อไม่ให้จับกล้อง เพราะยังเด็กอยู่ แต่ก็ทำให้เริ่มสนใจและรักในการถ่ายภาพ" พิทยาย้อนวันวานให้ฟัง

จนเมื่ออายุ 14 ปี เขาถึงได้จับกล้องเป็นครั้งแรก โดยพ่อซื้อให้ เพื่อเป็นทั้งของขวัญและสินบน ที่ต้องเดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศแคนาดา

พิทยาเล่าว่า ช่วงแรกที่มีกล้องเป็นของตัวเอง เขาตระเวนถ่ายภาพไปเรื่อยๆ จนเห็นว่า ตัวเองชอบ และมีใจรักทางด้านนี้จริง ๆ จึงตัดสินใจเข้าคอร์สเรียนถ่ายภาพอย่างจริงจัง

"ตอนอยู่ที่แคนาดามา 8 ปี วิชาหลักที่เรียน คือ เศรษฐศาสตร์ ส่วนถ่ายภาพเป็นวิชาเลือก ซึ่งปกติผมเป็นคนขี้อาย ทำให้ไม่ชอบถ่ายคน เพราะไม่กล้าไปขอถ่าย จึงชอบถ่ายบรรยากาศ ภาพธรรมชาติ หรือถ่ายเรื่องราวที่คนอื่นไม่ค่อยสังเกต เช่น รายละเอียดเล็กๆ อย่างเวลาถ่ายเห็ด ก็จะถ่ายให้เห็น Texture ของเห็ด"

แน่นอนว่า การถ่ายภาพเป็นหนึ่งในหลายแนวทางที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาสมองซีกขวา ซึ่งเป็นเรื่องการสร้างสรรค์ จินตนาการ และอารมณ์ แต่เหนือไปกว่านั้น สิ่งที่ซีอีโอ บริษัทโคคา โฮลดิ้งอินเตอร์เนชั่นแนล ได้เรียนรู้จากการถ่ายภาพ ได้แก่ เรื่องมุมมอง ที่สอนให้รู้ว่า

ภาพเป็นสิ่งหลอกลวง โดยเฉพาะภาพขาวดำ เพราะบนโลกใบนี้ ไม่มีอะไรที่เป็นขาว-ดำชัดเจน

ดังนั้นการมองอะไรก็ตาม ต้องมองทุกอย่างแบบ 360 องศา คือ มองในหลากหลายมุมและต้องมองรอบด้าน

"มีคำพูดว่า อย่าตัดสินใจว่า หนังสือน่าอ่านหรือไม่น่าอ่าน จากการดูหน้าปกเพียงอย่างเดียว เราต้องลองพลิกอ่านเนื้อหาข้างในถึงจะรู้ เป็นการบอกให้เรารู้ว่า อย่าตัดสินใจอะไรจากการเห็นแวบแรกเท่านั้น"

สำหรับการบริหารองค์กร การมองแบบ 360 องศา ถูกนำมาใช้ในการจัดการเรื่องคน และการมองหาช่องทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อให้องค์กรโคคาทั้งหมดมีความแข็งแรง

พร้อมกันนี้ พิทยา ได้อธิบายถึง “คน” ไว้อย่างให้เห็นภาพว่า กรณีที่รับพนักงานใหม่เข้ามา เมื่อเห็นหน้าครั้งแรก อาจรู้สึกคนๆ นี้จะอยู่ไม่ทน อยู่ไม่นาน แต่ความจริงแล้วอาจไม่เป็นเช่นนั้น

ทางที่ดี เราต้องให้โอกาสเขาทำงาน ดูให้นาน ๆ และต้องรอบด้าน อย่าตัดสินใจทันทีจากการเห็นหน้าครั้งเดียว

ส่วนการมองหาช่องทางธุรกิจใหม่ พิทยาย้ำว่าการมองรอบด้านยิ่งเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง บวกกับมีปัจจัยหลายตัวเข้ามาเป็นตัวแปรในเชิงลบ

เพราะอย่างที่หลายคนบอก ในวิกฤติย่อมมีโอกาส นั่นหมายความว่า เราต้องพยายามมองหาทางใหม่ๆ อย่ามองอะไรเพียงด้านเดียว

เช่น ปัญหาการระบาดอย่างหนักของไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ส่งผลให้ลูกค้ากลุ่มทัวร์และนักท่องเที่ยวหายไปเกือบครึ่ง
ทางแก้ไขของโคคา กรุ๊ป คือ พยายามจับกลุ่มคนไทยให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การอัดโปรโมชั่น หรือแตกแบรนด์ใหม่ ให้เหมาะกับกำลังทรัพย์ และไลฟ์สไตล์คนในยุคปัจจุบัน

"เข้าใจว่า ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี คนมีเงินน้อยลง แต่ถามว่า เขายังต้องกินอยู่หรือไม่ คำตอบ คือ ใช่ เพียงแต่เราต้องหาอะไรมาตอบสนองตรงนี้ให้ได้ อย่างเราเปิดแบรนด์ Mango Tree Bistro ผลตอบรับดี มีคนรู้จักเรามากขึ้น"

นอกจากนี้ การชอบถ่ายภาพแบบเจาะรายละเอียด และถ่ายในสิ่งที่คนอื่นมองข้าม ยังเพิ่มเติมนิสัยละเอียดรอบคอบให้กับพิทยา

นี่กลายเป็นสิ่งที่พนักงานในเครือโคคากรุ๊ปกลัวมาก เพราะเมื่อเขาเดินตรวจดูความเรียบร้อยและความสะอาดภายในร้าน สิ่งที่เขาทำคือ การสำรวจในจุดที่ใครๆ มองข้าม

"คนเราจะทำในสิ่งที่คิดว่าเห็นเท่านั้นเช่น บนโต๊ะ แต่ทุกครั้งผมจะเอามือจับเก้าอี้ ใต้โต๊ะดูว่า มีเศษฝุ่น มีขี้บุหรี่หรือเปล่า หรือตอนเดินเข้ามาในร้าน หากรูปภาพตั้งไม่ตรง ผมจะทนไม่ได้เลย"

ทุกวันนี้ด้วยภารกิจในการดูแลกิจการที่หลากหลาย และไม่ได้จำกัดการเปิดสาขาเฉพาะประเทศไทย แต่ยังมีแบรนด์ต่างๆ ภายใต้โคคากรุ๊ป กระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่อังกฤษ ฮ่องกง เกาหลี ทำให้เขาไม่ได้ใช้เวลาถ่ายภาพตามที่ใจรักมากนัก

จะมีโอกาสบ้างในการทำเพื่องาน คือ ถ่ายภาพเมนูอาหาร และโบรชัวร์ของบริษัท แต่ข้อคิดที่ได้จากการถ่ายภาพยังถูกนำมาใช้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการมองแบบ 360 องศา ความละเอียดถี่ถ้วนซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการบริหารจัดการธุรกิจอาหาร เพราะมีเรื่องปลีกย่อยที่ต้องเปิดมุมมองให้กว้าง และเก็บรายละเอียดต่างๆ ให้หมด

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
โดย : ณัฐสุดา เพ็งผล
ธุรกิจ : BizWeek
วันที่ 8 ตุลาคม 2552

Views: 349

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service