ประกาศผลรางวัล Index: Award ประจำปี 2009

เรื่อง: อาศิรา พนาราม TCDCCONNECT.COM


Danish design consultancy Index เพิ่งประกาศผลผู้ชนะเลิศรางวัล Index: Award ประจำปี 2009 งานนี้เป็นการประกวดระดับนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ (ประหนึ่งรางวัลออสการ์ของวงการออกแบบเลยทีเดียว) ที่ว่ายิ่งใหญ่นั้นอยู่ที่สาระสำคัญของโจทย์ ภายใต้แนวคิด “การออกแบบเพื่อชีวิตที่ดีกว่า” (Design to Improve Life) ซึ่งต้องการแก้ปัญหาในระดับสากลที่ประชากรส่วนใหญ่ของโลกกำลังเผชิญ

นักออกแบบต้องงัดพลังสมองออกมาประกวดประขันกันเต็มที่ เพราะโจทย์นั้นมาในระดับมหภาค แถมเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศในแต่ละสาขาก็สูงถึง 100,000 ยูโร เลยทีเดียว สาขาที่จัดประกวดแบ่งเป็น “ร่างกาย”(Body)” “บ้าน”(Home) “ทำงาน”(Work) “เล่น”(Play)” และ “ชุมชน”(Community) ปีนี้มีผลงานส่งเข้าประกวดกว่า 700 งาน โดยผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายนั้นได้รับเลือกไปจัดแสดงในงาน Copenhagen Design Week 2009 ที่ผ่านมาด้วย (จากนั้นก็จะจัดแสดงหมุนเวียนไปในอีกหลายประเทศ ซึ่งต้องติดตามข่าวกันในภายหลัง) ตอนนี้มาทำความรู้จักผลงานชนะเลิศของแต่ละสาขากันก่อนดีกว่า


สาขา “ร่างกาย” (Body)
เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจทารก (FREEPLAY FETAL HEART RATE MONITOR) จากบริษัท Freeplay ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แบตเตอรี่ที่สามารถผลิตและชาร์จไฟในตัวเองได้ด้วยการหมุน (Hand -Crank) เครื่องนี้สามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ได้โดยไม่ต้องพึ่งอัลตราซาวด์ ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจนี้จะเป็นสัญญาณที่ทารกในครรภ์ส่งออกมาถึงแพทย์ว่าเขาแข็งแรงดีหรือไม่ อยู่ในภาวะขาดออกซิเจนหรือเปล่า ฯลฯ

ผลงานนี้ถูกคิดค้นขึ้นภายใต้แนวคิดเรื่องความปลอดภัยของแม่และทารกที่อยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลแพทย์ ห่างไกลอุปกรณ์การแพทย์ที่เหมาะสม และขาดแคลนพลังงาน ประเด็นที่ทำให้มันได้รับรางวัลอยู่ที่ตัวเลขการเสียชีวิตของมารดาและทารกในประเทศกำลังพัฒนาที่สูงจนน่าตกใจ หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เคยรายงานว่า ปีหนึ่งๆ มีมารดาและทารกในครรภ์ต้องเสียชีวิตถึงราว 500,000 คน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลขั้นพื้นฐาน และข้อมูลที่บริษัท Freeplay เองเคยทำการวิจัยไว้ในประเทศแอฟริกาใต้ก็บ่งชี้ว่า มีเด็กทารกเสียชีวิตระหว่างการคลอดถึงปีละ 1 ล้านคน ซึ่งวิธีป้องกันการเสียชีวิตดังกล่าวนั้นไม่ใช่เรื่องยาก หากเพียงเราได้ทราบถึงสภาวะของทารกในครรภ์เสียก่อน ดังนั้น เครื่องมือ FREEPLAY FETAL HEART RATE MONITOR นี้ จึงถือว่า จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการแพทย์ในโลกที่กำลังพัฒนา

http://www.tcdcconnect.com/content/blog/wp-content/uploads/2009/11/..."/>


สาขา “บ้าน” (Home)
เตาอบ CHULHA โดยทีมออกแบบ Eindhoven Academy จากเนเธอร์แลนด์ (ออกแบบเพื่อ Phillips Design อีกทอดหนึ่ง) เตา CHULHA นี้ ออกแบบมาเพื่อดักควันไฟในเตาไม่ให้ฟุ้งกระจายในบ้าน แล้วดันควันที่พลุ่งออกมาไปยังปล่องไฟ เพื่อให้แน่ใจว่า ควันจะถูกปล่อยออกไปนอกบ้าน ข้อดีอีกอย่างคือ เตานี้ถูกออกแบบให้ผลิตได้โดยง่าย ต้นทุนต่ำมาก ผู้ประกอบการรายเล็กๆ ในท้องถิ่นหรือแม้แต่ชาวบ้านเอง ก็สามารถเรียนรู้และผลิตขึ้นใช้เองได้

ผลงานชิ้นนี้มุ่งที่จะลดปัญหาด้านสุขภาพของคนยากจนที่เกิดจากการปรุงอาหารภายในบ้านในประเทศกำลังพัฒนาส่วนมาก ชาวบ้านมักจะก่อไฟตั้งหม้อบนหิน 3 ก้อน ทำให้ควันไฟกระจายไปทั่วบ้าน ซึ่งอันตรายของควันไฟจากเตาหุงต้มนี้ทำให้สุขภาพย่ำแย่จนถึงแก่ชีวิตได้ (อ้างอิงจากรายงานขององค์การอนามัยโลก มีผู้เสียชีวิตราว 1.6 ล้านคนต่อปี จากพิษสะสมของควันไฟที่เกิดจากการประกอบอาหารในครัวเรือนซึ่งใช้เชื้อเพลิงทั่วไป เช่น ไม้ มูลสัตว์ ถ่านหินเลน ฯลฯ)


สาขา “ทำงาน” (Work)
รางวัลนี้ตกเป็นของเว็บไซต์ Kiva.org ซึ่งเกิดขึ้นจากความคิดของ Premal Shah ผู้ประกอบการสังคมจากซานฟรานซิสโก Kiva.org เปิดพื้นที่กลางให้ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย (Micro Business) จากประเทศกำลังพัฒนาได้โพสต์โปรไฟล์ของตนลงบนเว็บไซต์ และเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีกำลังทรัพย์จากทั่วโลกได้เป็นผู้ให้กู้ (Funder) ปล่อยเงินกู้แก่ผู้ประกอบการเล็กๆ ผ่านเครดิตการ์ดในจำนวนเงินไม่มากมาย (เริ่มต้นที่ 25 เหรียญสหรัฐ) โดยผลจากการทำงานของเว็บไซต์นี้ตลอด 3 ปีครึ่ง สามารถหาเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยได้ถึง 86 ล้านเหรียญสหรัฐ และเจ้าของเว็บก็บอกอย่างภาคภูมิว่า เงินกู้เหล่านั้นได้รับการชำระคืนถึง 98% เลยทีเดียว

ปัญหาการขาดแคลนเงินทุนนั้นมีอยู่ทั่วทุกหนแห่งบนโลกใบนี้ ผู้ประกอบการรายเล็กๆ ไม่สามารถจะขอกู้เงิน (แม้เพียงน้อยนิด) จากสถาบันการเงินต่างๆ Kiva.org จึงต้องการเข้ามาอุดช่องว่างตรงนี้ โดยเชื่อมโยงผู้กู้และให้กู้เข้าหากันผ่านเงื่อนไขที่เรียบง่าย เป็นการสนับสนุนผู้ด้อยโอกาสให้ได้พึ่งพาตนเอง ด้วยการ “เปลี่ยนเงินบริจาคแบบให้เปล่าเป็นเงินยืมลงทุนที่ต้องคืน”

หัวใจที่ทำให้ไอเดียของเว็บไซต์นี้เติบโตได้ดี เป็นเพราะโลกปัจจุบันมีระบบอินเตอร์เน็ตที่ทรงประสิทธิภาพ การระดมทุนจึงไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากคนรวยเพียงไม่กี่คน แต่สามารถได้จากผู้คนธรรมดามากมายทั่วโลก ที่มุ่งหวังให้เพื่อนมนุษย์หลุดพ้นจากความยากจน ด้วยเงินก้อนเล็กๆ ที่พวกเขาสามารถให้ยืมได้นั่นเอง


สาขา “เล่น” (Play)
Christien Merindertsma นักออกแบบสาวชาวดัชท์ คว้ารางวัลชนะเลิศสาขานี้ไปครองด้วยผลงาน Pig 05049 – หมูอยู่รอบตัวเรา หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นว่าส่วนต่างๆ ของหมูหนึ่งตัวถูกใช้ไปกับการผลิตสินค้าอะไรในอุตสาหกรรมใดบ้าง

แนวคิดตั้งต้นมุ่งไปที่การช่วยให้คนในโลกปัจจุบัน (ที่บริโภคสินค้าในแพคเกจจิ้งเป็นหลัก) ได้เข้าใจว่า สิ่งต่างๆ ที่เขากินเขาใช้นั้น ผลิตขึ้นมาจากอะไร และมันมาจากไหน เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ถึงคุณค่าทรัพยากรที่ถูกผลาญไปในการนั้น

Christien Merindertsma ใช้เวลาพัฒนาหนังสือเล่มนี้อยู่ 3 ปี ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการวิจัย โดยสืบค้นไปถึงผลิตภัณฑ์ทุกอย่างที่ผลิตได้จากหมูหนึ่งตัว และเจ้าหมู 05049 นี้ ก็คือ หมายเลขของหมูที่มีอยู่จริง ซึ่งถูกเลี้ยงมาในฟาร์มแห่งหนึ่งในเนเธอร์แลนด์ เธอตามรอยเจ้าหมู 05049 หลังจากที่ถูกขายไป จนได้ค้นพบความจริงว่า หมูตัวหนึ่งถูกแปรรูปไปเป็นสินค้าถึง 185 ชนิด (!) ทั้งสินค้าประเภทอาหารที่คาดเดาได้อยู่แล้ว (ซี่โครง, เบคอน, แฮม ฯลฯ) และสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาหารซึ่งคุณไม่มีทางเดาถูก (เบรครถไฟ, สีพ่นรถยนต์, บุหรี่ ฯลฯ)


สาขา “ชุมชน” (Community)
รางวัลในสาขาสุดท้ายนี้ตกเป็นของ Shai Agassi ผู้ก่อตั้งโครงการ Better Place โครงการที่พยายามวางโครงสร้างการบรรจุแบตเตอรี่ในเครื่องยนต์ และการชาร์จแบตเตอรี่ของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้เป็นระบบที่สะดวก ใช้งานง่าย และมีงบประมาณไม่สูงจนเกินไป โครงการนี้จะเกิดขึ้นจริงในอนาคต โดยเริ่มต้นที่ประเทศเดนมาร์ก (ประเทศซึ่งมีการวางระบบการจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานลมไว้อย่างดีแล้ว)

ปัจจุบันปัญหาที่ทำให้คนไม่กล้าใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นพาหนะส่วนตัว เกิดจากความไม่สะดวกในการชาร์จไฟซึ่งต้องหาที่ชาร์จเฉพาะ (ซึ่งมีน้อย) และต้องจอดรถรอเพื่อชาร์จไฟเป็นเวลาหลายชั่วโมง ข้อจำกัดนี้ทำให้คนกลัวว่า ถ้าขับๆ ไปแล้วแบตฯ หมดกลางทางจะลำบาก

โครงการ Better Place คิดค้นระบบใหม่เพื่อให้การใช้รถยนต์ไฟฟ้าสะดวกสบายขึ้น เช่น การสร้างจุดชาร์จไฟเพิ่มราว 1,000,000 จุด เพื่อให้เข้าถึงง่ายไม่ต่างจากปั๊มน้ำมัน หรือการเปลี่ยนมาใช้แบตเตอรี่ลิเธี่ยมอิออน (ซึ่งมีใช้ทั่วไปในรถซีดาน) ทำให้สามารถวิ่งได้ถึง 160 กม. ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง รวมทั้งการปรับระบบคอมพิวเตอร์ใหม่ ทำโปรแกรมเฉพาะในรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไปให้รองรับระบบ Better Place รวมถึงมีบริการนำทางด้วย

ในอนาคตไม่ไกลจากนี้ ระบบ Better Place จะกลายเป็นต้นแบบจริงให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ขับขี่ให้มีทางเลือกโดยไม่ต้องพึ่งพาน้ำมัน

เครดิตเรื่องและภาพ
http://www.indexaward.dk/
http://www.copenhagendesignweek.dk/
http://www.inhabitat.com/2009/09/01/2009-index-awards-showcase-desi...
http://urbantaster.wordpress.com/2009/09/09/pig-05049/
http://www.24oranges.nl/tag/awards/
http://www.designboom.com/weblog/cat/8/view/7368/indexawards-2009-p...
http://www.cluster.eu/2009/09/07/indexaward-a-design-award-scheme-t...
http://www.designboom.com/weblog/cat/26/view/7422/indexaward-finali...
http://www.otto-otto.com/2009/09/index-award-2009/
http://www.metropolismag.com/pov/20090828/index-award-winners-annou...

Views: 413

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service