Emmanuel Grimaud : งานเขียนของนักมานุษยวิทยา

นักวิจัยและนักวิชาการด้านมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศส สนใจนำเสนอผลงานผ่านการถ่ายทำภาพยนตร์ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เห็นทั้งภาพและอ่านงานเขียน

ในฐานะนักวิจัยด้านมานุษยวิทยาของสถาบันวิจัยแห่งชาติฝรั่งเศส ทำให้ เอ็มมานูเอล กริมูด์ (Emmanuel Grimaud) นักวิจัยและนักวิชาการด้านมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศส ได้คิดค้นหัวข้อสำหรับทำงานวิจัย ผลงานวิจัยหลายชิ้นได้รับการตีพิมพ์ นอกจากงานด้านวิชาการแล้ว เขายังสนใจเรื่องการถ่ายทำภาพยนตร์ และผลงานวิจัยหลายชิ้นเช่นกัน ที่นำเสนอในรูปแบบภาพเคลื่อนไหว เพื่อให้ผู้ที่สนใจอ่านผลงานวิจัยได้เห็นทั้งภาพและอ่านงานเขียน ซึ่งผ่านกระบวนการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ไปพร้อมกัน

เอ็มมานูเอล เกิดในครอบครัวนักการทูต พ่อเคยเป็นทูตอยู่ในประเทศอินเดีย อียิปต์ และอิหร่าน ส่วนคุณตาซึ่งเป็นชาวอินเดีย เกิดที่เมืองทมิฬนาฑู ทางตอนใต้ของอินเดีย เป็นทูตของรัฐบาลอินเดียและเคยประจำอยู่ในญี่ปุ่นและตำแหน่งสุดท้ายคือทูตประจำองค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ดังนั้นการเดินทางไปกับพ่อเมื่อต้องไปประจำการอยู่ ณ ประเทศต่างๆ ทำให้ได้มีโอกาสได้เรียนรู้มนุษย์ที่หลากหลายและแตกต่างกันในแต่ละที่ที่ไป “การเดินทางนับเป็นส่วนหนึ่งที่ฝังรากอยู่ในชีวิตของผม” เขากล่าว

ความสนใจที่อยากจะเป็นนักมานุษยวิทยา เกิดขึ้นเมื่อเอ็มมานูเอลอายุ 14 ปี ตอนนั้นพ่อของเขาพาลูกชายเดินทางจากปากีสถานไปตามทางหลวงคาราโครัม แล้วไปแวะที่หุบเขาฮันซา ตอนนั้นเองที่เด็กชายคนนี้ได้บอกกับพ่อ ว่าต้องการลงไปดูชีวิตของชนเผ่าที่พักอยู่ในหุบเขา จากนั้นเขาก็รู้ตัวแล้วว่าจะต้องพาตนเองไปสู่เป้าหมายในการเป็นนักมานุษยวิทยาให้จงได้ เอ็มมานูเอลศึกษาวิชาเอกด้านมานุษยวิทยาตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ยิ่งเรียนรู้มากเท่าไหร่ เขายิ่งรู้สึกว่าความรู้ด้านมานุษยวิทยามีความท้าทายมากมาย และทำให้เขายิ่งอยากศึกษาลงลึกมากขึ้นกว่าเดิม จนสำเร็จปริญญาเอกด้านนี้

“หลังจากที่ผมมีความรู้ด้านนี้มากขึ้น ผมจึงตัดสินใจ ว่าจะหยิบประเด็นอะไรได้บ้าง ผมไม่ทำการวิจัยตามแบบมานุษยวิทยาเป๊ะๆ แต่ผมลงลึก ว่าศาสตร์ด้านนี้เชื่อมโยงกับบริบทของชีวิตและสังคมเช่นไร ผมยังไปศึกษาเพิ่มด้านภาพยนตร์ ที่สตูดิโอในบอมเบย์ ประเทศอินเดีย หรืออย่างการตั้งประเด็นในอียิปต์ ว่าอารยธรรมแบบเก่าทำให้เกิดการบูรณะหรือเกิดการขุดค้นอะไรได้บ้างในด้านโบราณคดี และเมื่อเร็วๆ นี้ ผมศึกษาวิจัยว่าด้วยเรื่อง หุ่นยนต์ซับซ้อนเช่นไร โดยทำการวิจัยในห้องทดลองที่ญี่ปุ่น รวมถึงการทำวิจัยภาคสนามในประเทศไทย กับสเตฟาน เรนเนสสัน เพื่อนนักวิจัยชาวฝรั่งเศส ตอนนี้พวกเราทำวิจัยภาคสนามในไทย ว่าด้วยเรื่องกว่างชน, ปลากัด และการแข่งขันนก มันน่าสนใจมากนะครับ ในการเฝ้าสังเกตบริบทความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์”


นอกจากความฝังใจในวัยเยาว์ ที่ทำให้เอ็มมานูเอลอยากเป็นนักมานุษยวิทยาแล้ว เมื่อได้ศึกษาจริงจังในด้านนี้ ทำให้เขารู้ ว่ามานุษยวิทยาเป็นมารดาของทุกวิทยาการในโลกมนุษย์ นักมานุษยวิทยาบางคนทำงานเกี่ยวกับเรื่องวิวัฒนาการของความเป็นมนุษย์ อีกหลายคนศึกษาด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรม ขณะที่อีกหลายคนศึกษาการทำงานของสมองมนุษย์ และศาสตร์นี้ยังส่งผลต่อการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ เพราะประวัติศาสตร์ต้องนำเอาความคิด วิธีการ และการมองสิ่งต่างๆ ไปใช้ในการวิเคราะห์ โดยผ่านทางศาสตร์แขนงมานุษยวิทยา

งานเขียนวิชาการและงานวิจัยที่กลายมาเป็นหนังสือ เล่มแรกคือ Bollywood Film Studio (2004) ซึ่งใช้เวลาหลายปีกว่าจะเขียนหนังสือเล่มนี้สำเร็จออกมา ต้นฉบับแรกที่เขียนออกมามีความยาวถึง 900 หน้า และต้องตัดทอนให้เหลือเพียงครึ่งเดียวคือ 450 หน้า งานเขียนเล่มนี้ เป็นผลพวงมาจากการที่เอ็มมานูเอล ไปใช้ชีวิตและศึกษาการทำภาพยนตร์ในบอลลีวู้ด ประเทศอินเดีย

ด้วยความหลงในแผ่นดินเกิดของฝ่ายแม่ และสำหรับเขาแล้ว อินเดียไม่เพียงร่ำรวยไปด้วยวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยความซับซ้อนอันน่าค้นหาอีกมากหลาก ประเทศนี้เป็นดินแดนที่ผู้คนคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นตลอดเวลา สิ่งที่เกิดใหม่ไม่ได้ทำให้รากเหง้าเดิมหายไปไหน จึงทำให้เอ็มมานูเอลสูดกลิ่นอายได้ถึงความวิเศษของการคิดค้นขึ้นใหม่และการคิดค้นที่เกิดจากของดั้งเดิม และเสน่ห์แห่งอินเดียนี้เองเป็นเหตุให้เขาต้องเดินทางไปทำงานวิจัยภาคสนามที่อินเดียเป็นประจำทุกปี ทุกครั้งที่ไปทำให้ได้ค้นพบกับสิ่งใหม่เสมอ

เขาใช้เวลาสามปีในการทำงานร่วมกับคณะทำภาพยนตร์ในบอลลีวู้ด ปีแรกเข้าไปศึกษาด้านการแสดงที่โรงเรียนการแสดงในอินเดีย จากนั้นทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์ในบอลลีวู้ด เป็นงานภาคสนามครั้งแรกของเอ็มมานูเอล เขาจึงอยากรู้ว่าในบอลลีวู้ดมีขั้นตอน กระบวนการในการทำภาพยนตร์เช่นไร ก่อนจะออกฉายบนจอ และเขาก็ต้องหลงรักการทำงานร่วมกับคณะที่นี่ พวกเขาทำงานกันทั้งวันทั้งคืน อีกทั้งตัวบทที่ไม่ได้พิถีพิถันอะไรมาก การถ่ายทำจึงออกแนวอลหม่าน ชุลมุนกันพอดู แต่ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี ทุกคนตั้งใจทำงานและนี่เองที่ทำให้บอลลีวู้ดเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

การทำงานร่วมกับคณะในบอลลีวู้ด ทำให้เอ็มมานูเอลเห็นถึงความแตกต่างระหว่างบอลลีวู้ด ฮอลลีวู้ด และภาพยนตร์ในฝรั่งเศส สำหรับฝรั่งเศสแล้วไม่อาจเทียบกับอินเดียได้ เพราะว่าอินเดียเป็นตลาดภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดแหล่งหนึ่งของโลก แต่ถ้าเทียบบอลลีวู้ดกับฮอลลีวู้ดแล้ว อเมริกาย่อมเป็นต่อในเรื่องการบริหารจัดการ ทุกกระบวนการทำงานของบอลลีวู้ด ไม่ว่าจะเป็นคนจัดแสง นักออกแบบ นักออกแบบท่าเต้น นักแสดงแทน เทคนิคพิเศษ และการออกแบบทุกอย่าง ต่างเร้าความน่าสนใจแก่เอ็มมานูเอล และทำให้เขาหยิบจับเอาแต่ละอย่างในบอลลีวู้ด มาเปรียบเทียบ เพื่อถ่ายทอดเป็นงานเขียนออกมา และเขายังอยากทำภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ แต่ก็ไม่มีโอกาสได้ทำจริงจัง และคิดว่าอาจต้องเกิดอีกหลายชาติ ถึงจะได้ทำทุกอย่างที่ปรารถนา

เอ็มมานูเอลยกตัวอย่างให้ฟังในการสัมภาษณ์ ว่าเมื่อสองปีที่แล้ว เขาเดินทางไปอินเดีย เพื่อทำวิจัยภาคสนามเกี่ยวกับสี่แยกในอินเดียที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจร แล้วบันทึกภาพสี่แยกต่างๆ ในบอมเบย์ด้วยกล้อง เพื่อศึกษาทำความเข้าใจ ว่าในสภาวะที่มีผู้คนแออัดจอแจตามท้องถนนขนาดนั้น ผู้คนและยวดยานพาหนะมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเช่นไร และในอินเดีย นับเป็นประเทศที่ผู้คนจะพบยวดยานพาหนะที่ไม่เหมือนกันมากกว่า 40 ประเภท ตามท้องถนน ตั้งแต่เกวียนเทียมสัตว์ ไปจนถึงรถประจำทาง สำหรับเอ็มมานูเอล อินเดียจึงเป็นเหมือนสวรรค์ที่โยงให้เห็นถึงปัญหาหลากหลายด้านมานุษยวิทยา ที่ส่งผลต่อไปยังมนุษย์


Gandhi’s Lookalike (2007) เป็นงานเขียนเล่มต่อมา ซึ่งเป็นการเขียนชีวประวัติของคานธี ด้วยการแทนค่าจากใครสักคนที่คล้ายกับคานธี สำหรับงานเขียนเล่มที่ 3 Gods and Robots (2008) เป็นการเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาและหุ่นยนต์ และเล่มล่าสุดที่เพิ่งเขียนเสร็จ เป็นการทำงานเขียนร่วมกับเพื่อนนักวิจัยชาวฝรั่งเศส Zaven Par? เขียนเกี่ยวกับ Geminoid หุ่นยนต์ตัวหนึ่งซึ่งประดิษฐ์โดยนักประดิษฐ์หุ่นยนต์ชาวญี่ปุ่น ชื่อศาสตราจารย์อิชิกุโระ ซึ่งเป็นผู้สร้างหุ่นยนต์ตัวนี้เพื่อจำลองตัวเอง

ปกติแล้วในการทำงานวิจัย เขาถนัดการใช้กล้องบันทึกเรื่องราวและข้อมูลที่ต้องการ ซึ่งเป็นการง่ายในการเก็บข้อมูลเมื่อต้องออกภาคสนาม เพราะภาพที่ถ่ายทำให้เห็นชีวิตและเมื่อนำกลับมาเปิดดูก็ให้ความรู้สึกเดิมเหมือนวันที่ลงพื้นที่ อีกทั้งทำให้เขาตรึงตัวเองอยู่กับงานที่ถ่ายออกมาอย่างสุขุมและในรายละเอียด นับเป็นข้อมูลชั้นเยี่ยมที่จะหยิบมาดูอย่างละเอียดกี่รอบต่อกี่รอบก็ได้ และมีบางครั้งเหมือนกัน ที่เขานำงานภาคสนามที่บันทึกเอาไว้ มาทำเป็นภาพยนตร์ทดลอง อย่างเช่นภาพยนตร์เรื่อง Cosmic City (2008) เป็นภาพยนตร์ทดลองที่เขาทำออกมา ร่วมกับเพื่อนชื่อ Arnaud Deshayes เพื่อลองหาจังหวะในการทำภาพยนตร์และดูว่าอันไหนเหมาะอันไหนควร ภาพยนตร์เรื่องนี้เกี่ยวกับหุ่นยนต์ ศาสนาและนวนิยายวิทยาศาสตร์

แน่นอนว่าในการทำงาน ไม่ว่างานเขียน งานวิจัย หรืองานภาพยนตร์ ล้วนเกิดมาจากการที่เอ็มมานูเอลเป็นนักอ่านตัวยง แม้เขาจะมีงานมากในแต่ละวัน แต่การอ่านหนังสือถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในทุกวันเช่นกัน ประเภทงานเขียนที่เขาอ่านประจำ คือนวนิยายวิทยาศาสตร์ และเป็นแฟนตัวเอ้ของนักเขียนแนวนี้นาม Philip K.Dick

แม้การเขียนงานจากการวิจัยจะเป็นงานวิชาการก็ตาม แต่การถ่ายทอดศาสตร์มานุษยวิทยา ต้องอาศัยพื้นฐานทางวรรณศิลป์ จากพื้นฐานในเรื่องของการส่งสารแห่งความคิด แนวคิดและแก่นที่ต้องการนำเสนอ สถานการณ์และประสบการณ์ที่ไม่คุ้นสำหรับผู้คน สิ่งเหล่านี้จะถูกบรรจุเอาไว้ในเรื่องที่เขียน และจะไหลลื่นตามกันไป โดยอิงอยู่บนพื้นฐานของการเขียน การลำดับความคิด และเอ็มมานูเอลไม่ได้จำกัดว่าต้องมีกฎตายตัว งานเขียนทุกชิ้นจะถูกเขียนออกมาด้วยวิธีการนำเสนอที่ต่างกันไป เพื่อให้เหมาะกับรูปแบบของเรื่องนั้นๆ เช่นเดียวกับการเขียนในรูปแบบอื่น

นอกจากการออกพื้นที่เพื่อทำงานวิจัยเป็นประจำทุกปีแล้ว เอ็มมานูเอลยังทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนในหลายมหาวิทยาลัยที่ฝรั่งเศส และล่าสุดเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยกฎหมายในปารีส เขากำลังสนใจอย่างมากในการทำวิจัยเรื่องหุ่นยนต์ เพราะอยากเชื่อมโยงให้ผู้ที่ได้อ่านงานวิจัยได้เห็นถึงจินตนาการอันวิเศษ ในการประดิษฐ์คิดค้นและสร้างหุ่นยนต์ที่ดีสักตัวขึ้นมา เขายังร่วมอยู่ในกลุ่มศิลปิน นักมานุษยวิทยา และนักประดิษฐ์หุ่นยนต์ ที่ชื่อกลุ่มว่า ARTMAP

สำหรับเอ็มมานูเอล กริมูด์ การทำงานวิจัย คือการเปิดตนเองไปรู้จักกับโลกอื่น และเพื่อนร่วมสาขาอื่น เพื่อให้เห็นว่าในความเป็นมนุษย์ เชื่อมร้อยอยู่กับทุกสิ่งรอบตัวเช่นไร ไม่ว่าสิ่งที่มนุษย์รายล้อมจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม

แต่ศาสตร์แขนงนี้ท้าทายความคิดและจินตนาการของเขาอย่างยิ่ง

 

 

 

 

โดย: นงค์ลักษณ์ เหล่าวอ 
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ  21 ธันวาคม 2553

Views: 220

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service