หลักสูตร “การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” (EcoDesign of Products: ECD)

หลักการและเหตุผล

ด้วยการขยายตัวของประชากรและการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน ก่อให้เกิดกิจกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการและอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ ในขณะเดียวกันกิจกรรมและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นฐานในการผลิตและการพัฒนา ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นานาประเทศจึงให้ความสนใจต่อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นให้เกิดการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด และเกิดข้อกำหนดและกฎระเบียบทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น ระเบียบว่าด้วยการจัดการเศษเหลือทิ้งจากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (WEEE) ระเบียบว่าด้วยการห้ามใช้สารอันตรายบางชนิดในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (RoHS) ระเบียบเกี่ยวกับการใช้สารเคมีในผลิตภัณฑ์ต่างๆ (REACH) ระเบียบเกี่ยวกับการจัดการซากของยานยนต์ (ELV) เป็นต้น

จากความตระหนักถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มาตรการ และกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมต่อการผลิตต่างๆ ทำให้เกิดแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า “การออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Economic & Ecological Design หรือ EcoDesign)” ขึ้น ซึ่งเป็นเครื่องมือสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการผลิต โดยเป็นกระบวนการที่ผนวกแนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์ สังคม และสิ่งแวดล้อมเข้าไปในขั้นตอนการออกแบบ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการวิเคราะห์สมรรถนะทางด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ การจัดการซากที่หมดอายุ การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทุกช่วงวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ปัจจัยด้านอื่นๆ เช่น ความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ ต้นทุน กระบวนการผลิต การควบคุมคุณภาพ การศึกษาคู่แข่ง และการตลาด เป็นต้น

สถาบันวิทยาการ สวทช. ได้ตระหนักความสำคัญดังกล่าว จึงได้พัฒนาหลักสูตร “การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (EcoDesign)” ขึ้น เพื่อเร่งสร้างบุคลากรให้เกิดความชำนาญในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และเพิ่มประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจให้กับประเทศ รวมทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันในตลาดโลก

วัตถุประสงค์โครงการ

1) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับความรู้ความเข้าใจในหลักการและแนวคิดเชิงเทคนิคในการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EcoDesign)
2) เพื่อให้ผู้ออกแบบสามารถเลือกใช้เครื่องมือในการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจได้อย่างถูกต้องและตอบสนองกับประเด็นปัญหางานของตน รวมทั้งเตรียมพร้อมในการรองรับมาตรฐานและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของนานาชาติ
3) เพื่อให้เกิดแนวทางการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและออกแบบได้จริง
4) เพื่อสร้างเครือข่ายด้าน EcoDesign ซึ่งจะช่วยรองรับการขยายตัวของความต้องการด้านผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยในอนาคต

วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม

ผู้เข้าร่วมสัมมนา

1) เข้าใจหลักการและแนวคิดเชิงเทคนิคในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศเศรษฐกิจหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (EcoDesign)
2) สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบได้ตามความต้องการของลักษณะงานที่ทำอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
3) สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการสัมมนาไปปรับใช้ในการออกแบบ ปรับปรุง และแก้ไขผลิตภัณฑ์ให้กลายผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสร้างโอกาสในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์สีเขียวในตลาดโลกได้

กลุ่มเป้าหมาย

1) นักออกแบบผลิตภัณฑ์
2) ผู้ที่มีความรู้พื้นฐานด้านการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ และต้องการต่อยอดสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
3) ผู้ประกอบและผู้ชำนาญการในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ
4) อาจารย์ในสถาบันการศึกษาหรือนักศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์
5) ผู้ที่สนใจการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ระยะเวลาในการสัมมนา

จำนวน 4 วัน ระหว่างวันที่ 21 – 24 กุมภาพันธ์ 2555 ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้ทั้งทฤษฎี และฝึกปฏิบัติ รวมจำนวนทั้งสิ้น 28 ชั่วโมง

โครงสร้างหลักสูตร

มุ่งสร้างความรู้และความเข้าใจในหลักการและสามารถประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงขั้นตอนการออกแบบ การวิเคราะห์สมรรถนะทางด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ การจัดการซากที่หมดอายุ การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกช่วงของวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ และเพื่อนำไปสู่การแสดงเจตนารมณ์ในการรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัท ในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์และบริการ ประกอบด้วย ดังนี้
1) Introduction to EcoDesign & Product Modeling
2) Life Cycle Thinking/EcoDesign Pilot Assistant
3) Life Cycle Assessment
4) Environmental Quality Function Requirements: EQFD/Environmental Benchmarking: EBM
5) Improvement Strategies
6) Environmental Communication
7) Product Improvement/TRIZ

เกณฑ์การประเมินผล

ผู้เข้าร่วมการสัมมนาต้องมีเวลาเรียนไม่ต่ำกว่า 80% และทำกิจกรรมทุกหัวข้อของหลักสูตร จึงจะได้รับวุฒิบัตรจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ค่าลงทะเบียน

ท่านละ 17,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) กรุณาชำระค่าลงทะเบียนภายในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 (งดชำระหน้างาน)
ชำระค่าลงทะเบียนภายในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 ชำระเพียง 15,000 บาท

หมายเหตุ

สถาบันฯ เป็นหน่วยงานราชการ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 3%
ค่าลงทะเบียนรวม อาหารกลางวัน และอาหารว่าง 2 มื้อต่อวัน เอกสารประกอบการอบรม และภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้าราชการมีสิทธิ์เบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบกระทรวงการคลัง และเข้าร่วมอบรมสัมมนา โดยไม่ถือเป็นวันลา
หากท่านต้องการยกเลิกการลงทะเบียน กรุณาแจ้งยืนยันการยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างน้อย 7 วันทำการ ก่อนวันจัดงาน หากการแจ้งยกเลิกล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนดดังกล่าว ทางสถาบันฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการหักค่าดำเนินการ คิดเป็นจำนวนเงิน 30% จากค่าลงทะเบียนเต็มจำนวน
ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงกำหนดการบรรยายตามความเหมาะสม
ค่าใช้จ่ายในการส่งบุคลากรเข้าอบรมทางวิชาชีพ ของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 200%
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

Call Center: 0 2642 5001 ต่อ 214 (บรรยงก์), 213 (มลุลี)
โทรสาร: 0 2642 5014
E-mail: green.practices@nstda.or.th

Views: 2191

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service