หอศิลปฯ บนกระแส Creative Economy



 

มุมมอง ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร Creative Economy ต้องเริ่มที่หอศิลป์ 

โครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของรัฐบาลที่มีการอัดฉีดเม็ดเงินมหาศาล พร้อมกับวาดหวังถึงโอกาสทำรายได้จากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อาจดูเป็นเรื่องใหญ่ไกลตัว เป็นเรื่องของทุนวัฒนธรรมมูลค่าร้อยล้านพันล้าน เมื่อเปรียบเทียบกับกิจกรรมสร้างสรรค์ (Creative Activity) ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนในทุกๆ มิติ ทั้งที่ 2 เรื่องนี้ มีความใกล้เคียงกันราวกับเหรียญคนละด้าน 

ด้วยตระหนักถึงคุณค่าของศิลปะและการสร้างสรรค์ แทนที่จะรอคอยจากภาครัฐ ทำให้ครั้งหนึ่งเครือข่ายศิลปินและประชาชนหลากหลายวิชาชีพ ออกมารวมตัวกันต่อสู้และผลักดันในลักษณะ “จากล่างขึ้นบน” (Bottom Up) จนเกิดเป็น “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” (Bangkok Art and Culture Centre - bacc) ขึ้นมาในปัจจุบัน 

ถือเป็นความเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ที่เกิดขึ้นก่อนหน้ากระแส Creative Economy อยู่นานหลายปีทีเดียว 

หนึ่งในจำนวนผู้เคลื่อนไหวผลักดันคราวนั้น คือ ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที สถาปนิกรุ่นใหญ่ ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นกรรมการมูลนิธิหอศิลปฯ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการหอศิลปฯ ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนกำหนดทิศทางการขับเคลื่อน และการแสดงบทบาททางศิลปวัฒนธรรมขององค์กรแห่งนี้ 

ฉัตรวิชัย ผ่านประสบการณ์ในงานเคลื่อนไหวด้านศิลปวัฒนธรรมมานานถึง 30 ปี ในอดีตเขาเคยเป็นผู้อำนวยการหอศิลป์พีระศรี ที่สร้างบทบาทให้แก่วงการศิลปะไทยในยุคสมัยหนึ่ง 

ต้นน้ำ vs ปลายน้ำ 

เมื่อเปรียบเทียบจากภารกิจที่ดูแลอยู่ ฉัตรวิชัย สะท้อนมุมมองต่อ Creative Economy ว่า จริงๆ แล้ว เรื่องนี้มีการพูดถึงในต่างประเทศมานานกว่า 10 ปี เมื่อมาบรรจุอยู่ในแผนของรัฐบาล หลักๆ ต้องพิจารณาถึงความสมดุลในเรื่องของต้นน้ำ (Upstream) กับปลายน้ำ (Downstream) รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้วย 

“Creatrive Economy ไปทำที่ปลายเหตุ โดยไม่มีต้นน้ำไม่ได้ เพราะไม่อย่างนั้น จะไม่มีโครงสร้างพื้นฐาน ไม่มีปรัชญา จะไม่ยั่งยืน ไม่เพียงพอ ได้แต่ใช้ แต่คิดไม่ได้” 

หากมองในด้านศิลปวัฒนธรรม ต้นน้ำของ ฉัตรวิชัย คือเรื่องศิลปะทุกแขนง (Arts) เป็นเรื่องของความคิด ขณะที่ปลายน้ำคือการพาณิชย์ หรือการผลิตสินค้าเพื่อสร้างเงินเม็ดอีกทีหนึ่ง 

“หากจะมีการทุ่มเงินในเรื่องนี้ ไม่ควรทำกันแค่ปลายเหตุ เพราะเมืองไทยเรายังไม่ได้สร้าง infrastructure หรือโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องนี้ ไม่อย่างนั้น เราคงตำน้ำพริกละลายแม่น้ำแน่เลย” 

ในมุมมองของผู้อำนวยการหอศิลปฯ เนื้อแท้ของ Creative Economy เกี่ยวข้องกับเรื่องของความยั่งยืน เพราะต้องมาจากพื้นฐานทางวัฒนธรรม หรือมาจากการสร้างสรรค์ที่ต้นทาง หรือเรื่องของความรู้สึกนึกคิด มากกว่าแค่การโหมประโคมผลิตสินค้า 

“การที่คนไทยสับสน และเหมารวมทุกเรื่อง เป็นเรื่องบันเทิงไปหมด ทำให้ไม่สามารถแยกแยะ upstream กับ downstream ได้ เพราะคนไทยไม่เคยมีหอศิลป ไม่รู้จักว่าศิลปะคืออะไร... ” 

“ตั้งแต่แรกเลย ในเรื่องของ visual art เป็นเรื่องของการมอง การใช้ความคิด หรือในเรื่องของละคร วรรณกรรม ก็เป็นเรื่องของการใช้ความคิดเหมือนกัน ในอันที่จะแต่งเรื่องขึ้นมา การตั้งสมมติฐานของชีวิต ถ้าเกิดคุณเขียนไม่เป็น ตีบทไม่แตก สคริพท์คุณไม่ดี คุณไม่รู้จักเขียน คุณก็ไม่มีทางสร้างหนังให้ดีได้ ซึ่งในส่วนหลักการการเขียนที่ดี ตีบทแตก จะอยู่ในเรื่องของศิลปะ ซึ่งเป็นต้นน้ำ” 

“ถ้าการบันเทิง การทำละครโทรทัศน์ การทำภาพยนตร์ใหญ่แบบอุตสาหกรรม ผมว่าแบบนั้น มันปากอ่าวแล้ว มันเป็นเรื่องของการทำเงิน แต่ถ้าคุณไม่รู้จักหลักการพื้นฐาน แล้วคุณไปทุ่มตรงปลายน้ำ มันจะเป็นความผิดพลาด หรือขาดทิศทางที่จะมุ่งไป” 

วาระทางศิลปะ 

ในฐานะผู้ดูแลหอศิลปฯ ฉัตรวิชัย ขยายความว่า บทบาทประการแรก คือ "การสร้างวาระทางศิลปะ" เพราะขณะที่คนอื่นๆ กำลังมุ่งสร้างอุตสาหกรรม หรืออะไรก็ตาม แต่หน้าที่ของหอศิลปฯ ต้องสร้างต้นน้ำให้แก่สังคม 

“ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของดนตรี หรือทัศนศิลป์ หรืออะไรก็ตาม วาระทางศิลปะ หมายถึง สมมติฐานของชีวิต เป็นการกลับมามองในเรื่องของนามธรรม คุณธรรม ถ้าเรามองโลก 2 ซีก ถ้าจะให้ยั่งยืน มีความสมดุล ทั้งทางวัตถุและจิตใจ มันต้องไปด้วยกันทั้งคู่ ศิลปะจะค่อนไปทางจิตใจ เราสามารถที่จะสร้างความคิด ความละเอียดอ่อน ให้แก่ประชาชนพลเมืองได้มั้ย เพื่อให้มันสัมผัสได้” 

“ยกตัวอย่างเช่น คนเล่นเกมอยู่ แล้วออกไปฆ่าแท็กซี่ได้อย่าง แสดงว่า โจทย์ของซอฟท์แวร์ของชีวิตไม่มีเลยเหรอ” สถาปนิกหนุ่มใหญ่ยกตัวอย่าง 

นับจากการดำเนินงานหอศิลป์พีระศรีเป็นต้นมา ตลอดระยะเวลา 30 ปีบนถนนสายนี้ ฉัตรวิชัย เห็นว่าพัฒนาการในการนำศิลปะสู่ผู้คนในสังคมไทยยังดำเนินไปอย่างกระท่อนกระแท่น 

“ไม่ได้มาเร็ว มันแย่พอๆ กับสภาพการเมือง เราต้องยอมรับว่า ส่วนของเอกชนก็ต้องทำกันเอง ผมคิดว่ามันมีส่วนเสียด้วยซ้ำไป มันแย่ตรงที่เราไปพัฒนาบ้านเมืองในทางวัตถุ ในทางเศรษฐกิจ แต่ทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อม เราไม่ได้ทำเลย” 

“จริงๆ สิ่งที่เราทำ ไม่ได้แค่วาดรูปสวยๆ แต่งานของเรา เป็นเรื่องของความคิดด้วย ผมคิดว่า 30-50 ปี การสร้างสาธารณูปโภคด้านความคิดนี่ช้ามาก ถอยหลังมาก ... เรามีความเจริญทางด้านวัตถุเกิดขึ้น แต่ไม่ยั่งยืน สุดท้ายมันถูกตีกลับด้วยความยุ่งเหยิงทางการเมือง ผมคิดว่าเป็นผลลัพธ์จากการที่เราไม่มีวัฒนธรรม ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ความคิดที่จะไม่สร้าง แต่จะเอาลูกเดียว มันจะอยู่ยั่งยืนได้อย่างไร” 

แม้ปัจจุบัน หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จะปรากฏเป็นรูปธรรม ด้วยอาคาร 9 ชั้น ตรงหัวมุมของสี่แยกปทุมวัน เพื่อทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมใจกลางเมือง ที่แทรกตัวอย่างสง่างามท่ามกลางห้างสรรพสินค้าที่รายล้อม แต่ดูเหมือนว่า วันนี้กรุงเทพมหานครยังสร้างหอศิลปฯ ไม่เสร็จ เพราะกิจกรรมต่างๆ คงอาศัยลำพังตัวอาคารอย่างเดียวไม่ได้ แต่ยังอยู่ที่ “แนวทางในการบริหารจัดการ” และ “การจัดสรรงบประมาณ” มากกว่าที่เป็นหัวใจสำคัญ ที่ประชาชนกำลังจับตามองถึงความเป็นไปของหอศิลปฯ แห่งนี้อย่างใกล้ชิด 

ความคืบหน้าของเรื่องนี้ ฉัตรวิชัย ขยายความว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในการจัดตั้งมูลนิธิใหม่ 

“ต้องทำใหม่ เพราะความโปร่งใส กทม.ต้องสร้างมูลนิธิ ที่ไม่มีข้าราชการหรือนักการเมืองอยู่ในนั้น ไม่อย่างนั้น สตง. (สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน) จะตามมาดูแล ซึ่งจะเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าให้เอกชนเป็นเจ้าภาพดูแลหอศิลปฯ เป็นคล้ายๆ การเชิญผู้มีความสำคัญในวงการศิลปะ มาช่วยเป็นพี่เลี่ยงให้” 

สถานที่นัดพบของเครือข่าย 

เมื่อถามถึงหอศิลปที่เกิดขึ้นจริงในเวลานี้ กับภาพหอศิลปในอุดมคติ ฉัตรวิชัย ตอบตามตรงว่า การผลักดันงานของหอศิลปฯ ยังไม่สมบูรณ์ เพราะอยู่ระหว่างปรับบทบาทของมูลนิธิที่จะมารับหน้าที่ และงบประมาณของ กทม.ยังไม่ผ่านออกมาอย่างชัดเจน ทุกวันนี้ ต้องการคนทำงานอย่างน้อย 30 คน ถึง 60 คน แต่จริงๆ กลับมีคนทำงานไม่ถึง 10 คน 

ถึงกระนั้น ยังมีงานบางส่วนที่ขยับทำต่อไปได้ โดยเฉพาะการสร้างเครือข่าย 

“เครือข่าย หรือ cluster ของที่นี่ เรามีทั้งศิลปะ ดนตรี วรรณกรรม ภาพยนตร์ ละคร เรามีร้านหนังสือ ร้านของสมาคมถ่ายภาพ กลุ่มดนตรี มีแกลลอรี มีร้านเกี่ยวกับอาร์ตแมกกาซีน เรายังมีร้านไอติม เรามีร้านภาพยนตร์ ในที่สุด เครือข่ายพวกนี้ก็คุยกันเอง ทุกวันนี้ที่นี่กลายเป็นสถานที่นัดพบไปแล้ว ซึ่งเราตั้งเป้าให้เป็นอย่างนั้น ให้มาช่วยกันนิยามความหมายของศิลปวัฒนธรรมที่เราต้องการว่าเป็นอย่างไร” 

“แค่เปิดพื้นที่ แค่สร้างโอกาสก็ไปเร็วแล้ว อย่างมูลนิธิหนังไทย แค่มาตั้งอยู่ตรงนี้ ก็มีคนมาปรึกษาเขาในเรื่องของหนังสั้น การทำหนัง อะไรต่างๆ เหล่านี้ ในมุมมองของผม การสร้าง Creative Economy มันต้องสร้างตัวพี่เลี้ยงด้วย” 

ความเป็นจริงที่สวนทางกับแนวคิดด้าน Creative Economy ก็คือ ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ทุกวงการสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นหนัง เพลง ดนตรี ศิลปะ มีคนทำงานอยู่ แต่ก็เป็นไปอย่างกระเตาะกระแตะ เพราะไม่มีทุนรอน ศิลปินบางกลุ่มทำงานในแบบ “ปากกัดตีนถีบ” บางรายสร้างกลุ่มละครขึ้นมา อีกไม่กี่ปีก็หายไป 

“ในระยะเวลา 30 ปี ผมเห็นการเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด ไม่รู้กี่สิบคณะแล้ว” เจ้าตัวตั้งข้อสังเกต 

บทสนทนาของเรามาถึงตอนท้าย ซึ่ง ฉัตรวิชัย เอ่ยเชิญชวนให้ผู้ทำงานศิลปะในแขนงต่างๆ หรือในส่วนต้นน้ำของ Creative Economy มาใช้บริการของหอศิลปฯ 

“ไม่ต้องห่วงว่าเรามีพื้นที่จำกัด หอศิลปฯ 9 ชั้น มันไม่น้อย มันอาจจะมีนิทรรศการพร้อมกันถึง 10 กว่าอันได้ เย็นวันหนึ่งอาจจะมีการแสดงพร้อมกันถึง 3 แบบ ทั้งฉายภาพยนตร์ เล่นดนตรี และเล่นละครเวที ลานด้านหน้าสามารถเล่นปาหี่ นอกจากนี้ เรายังมีลานข้างในห้องสมุด” 

“เราจอดรถได้แค่ 120 คัน แต่มารถทำไม เพราะเรามีบีทีเอส หากสเกลของเราเล็กไป ต่อไปที่คับแคบ ก็ลองขยับขยายไปสร้างที่ไหนก็ได้ เรายินดีเป็นที่ทดลอง เป็นหัวเชื้อ กทม.มีตั้ง 50 เขต ใครจะไปตั้ง art centre ที่ไหนต่อ ก็ช่วยกัน” ผู้ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการหอศิลป ปิดท้าย 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
โดย : อนันต์ ลือประดิษฐ์ 
Life Style 
วันที่ 13 ตุลาคม 2552 

Views: 19

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service