เจาะลึกโลกใต้น้ำกับ Canon Photo Trip

 

กระแสการดำน้ำในเมืองไทยช่วงหลายปีหลังที่ผ่านมา ถือว่าแรงกว่ามุมอื่นของโลกไม่น้อย เห็นได้จากจำนวนร้านบริการดำน้ำที่มีอยู่มากมายบนเกาะภูเก็ต เกาะเต่า พัทยา ฯลฯ ทั้งเจ้าเก่าที่คุ้นเคย และครูรุ่นใหม่ไฟแรง เมื่อมาประจวบกับราคาอุปกรณ์ถ่ายภาพใต้น้ำที่นับวันจะถูกลงเรื่อยๆ จนใครๆ ก็ไขว่คว้ามาครอบครองได้อย่างไม่ยากเย็น ตลาดการถ่ายภาพใต้น้ำจึงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในฐานะผู้นำตลาดกล้องถ่ายภาพ "แคนนอน" จึงไม่รอช้า รีบจัดโครงการ Canon Delighting Photo Trip Underwater Photography ขึ้น เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์การดำน้ำด้วยกล้องดิจิทัล และทดสอบประสิทธิภาพกล้องใต้น้ำกับช่างภาพชื่อดังหลายคนด้วย

วีระ เฉลียวปิยะสกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ส่วนงาน คอนซูเมอร์ อิมเมจจิ้ง แอนด์ อินฟอร์เมชั่น บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด บอกว่า

"โดยส่วนตัวผมเป็นคนหนึ่งที่ดำน้ำมาหลายปี และระยะหลังๆ ไปออกทริปทีไรก็จะพบว่า 9 ใน 10 ของกล้องที่นักดำน้ำใช้จะเป็นกล้องของแคนนอน โดยเฉพาะกล้องคอมแพคตระกูล Powershot G Series เมื่อกลับมาเช็คข้อมูลก็พบว่า เป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมสูงมากในกลุ่มนักดำน้ำ ถึงขนาดว่า Housing ที่ใช้สำหรับกันน้ำให้กับตัวกล้อง เคยผลิตไม่ทันจนขาดตลาดทั่วโลกมาแล้ว ส่วนกลุ่มมืออาชีพก็เปลี่ยนจากกล้องรุ่นเก่าๆ มาใช้แคนนอนตระกูล EOS กันมากขึ้น เพราะกล้องรุ่นใหม่ๆ อย่าง EOS 5D mkII หรือ EOS 7D สามารถถ่ายวีดิโอแบบ HD ได้ด้วย ซึ่งทำให้การลงทุนหนึ่งครั้งของกลุ่มมืออาชีพ สร้างงานได้ทั้งภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว"

แต่สิ่งสำคัญที่วีระและบริษัทแคนนอนค้นพบคือลูกค้าขาดความเข้าใจในการใช้งานกล้องที่อยู่ในมือ แคนนอนจึงจัดโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจในระบบการทำงานของกล้องกับ Underwater Photography อย่างจริงจัง

"ในทริปนี้นักดำน้ำจะได้ทดลองใช้กล้องรุ่นอื่นๆ รวมทั้ง กล้องวีดิโอด้วย ซึ่งการถ่ายภาพใต้น้ำยังต่างจากถ่ายบนบกปกติหลายจุด และหากเพียงถ่ายทอดด้วยคำอธิบาย จะไม่สามารถเกิดความเข้าใจได้ง่ายนัก ทริปนี้จึงจัดให้มีมืออาชีพด้านการถ่ายภาพใต้น้ำอย่าง ครูเอ๋ น้ำลึก และคุณนัท สุมนเตมีย์ มา Clinic ให้ แต่ก็ยังเป็นแบบการถ่ายภาพใต้น้ำเบื้องต้น ส่วนในอนาคตจะจัดการอบรมขั้น advance ขึ้นไปอีก เช่น แยกเป็นทริปถ่ายมาโคร หรือ ทริปวีดิโอโดยเฉพาะ เพื่อต่อยอดให้แก่ผู้ใช้งาน"

 

 

 

โดยในวันแรกของการอบรม ณ Canon Academy เป็นการทบทวนหลักการดำน้ำลึกอย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดที่นักดำน้ำทุกคนพึงจำให้ขึ้นใจ จากนั้นจึงเริ่มเรียนรู้ทฤษฎีการถ่ายภาพเบื้องต้น การควบคุมการทรงตัวในน้ำขณะถ่ายภาพการปรับตั้งค่าต่างๆ ของกล้องเพื่อให้เหมาะสมกับการถ่ายภาพใต้น้ำ โดยเฉพาะเคล็ดลับเด็ด คือ การปรับสมดุลสีขาว (White balance) ซึ่งเป็นอาวุธลับที่จะช่วยให้กล้องคอมแพคธรรมดาๆ สามารถบันทึกภาพออกมาได้ไม่แพ้กล้องระดับสูง

ครูเอ๋ น้ำลึก มืออาชีพด้านภาพใต้น้ำ ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว จาก Water World Bangkok สะท้อนมุมมองว่า
“จากประสบการณ์พบว่า นักดำน้ำมีกล้อง Compact กันเยอะมาก เพราะเดี๋ยวนี้กล้องราคาถูกลง พอถ่ายกันไปได้ระยะหนึ่งก็จะอยากได้อุปกรณ์เสริม หรืออยากกระโดดขึ้นไปเล่นกล้อง DSLR เพราะคิดว่าจะทำให้ได้ถ่ายที่ดีมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้นเสียทีเดียว เพราะเมื่อลองวิเคราะห์ดู พบว่า ผู้ที่ถ่ายภาพใต้น้ำส่วนใหญ่ขาดพื้นฐานความเข้าใจที่ถูกต้อง มักจะใช้วิธีท่องจำ ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่จะถ่ายภาพจริงๆ มันเป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ความเข้าใจมากกว่า ไม่มีสูตรใดตายตัว ดังนั้นโจทย์ที่สำคัญคือ ทำอย่างไรให้ผู้ที่ต้องการถ่ายภาพใต้น้ำมีพื้นฐานที่ดีที่ถูกต้อง”

 

 

 

แม้นักถ่ายภาพมือใหม่ออกจะงงๆ อยู่บ้างกับภาคทฤษฎี แต่เมื่อได้เริ่มการลงมือทดลองจริง โดยเดินทางออกไปไกลถึงทะเลอ่าวไทย จ.ชุมพร ซึ่งมีแนวปะการังที่สวยงาม และสัตว์น้ำน้อยใหญ่มากมาย ทั้งยังโชคดีมีโอกาสได้เจอเจ้า “บุ้งกี๋” หรือ ฉลามวาฬ ยักษ์ใหญ่ใจดี มือใหม่หัดถ่ายทั้งหลายจึงเริ่มเข้าใจวิธีคิดเรื่องการถ่ายภาพใต้น้ำอย่างถ่องแท้ขึ้น


งานนี้ นัท สุมนเตมีย์ ช่างภาพใต้น้ำอันดับหนึ่งของเมืองไทย ผู้คร่ำหวอดในวงการมากว่า 15 ปี ทิ้งท้ายให้มุมมองแก่เพื่อนนักถ่ายภาพหน้าใหม่ว่า


“โลกใต้น้ำเป็นโลกที่เราไม่คุ้นเคย ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแปลกใหม่ ลึกลับ และน่าค้นหา เสน่ห์ของการถ่ายภาพใต้น้ำอาจไม่ใช่เรื่องของแสง หรือมุมภาพ หากแต่เป็นการเล่าเรื่องที่เล่าได้ไม่รู้จบ”



โดย : กอบภัค พรหมเรขา
Life Style : ท่องเที่ยว
วันที่ 24 กันยายน 2553
By : bangkokbiznews.com


 

Views: 45

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service