[ Biography ] ประวัติ แอนดี้ วอร์ฮอล Pop art : Andy Warhol (1928-1987)

 
2 กุมภาพันธ์ 1987 โลกได้นำชีวิตผู้ชายบอบบางอ่อนแอ ผิวขาวซีดคนหนึ่งกลับคืนสู่อ้อมกอดของแผ่นดินด้วยวัย 59 อาจไม่เป็นที่รู้จักเท่า หลุยส์ อาร์มสตอง ไม่ตรึงตาคนทั่วโลกเหมือน คลาร์ค เกเบิ้ล ไม่เขย่าโลกด้วยเอวและขาสองข้างอย่าง เอลวิส เพรสลีย์ แต่สำหรับศิลปะยุคใหม่ แอนดี้ วอร์ฮอล สร้างสรรค์อะไรต่อมิอะไรไว้มากมายนัก 
ใครบางคนบอกไว้ว่าศิลปะยุคใหม่ของโลก ไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่ง จะต้องมีผลจากความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินยิ่งใหญ่คนนี้ 
แอนดี้ วอร์ฮอลคือใคร? ถ้าเขาตอบเองเขาจะตอบว่า "ดูภาพเขียนและดูหนังสือของผม นั่นคือผม ไม่มีอะไรนอกเหนือจากนั้น" แต่ในบางคำตอบบอกว่า เขาเป็นผู้ร่วมสร้างศิลปะทศวรรษ1960 เป็นผู้ประสบความสำเร็จที่ไม่ยอมหยุดนิ่งในทศวรรษ1970 และเป็นอาวุโสผู้ยิ่งใหญ่ในโลกของศิลปะล้ำยุคในทศวรรษ1980--สำหรับอเมริกาและโลก 

 
Self-Portrait (1966)


ลูกชายคนงานเหมืองแร่เชื้อสายเช็คโกฯ เติบโตในพิทส์เบิร์ก จบปริญญาสาขาการออกแบบ และเริ่มอาชีพในทางพาณิชย์-ศิลป์ ในนิวยอร์ค คนหนุ่มสาวในแวดวงศิลปะยุคนั้นมักละอายที่จะใช้ชื่อจริงเมื่อต้องหาหนทางอยู่รอดด้วยการรับงานพาณิชย์ศิลป์ แต่ แอนดี้ วอร์ฮอลไม่ เขาเปิดเผยและไม่ใส่ใจกับคำเย้ยหยันจากกลุ่มศิลปินแอ็บสแตร็คท์และเอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ที่กำลังเฟื่องฟูและรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นในนิวยอร์ค 
กลางกำแพงหนาทึบของแอ็บสแตร็คท์ และเอ็กซเพรสชั่น เริ่มมีรอยปริของศิลปะแนวใหม่ในกลางทศวรรษ 1950 เมื่อศิลปินอังกฤษกลุ่มหนึ่งเปิดแสดงงานศิลปะที่นำสิ่งของสัพเพเหระมาใช้ เช่น หนังสือการ์ตูน เฟอร์นิเจอร์เก่าๆ แผ่นปลิวโฆษณา และกระทั่งลูกกวาด งานที่ดูแล้วสดชื่นให้ความรู้สึกร่าเริง ลอว์เรนซ์ อลาววีย์ นักวิจารณ์ชื่อดังขนานนามมันว่า " ป็อป อาร์ต " 

 
Jasper Johns Encaustic Painting "Flag", 1954-55


 
Jasper Johns , 1977 


ฝั่งอเมริกาในเวลาเดียวกัน แจสเปอร์ จอห์นส์(Jasper Johns ) ก็กำลังทดลองงานแนวใหม่อย่างขะมักเขม้น ไม่มีใครสนใจสักเท่าไหร่ แต่วอร์ฮอลสนใจและให้ความชื่นชมในตัว แจสเปอร์ จอห์นส์ เขาปราถนาที่จะสร้างความสำเร็จในศิลปะแนวใหม่นี้ให้ได้ 
ความสำเร็จไม่เคยหล่นมาจากฟ้ามีแต่ตองจ่ายออกไปด้วยสมองและความพยายามอย่างเหนื่อยยาก แอนดี้ วอร์ฮอล เริ่มนำภาพเขียนด้วยหมึกออกตระเวนแสดงเป็นครั้งแรก ถัดมาด้วยการนำภาพในลักษณะ การ์ตูน อย่าง ซูเปอร์แมน นักสืบดิ๊คเทรซี ป็อบอาย และรูปทรงที่คุ้นตาเช่น ขวดโคคา-โคลา แต่ก็ยังไม่ได้รับความสนใจใยดีนัก 

 
Roy Lichtenstein [American Pop Artist, 1923-1997]


วอร์ฮอลได้พบ รอย ลิธเทนสไตน์ (Roy Lichtenstein)ในเวลาต่อมา รอยเป็นศิลปินอีกคนที่ทำงานในลีลาใกล้เคียงกับเขา การพบกันไม่เพียงสร้างกำลังใจ แต่นำมาสู่การเกาะกลุ่มที่ชัดเจนขึ้น วอร์ฮอลนึกถึงบางสิ่งบางอย่างที่กำลังเกิดขึ้น และบางที-เขาอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น 
แต่มันก็ยังไม่เกิดขึ้น จนกระทั่งปี 1962 แอนดี้ วอร์ฮอล นำงานออกแสดงเดี่ยวที่แกลลอรี่เฟรัสในลอสแองเจลีส การตอบสนองค่อนข้างเงียบเชียบ แม้จะมีภาพกระป๋องซุปแคมพ์เบลล์ที่โด่งดังในเวลาต่อมา แต่กับการแสดงอีกครั้งที่แกลลอรี่สเตเบิ้ลในนิวยอร์ค ทุกอย่างเปลี่ยนไป Gold Marilyn และ Red Elvis ด้วยสีสันฉูดฉาดเร้าใจกลายเป็นที่กล่าวขวัญไปทั่วแวดวงศิลปะและผู้คนทั่วไป 
ปีเดียวกัน แอนดี้ วอร์ฮอลได้สร้างงานใหม่ขึ้นอีกในชุด " ความตายและความหายนะ " เป็นภาพที่ตัดออกมาจากข่าวอุบัติเหตุและการฆ่าตัวตายทางหน้าหนังสือพิมพ์ เขาเปลี่ยนวิธีทำงานด้วยพู่กันมาใช้ซิลค์สกรีนซึ่งเป็นวิธีทางพาณิชย์ศิลป์แทน เพื่อผลที่ภาพจะมีสีหนาแน่นสดใสขึ้น และวิธีนี้ก็แพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว 
โรเบิร์ต ฮุฟส์ นักวิจารณ์ศิลปะตั้งข้อสังเกตถึงผลทางติดตามมาว่า " สินค้าทุกอย่างพากันลอกเลียนแบบงานศิลปะบนผลิตภัณฑ์เพื่อดึงดูดลูกค้า และวัฒนธรรมการเลือกซื้อของของผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย" 

 
Gold-Marilyn-1962


 
campbell's(1962)


 
elvisI-1963


ปี1963 แอนดี้ วอร์ฮอล และ เจอราร์ด เมแลนก้า ผู้ช่วยของเขา โยกย้ายสตูดิโอ ไปตั้งที่โรงงานเก่าร้างแห่งหนึ่งบนถนนสาย 47 ของนิวยอร์ค เขาได้เพื่อนใหม่ชื่อ บิลลี่ เนม ที่นั่น บรรดาเพื่อนฝูงที่แปลกประหลาดพิสดารของ บิลลี่เริ่มแวะเวียนมาหาสู่กัน แอนดี้ วอร์ฮอลพบว่าบุคลิคสุดขั้วของคนเหล่านั้นเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเริ่มทำงานหนังของเขา 
งานหนังเรื่องแรกชื่อ Kiss Eat Sleep ชื่อเรื่องบอกถึงสิ่งที่อยู่ในหนังอย่างชัดเจนอย่าง "นอน" ก็เป็นภาพของผู้ชายที่นอนหลับเป็นเวลาถึง8ชั่วโมง หนังเรื่อง Soap Opera สร้างในปี 1964 แนะนำให้รู้จักดาราอันเดอร์กราวน์คนแรกของเขาคือ เบบี้เจน โฮลเลอร์ 
"ในอนาคต" แอนดี้ วอร์ฮอล บอก " ทุกคนจะเป็นคนดังของโลกภายในเวลาเพียง15นาที" นี่คือความเห็นแบบป็อบ ป็อบ ที่สมบูรณ์แบบจริงๆ ก็คล้ายกับงานปั้นรูปชีสเบอร์เกอร์ของ ชาร์ลส์ โอเดลเบิร์ก หรือ ปืนกลในการ์ตูนของ รอย ลิธเทนไตน์ บอกให้รู้ว่าศิลปะอาจสร้างสรรค์ขึ้นจากสิ่งพื้นๆที่สุดก็ได้ โดยคนแปลกประหลาดกว่าคนอื่นๆ 
ในอนาคต ทุกคนสามารถเป็นคนดังในเวลา15นาที จากนั้นก็เป็นทีของคนอื่นต่อไป 
ดาราหนังอันเดอร์กราวน์ของแอนดี้ วอร์ฮอล คนอื่นๆ หลังจาก เบบี้ เจน ก็มี เอ็ดดี้ เซ็ดจ์วิค มาริโอ มอนเตซ อุลตร้า ไวโอเล็ต วีวา แคนดี้ ดาร์ลิ่ง เป็นต้น หนังที่พวกเธอแสดงไม่มีการตั้งท่าแสดงตามแบบทั่วไป กล้องถ่ายไปเรื่อยๆ เสนอภาพซ้ำๆเป็นรูปแบบที่ดิบเถื่อน 

 
ปกแผ่น เวลเว็ท อันเดอร์กราวน์ The Velvet Underground


1966 เป็นปีที่แอนดี้ วอร์ฮอลมีความเคลื่อนไหวมากที่สุด เขาเป็นโพรดิวเซอร์ให้วงดนตรี เวลเว็ท อันเดอร์กราวน์ และศิลปินสาวเชื้อสายเยอร์มันชื่อ นิโค ปกอัลบั้มแรกของ เวลเวท อันเดอร์กราวน์เป็นผลงานของ แอนดี้ วอร์ฮอล รูปกล้วยหอมซึ่งกลายมาเป็นงานที่มีคนรู้จักมากที่สุดอีกชิ้นหนึ่งของเขา 

 
The Velvet Underground and Nico


แอนดี้ วอร์ฮอล ตั้งกลุ่มการแสดงที่ใช้ชื่อ ดิ เอ็กซพลอดิ้ง พลาสติค อินไวเทเบิ้ล รวมการแสดงของ เวลเวท อันเดอร์กราวน์ การแสดงผลงานด้านแสงสี การฉายหนังอันเดอร์กราวน์ของเขา สิ่งเหล่านี้กลายมาเป็นการวางรูปแบบของโรงแสดงดนตรีร็อคต่อๆมา 
นอกจากนี้เขายังสร้างหนังเรื่องใหม่ The Chelsea Girls มีผลงานซิลค์สกรีนออกแสดงในชุดล้อเลียน " แจ็คกี้" ภรรยาหม้ายของอดีดประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ พลังในการทำงานของ แอนดี้ วอร์ฮอล เหมือนไม่มีที่สิ้นสุด 

 
Jackie


" เขาเป็นคนบ้างาน และคอยกระตุ้นพวกเราด้วย" ลูรีด ผู้นำวง เวลเวท อันเดอร์กราวน์ เล่า " ถ้าผมจะเขียนเพลงสักเพลง เขาก็จะพูดว่าทำไมไม่เขียนสัก5เพลงล่ะ งานเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง" 
ภายในระยะเวลา5ปี แอนดี้ วอร์ฮอลสร้างผลงานมากมายเกินกว่าจะนึกได้ ผลลัพธ์คุ้มค่าเมื่อเขาไม่เพียงประสบความสำเร็จในชื่อเสียง ยังประสบความสำเร็จในฐานะการเงินอีกด้วย แอนดี้ วอร์ฮอล บอกว่า " ความสำเร็จทางธุรกิจเป็นศิลปะที่น่าชื่นชมอย่างหนึ่ง" 
โรงงานของเขากลายเป็นที่ที่คนอยากจะเข้าไปมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นโรงงานบนถนน47 หรือ โรงงานใหม่ที่ยูเนียน สแควร์ เป็นที่รวมของคนมีชื่อเสียงในวงการบันเทิงทุกสาขา คนที่แปลกพิสดารและ "ยาเสพติด" 
ขณะที่เขากำลังโด่งดังสุดขีด แอนดี้ วอร์ฮอลก็ถูกยิง2นัดที่ท้อง โดยผู้หญิงชื่อ วาเลอรี่ สลานีส เธอเดินเข้าไปในโรงงานของเขาแล้วก็ยิง เขาถูกนำส่งโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัด หมอลงความเห็นว่าเขาคงไม่รอด แต่แอนดี้ วอร์ฮอลก็ยังไม่ตาย มันเป็นเพียงการสิ้นสุดแห่งยุคสมัยหนึ่ง 

 
โชว์แผลหลังผ่าตัด


ช่วงปลายทศวรรษ1960 แอนดี้ วอร์ฮอลใช้เวลาไปกับการพักฟื้นรักษาอาการบาดเจ็บและรักษาความหวาดกลัวที่เกาะกุม เขาให้มีการติดตั้งระบบความปลอดภัยภายในโรงงานใหม่หมด ไม่มีการสร้างหนังหรือภาพเขียนชิ้นสำคัญออกมาอีกเลยจนสิ้นทศวรรษ 
เริ่มทศวรรษ 1970 ก็เหมือนเริ่มยุคใหม่ของแอนดี้ วอร์ฮอล งานที่โดดเด่นชิ้นแรกของเขาคือปกแผ่นเสียงชุด Sticky Fingers ของ โรลลิ่ง สโตนส์ เป็นรูปกางเกงยีนส์ช่วงระหว่างเอวถึงต้นขา และมีซิปจริงๆติดอยู่ 

 
Sticky Fingers- The Rolling Stones


แต่ความสุขแท้จริงของวอร์ฮอลในช่วงนี้คล้ายจะอยู่ที่การได้ออกไปไหนต่อไหนพร้อมกับกล้องโพลารอยด์ และเครื่องบันทึกเสียง ครั้งหนึ่งเขาเคยเขียนไว้ว่า " ผมมีความรักกับโทรทัศน์มาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1950 และยังหลงรักเรื่อยมาจนทุกวันนี้ แต่ผมก็ไม่ได้แต่งงานกับมันหรอก จนกระทั่งผมได้เครื่องบันทึกเสียงเครื่องแรกมานี่แหละเมียผมล่ะ" 
แอนดี้ วอร์ฮอลใช้เทปบันทึกปัญหาต่างๆของผู้คนทั้งไร้สาระและน่าสนใจ ทั้งจริงและเสแสร้ง เขาไม่ค่อยพูดเรื่องของตัวเอง แต่ก็มักมีคำแนะนำที่ดีสำหรับปัญหาของคนอื่น " เมื่อฉันมีปัญหาเรื่องแฟน" ซูซาน บลอนด์ นักแสดงในทีมของวอร์ฮอลเล่า " แอนดี้บอกฉันว่า ทำงานให้หนัก เมื่อใดก็ตามที่เธอมีเงินและชื่อเสียงพร้อม เธอจะเลือกใครก็ย่อมได้" 

 
WarholMao (1972)


ปลายทศวรรษ งานศิลปะเยี่ยมๆของวอร์ฮอลล์ก็ทยอยปรากฎต่อสาธารณชนอีกครั้ง เช่น ภาพประธาน เหมาเจ๋อตุง ขนาดมหึมาที่เขาเริ่มเขียนมาตั้งแต่ปี 1972 ภาพแม่ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกซึ่งเขียนในปี1974 ภาพของ มิค แจ็กเกอร์ แห่งโรลลิ่งสโตน ที่ใช้วิธี "ตัดและแปะ" สไตล์พั้งค์ ในปี 1975 ที่กลายเป็นความนิยมแนวใหม่ในปีถัดๆมาจากหลายๆพื้นที่ของโลก 

 
mick jagger


แม้ในทศวรรษ 1980 แอนดี้ วอร์ฮอลจะไม่ได้สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆที่น่าตื่นเต้น แต่เขาก็กลายเป็นแบบอย่างของคนรุ่นใหม่มากมาย และยังคงทำงานด้านอื่นๆ ไม่หยุดยั้ง นิตรสารอินเทอร์วิวที่เขาก่อร่างสร้างขึ้นประสบความสำเร็จอย่างสูง เขามีรายการโชว์ทางเคเบิ้ลทีวี มีรายการ " 15 นาที กับแอนดี้ วอร์ฮอล " ทางเอ็มทีวี รับเชิญปรากฎตัวในงานมิวสิควิดีโอ และหนังชุด เตรียมวางแผนจะเปิดร้านอาหารฟาสต์-ฟูด ใกล้กับพิพิธภัณฑ์วิทนีย์ในนิวยอร์ค สนใจคนที่มาเป็นแบบภาพชุดใหม่ชื่อ Ten Portraits Of Jews Of Twentieth Century อย่าง ฟรานซ์ คาฟก้า และซ่าร่า เบิร์นฮาร์ดท์ ตั้งใจจะวาดภาพชุดเด็กและสัตว์ต่างๆที่ยังไม่มีเขี้ยวเล็บ และเสร็จสิ้นกับงานภาพ The Last Supper และตั้งแสดงที่มิลาน อิตาลี ขณะที่ภาพต้นฉบับของ ลีโอนาโด อาวินชี กำลังอยู่ในระหว่างซ่อมแซม 

 
Ten Portraits Of Jews Of Twentieth Century


แอนดี้ วอร์ฮอล ไม่ใช่คนแข็งแรงมาตั้งแต่แรก เขาพยายามดูแลตัวเอง และไม่เคยหยุดนึกถึงโรคภัยไข้เจ็บที่น่าสะพึงกลัว แต่ในที่สุดก็ทานไม่ไหว 
เขาเข้าโรงพยาบาลคอร์เนล เมดิคัลเซ็นเตอร์ เพื่อผ่าตัดถุงน้ำดีในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ การผ่าตัดผ่านไปด้วยดี แต่เช้าวันพรุ่ง แอนดี้ วอร์ฮอลก็ต้องเสียชีวิตไปด้วยอาการหัวใจวาย 
ทิ้งทรัพย์สมบัติมูลค่าราว 10 ถึง15 ล้านเหรียญ ภาพเขียนสี ภาพดรออิ้งขนาดใหญ่ รูปปั้น เทป คาสเส็ทท์ ฟิล์มหนังอันเดอร์กราวน์ และหนังสืออีกมากมาย โรงงานของเขาแม้เต็มไปด้วยเรื่องเซ็กส์และยาเสพติด แต่ลึกลงไปข้างหลัง เขากลับเป็นคนเคร่งศาสนา ไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ พินัยกรรมตอนหนึ่งของวอร์ฮอลระบุไว้ชัดเจนว่าให้นำเงินไปก่อตั้งเป็นมูลนิธิสำหรับศิลปินทางด้านทัศนศิลป์
"สิ่งที่เขาทำได้นั้น " มิค แจ็กเกอร์บอก "คือความสามารถมองเห็นสังคมอย่างชัดแจ้ง ไม่ว่าส่วนใดก็ตาม หากเขาต้องการถ่ายทอดออกมา มันก็จะงดงามและเที่ยงตรง" 
"เขาเป็นคนฉลาดแหลมคมยิ่ง" นักวิจารณ์ ทอม วูล์ฟ ให้ความเห็น " แต่ทุกอย่างอยู่ในสมองความเฉียบแหลมของเขาไม่ได้อยู่ในการพูดอย่างฉลาด แต่อยู่ในการไม่พูดอะไรเลย" 
แอนดี้ วอร์ฮอล ที่ได้รับขนานนามว่าเป็นราชาแห่งป็อบ อาร์ต จากโลกนี้ไป แต่ได้ทิ้งผลงานสร้างสรรค์ที่มากปริมาณและเปี่ยมคุณภาพไว้ บางทีเพราะความหลากหลายในแนวทาง ทำให้มีคนยังตั้งคำถามกันเสมอว่า แอนดี้ วอร์ฮอล คือใคร ? เขาทำอะไร ? และทำไม ? 
นักแสดงอย่างซูซาน บลอนด์ก็อาจจะตอบไม่ได้ เธอบอกได้เพียงความรู้สึกที่มีต่อเขา 
" แอนดี้ มักทำให้คนอื่นรู้สึกว่าแต่ละคนเป็นดารา แม้ว่าเขาเองคือดาราที่ยิ่งใหญ่และสุกสกาวกว่าทุกคน" 

***********
โดย ทินกร หุตางกูร 
จาก the season magazine สีสัน 
ปีที่1 ฉบับที่ 4 กุมภาพันธ์ 

Views: 5278

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service