ถาวร โกอุดมวิทย์: เขาหาว่าผมเป็น Art มาเฟีย

ชื่อของ ถาวร โกอุดมวิทย์ สะท้อนถึงความมีตัวตนหลายด้าน ในวงการศิลปะ และดูได้จากหมวกหลายใบที่เขาสวม ตั้งแต่ศิลปินรุ่นใหญ่สาขาภาพพิมพ์

ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ เมื่อปี 2535 , เคยดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร , เป็นอาจารย์ประจำคณะจิตรกรรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ จนถึงการเป็นกรรมการ ในเวทีการประกวดงานศิลปกรรมระดับชาตินับไม่ถ้วน

บทบาทใหม่ของ ถาวร โกอุดมวิทย์ ในวันนี้ กำลังเปลี่ยนจากฟากฝั่งของ "ศิลปิน" และ "งานวิชาการ" มาสู่เรื่องธุรกิจมากขึ้น ในฐานะคนทำหน้าที่บริหารอาร์ตแกลลอรีที่ต้องจัดสมดุลในเรื่องของคุณค่าทางสุนทรียภาพและเงินๆ ทองๆ หลังจากเคยเป็นที่ปรึกษาให้แกลลอรีบางแห่ง โดยเมื่อ 3 ปีก่อน ถาวร เปิด Ardel Gallery เพื่อสานต่อความคิดฝันส่วนตัว และหวังต่อยอดสิ่งใหม่ๆ ให้แก่วงการศิลปะ อันได้แก่ การจัดแสดงงาน นิทรรศการถาวร เวิร์คช็อพ หลักสูตรอบรม รวมถึงกิจกรรมต่างๆ

บนพื้นที่ 300 ตารางวา Ardel Gallery เพิ่งมีอาคารแห่งใหม่ ซึ่งหมายถึงพื้นที่ในการแสดงงานอันใหญ่โตกว้างขวางกว่าเดิม และเป็นโอกาสที่ ถาวร จะได้เปิดใจถึงการทำหน้าที่อีกด้านหนึ่งของเขา ซึ่งเกี่ยวโยงกับความจริงและความเป็นไปของวงการนี้

เมื่อเปลี่ยนมาบริหารแกลลอรี ทำให้ความถี่ในการสร้างงานศิลปะของคุณลดลง ?

เดี๋ยวนี้น้อยลง เพราะเรามาทำงานบริหาร แต่ส่วนใหญ่จะเป็นรูปความคิดที่เราบันทึกไว้ เมื่อถึงเวลาที่เรานำกลับมาทำ ก็ไม่น่าจะมีปัญหา ผมไม่ได้หยุดคิด แต่อาจจะชะลอการทำเอาไว้ จริงๆ ก็มีโปรเจ็คท์ที่จะทำอีกมาก แต่ให้โอกาสคนอื่นเขาก่อนดีกว่า เราจะทำเมื่อไหร่ก็ได้

ไม่มีเสียงเรียกร้องจากภายในเลยหรือว่า ควรกลับไปทำงานได้แล้ว

ไม่มีครับ เพราะผมอาจจะบรรจุนิติภาวะตรงนั้นมาแล้ว คือหลายคนอาจจะเป็นห่วงว่าทำไมไม่ทำงานใหม่ออกมาเลย แต่ผมเฉยๆ นะ ผมว่าเป็นเรื่องเวลา จังหวะ รวมถึงเวลาเรามาทำงานด้านนี้ (บริหารแกลลอรี) มันสนองตอบต่อองค์รวมได้ดีกว่า ถ้าผมเลือกทำงานศิลปะ ผมอาจจะต้องหยุดที่จะไปพัฒนาคนอื่น

เป็นเพราะสภาพแวดล้อมของวงการศิลปะ คุณจึงต้องเสียสละมาทำงานตรงจุดนี้ ?

จะว่าเสียสละก็คงไม่เชิง เพราะควรเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความรู้สึกของเราด้วย เช่นให้เราสละไปยืนเฝ้ายามก็คงไม่ใช่ แต่มันอยากทำ อยากทำให้เพื่อให้เกิดสิ่งที่มีคุณค่าในวงการศิลปะ และคิดว่าเรามาถูกทางนะ พอทำแล้วมันก็เกิดมิติใหม่ๆ ในวงการ ภายใต้ความยากลำบากของเรา ภายใต้การบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งเราไม่มีองค์ความรู้ตรงนี้เลย ที่สำคัญคือภายใต้ปัจจัยที่เราอาจจะต้องละวางมันบ้าง เช่นสิ่งที่เรามี เราอาจจะต้องขาย เพื่อเอามาทดแทน

เหตุใดวงการศิลปะจึงไม่มีใครมาบริหารจัดการเรื่องเหล่านี้

ผมคิดว่ามันก็มีนะ แต่อาจจะไม่ครบวงจร ส่วนใหญ่เขาทำเพื่อให้เกิดผลกำไร ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เพราะคนลงทุนก็ต้องการกำไร แต่ภายใต้วิธีการแบบนั้น มันอาจจะละเลยสิ่งที่มีคุณค่าไป คือบางครั้งงานศิลปะ มันอาจไม่สามารถ make profit หรือขายได้ ขณะเดียวกัน งานที่ขายได้ ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีคุณค่า แต่มันอาจจะเฉพาะกลุ่ม
Ardel อาจจะเป็น private gallery เพียงไม่กี่แห่งที่เน้นทั้งในด้านที่ไม่สามารถก่อให้เกิดรายได้ อย่างนิทรรศการที่เห็นๆ ปีหนึ่งเราก็จะมีสัดส่วนของเรา เราเลือกคุณค่าก่อน แต่บางครั้ง หากงานที่มีคุณค่าด้วย และสามารถขายได้ด้วย อันนี้ก็จะเป็นความโชคดีของเรา ทำให้กลับมาหล่อเลี้ยงการดำเนินงานของเราได้

ปีหนึ่งๆ คุณมีสัดส่วนระหว่างงานศิลปะ "ขายได้" กับ "ขายไม่ได้" อย่างไร
ปีหนึ่งเรามีราว 8 นิทรรศการ อาจจะมีอยู่ 2 นิทรรศการที่ make profit ได้ แต่อีก 6 อาจจะขายไม่ได้ หรือประมาณ 25 เปอร์เซนต์ของการแสดงทั้งหมด ซึ่งแน่นอนที่สุด ส่วน 25 เปอร์เซนต์นี้จะเป็นที่ปรารถนาของทุกๆ แกลลอรีที่อยากแสดง แต่เราก็ไม่ได้สนใจ ถ้าคิดว่า situation ของเรา พอทำให้เขาดูดี ซึ่งเราโชคดีที่ศิลปินกลุ่มนี้ พวกที่งานดีด้วย ขายได้ด้วย พวกนี้เขาเลือกเรา คือมันค่อนข้าง complicate อยู่นะ เพราะถ้าเขาไปอยู่ในแกลลอรีที่ too commercial มาก เกินไป สถานภาพของเขาอาจจะกลายเป็นงานเพื่อขาย ตรงนี้ค่อนข้าง abstract ที่จะ take balance ว่าจะอยู่อย่างไร

Ardel มีส่วนในการกำหนดหรือวางแผนงานกับศิลปินหรือไม่
แน่นอน คือคอนเซ็พท์ เราคงไม่ได้ไปกำหนด แต่เราอาจจะกำหนดเรื่องของเวลา เรื่องของการนำเสนอ พีอาร์ อย่างบางคนที่เราเชิญเขามาแสดง แน่นอนเขาควรมีบุคลิกภาพน่าสนใจอยู่แล้ว แต่ศิลปินบางคนที่อยากมาแสดง และเรารู้สึกว่า งานของเขาไม่ได้พัฒนาเลย เราอยากจะบอกว่า จริงๆ แล้วสัมพันธภาพระหว่างคุณกับผมที่เป็นเพื่อน เราแทบจะไม่ใช้ระหว่างการทำงาน ถามว่าไม่ใช้ได้มั้ย ก็ไม่ถึงขนาดนั้น เพราะเราก็ศิลปิน ดังนั้น เราจะใช้อย่างไรให้เกิดความเหมาะสม

สิ่งที่ผมวิตกที่สุดในการทำแกลลอรี คือสัมพันธภาพ จากเพื่อนที่เคยสนิทกัน แล้วมาขอแสดง จริงๆ ผมไม่เคยปฏิเสธเลย ผมจะบอกว่าคุณกลับมาได้ทุกเวลา แต่ตอนนี้ขอให้เอากลับไปทำก่อน เอาไปพัฒนาหน่อยนะ การที่คุณทำงานมาแบบนี้ โลกมันเคลื่อนไปเยอะแล้ว การทำงานศิลปะควรมีประเด็นมากกว่านี้ มิใช่การแสดงอารมณ์ หรือทักษะ แค่นั้นมันไม่พอ

คือผม curate งานในระดับโลกแล้ว แล้วจะให้ผมเอาความสนิทสนมมาฆ่าความเป็น professional ของผม หรือฆ่าสิ่งที่ผมทำทั้งหมดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ศิลปินต้องเข้าใจ แต่ผมโชคดีตรงที่ผมเป็นคนอธิบายอะไร แล้วส่วนใหญ่จะเข้าใจ เพราะระหว่างการสนทนา เราจะมีจิตโอบอุ้มเขาตลอดว่า คุณกลับมาได้ตลอดเวลา ถ้าคุณสมบูรณ์

ที่ผ่านมา บางคนคุยกันไปแล้ว 2 ปี จนหลายคนตกตะลึงว่าผมเปลี่ยนลุคเขาได้อย่างไร ศิลปินบางคนยังแสดงงานตามโรงแรมอยู่แล้ว ไม่สนใจอะไรเลย แต่เขาอยากมาแสดง เราก็บอกว่ามันต้องเปลี่ยนทีท่า ต้องปรับบทบาทใหม่ แบบนี้ก็มี

ในลักษณะนี้ คุณไม่ได้เป็นเพียง art dealer แต่กำลังจะบอกว่าตัวเองเป็น curator ด้วย
ก็มีบางคนเขาปฏิเสธว่า การทำแกลลอรี ไม่ใช่ curator แต่เป็น art dealer ในการสัมมนา คือผมคิดว่าถ้าในสังคมอุดมคติ-ใช่ แต่ในบ้านเรา-มันไม่ใช่

การที่คุณเป็น curator แต่คุณไม่ทำอะไรเลย ไม่ทำให้วงจรอันนี้พัฒนาไป เหมือนที่เอดิสันบอกว่า เขาไม่ได้ผลิตหลอดไฟเพื่อความพึงพอใจของเขา เขาคิดก่อนว่าไอ้หลอดไฟของเขาจะเกิดประโยชน์อะไรต่อสังคม มีคนคิดหลอดไฟแบบเอดิสันได้เยอะแยะ แต่เอดิสันโด่งดังเพราะสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิต ผมว่าสังคมเราโหยหาตรงนี้ ไอ้คนที่เรียนมาก็จะอยู่ในกรอบของตัวเอง แล้วคิดว่าสิ่งนั้นคือหมุดหมายที่สำคัญ แล้วก็ยึดถือในสิ่งที่เรียนมา แต่บ้านเราต้องการการผสมผสาน

หลายคนจบเมืองนอกมา ความรู้ดี แต่พอถึงขั้น operate ทำไม่ได้เลย เพราะคุณไม่เข้าใจจิตของคุณที่จะไปสอดคล้อง หรือทำให้ศิลปินยอมรับตัวคุณ คุณไม่มีความเข้าใจในเรื่องของการดีไซน์ คุณยังเย่อหยิ่งอยู่บนหอคอยงาช้าง เพราะว่าคุณจบเมืองนอกมา จบการบริหารจัดการศิลปะ คุณไม่เคารพสื่อ คุณไม่มีปฏิสัมพันธ์ใดๆ เวลาเปิดงานแสดง ก็จะมีคนอยู่ไม่กี่สิบคน ดูกันเองชื่นชมกันเอง ผมว่าไอ้กระบวนการเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่ดี แต่หากมองในแง่การลงทุน มันเสียหายเยอะ เพราะสิ่งที่คุณทำ มันโอนถ่ายไปสู่ผู้คนได้มากน้อยขนาดไหน แล้วพวกคุณก็ร้องแรกแหกกระเชอว่าคนไม่สนใจศิลปะ เพราะคุณทำศิลปะ แต่คุณไม่สร้างคนดูศิลปะ

มีการสัมมนาบ่อยๆ แล้วบอกว่า คนทำแกลลอรี เขาไม่เรียก curator ผมก็อยากจะบอกว่าเมืองนอกมันก็มี แต่ศตวรรษที่เท่าไหร่แล้วไม่รู้ ว่ามันต้องอยู่ใน museum เท่านั้น แล้วต้องไม่ขายรูป ต้องรับเงินจาก government หรือ foundation หากมองจากจุดนี้ แล้วผมจะรับเงินจากใครล่ะ หากไม่มีใคร support ผม แล้วผมจะทำได้อย่างไร

ในความเห็นของผม ไม่ว่าจะเป็น curator หรือ art dealer ทุกหน่วยในสังคมต่างเชื่อมโยงกัน และเมื่อถึงเวลานั้น คุณค่าที่สังคมเห็น มันจะปรากฏเอง ไม่ใช่ว่าคุณไปสถาปนาตัวเองว่าผมเป็น curator นะ
ที่ผ่านมา ผมเป็นทุกอย่าง เพราะผมเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่พูดถึงเรื่องการผลิตหลักสูตร ผมเป็นคนจัดการประกวดงานศิลปกรรมนานาชาติคนแรกของประเทศไทย ผมเป็นอะไรเยอะแยะ ผมเป็นครู ...

ทุกคนเรียกคุณว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพล เป็น M-A-F-I-A ?
(หัวเราะ) เขาก็พูดกันว่าประเทศไทยมีมาเฟีย 2 คน ทางภาคราชการคือ อาจารย์อภินันท์ (โปษยานนท์) ทางเอกชนก็คือผม

ผมบอกลูกศิษย์ว่า บังเอิญผมหลุดจากร่างแหของพวกศิลปินแล้ว คือเฝ้าวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องตลกมากกว่า เรื่องที่เขาคิดว่าเป็นอิทธิพล ก็โอเคนะ เหมือนคนที่มีอิทธิพลทางความคิด คือผมไม่ได้มองว่าตัวเองจะไปข่มขู่ใคร หรือแกล้งใคร ผมพยายามคิดว่าเป็นความหมายในเชิงบวก เพราะทุกคนรู้ว่า ผมทำแล้วก็ไม่ได้อะไร นอกจากสิ่งที่เรียกว่า "อิทธิพล" อันนี้ คือความชื่นชม คนอยากมาแสดง คิวยาว อาจารย์ถาวรจะเป็นคนกำหนดให้ มีบทบาทในการแสดง ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือเรื่องปกติธรรมดา

ตลอด 3 ปีมานี้ คุณเรียนรู้อะไร หลังจากบริหารแกลลอรีโดยไม่มีความรู้เรื่องการจัดการมาก่อนเลย
จริงๆ เริ่มแรก ผมมีพาร์ทเนอร์คนหนึ่งที่จะมาดูเรื่องธุรกิจให้ ผมก็จะ curate อย่างเดียว เพราะการซื้อขาย บัญชี ซึ่งไม่ใช่ธรรมชาติของเรา พอเริ่มแรก เขาจะมาดูแล แต่ด้วยวิธีคิดที่ต่างกัน และด้วยความใส่ใจของเรา มันทำให้เกิด professional conflict (คือเราเป็นคนลงทุนทั้งหมด) ทำให้เราคิดว่า เราอาจจะผิดก็ได้ ที่เราไม่รู้แล้วเราอยากถาม ในที่สุด พาร์ทเนอร์ก็อยากไปทำเองมากกว่า พอเขาออกไปแล้ว เราแย่เลยนะ แต่ผมคิดเหมือนการทำงานศิลปะว่าเราต้องมีความเอาใจใส่ ตั้งแต่จุดเริ่มแรก ถ้าเราใส่ใจก็สามารถพัฒนาได้

ปีสองปีแรกก็ขลุกขลัก แต่เราคิดว่าเราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ พลังจักรวาลมีจริง ผมเคยเป็นรองอธิการบดี ผมเคยเป็นอยู่ 4 ปี งานที่เราทำให้มหาวิทยาลัยก็คืนกลับมาในเรื่องของประสบการณ์ ถ้าผมเป็นนักมวย ผมเป็นมวยหมัดก็ได้ มวยเข่าก็ได้ ได้ทุกรูปแบบ ขณะที่บางแห่งเขาขายรูปเก่ง แต่สิ่งที่สังคมมองเข้าไปอาจจะ too commercial หรือบางแกลลอรี เขาอาจจะไม่สนใจ commercial แต่สนใจแนวคิดศิลปิน แต่เมื่อไม่มีเงินสนับสนุน มันจะอยู่ได้ไม่นาน-หนึ่ง แล้วองค์ประกอบของนิทรรศการก็จะไม่สมบูรณ์ เช่น ดิสเพลย์ พีอาร์ เมนเทนแนนซ์ ไม่มีใครให้อะไรคุณฟรีๆ หรอก ดังนั้น มันจะมาพักเดียว แล้วคุณเองก็จะไม่ให้กับใครฟรีเหมือนกัน

ในแง่ธุรกิจ คุณคงหนีไม่พ้นเรื่องสมการตัวเขียว-ตัวแดง แล้ววันนี้คุณบรรลุถึงเป้าหมายหรือเปล่า
บรรลุ แต่ไม่ใช่จากการขายรูปอย่างเดียว คือเราทำหลายอย่างเพื่อมา subsidise แกลลอรี เช่น งานผลิต งานออกแบบหนังสือต่างๆ เราไม่ได้เปิดรับหลายบริษัท หรือรับทั่วไป แต่เราอาจจะเป็น consult แล้วเราก็ดูให้ เราก็เอาเด็กๆ มาทำ ราคาอาจจะถูกกว่า ผมมีเพื่อนที่ทำโรงพิมพ์ เรามีดีไซเนอร์ เราก็มีรายได้จากตรงนั้น คือถ้าตัวศิลปะ เราอาจจะแดงเขียว เขียวแดง

บังเอิญว่าที่ดินของ Ardel ไม่ต้องเช่า เป็นที่ของตัวเอง อีกสาเหตุหนึ่ง คือผมขายทรัพย์สินของผม คือบ้านที่เชียงราย เพราะเรามองว่าหากจะให้ยั่งยืนเราต้องมี endowment หรือเงินทุนสำรองให้แก่งานนี้ ต้องเป็นงานก้อนหนึ่งที่เราอาจจะนำมาใช้ในบางครั้ง

โดยส่วนตัวผมดุนะ แต่ใจดี ผมเป็นควักง่าย ในแง่ธุรกิจ ผมเป็นคนไม่เรื่องเยอะนะ ถ้าคุยกันรู้เรื่อง อย่างโปรเจ็คท์หนึ่งๆ ศิลปินต้องใช้เงินเป็นแสน ผมจ่ายให้เลย แต่ถ้าคุยกันไม่ตกลง สลึงเดียวก็ไม่ให้.

.................................................

หมายเหตุ : ARDEL Gallery 99/45 หมู่บ้านเบอเลอวิว ถ.บรมราชชนนี กรุงเทพฯ 10170 เปิดทุกวัน เวลา 10.00 - 18.00 น. (เว้นวันจันทร์) สอบถามรายละเอียดโทร. 0-2422-2092, 08-4772-2887



โดย: อนันต์ ลือประดิษฐ์
ที่มา: กรุงเทพฯธุรกิจ /  6 พฤศจิกายน 2552 

Views: 5101

Reply to This

Replies to This Discussion

ถูกต้องคร้าบบบ.. (ครุฑเหล็ก)

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service