70 ปี จอห์น เลนนอน 40 ปี แห่ง “imagine” ของนักฝัน โลกหนึ่งเดียว

 

ก่อนจอห์น เลนนอนจะถูกฆาตกรรม ที่หน้า เดอะ ดาโกตา อะพาร์ทเมนท์ ที่พัก
ในมหานครนิวยอร์ก เมื่อ 8 ธันวาคม 1980
เขาได้ให้สัมภาษณ์หนังสือ"เพลย์บอย"ว่า
เขา"จะทำความฝันนั้นให้เป็นจริงขึ้นมา
เพราะคนเรานั้นจะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น"



และ “แต่...เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ความจริงข้อนี้
ชีวิตคนจึงต้องยุ่งยาก
และที่รับความจริงข้อนี้กันไม่ได้ก็เพราะคนเรายังกลัว...สิ่งที่ตนไม่รู้.."



จอห์น เลนนอน บอกว่า ลองนึกภาพไม่มีสวรรค์ หากฟ้านั้นมีแค่ท้องฟ้า
เบื้องล่างก็หามีนรกไม่ ไม่มีการแบ่งแยก ไม่ต้องมีศาสนา อะไรมากมาย
โลกมีแค่ใบเดียว ทุกคนเป็นเพื่อนกัน ไม่มีการเข่นฆ่าและความรุนแรง
เรามาร่วมกันสร้างฝันนั้นเถิด"



และแม้ฝันนี้จะผ่านเลยมาถึง 40 ปีแล้ว



ตามฝันที่ถวิลหา
ทุกคนเหมือนอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันด้วยความเจริญทางด้านวัตถุ
รูปแบบความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตที่คล้ายกัน
โลกแคบลงด้วยการสื่อสารทั้งโลกจริงและโลกเสมือน



เป็นโลกาภิวัตน์ ไม่มีสภาพแบบ ต่างคนต่างอยู่ แบบไกลกันคนละฝั่งโลกอีกต่อไป นั่นคือ สภาพทางกายภาพ ตามที่โลกเป็น



หากแต่ด้านจิตใจ สงคราม จากการแก่งแย่งทรัพยากร
การเข่นฆ่าระหว่างมวลมนุษย์นั้นยังคงอยู่..จากยุคสงครามเย็นที่แตกต่างทาง
ด้านลัทธิความคิด
หวนกลับกลายเป็นสงครามระหว่างระบบทุนนิยมกับโลกอนุรักษ์นิยม
โดยภาวะจากการห้ำหั่นกันทั้งสองโลกนั้น นับวัน ยิ่งรุนแรง



ประหนึ่งว่า ความฝันของเขา จอห์น เลนนอน
ศิลปิน—นักร้องนักแต่งเพลงผู้ได้รับการยอมรับ
ว่ายิ่งใหญ่ที่สุดและเป็นศิลปินทางการเมืองที่มีอิทธิพลสูงสุดของศตวรรษที่
20 จะยิ่งห่างไกลออกไปเสียด้วยซ้ำ

ถึงวันนี้ แฟนเพลงของเดอะ บีเทิลส์ ก็ยังคงไม่ลืม
ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ก็จะมีอายุครบ 70 ปี ในเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา
หากกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ต่อการรำลึกถึงซูเปอร์ สตาร์แห่งวงการร็อค แอนด์
โรลล์ ผู้ยิ่งใหญ่ก็ยังกรุ่นไปตราบที่โลกยังไม่สงบ



ศักยภาพการเขียนเพลงของ เลนนอนมีลักษณะโดดเด่น เปี่ยมด้วยความหวัง
บางทีก็เต็มไปด้วยความรวดร้าวทั้งต่อสภาพปัจเจกแห่งตน
และต่อสภาพกดดันจากสังคมและความเป็นไปในสังคมโลกในช่วงนั้น



ก่อนที่เขาจะมีความคิดอยู่ข้างกรรมาชน เป็นนักต่อต้านสงคราม
และความรุนแรง อดีตในวัยเด็ก จากครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ ขาดความอบอุ่น
ทำให้เขาเรียกร้องและเพรียกหาความรัก บทเพลงของเขาในยุคที่ร่วมงานกับ เดอะ
บีเทิลส์ ซึ่งได้ มีโปรดิวเซอร์มือทองยอร์จ มาร์ติน เป็นผู้ขับเคลื่อน
เต็มไปด้วยเรื่องรัก แนวพาฝัน และเมื่อพวกเขายุบวงและแยกย้ายกันไปทำงาน
ถามว่าทำไม เลนนอน จึงกลายเป็นนักกิจกรรมการเมือง
และเป็นนักโรแมนติคที่หมกมุ่นอยู่กับตนเองครอบครัว ผสานกันได้อย่างลงตัว



นั่นอาจจะเป็นจากสภาพจิตใต้สำนึกในวัยเด็กที่มาทะลุทะลวง เปิดเผยแก่นแท้ เมื่อขาดการครอบงำจากกระบวนการทางธุรกิจนั่นเอง











เขานำเรื่องราวปัจเจกแห่งตน ผ่านการเขียนเนื้อเพลงที่เรียบง่าย
ไม่ว่าจะเป็นต่อภรรยา และลูกชายทั้งสองคน เรื่องของแฟมิลี่แมน
ขยายโยงออกไปในมิติเป็นประโยชน์ต่อสังคม สนองต่อความคิด”ซ้ายจัด”ในขณะนั้น



นั่นคือ วุฒิภาวะทางสังคม และจิตสำนึกของเขา
ซึ่งบ้างก็ยังเคลือบแคลงว่า เป็นภาพที่เขาสร้างอัตลักษณ์
ขึ้นมาต่อการดำรงตัวตนในโลกศิลปิน
หรือเกิดจากจิตสำนึกของเขาอย่างเต็มเปี่ยม ต่อมุมมอง
วิสัยทัศน์ที่มีต่อสังคมอเมริกัน และโลก



จะอย่างไรก็ตาม เลนนอน คือ ต้นแบบนักผสานอัตลักษณ์ตัวตนและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการสร้างสรรค์ศิลปะแห่งยุคสมัย



ปี 1969 มีการชุมนุมประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนามพร้อมกันทั้งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ผู้คนนับล้านต่างชุมนุมประท้วง



จอห์น เลนนอน และโยโกะ โอโนะ เข้าร่วมประท้วง โดยแต่งเพลง Imagine
ขึ้นมาให้ผู้คนใช้ร้องประท้วง จนกลายเป็นบทเพลงอมจะ นับแต่นั้น
นอกจากนี้ยังมีเพลง Give Peace a Chance ที่มีเนื้อหาปลุกเร้า
เป็นปากเสียงให้โอกาสแก่ความสงบสุขสันติ
อีกเพลงเพื่อสันติในทุกครั้งที่มีการชุมนุมประท้วง



หากสงครามก็เกิดขึ้นที่โน่น ที่นี่ ไม่ว่าตะวันออกกลาง แอฟริกา การฆ่าฟันกัน ในส่วนต่างๆทั่วโลกยังคงดำรงอยู่



เพลงนี้จึงเป็นเพลงคลาสสิกอีกเพลง ที่จอห์นเลนนอนสื่อถึงปีศาจสงครามที่มีตัวตายตัวแทนอยู่ตลอด



เพลง Happy Xmas (War Is Over) ปี1971
แม้จะเป็นเพลงที่ดูเหมือนจะมีความสุขกับเทศกาล
มีการร้องประสานจากกลุ่มเด็กให้ความรู้สึก บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา
ครั้งแรกเพื่อเฉลิมฉลองคริสต์มาส แต่ก็โยงและเรียกร้องโลกได้ลุ่มลึกแยบคาย



เลนนอน เป็นผู้ที่ใช้สื่อเป็นเขาใช้สื่อหลายๆ แขนง ทั้งผ่านบทเพลง สื่อโทรทัศน์ และป้ายคัตเอาท์ ขนาดใหญ่



ตั้งแต่ นิวยอร์ก โรม เอเธนส์ อัมสเตอร์ดัม ลอนดอน ปารีส โตรอนโต
ถึงตะวันออกคือ โตเกียว เพื่อสื่อความคิด ผ่านตัวตนศิลปินของเขา



ข้อความที่ปรากฎ คือ “สงครามยุติแล้ว (หากพวกคุณต้องการ) ....สุขสันต์เทศกาลคริสต์มาส” จากเลนนอน และ โอโนะ



ที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่งกลางเมืองนิวยอร์ก ตรงลานโล่ง ชื่อ Strawberry Fields มีกระเบื้องตรงเรียงเป็นตัวอักษรคำว่า Imagine

มีคนมารำลึกถึงจอห์น เลนนอน ทุกวัน ทั้งผู้ร่วมสมัยกับบรรยากาศยุคนั้น หรือหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าปัจจุบัน



บางคนนำดอกไม้หลากสี กีตาร์ และภาพวาดในคอนเซ็ปต์
ความรักและสันติภาพมาวางเคียงคู่กับภาพวาดหรือหนังสือ ที่มีรูปของจอห์น
เลนนอน ไม่เคยขาด



ลานนั้นผู้คนหลากหลาย ต่างเพศต่างวัย ได้มารวมกัน
ร่วมกิจกรรมสานต่อฝันและอุดมการณ์ต่อโลกที่ร้อนระอุทั้งทางกายภาพและภาวะห้ำ
หั่นทำลายล้างซึ่งกันและกันไม่หยุด อย่างต่อเนื่อง



"All we are saying is give peace a chance."



คงจะประมาณเรื่อง Black comedy ถ้าจะกล่าวว่า
นักเรียกร้องประนีประนอมเพื่อสันติภาพได้ตายไปแล้ว
แต่ความ”สมานฉันท์”กับความรุนแรงนั้นไม่เคยสำเร็จ
ไม่ว่าจะอ้างฝันหรือเสกสรรวาทกรรมผ่านเหตุผลใดๆก็ตามที



โดย: ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์ 1 พฤศจิกายน 2553

Views: 521

Reply to This

Replies to This Discussion

นักเรียกร้องประนีประนอมเพื่อสันติภาพได้ตายไปแล้ว.....

แต่ความรุ่นแรงและสิ่งสร้างความรุ่นแรงเกิดขึ้นทุกวัน

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service