69 ปี BOB DYLAN : กวีในเสียงเพลง


วันที่ 24 พฤษภาคม 2010 วันครบรอบวันเกิดปีที่ 69 ของ บ็อบ ดีแลน เขายังคงปฏิบัติ "หน้าที่ ศิลปิน" ของเขาตามปกติ บนเวทีคอนเสิร์ต

ที่ เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ตามคิวของการเดินสายทัวร์คอนเสิร์ตรอบโลก ที่ใช้ชื่อว่า Never Ending Tour หลังจากที่เขาวางแผงอัลบั้ม Together Through Life เมื่อปี 2009 แต่อิทธิพลของดีแลน ได้กระจายไปหลายส่วน และในวันเกิดของเขา มีทั้งคอนเสิร์ตสดุดี และการประกวดนักดนตรีวัยรุ่นที่จะตามรอยดีแลน ไปจนถึงเรื่องราวที่ "นักวิชาการ" ได้ยกระดับ เพลงของดีแลน เป็นบทเรียนในระดับมหาวิทยาลัย

ไอคอนทางดนตรีของชาวอเมริกัน ตั้งแต่ยุคบุปฝาชน ยังคงเป็นศิลปินที่ผลิตงานเพลงออกอัลบั้ม เดินสายทัวร์คอนเสิร์ต รวมไปถึงทำเพลงพิเศษขายช่วงคริสตมาสเป็นปกติ แต่ ความสำคัญในงานของเขา ได้รับการสรรเสริญ จากบรรดาสาวกนักฟัง ที่เอาแรงบันดาลใจจากบทเพลงที่คนรุ่น ต้านสงครามสนับสนุนการมีความรัก เมื่อห้าทศวรรษก่อน ซึมซับอย่างซาบซึ้ง มาถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง

คอนเสิร์ตเพื่อบ็อบ ที่ภาคอีสานของอินเดีย
ที่เมือง ชิลลอง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ลู มาจาฟ นักดนตรีที่ก้าวจากเด็กยากจนและสอนตัวเองเล่นเพลงของบ็อบ ดีแลน ได้จัดคอนเสิร์ตฉลองวันเกิดให้กับศิลปินขวัญใจของเขา มาตั้งแต่ปี 1972 โดยจัดทุกๆปี ในวันเกิดของดีแลน และปีนี้ ลูก็รวบรวมศิลปินในท้องถิ่นมาร่วมด้วยช่วยกันบรรเลงเพลง Blowin in the Wind ทั้งเป็นการสดุดีแก่ศิลปินขวัญใจและเป็นเพลง "เพื่อชีวิต" ที่เหมาะเจาะกับสถานการณ์บ้านเมืองของชิลลอง ที่อยู่ในภาวะสงครามการต่อสู้ระหว่างกองกำลังหลายฝ่าย ทั้งทราบฝ่ายและไม่ทราบฝ่าย เพื่อแย่งชิง การเป็นผู้กำหนดอนาคตของพื้นที่

คอนเสิร์ตฉลองวันเกิดบ็อบ ดีแลน ที่ศิลปินอีสานแห่งอินเดียจัดขึ้น ริเริ่มจากความซาบซึ้งของ ลู มาจาฟ ที่วัย 60 เศษเช่นกัน ในวันจันทร์ที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา นอกจากคอนเสิร์ตนี้แล้ว สถานีวิทยุรายการเพลงคลื่นเอฟเอ็มของชิลลอง ยังเปิดเพลงของดีแลนตลอดทั้งวัน และเล่นเกมทายปัญหาเกร็ดเรื่องราวเกี่ยวกับดีแลนด้วย

ลู เริ่มต้นความซาบซึ้งกับบทเพลงของดีแลน ที่เขาเรียกมันว่า "บทกวี" จากสมัยวัยรุ่น ปี 1966 ที่ได้ยินเพลงของดีแลนจากคลื่นวิทยุรายการเพลงร็อครายการหนึ่ง และ "เพลงของเขาเปลี่ยนชีวิตผม มันได้ให้ความหมายแก่ชีวิต และยิ่งรู้จักเขามาก ก็ยิ่งมีสิ่งให้เรียนรู้มาก" จากจุดนั้นมา เด็กหนุ่มจากครอบครัวยากจนก็กลายเป็นสาวกดีแลน และเป็นนักดนตรีที่ได้รับการยอมรับในท้องถิ่น แม้เขาจะเรียนดนตรีด้วยตัวเองก็ตาม

นอกจากจะชวนนักดนตรีทั่วอินเดียมาร่วมบรรเลงเพลงของดีแลนแล้ว ลูยังชวนเด็กนักเรียนในท้องถิ่น มาร่วมกันร้องเพลงหมู่ Knockin' on Heaven's Door" และ "Blowin' in the Wind." บนวทียกพื้นที่จัดวางชั่วคราวบนสนามบาสเก็ตบอลอีกต่างหาก

โดย ลู บอกว่า การจัดงานแบบนี้ "นี่คือหนทางของเขาวิธีของผมในการนำบทกวีของดีแลนไปสู่ผู้คนมากขึ้น" เมื่อนักข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์ ถามว่า คิดว่า ดีแลนตัวจริงจะรู้ข่าวงานคอนเสิร์ตนี้ไหม และถ้ารู้คิดว่าดีแลนจะมาร่วมปรากฏตัวไหม ลูบอกเพียงว่า "ผมไม่รู้ แต่แค่ได้ลงมือจัดงานนี้ก็ถือว่าผมได้รับพรจากสวรรค์แล้ว" และ เสริมต่อว่า "เขาต้องยุ่งมากอยู่แล้ว ผมมั่นใจ"

เยาวชนเล่นเพลงดีแลน
หนุ่มน้อยขี้ก้าง จากมินเนโซตา แบกกีตาร์โปร่งร้องเพลงเลียนแบบ วูดดี้ กูธรี่ จนกระทั่งกลายมาเป็นบุคคลสำคัญในประวัติดนตรีและประวัติศาสตร์วัฒนธรรม อเมริกันยุคใหม่ แม้เพลงของดีแลน จะไม่ใช่ขวัญใจเวทีประกวดอเมริกันไอดอล แต่ก็มีการจัดประกวดแข่งขันวงดนตรี ชื่องาน Bob Dylan Sound-A-Like contest จัดที่ 400 บาร์ใน มินนิอาโปลิส นิวยอร์ก ซึ่งเป็นงานที่จัดกันทุกปีมาตั้งแต่ปี 1980 เพื่อสืบสานงานศิลป์ของดีแลนสู่คนรุ่นใหม่ และในโอกาสครบรอบวันเกิด 69 ปี ของดีแลน ปีนี้ 400 บาร์ ที่เป็นเจ้าภาพจัดประกวดเยาวชนเล่นเพลงดีแลนก็ได้จัดงานฉลองวันเกิดให้กับ ศิลปินขวัญใจด้วย โดยไฮไลต์ของงานอยู่ที่หนุ่มน้อยวัย 14 ขวบกับวงชื่อ Punks and Drunks ที่เป็นผู้ชนะการประกวด Bob Dylan Sound-A-Like contest เมื่อปีที่แล้ว ได้ขึ้นเวทีร้องเพลงของป๋าบ็อบ เพลงที่หนูน้อยบอกว่า ได้ฟังพ่อของเขาเองเล่นและร้องกล่อมมาตั้งแต่แบเบาะ

หลักสูตร บ็อบ ดีแลน
เรื่องราวที่เคยปรากฏในหนังสะท้อนปัญหาสังคมอเมริกันเรื่อง A Dangerous Mind ซึ่งมิเชลล์ ไฟเฟอร์รับบทเป็นครูสาวสอนวิชาวรรณคดีให้เด็กมัธยมจากแหล่งเสื่อมโทรม และเธอก็งัดเอาบทเพลงของ บ็อบ ดีแลน มาช่วยดึงความสนใจและเชื่อมความร่วมสมัยให้เด็กได้รู้จัก บทกวี ดีแลน โธมัส ตามบทบังคับหลักสูตรด้วยนั้น ไม่ใช่เรื่องแต่งอีกต่อไป สำหรับ อาจารย์ นิค สมาร์ท วัย 45 หัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษแห่งวิทยาลัย College of New Rochelle ได้นำเอาบทเพลงของบ็อบ ดีแลนมาบรรจุในหลักสูตรวรรณคดีอังกฤษของเขาอย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่ช่วงกลางยุค 90s ที่อาจารย์สมาร์ทได้ให้นักศึกษาได้ศึกษาเนื้อเพลงของดีแลน โดยที่เขาให้เครดิตงานเขียนเพลงของดีแลนว่าเป็น กวี เช่นเดียวกับงานของ จอห์น คีตส์

และในปัจจุบัน อาจารย์สมาร์ท ได้ลงมือเป็นบรรณาธิการหนังสือคู่มือ การใช้เพลงและดนตรีของดีแลน "Dylan at Play." เพื่อเป็นวิทยาทานในการใช้ในงานเชิงวิชาการและงานด้านการศึกษาด้วย

อาจารย์สมาร์ทก็เป็นแฟนเพลงที่ซาบซึ้งกับงานของดีแลน อย่างล้ำลึก จากสมัยเป็น นักศึกษาที่ Lewis & Clark College เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน ซึ่งเขาได้ค้นพบสุนทรียะ ระหว่างการอ่านวรรณกรรม Mrs.
Dalloway เขียนโดย เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ไปพร้อมๆ กับการฟังเพลง Blood on the Tracks ของบ็อบ ดีแลน

"สองอย่างนี้มันมีบางอย่างร่วมกัน บรรยากาศ สุนทรีย์ และความจรรโลงใจ ซึ่งผมคิดว่า สิ่งที่ดีแลนกับวูล์ฟ มีคล้ายกันคือ ความเป็นอัจฉริยะอย่างแท้จริง"

ทุกวันนี้ อาจารย์สมาร์ท นำไอพอดไปตั้งในห้องเรียนวิชาสัมมนาและเปิดเพลงของบ็อบ ดีแลนให้นักศึกษาของเขาฟัง เพื่อการศึกษาสุนทรี ภาษาและการตีความ ซึ่งอาจารย์เทียบ ผลงานเพลงมาสเตอร์พีของดีแลนในปี 1965 -1966 ว่ามีความคลาสสิกเทียบเท่ากับงานของ จอห์น คีตส์ ในตอนเขียนบทกวี the Great Odes ในช่วงปีค.ศ.1819 นั่นเลยทีเดียว

สำหรับดีแลน ที่กำลังเดินสายทัวร์คอนเสิร์ตแบบขาดสาย จากญี่ปุ่น เกาหลีและจะไปไต้หวันกั บจีนต่อ ในช่วงเดือนสองเดือนนี้ เคยเผยผ่านบทเพลงของเขาเช่นกันว่า บางทีเขากับกวีในตำราเหล่านั้นอาจจะเป็นชนชั้นเดียวกัน "I'm reading James Joyce / Some people they tell me I got the blood of the land in my voice."

อย่างไรก็ตาม อาจารย์สมาร์ท ไม่ได้ให้คุณค่าเฉพาะเนื้อหาเพลงเท่านั้น แต่เขาเชื่อว่าพลังของการถ่ายทอดอยู่ที่ "ถ้อยคำเหล่านี้มันถูกเขียนขึ้นมาเพื่อการร้องและเล่นกับดนตรี" หากปราศจากสิ่งหนึ่งสิ่งใดสุนทรีย์และความหมายก็ย่อมไม่ถูกส่งต่อ

การถกเถียงถึงคุณค่างานของ บ็อบ ดีแลน ในระดับเป็นงานกวีและงานศึกษาทางวิชาการนั้น มีมาตลอดสี่ทศวรรษ แม้ว่าการกลับมาสู่โลกยุคใหม่ในปลายยุค 90 ของบ็อบ ดีแลน และผลิตงานที่บางเพลงอาจจะได้ยินในสตาร์บัคส์ ต่างจากสมัยที่เขาร้องเพลงประท้วงช่วยชาวนา

แต่คนรุ่นใหม่อย่างนักศึกษาคนหนึ่งของสมาร์ท บอกว่า การได้รู้จักดีแลนจากห้องเรียน และได้ยินเพลงของเขาเมื่อเธอแฮงค์เอาท์ในสตาร์บัคส์ มันเป็นความรู้สึกร่วมสมัย ได้ไม่ยากเลย



ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
Life Style : บันเทิงต่างประเทศ
วันที่ 31 พฤษภาคม 2553

Views: 3017

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service