คิดแตกต่าง.... สร้างโอกาสธุรกิจใหม่

ในยุคนี้ที่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นเร็ว ธุรกิจในหนึ่งรุ่นคนไม่อาจอยู่ได้ยืนนานอย่างในอดีต การปรับตัวและพัฒนาสู่สิ่งใหม่จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ติดตามตัวอย่างผู้ประกอบการที่ตอบโจทย์อย่างท้าทาย
       
       ในงานเสวนา “วัสดุไทย : กล้าคิดต่าง เบิกทางสู่ตลาดโลก” ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เมื่อเร็วๆ นี้ มีการนำเสนอมุมมองและแนวทางสร้างความสำเร็จของผู้ประกอบการจากที่มาที่แตกต่างกัน แต่เหมือนกันที่ความคิดในการพยายามพัฒนาและสร้างสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นด้วยการตั้งโจทย์ที่ท้าทายและการมุ่งมั่นหาคำตอบอย่างไม่ลดละ เพื่อไปสู่เป้าหมาย

๐ ‘โซไนต์’ พัฒนาไร้ขีดจำกัด
       
       นิติพันธ์ ดารกานนท์ กรรมการ บริษัท เอ็นคิวด์ จำกัด ผู้ผลิตนวัตกรรมกระเบื้องแนวใหม่ ภายใต้แบรนด์ “โซไนต์” ซึ่งมีความโดดเด่นด้านดีไซน์และการใช้งานได้อย่างหลากหลาย นำไปสู่ทางเลือกใหม่ที่ต่างจากกระเบื้องที่มีอยู่ทั่วไป เล่าว่า จากประสบการณ์ของครอบครัวที่ทำธุรกิจเท๊กซ์ไทล์ทำให้รู้ว่าการที่ธุรกิจเติบโตได้ในอดีตเป็นเพราะว่าประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความได้เปรียบในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็น แรงงานราคาถูก แรงงานที่มีคุณภาพ และการเมืองที่นิ่ง แต่เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปและการแข่งขันที่สูงขึ้น เช่น ค่าแรงที่ต่ำกว่าของประเทศเพื่อนบ้าน และซัพพลายเชนต่างๆ เข้ามามีผลกระทบต่อธุรกิจ
       
       จึงเกิดความคิด “ตั้งโจทย์” ให้กับตัวเองว่าจะทำอย่างไรจึงจะเกิดสินค้าหรือธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโต โดยอยู่บนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ สามารถแข่งขันได้ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม การมีสินค้าที่มีเอกลักษณ์และความแตกต่างในด้านดีไซน์เป็นของตนเอง เพราะธุรกิจในอดีตเป็นการรับจ้างผลิตตามแบบของลูกค้า และยังคิดอีกว่าจะทำอย่างไรจึงสามารถใช้ฐานการผลิตเดิมเพื่อให้พนักงานที่มีอยู่ทำงานได้ต่อไป
       
       ในตอนนั้นจึงใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมที่ร่ำเรียนมา พยายามพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักรที่มีอยู่และทำอะไหล่เครื่องจักรที่ใช้ในธุรกิจเท๊กซ์ไทล์ขึ้นมาเอง เป็นการฝึกฝีมือให้กับทีมงานฝ่ายวิศวกรรมและฝ่ายวิจัยและพัฒนา จนกระทั่ง เกิดแรงบันดาลใจหลังจากไปเที่ยวประเทศฝรั่งเศสและเกิดความประทับใจ “โมเสก” ของโบสถ์ใหญ่โตที่มีรายละเอียดของสีสันและลวดลายที่สวยงาม ทำให้เกิดคำถามกับตัวเองว่าทำไม “โมเสก” บนศิลปะยุโรปที่สวยงามจึงอยู่ไม่ได้นาน ก็คิดว่าอาจจะเป็นเพราะสีหรือพื้นผิวที่อยู่อย่างจำกัด ราคาสูงเกินไป หรือความยากในการใช้
       
       จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ในการปัญหาที่ท้าทายใหม่นี้ ด้วยการเริ่มวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรที่ใช้ผลิตโมเสก เพื่อให้รู้ว่าจะใช้เทคโนโลยีพื้นฐานอะไรในการผลิตโมเสก ค้นหาความต้องการของลูกค้าจากหลายๆ อุตสาหกรรม จนพบว่าธุรกิจก่อสร้างและตกแต่งภายใน เป็นคำตอบของธุรกิจใหม่สำหรับโมเสกที่พัฒนาขึ้นมา จึงหันมาโฟกัสเน้นหนักให้ความสำคัญในกลุ่มนี้
       
       อย่างไรก็ตาม เขามองว่าการวางกลยุทธ์มีความสำคัญ ซึ่งเมื่อกำหนดให้สินค้าใหม่ที่ผลิตขึ้นอยู่ในระดับพรีเมียมแล้ว ในเรื่องของภาพลักษณ์องค์กร และการทำตลาดต้องไปในทิศทางเดียวกันด้วย รวมทั้ง การสร้างแบรนด์ “โซไนต์” (SONITE) และโลโก้ที่บ่งบอกตัวตนหรือจิตวิญญาณที่สื่อให้เห็นถึงการพัฒนาอย่างไร้ขีดจำกัดหรือ Infinite Innovation โดยมีหลักการบริหารที่ประกอบไปด้วย 3 ส่วนที่ต้องเชื่อมโยงสอดคล้องกัน คือ 1.Design เพราะการออกแบบเป็นส่วนสำคัญ เพื่อให้เกิดความแปลกใหม่ โดดเด่นและแตกต่าง 2.Manufacturing เพราะการผลิตเครื่องจักรและมีเทคโนโลยีในการผลิตเองทำให้สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น และ3.Sales&Marketing เพราะช่องทางจำหน่ายที่ทำให้เข้าถึงลูกค้าและสื่อสารได้ดี เมื่อทั้ง 3 ส่วนสัมพันธ์ได้ดีจึงจะทำให้ประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value for money) เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เงินที่ลูกค้าจ่ายมาแล้วได้คุณค่ามากที่สุดกลับไป เช่น อาคารที่นำโมเสกของโซไนต์ไปตกแต่งแล้วสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น หรือความสวยงามประณีตที่ได้จากโมเสกของโซไนต์เป็นสิ่งที่คู่แข่งทำไม่ได้ แต่ลูกค้าสามารถจ่ายในราคาที่ใกล้เคียงกัน
       
       แม้ว่าจะพบคำตอบ แต่เพื่อให้แน่ชัดว่าเดินมาถูกทาง จึงต้องใช้การเทียบเคียง (Benching) ด้วยการส่งเข้าประกวดในเวทีต่างๆ ซึ่งทำให้ได้รางวัลเป็นการช่วยยืนยันว่าเป็นสินค้าที่มีโอกาสทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นรางวัล Design Excellence Award (Demark) ของไทยในปี 2552 และ 2553 รางวัล Good Design Award (G Mark) จากญี่ปุ่นในปี 2552 และรางวัล Coverings Select Award-Hottest New Product จากสหรัฐอเมริกาในปี 2553 โดยในส่วนของลูกค้าโครงการต่างๆ ที่ใช้บริการไปแล้ว เช่น โรงแรมเลอเมอริเดียน ที่เมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย โรงแรมคราวน์พลาซา ประเทศคูเวต และร้านอาหารโอทาเรียน ที่นิวยอร์คและลอนดอน
       
       การมองสิ่งใกล้ตัวและใช้ความถนัดเป็นทุนเดิมมาต่อยอดช่วยให้สามารถสร้างสินค้าที่มีทั้งมูลค้าเพิ่มและความแตกต่าง เกิดเป็นธุรกิจใหม่ แต่ความท้าทายในอนาคตที่จะต้องฝ่าฟันไปให้ได้ ยังมีอีกหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศเพราะ “โซไนต์” ยังเป็นรายใหม่ การสร้างช่องทางจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่ง เพราะการมีตัวแทนจำหน่ายที่มีปรัชญาในการทำธุรกิจแบบเดียวกันสามารถดูแลลูกค้าและให้บริการในระดับพรีเมี่ยมได้ดีไม่ใช่เรื่องง่าย รวมทั้ง ความสามารถในการขยายไลน์สินค้าเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และที่สำคัญที่สุดคือความสามารถในการคิดค้นและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ได้เรื่อยๆ เพื่ออยู่เหนือการแข่งขัน

๐ ‘เดอะ รีเมกเกอร์’
       เนรมิตของเก่าเป็นของใหม่
       
       นักออกแบบผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ภายใต้แบรนด์ “The ReMaker” ยุทธนา อโนทัยสินทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท สามพิม จำกัด มีเส้นทางหักเหจากคนที่ไม่เคยรู้เรื่องการออกแบบมาก่อนเลยและเป็นมนุษย์เงินเดือนมากว่า 10 ปี จุดเริ่มต้นของการมาเป็นนักออกแบบและเจ้าของธุรกิจของเขา เริ่มจากในตอนที่เขาเป็นพนักงานเดินเอกสารในบริษัทชิปปิ้งหรือตัวแทนนำเข้าส่งออก ทำให้มีโอกาสดูแลลูกค้าชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาเสาะหาสินค้าเพื่อนำเข้าไปขายในญี่ปุ่น และด้วยการเลือกหาสินค้าที่ไม่เหมือนใครคือการเลือกซื้อเสื้อผ้ามือสองจากที่ต่างๆ แล้วออกแบบและนำไปให้โรงงานผลิต เป็นสินค้าใหม่ ซึ่งในเวลานั้นเมื่อ 7-8 ปีก่อนยังไม่ได้มีการรณรงค์ในเรื่องของปัญหาโลกร้อน
       
       หลังจากคลุกคลีกับลูกค้าญี่ปุ่นรายนี้อย่างใกล้ชิดประมาณ 2 ปี เขาตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางจากการเป็นลูกจ้างที่มีอนาคตหันมาเป็นเจ้าของกิจการ โดยเริ่มจากการรับจ้างผลิตตามแบบให้กับลูกค้าญี่ปุ่น แต่เมื่อเห็นงานแปลกๆ ที่ลูกค้าญี่ปุ่นออกแบบแล้วขายได้ดี จึงคิดออกแบบเองบ้าง นอกจากเสื้อผ้า ยังมีสินค้าอื่น เช่น หมวกที่ทำจากลายเสื้อสกรีนมือสอง เอากางเกงสองตัวมาทำเป็นกระเป๋า เป็นต้น ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้ด้านการออกแบบมาก่อน
       
       แต่ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นเมื่องานฝีมือที่ต้องทำทีละชิ้นมีต้นทุนสูง เพราะไม่ใช่งานแมสและต้องมีการออกแบบเปลี่ยนไปตามฤดูกาลของแฟชั่น พร้อมกับเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเริ่มตกต่ำ ทำให้คนญี่ปุ่นระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นและเลือกซื้อสินค้าที่ราคาต่ำกว่า ขณะเดียวกันกับคู่แข่งของลูกค้าญี่ปุ่นมีต้นทุนต่ำกว่าจากการไปจ้างโรงงานในจีน ทำให้ลูกค้าญี่ปุ่นที่เป็นคู่ค้ากันอยู่จำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วด้วยการหยุดซื้อสินค้าจากไทยและหันไปหาซื้อจากจีนเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ วิกฤติจึงเกิดขึ้นกับธุรกิจของเขาทันที เพราะธุรกิจที่ทำขึ้นนี้เพื่อรองรับลูกค้าญี่ปุ่นเป็นหลักเท่านั้น แม้ว่าจะมีลูกค้าจากอเมริกาเข้ามาในตอนหลัง แต่เป็นตลาดที่เล็กมาก
       
       แต่เมื่อตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อไป เขาจึงหาทางออกใหม่ด้วยการสร้างแบรนด์ “The ReMaker” ขึ้นมาเพราะเป็นคำที่ง่ายต่อความเข้าใจ เพื่อต้องการก้าวไปในธุรกิจนี้บนแนวทางเดิมแต่ในวิธีใหม่ ด้วยการนำวัสดุเหลือใช้อื่นๆ นอกเหนือจากผ้ามาออกแบบและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ยางในของรถสิบล้อกับยางของรถจักรยานมาออกแบบเป็นเก้าอี้ ซึ่งได้รางวัลด้านการออกแบบที่ประเทศเกาหลี ทำให้คิดเพิ่มขึ้นอีกกับการพยายามนำเศษผ้าที่เหลือจากการผลิตของโรงงานต่างๆ มาเป็นโจทย์ในการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อที่จะไม่ให้เหลือเศษทิ้งเลย แต่ด้วยวิธีการเดิมนั้นไม่ได้ผล เช่น การตัดต่อและเย็บใหม่ออกมาเป็นหมวกหรือกระเป๋าก็ยังมีเศษเหลือ
       
       จนกระทั่ง คิดว่าควรจะต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยเสริมจะดีกว่า และในวันหนึ่งเมื่อเห็นขี้เลื่อยที่หลุดออกมาหลังจากที่สุนัขไปกัดแทะตู้ไม้อัด ทำให้เข้าไปค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตอยู่เป็นเวลานานจนได้พบว่ากรมป่าไม้มีการนำวัสดุต่างๆ เช่น หญ้าแฝก ฟาง และกากมะพร้าว มาใช้เป็นวัสดุทดแทนไม้ จึงพยายามติดต่อและได้พบกับผู้เชี่ยวชาญที่แนะนำวิธีการผลิตให้
       
       จนสามารถพัฒนาต่อไปด้วยการนำเศษผ้ายีนส์มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความแข็งแรงทนทาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพราะใช้ส่วนผสมที่ไม่มีสารก่อมะเร็ง และมีความปลอดภัยในแง่ของการเป็นวัสดุที่ไม่เป็นเชื้อเพลิง ในชื่อ “Garmento” ซึ่งได้รับรางวัลการออกแบบเชิงนวัตกรรมในปี 2552 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และไปคว้ารางวัล Best Material Award จากเวที International Contemporary Furniture Fair : ICFF 2010 ที่นิวยอร์ค ในปีนี้
       
       ตั้งแต่วันที่เริ่มต้นเปลี่ยนเส้นทางจากมนุษย์เงินเดือนมาเป็นผู้ประกอบการและกลายเป็นนักออกแบบอีกด้วยในวันนี้ เป็นการพิสูจน์ให้เห็นความท้าทายของ “The ReMaker”กับการพัฒนาและกล้าคิดกล้าทำเพื่อตอบโจทย์และมุ่งมั่นที่จะก้าวไปให้ถึงจุดหมายคือการอยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

       ๐ “Panorama” สร้างนวัตกรรมหมึกพิมพ์
       
       ทองดี ศรีกุลศศิธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท พาโนรามา ซอยอิงค์ จำกัด ผู้ผลิตหมึกพิมพ์ที่ทำจากถั่วเหลือง ในแบรนด์ "Panorama" ขึ้น ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ก่อให้เกิดผลอันตรายต่อผู้ใช้งาน ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ 100% ไม่มีกลิ่นฉุนของสารเคมี ช่วยลดอัตราเสี่ยงในการก่อมะเร็ง น้ำหมึกไม่เลอะเปื้อนมือ ให้สีที่คมชัดสดใส ใช้พิมพ์ลงบนพื้นผิวได้หลายชนิดไม่ว่าจะเป็น กระดาษ ผ้า พลาสติก ไม้ เมลามีน กระดาษฟอยส์ หรือแม้แต่บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารโดยสามารถสัมผัสกับอาหารได้โดยตรงที่ไม่มีสารเคมีตกค้าง
       
       เท่ากับเป็นการช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและทำให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากสารเคมีที่ผสมอยู่ในหมึกพิมพ์แบบเดิมที่เป็นพิษ เป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นในวงการอุตสาหกรรมหมึกพิมพ์ และยังใช้การตลาดเชิงรุกกระตุ้นให้ลูกค้ามากมาย เช่น เคเอฟซี เซเว่นอีเลฟเว่น ฯลฯ ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ด้วยการยึดการดำเนินธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การตั้งราคาหมึกพิมพ์ที่ทำจากถั่วเหลืองในราคาต่ำกว่าหมึกพิมพ์ที่ทำจากสารเคมีประมาณ 20-30% โดยยอมลดสัดส่วนของกำไร ทั้งๆ ที่มีต้นทุนสูงกว่า ทำให้เกิดการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว
       
       สิ่งสำคัญคือการไม่หยุดนิ่งและคิดพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดค้นพบ Rosinที่ทำจากยางสน ซึ่งเป็นการช่วยแก้ปัญหาสารอินทรีย์ระเหยหรือสารอินทรีย์ระเหยง่าย ที่เรียกว่า วีโอซี (VOCs : Volatile Organic Compounds) มาใช้ในการผลิต เป็นการช่วยลดต้นเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะมีความรุนแรงมากขึ้น และยังทำให้เป็นที่สนใจของลูกค้าในตลาดใหม่ๆ เช่น ยุโรป ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในธุรกิจได้อย่างท้าทาย

 

 

 

 

ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์

3 ธันวาคม 2553

Views: 114

Reply to This

Replies to This Discussion

so nice

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service