เดี่ยวแอนิเมชั่น หนังสั้นปั้นคนเดียว



ทั้งๆ ที่ร่ำเรียนมาทางวิศวกรรมการบินและอวกาศ แต่สำหรับ รัฐ จำปามูล 'อากาศ' คือ วรรณกรรม ดนตรี การ์ตูน ที่มีไว้หายใจ จนกลายมาเป็นแอนิเมชั่น


ศิลปินเดี่ยว หลายครั้งต้องอาศัยพรสวรรค์เป็นทุน แต่บางคนก็เป็นได้เพราะมีสังกัดคอยปั้น....




บนนามบัตรที่พิมพ์ด้วยกระดาษอัดรูป รัฐ จำปามูล หนุ่มมหาสารคามวัย 28 ปี นิยามตัวเองว่าเป็นศิลปินอิสระ และจากผลงานแอนิเมชั่นล่าสุด Sunset Love Song เพลงพระอาทิตย์ คงต้องจัดชั้นให้เป็นศิลปินอีกสักคน ในฐานะแอนิเมเตอร์โชว์เดี่ยวดังเครดิตท้ายภาพยนตร์ที่เขารับเป็นทั้งผู้กำกับ คนเขียนบท อาร์ต ไดเร็คเตอร์ แอนิเมชั่น ประพันธ์เพลงและดนตรีประกอบ และร้องเองด้วย กับเวลาสามปีที่เขาเก็บเนื้อเก็บตัวสร้าง "แอนิเมชั่นเพื่อส่งผ่านกำลังใจ" ให้กับหลายคนบนโลกใบเดียวกัน กับแอนิเมชั่นความยาว 58 นาทีไม่มีฉายตามโรงหนัง แต่หาดูได้จาก YouTube และดาวน์โหลดเผยแพร่ฟรี จากเว็บบล็อก Exteen (http://sunset-love-song.exteen.com/) อะไรคือแรงบันดาลใจที่อยู่เบื้องหลัง

 


"มันมีเหตุการณ์หนึ่งทำให้ผมเกิดอยากทำแอนิเมชั่นเพลงพระอาทิตย์ เหตุการณ์ที่ว่าคือการเสียชีวิตของน้องชายเพื่อนสนิทมาก เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เรียนประถม มัธยม จนถึงมหาวิทยาลัย มันรู้สึกแปลกที่อยู่ๆ คนที่เรารู้จักก็หายไปคนหนึ่ง ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่หนักหนามาก ถ้าเป็นตัวผมเอง ผมคงอยู่บ้านไม่ได้ ถ้าต้องรู้สึกว่าตรงนี้น้องเราเคยใช้ชีวิตอยู่" เดี่ยวแอนิเมเตอร์เล่าด้วยน้ำเสียงเรียบๆ แข่งกับเสียงท่อไอเสียรถแต่งที่วิ่งผ่านร้านแมคโดนัลด์
ผ่านห้างเมเจอร์รัชโยธินไป หากลำดับเวลากันแล้ว เพลงพระอาทิตย์เป็นผลงานแอนิเมชั่นอันดับสามในชีวิตของเขา ผลงานแรกเป็นการส่งบทโครงร่างความยาว 2 หน้ากระดาษ A4 เข้าประกวดทำหนังสั้นภายใต้หัวข้อสมานฉันท์ บนโจทย์เกี่ยวกับความขัดแย้ง 3
จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้รับเลือกให้ทำเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง ระหว่างทางความยาว 10 นาที เนื้อเรื่องเล่าผ่านตัวละครหลักสองตัวได้แก่เด็กผู้หญิงกับสุนัขเจ้าถิ่นที่บาดหมางกัน

 

"ระหว่างทาง ผมพยายามย่อยความขัดแย้งในภาพใหญ่ให้เป็นเรื่องใกล้ตัว เราอยากพูดความขัดแย้งให้เด็กเห็นผ่านตัวละคร เป็นความขัดแย้งของเด็กคนหนึ่งกับหมาดุในซอย เล่าเรื่องแบบขำๆ เด็กจะผ่านทางหมาก็มาขวางกัน ตามผู้ใหญ่มาช่วยก็ไม่เป็นผล เดินเรียบๆ เคียงๆ ก็แล้วจนถึงจุดที่ความเกลียดเริ่มเข้ามาครอบงำ แต่พอได้เรียนรู้เหตุผลของแต่ละฝ่ายก็ยอมรับกันได้"

 

จากเด็กที่รู้เรื่องการทำแอนิเมชั่นเพียงกล้อมแกล้ม หลังภาพยนตร์แอนิเมชั่นชุดสมานฉันท์เผยแพร่ เริ่มมีเสียงตอบรับกลับมา ทำให้เขาเกิดความรู้สึกว่า คนตัวเล็กๆ เล่าเรื่องที่ไม่ใหญ่แต่กลับสร้างพลังความรู้สึกได้มากมาย

 

"บางทีตอนนั้นเราไม่รู้จักความขัดแย้ง เราไม่ได้เห็นมุมมองของคนที่อยู่ในพื้นที่จริง แต่พอได้แลกเปลี่ยนความคิดจากคนพื้นที่ ได้ร่วมเวิร์คช็อปกันแค่สองวันได้คุยกันตลอด ผมว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก" แอนิเมเตอร์รวมมิตรบอก จากระหว่างทาง นำไปสู่ก้าวต่อไปกับแอนิเมชั่น Rearrange ภายใต้โครงการจัดประกวดแอนิเมชั่นโดยนิตยสาร BioScope อีกเช่นกัน โจทย์เปลี่ยนมาเป็นเรื่องชีวจริยธรรมมองความขัดแย้งระหว่างความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์กับการล้ำเส้นศีลธรรมอย่างโคลนนิ่ง

 

รัฐ ตัดสินใจง่ายมากสำหรับโปรเจ็กต์ประกวด เพราะพื้นเป็นคนชอบภาพยนตร์ไซไฟอยู่แล้ว เขาเริ่มขั้นตอนเริ่มคิดบท ย่อยบท แล้วส่งบทไปคัดเลือกเหมือนครั้งก่อน แต่ที่ไม่เหมือนเดิมก็คือ แอนิเมชั่นอันดับสองของเขาได้รับรางวัลชนะเลิศมาครอง

 

"Rearrange เป็นหนังเชิงสัญลักษณ์ เล่าผ่านตัวละคร 3 กลุ่ม มีตัวละครเดินเรื่องที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่แทนความหมายคนทั่วไปที่ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วปัญหาบางอย่างมีผลกระทบเชิงซ้อนกับเรามากๆ ถ้าเราปล่อยให้พวกเขาปลูกพืชจีเอ็มโอจนทำให้ดุลยภาพของโลกเสียไปสุดท้ายเราจะเป็นผู้รับผลกระทบอยู่ดี อีกกลุ่มเป็นตัวแทนความรุนแรงเป็นตัวส่งผลกระทบมาที่เรา "

 

ทว่า ระหว่างทำ Rearrange เขาได้รับข่าวร้ายการเสียชีวิตของน้องชายเพื่อน เป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของเขาอย่างหนักหน่วง
และเป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจ็กต์ Sunset Love Song

 

 

วรรณกรรม ดนตรี และการ์ตูน

เรียนมาทางวิศวกรรมการบินและอวกาศจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็จริง แต่ก้าวเดินปัจจุบันของรัฐ จำปามูล กลับยืนอย่างจริงจังบนสายศิลปะทั้งที่ไม่เคยเรียนวาดรูปเป็นเรื่องเป็นราวอาศัยฝึกฝนวาดตามตัวการ์ตูนฮิตสมัยเด็กอย่างโดราเอมอน ดรากอน บอล จนมาลงมือวาดการ์ตูนช่องแซวเพื่อนมัธยมด้วยกัน




ไม่ใช่อ่านแต่การ์ตูน วรรณกรรมซีไรท์และซีรอง เลยไปถึงนิยายวิทยาศาสตร์ ต่วยตูน เขาหามาอ่านเท่าที่จะมีให้ซื้อหาในต่างจังหวัด "ซีไรท์เป็นอีกอารมณ์หนึ่ง ผมชอบงานของน้าชาติ (ชาติ กอบจิตติ) ตอนได้อ่านครั้งแรก โอ้โห... ผมชอบพันธุ์หมาบ้า อ่านแล้วรู้สึกเหมือนเป็นเพื่อนกับทุกตัวละคร"

 

เขามาเริ่มสัมผัสกับการทำภาพเคลื่อนไหวสมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ปีสามปีสี่ เริ่มทำภาพยนตร์สั้นกับรุ่นพี่ รวมถึงบันทึกรายงานของมหาวิทยาลัย และพบว่าก่อนฉายเข้าเรื่องต้องมี Motion Graphic เปิดเรื่อง
ทำให้ต้องขนขวายหาความรู้เพิ่มเติม

 

การ์ตูนเล่ม วรรณกรรม ดนตรี และแอนิเมชั่น คือแหล่งทุนศิลปินที่เขาหาเรื่องใส่ตัวไม่หยุดหย่อน ซึมซับแอนิเมชั่นมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่ได้มองว่าเป็นงานเด็ก ตรงกันข้ามเขายกให้เป็น genre หนึ่งของหนังที่มีเสน่ห์บางอย่างที่บอกเล่าเรื่องได้

 

ยกตัวอย่างเรื่องที่เขาชอบอย่าง Perfect Blue, Millennium Express, Tokyo Godfather ผลงานเขียนบทและกำกับโดย Satoshi Kon ผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชั่นและนักวาดการ์ตูนชาวญี่ปุ่นที่เพิ่งล่วงลับไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ยังมีผลงานของบรมครูแอนิเมชั่น ฮายาโอะ มิยาซากิ และอีกหลายคน

 

ประสบการณ์หลากหลายทำให้เขาพลิกบทบาทตัวเองได้หลายคาแรกเตอร์

 

"ผมไม่อยากผูกตัวเองว่าต้องทำงานประเภทไหนมากเป็นพิเศษ ผมสนุกกับการเล่าเรื่อง บางอารมณ์อยากเล่าเป็นเพลงก็แต่เพลง บางทีอยากทำหนังสั้นก็ทำ
เหมือนกับว่าไอ้ก้อนที่เราอยากเล่ามันเหมาะกับอะไร มันก็เทไปทางนั้น เพียงแต่ว่าเหมือนงานแอนิเมชั่นทำให้เราโดดเด่น คนก็เลยมองเราเป็นแอนิเมเตอร์มากกว่า"


Before Sun Rise

ภาพยนตร์ความยาว 58 นาที กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ทำเองคนเดียว มีเพื่อนเรียบเรียงให้บ้าง มีน้องชายมาช่วยระบายสีตัวละครและทำภาพเคลื่อนไหวบ้าง จนสำเร็จออกมาเป็นเพลงพระอาทิตย์ฉบับสมบูรณ์


"ตอนนั้นผมรู้สึกว่า เท่าที่เรามีตอนนี้เราจะทำอะไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง เพราะเรารู้สึกแย่มาก แล้วมาประกอบกับรางวัลชนะเลิศจาก Rearrange ทำให้เรามั่นใจ เราน่าจะเล่าในสิ่งที่เราอยากเล่าได้ มันน่าจะมีผลต่อใครบางคนที่มีจริตตรงกับเราเลยอยากลองทำเล่าเรื่องนี้ดูเราอยากทำงานให้คนก็ตามที่กำลังรู้สึกแย่กับชีวิตรู้สึกดีขึ้นได้บ้าง"

 

แอนิเมชั่นแบ่งเป็น 5 ตอน เปิดตัวด้วยตอน Black Bird, ตามมาด้วย Strawberry Field Forever และ Please Please Me, You Want to Know Secret ปิดท้ายด้วย  Imagine ทั้งหมดเป็นชื่อบทเพลงจากเดอะ บีทเทิล บอยแบนด์ยุค 60 ที่เขาเกิดไม่ทันแต่กลับเป็นอมตะตลอดกาล

 

"มันเป็นข้อบังคับเรื่องเงิน ตอนที่เราตัดสินใจทำงานให้กำลังใจ ตอนนั้นเราก็ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ขายเชิงพาณิชย์ ผมรู้สึกว่า ถ้าเราอยากให้คนอื่นรู้สึกดี แล้วเขาต้องเสียสตางค์มาดูงานก็ไม่ใช่แล้ว ผมรู้สึกว่าตรงนี้สำคัญมาก และคิดว่าทำอย่างไรก็ได้ แต่ผมจะไม่ขายมันเด็ดขาด แต่ทำอย่างไรก็ได้ให้มันกระจายได้รวดเร็วที่สุด ผมเลยไม่สามารถไปลากเพื่อนหรือใครมาช่วยได้"

 

เขาใช้โซเชียลมีเดียอย่างเว็บบล็อก ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค และกระแสปากต่อปากเป็นช่องทางสื่อสารถึงผู้ชม นอกจากรับชมโดยตรงผ่าน YouTube แล้ว ยังสามารถดาวน์โหลดไปชมเต็มอิ่มได้ด้วย และเปิดให้ก็อปปี้ส่งต่อไม่ปิดกั้น

 

"หลักๆ งานผมคนรู้จักเพราะโซเชียลมีเดีย เราไม่มีทุนประชาสัมพันธ์ ตอนนั้นมั่นใจว่า เนื้อหากับคอนเซ็ปต์งานของเรามันไม่ใช่เรื่องที่เราจะหาผลประโยชน์ ได้ เราต้องโปรโมทให้คนเห็นว่าจุดยืนของเราเป็นอย่างไร และถ้าเขาชอบจริงๆ เขาก็จะช่วยเราเอง ผมคิดอย่างนั้น และทำมาเรื่อยๆ"

 

แม้กระแสจะไม่เปรี้ยงป้างเหมือนคลิปโฆษณาครูขว้างบีบี หรือตำรวจท่องเที่ยวเต้นเพลง Sorry Sorry แต่ละตอนมีผู้ชมบนบน Youtube ประมาณ 2 พันกว่า ไม่นับยอดดาวน์โหลด และก็อปปี้เผยแพร่กันต่อไป ซึ่งนั่นเขาก็พอใจระดับหนึ่งแล้ว

 

"หลายคนช่วยบอกต่อ เพราะมันเหมือนเป็นธีมของงานชิ้นนี้อยู่แล้วว่า ถ้าดูแล้วชอบดูแล้วทำให้เรารู้สึกดี ก็ช่วยกันแชร์ต่อให้คนรอบตัว ให้คนที่เราอยากให้เขาได้รู้สึกอย่างเดียวกันเป็นสิ่งที่เราโปรโมทพร้อมกับงานอยู่แล้ว มันก็เลยกลายเป็นว่าใครที่ดูแล้วอินกับมันก็ช่วยไปบอกต่อ มีหลายคนที่เขียนบล็อกพูดถึงงานเพลงพระอาทิตย์ คนทำก็ชื่นใจ"

 

เขายอมรับว่า แอนิเมชั่นมือใหม่ ทำคนเดียวอีกต่างหาก กับความยาว 58 นาทีเขาคิดว่าเหมาะสม เพราะมองว่าความยาวของเนื้อเรื่องช่วยให้คนเข้าถึงอารมณ์ได้มากว่าเรื่องสั้น
แต่ข้อเสียคือ การชมภาพยนตร์ความยาวเกือบชั่วโมง คนดูต้องหยุดทุกอย่างหนึ่งชั่วโมง
ซึ่งไม่เหมาะกับโลกออนไลน์นัก

 

"ผมรู้สึกว่า ถ้ามันสั้นแล้วไม่อินคนดูอาจไม่จำอะไรไป ผมว่าผู้ชมหลักหมื่นคนที่ดูถ้ามันทำให้คนไม่ตัดสินใจพลาดมันก็โอเคแล้ว เพราะชีวิตมันมีค่ามากกว่าที่เราเห็น อีกอย่างงานผมมันแทบไม่มีอะไรเลย พอมันโยนเข้าไปในโลกอินเทอร์เน็ตปุ๊บ มันก็จะอยู่ในนั้นตราบเท่าที่คนคลิกอยู่ระยะเวลาคงไปเรื่อยๆ "

 

ไม่เฉพาะแต่ปัจเจกเท่านั้นที่ชื่นชม ผลงานของเขาได้รับรางวัลสื่อป้องกันการฆ่าตัวตายของปี 2553  จากโรงพยาบาลราชวิถี เลยเป็นจุดทำให้เขาคิดว่าน่าจะเผยแพร่ไปยังหน่วยงานอื่นด้วยอย่างกรมสุขภาพจิตหรือฉายให้นักเรียนชม

 

เวลาที่ทุ่มไปสามปีกับผลงานที่เขาอยากทำเพื่อสังคมแบบให้เปล่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เขาสามารถฝึกตนเป็นฤาษีกินลมเป็นอาหาร ภารกิจเลี้ยงชีพของเขาจึงอาศัยงานในลักษณะฟรีแลนซ์เพื่อการดำรงอยู่ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบปกหนังสือ ทำแอนิเมชั่นแต่เขาออกตัวว่าในปีหนึ่งจะรับทำงานเลี้ยงชีพราว 3-4 เดือน เวลาที่เหลือขอทำโครงการของตัวเองช่วงไหนต้องการประหยัดทรัพย์ก็กลับไปอยู่บ้านต่างจังหวัดทำกับข้าวกินเอง

 

"อาจเป็นเพราะผมรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ต้องการอะไรมาก  จริงๆ ถ้าถึงที่สุดแล้ว ผมก็ไปปลูกผักหรือไปทำงานอะไรก็ได้แถวบ้าน ให้เราอยู่ได้ แล้วเราก็สร้างงานได้ ถึงจุดหนึ่งผมก็กินน้อยๆ ก็ได้ แต่ให้งานเราดีขึ้นเรื่อยๆ ดีกว่าผมชอบคิดอะไรแบบนี้"

 

มองไปเส้นทางข้างหน้า เขาไม่วางเป้าหมายไว้เลิศหรูทะยานอยาก พอมองลึกไปถึงในใจ เขายืนยันกับตัวเองว่า ต้องการสร้างงานที่ทิ้งอะไรบางอย่างไว้เบื้องหลัง เหมือนผลงานของบีทเทิล และจอห์น เลนนอน ที่ส่งอิทธิพลกับคนต่างยุคอย่างเขา

 

"ถ้างานเราสักชิ้นมีผลกับใครสักคนบ้าง มันก็ทำให้เรารู้สึกว่า ตลอดชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนตาย มันมีความหมาย เลยกลายเป็นว่า ผมไม่ได้โฟกัสเป้าหมายชีวิตอะไรมาก" ศิลปินเดี่ยวเพื่อสังคมคิดเห็นอย่างนั้น

 



ที่มา: สมสกุล เผ่าจินดามุข

โดย: กรุงเทพธุรกิจ  19 พฤศจิกายน 2553

Views: 1443

Reply to This

Replies to This Discussion

คิดดี ทำดี......
ชอบครับ

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service