จารึกแห่งสยาม (โลกียะ โลกุตระ

ระยะเวลาจัดงาน: 5 – 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
สถานที่: หอศิลป์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ
โดย: รองศาสตราจารย์ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ 
  
    



PSG Art Gallery คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ขอเชิญชม นิทรรศการศิลปกรรมจารึกแห่งสยาม (โลกียะ โลกุตระ) สะท้อนถึงความเป็นจริงแห่งชีวิตมนุษย์ โดย รองศาสตราจารย์ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ จัดแสดง ระหว่างวันที่ 5 – 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553


ความเป็นจริงแห่งชีวิตของมนุษย์ คือความไม่เที่ยงแท้ล้วนเปลี่ยนแปรไปตามสถานการณ์ เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ สลับไปมา สภาวะจิตของมนุษย์ถ้าไม่ได้ถูกฝึกฝนมาบ้าง ก็จะเกิดความทุกข์ ยามเมื่อชีวิตต้องประสบกับปัญหาที่รุมเร้าเข้ามา บางคนก็มีปัญหาครอบครัวปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความยึดถือ ยึดมั่น สังคมอวิชชาโฆษณาชวนเชื่อทำให้ถูกครอบงำโดยไม่รู้สึกตัว ขาดสติ ทางปัญญา พิจารณาตามความเป็นจริงเลยกลายสภาพเป็นสังคมที่ขาดความมั่นคงทางจิตใจ ไร้เสถียรภาพหวั่นไหวไปกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
    
ยามเมื่อชีวิตตกอยู่ในความอึดอัด ตึงเครียด ยามที่เกิดความรู้สึกท้อแท้ เหนื่อยหน่ายยามเมื่อจิตตก ข้าพเจ้าจึงหาทางออกด้วยการหยิบหนังสือที่ใกล้ตัวอ่าน เป็นหนังสือที่รวบรวมพระบรมราชโอวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ได้พระราชทานแก่นิสิต นักศึกษา และประชาชนในวาระต่างๆ หนังสือธรรมะของอริยสงฆ์ในบวรพุทธศาสนา เช่น หนังสือธรรมนูญชีวิต ของพระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตโต คำกลอนสอนธรรม ธรรมะ พร เมตตา ของท่านพุทธทาสภิกขุ บันทึกธรรมจากหลวงปู่ดูลย์ อตุโลโอวาทก่อนปรินิพพาน โอวาทท่านธัมมะวิกตักโก เป็นต้น การได้อ่านพระธรรมคำสั่งสอนทรงพระพุทธองค์ และอริยสงฆ์ บางคำ บางตอนก็มิอาจเข้าใจได้ทั้งหมด





ข้าพเจ้าจึงเลือกบางบท บางตอนที่เข้าใจง่าย อ่านง่าย อ่านแล้วทำให้เกิดปัญหา ผ่อนคลายความตึงเครียด รู้สึกหัวเบา ใจสบาย จึงเกิดความบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน “จารึกแห่งสยาม” (โลกียะ โลกุตระ) จึงเริ่มปฏิบัติงานชุดนี้ ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ทำต่อเนื่องเป็นไปอย่างเชื่องช้า เริ่มจากความคิดที่ว่าจะจาร หรือจารึกถ้อยคำ
คำสั่งสอนอันมีคุณค่านี้อย่างไร ในสมัยโบราณ บรรพชนจะจารลงในใบลาน สลักลายบนหินวาดภาพจิตรกรรมปริศนาธรรมต่างๆ ลงบนฝาผนังโบสถ์, วิหาร ข้าพเจ้านึกถึงดินเผา (เซรามิกส์) ว่าน่าจะสนองตอบความคิดของข้าพเจ้าได้ ด้วยการทำเซรามิกส์มีความละม้ายกับการทำภาพพิมพ์โลหะ (Etching) ด้วยมีขั้นตอนกรรมวิธีซับซ้อน
ยุ่งยากกว่างานจิตรกรรม แต่ในความยุ่งยากซับซ้อน มันสอนเราให้รู้จักคำว่า “รอ” คำว่า “ล้มเหลว” คำว่า “อดทน”  คำว่า “เริ่มต้นใหม่” เพราะการทำทั้งสองสิ่งนี้ก่อนลงมือปฏิบัติงานต้องเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ ต้องมีความรอบคอบ
มีการวางแผนการสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ ต้องมีจังหวะ “เวลา” ที่ต่อเนื่องมีระยะเวลาที่มันควบคุมเรา และเราควบคุมมัน จนเกิดสมดุลระหว่างมันกับเรา



ดินเผาทุกๆ แผ่น ข้าพเจ้าขึ้นรูปเป็นหนังสือ รูปทางอิสระ รูปทรงของรอยพระพุทธบาท หนังสือบางเล่มจะบันทึกเรื่องราวพุทธประวัติเป็นสมุดภาพ ไม่มีตัวอักษร บางเล่มจะบันทึกถ้อยคำสั่งสอน มีภาพประกอบ โดยใช้เหล็กแหลม (Needle) ร่างภาพจารตัวอักษรตอนดินหมาดๆ ระหว่างรอดินแห้งเพื่อนำไปเผาดิบ (Biscuit) ก็จะไม่ปล่อยเวลาให้ว่าง ก็จะมาเขียนสีน้ำมันชุดโลกียะ บันทึกเรื่องราวของคนกลางคืนการแสวงหาความสุขทางโลกีย์ อันไม่จีรัง สะท้อนวัฏฏะสงสารของมนุษย์
    

สำหรับการจัดเซรามิกส์ ชิ้นงานแต่ละชิ้นเป็นไปอย่างเชื่องช้า ต้อง “รอ” ให้ดินหมาด รอให้ดินแห้ง รอเผา รอเพื่อจะเขียนสี เคลือบ และเผาอีกครั้งไม่เหมือนกับการเขียนสีน้ำ เขียนสีน้ำมัน มันสามารถเขียนรวดเดียวจบสนองตอบอารมณ์ได้อย่างฉับไว ตามเนื้อหาเรื่องราวของโลกียะ แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้วดินเผา (เซรามิกส์) มันมีคุณลักษณะพิเศษ มีลักษณะเฉพาะตัว มีเสน่ห์ในตัวของมันเองสิ่งที่ข้าพเจ้าสัมผัสได้ คือ ตอนได้จับต้องดิน ดินทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกเย็นลงรู้สึกมีความสุขที่ได้ทำ เกิดความเพลิดเพลิน คุณค่าของมันคือ การดัดสันดานตัวเองที่เป็นคนใจร้อน ก็ต้องใจเย็น สอนเราให้รู้จักทำใจบางทีเผาออกมาดี บางทีผิดแผกไปจากที่คาดหวัง บางทีออกมาสวยงามเกินคาด ฯลฯ ผลงานชุดนี้ ข้าพเจ้าตั้งใจทำ กว่าที่เวลาจะอำนวยกว่าที่จะเป็นไปได้ด้วยเป็นเพียงการเริ่มต้นที่ใช้การนำเซรามิกส์เป็นสื่อในการแสดงออก และจะไม่สำเร็จเลยถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากลูกศิษย์ และจากกัลยาณมิตร ที่อยู่เบื้องหลังทั้งหลาย ช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าได้สร้างสรรค์งานชุด โลกุตระ (เซรามิกส์)ทำให้รำลึกถึงพระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ “เพื่อนใหม่คือของขวัญให้กับตนเอง ส่วนเพื่อนเก่าคือ อัญมณีที่นับวันจะเพิ่มค่า"



   ติดต่อ: (02) 221 0820

Views: 795

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service