เจาะใจ 'ไมโกะ'เส้นทางของหญิงสาวผู้ทรงศิลป์

 
อวดความงามของกิโมโน
----------------------



ไม่ว่าใครที่สนใจเรื่องราว 'ญี่ปุ่นๆ' อย่างน้อยคงต้องเคยผ่านหูกับคำว่า
'เกอิชา'
คำเรียกขานที่มาพร้อมกับภาพหญิงสาวในเครื่องแต่งกายวิจิตรตามแบบประเพณี
ญี่ปุ่นดั้งเดิม



คำว่า 'เกอิชา' ในภาษาญี่ปุ่นประกอบขึ้นจากอักษรคันจิ 2 คำ คำแรกคือคำว่า
'ศิลปะ' คำหลังคือคำว่า 'คน' หรือ 'ผู้กระทำ' หากถอดความออกมา 'เกอิชา'
จึงน่าจะใกล้เคียงกับคำว่า 'นักแสดง' หรือ 'ศิลปิน'





จุดเริ่มต้นของคำว่า 'เกอิชา' เริ่มต้นขึ้นในศตวรรษที่ 18
ในยุคเริ่มแรกนั้นเกอิชานั้นเป็นงานของผู้ชาย
ทำหน้าที่ให้ความบันเทิงแก่ลูกค้าที่มารอรับบริการจาก 'ออยรัน'
หรือหญิงบริการชั้นสูง
ก่อนที่จะมีผู้หญิงเข้ามารับงานเกอิชามากขึ้นทำให้เกอิชาชายลดบทบาทลงไปจน
แทบไม่เหลือ






เดิมทีสำนักเกอิชามักจะซื้อตัวเด็กหญิงจากครอบครัวยากจนแล้วนำมาฝึกฝนให้ทำ
งาน เริ่มจากงานรับใช้ในบ้าน รับใช้เกอิชารุ่นพี่ พร้อมๆ
กับฝึกฝนศาสตร์ของเกอิชา
ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่เด็กหญิงคนหนึ่งจะกลายเป็นเกอิชาเต็มตัว
ในปัจจุบันอาชีพเกอิชาได้รับการยอมรับในฐานะ 'บุคคลากรทางศิลปวัฒนธรรม'
มากขึ้น
ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเปิดใจยอมรับได้มากขึ้นหากลูกสาวอยากเข้าวงการเกอิชา





ในสมัยโบราณมีการกำหนดอายุของเด็กที่จะเข้ามาเป็น 'ไมโกะ' หรือ
'เกอิชาฝึกหัด' ไว้ที่ 9-12 ปี ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนเป็นอายุ 15
ปีขึ้นไปหรือหลังจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเพื่อให้สอดคล้องกับกฏหมายแรงงานของ
ญี่ปุ่น



 
รอยยิ้มของ 'ไมโกะซัง'
-------------------



 

เผยความงามของต้นคอ

--------------------



ขายศิลปะ ไม่ขายตัว

ภาพของเกอิชา ในฐานะ 'หญิงคนชั่ว' ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ
โดยเฉพาะสื่อภาพยนตร์จากโลกตะวันตกที่นำเสนอภาพของเกอิชาเทียบเคียงกับหญิง
ขายบริการ ในความเป็นจริงตั้งแต่ยุคขุนศึกถึงยุคนายทุน
เกอิชาคือผู้ให้บริการทางศิลปะอย่างการชงชา เล่นดนตรี การร่ายรำ ต่อกลอน
เป็นความบันเทิงทางสุนทรียะล้วนๆ





การเสพรับบริการของเกอิชาไม่เคยเป็นกิจกรรมราคาถูก ในปัจจุบัน
การซื้อบริการของเกอิชา 1 คน ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
มีค่าใช้จ่ายในหลักหมื่นบาท และมากกว่านั้นหากเป็นเกอิชาที่มีชื่อเสียง



เกอิชาอินเตอร์เนต

ณ มุมหนึ่งของเมืองหลวงเก่าเกียวโต

"สยามพารากอน!"
หญิงสาวเธออุทานเป็นคำแรกหลังรู้ว่าคู่สนทนาเป็นนักข่าวจากกรุงเทพฯ
เธอเล่าว่า ยังคงจดจำห้างสรรพสินค้าแห่งนั้นได้ดี
จากที่เคยเดินทางมาประเทศไทยในรายการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเมื่อ 2-3 ปีก่อน


ไมโกะซัง (ขอสงวนนามจริง) เป็นหญิงสาวสดใสวัย 18 ปี
เธอเล่าให้ฟังว่าสนใจเรื่องราวของศิลปวัฒนธรรมของญี่ปุ่นมาตั้งแต่เด็ก
เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมต้นจึงตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางของอาชีพเกอิชา
โดยการส่งใบสมัครพร้อมภาพถ่ายไปยังสำนักงานเกอิชาแห่งหนึ่งด้วยช่องทาง
อินเตอร์เนต





ในช่วงสองปีแรกหญิงสาวจะต้องเรียนรู้ธรรมเนียมและศิลปะต่างๆ
ที่จำเป็นสำหรับงานเกอิชา อาทิ การเรียนภาษาญี่ปุ่นแบบเกียวโต
ซึ่งอาจต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี
หลังจากนั้นจะเริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาของการฝึกงานเป็น 'ไมโกะ'
เริ่มออกงานรับแขกได้ ก่อนจะสั่งสมประสบการณ์เพื่อเป็น 'เกอิชา'
เต็มตัวต่อไป





กิจวัตรประจำวันของไมโกะเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้า
เหล่าเธอจะต้องเรียนสรรพวิชาที่พึงมีพึงรู้สำหรับเกอิชา อาทิ การเล่นดนตรี
การขับร้อง การเต้นรำ การชงชา การจัดดอกไม้
รวมถึงความรู้เรื่องบทกวีและวรรณคดี วิธีการแต่งชุดกิโมโน
ทำความรู้จักกับเกมส์และการพนันบางรูปแบบไว้เล่นกับลูกค้า
เรียนรู้ท่าทีที่เหมาะสมในการสนทนาโต้ตอบกับลูกค้า 'ไมโกะ' และ 'เกอิชา'
ในยุคข้อมูลข่าวสารยังต้องติดตามข่าวจากหนังสือพิมพ์หรือเว็บไซต์ข่าวเพื่อ
ให้รู้เท่าทันโลกและมีประเด็นไว้สนทนากับลูกค้าที่ส่วนใหญ่มักเป็นคนในแวดวง
นักธุรกิจ ส่วนช่วงค่ำคืนเป็นเวลาของการ 'ฝึกงานในสถานที่จริง'





กระทั่งหลังจากเล่าเรียนจบหลักสูตรเกอิชาเมื่ออายุย่าง 21 ปี หญิงสาวจะ
'เทิร์นโปร' เปลี่ยนสถานะจาก 'ไมโกะ' เป็น 'เกอิชา' เต็มตัว จากจุดนี้
นอกจากเรื่องของการแต่งผมที่เกอิชาสามารถหันมาใช้ 'วิก'
หรือผมปลอมแทนผมจริงได้แล้ว เธอยังมีอิสระในการเลือกทำงานให้ 'บ้าน' ต่อไป
หรือจะเลือกบินเดี่ยวเป็นผู้ประกอบการอิสระ รับงานรับเงินให้กับตนเองก็ได้



เจาะใจ 'ไมโกะ'

เมื่อถูกถามว่า "เป็นไมโกะมีแฟนได้หรือเปล่า" ไมโกะซังยิ้มเอียงอาย
ก่อนจะมีคำอธิบายตามมาว่า ชีวิตประจำวันของไมโกะกินเวลาไปเกือบหมด
ทั้งเรื่องเรียนและเรื่องงานที่มีให้ทำแทบไม่มีวันหยุด
เรื่องหัวใจจึงต้องพักไว้ก่อน

จุดเด่นเห็นถนัดในการแต่งกายของ 'ไมโกะ' และ 'เกอิชา'
อยู่ที่การแต่งหน้าขาว
ซึ่งมีที่มาย้อนกลับไปถึงการแสดงมโหรสพโบราณอย่างละครคาบูกิ
ในยุคที่โรงละครมีเพียงแสงจากตะเกียงไขวาฬดวงเล็ก
นักแสดงจึงต้องแต่งหน้าขาวจัดเพื่อให้ผู้ชมมองเห็นการแสดงได้ถนัดยิ่งขึ้น
นอกจากนี้
ผิวพรรณที่ขาวผ่องยังเป็นค่านิยมความงามของผู้หญิงญี่ปุ่นแต่โบราณอีกด้วย



 
ด้วยจรรยาบรรณของเกอิชามืออาชีพเธอจะไม่ยิ้มกว้างจนเห็นฟันเพราะถือว่า 'เสียกริยา' สำหรับเกอิชาเต็มตัว
--------------------------------



วิธีการแต่งชุดกิโมโน
ก็เป็นอีกสิ่งที่แยกแยะเกอิชาจากหญิงญี่ปุ่นทั่วไปในเครื่องแต่งกายประจำ
ชาติ
ว่าไปก็คงคล้ายกับสาวจีนยุคศักดินาที่ถูกปลูกฝังความเชื่อว่าเท้าขนาดเล็ก
เท่าดอกบัวคือความงามจนทำให้เกิดประเพณี 'รัดเท้า'
ขณะที่แง่งามหรือจุดเร้าใจของเกอิชาถูกวางไว้ที่ต้นคอขาวผ่อง
เหล่าเธอจึงแต่งกิโมโนโดยให้บริเวณคอเสื้อด้านหลังคล้อยลง
เผยให้เห็นต้นคอขาวนวลงาม
ขณะที่หญิงญี่ปุ่นทั่วไปหากแต่งกิโมโนจะต้องดึงเสื้อขึ้นปิดต้นคอให้เรียบ
ร้อยมิฉะนั้นอาจถูกมองเป็นหญิงเสเพลได้





ในส่วนของทรงผมนั้น ช่วงที่เป็นไมโกะจะต้องใช้การตกแต่งผมจริง
และเนื่องจากความยุ่งยากซับซ้อนของการประดิษฐ์ทรงผมจึงเป็นธรรมเนียมว่าหลัง
ทำผมแต่ละครั้งไมโกะจะเก็บรักษาทรงผมไว้ใช้งานเป็นเวลาอย่างน้อย 5
วันจึงจะสระ สางแล้วเซ็ททรงกันใหม่
ระหว่างนั้นเหล่าเธอจึงต้องนอนหนุนหมอนไม้ยกต้นคอเพื่อไม่ให้ผมเสียทรง
และแน่นอนว่าต้องนอนหงายอย่างเดียว จะพลิกซ้ายป่ายขวาหรือนอนตะแคงไม่ได้





ถามถึงรายได้ของไมโกะ ได้รับคำอธิบายว่า
ในช่วงเวลาของการเป็นไมโกะนั้นรายได้ไม่สูงนัก
เหตุก็เพราะการปลุกปั้นไมโกะแต่ละคนนั้นมีค่าใช้จ่ายมากมายตั้งแต่ค่ากิโมโน
ซึ่งนิยมใช้ผ้าไหมแท้ปักหรือวาดลวดลายด้วยมือ ค่าเครื่องประดับ
ค่าเครื่องสำอางค์ ค่าแต่งหน้าทำผม ค่าเล่าเรียนหลักสูตรเกอิชา ค่ากินอยู่
ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหลายเหล่านั้น 'บ้าน' หรือ 'สำนัก'
เป็นผู้ทดรองจ่ายไปก่อนทั้งหมด
รายได้จากการรับงานของไมโกะจึงถูกหักบางส่วนเพื่อจ่ายคืนให้แก่ 'บ้าน'
จนถึงวันที่ได้เป็น 'เกอิชา' เต็มตัวจึงจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ





อาชีพเกอิชาไม่ใช่งานที่สามารถทำได้ตลอดไป เมื่ออายุมากขึ้นจนใกล้เลข 3
ก็จะต้องเผชิญหน้ากับจุดพลิกผันสำคัญ
เธอจะต้องเลือกระหว่างการแต่งงานเป็นแม่บ้านและเลิกอาชีพเกอิชาไปอย่างถาวร
เพราะในสังคมญี่ปุ่นการที่สามีจะให้ภรรยาไปทำงานที่ต้องบริการคน(ชาย)อื่น
นั้นเป็นเรื่องยากที่จะรับได้
อีกทางก็คือการหันหลังให้กับชีวิตคู่และเดินหน้าบนเส้นทางสายเกอิชาต่อไปสู่
ตำแหน่งของครูฝึก ถ่ายทอดศาสตร์ของเกอิชาให้กับรุ่นน้องๆ
ไปจนถึงขั้นตั้งตัวเป็นเจ้าของสำนักเกอิชาเสียเอง





เวลาของการสนทนาหมดลง "เป็นเกียรติของผมที่ได้พบคุณ และผมหวังให้คุณได้รับความสงบในชีวิต" นักข่าวจากกรุงเทพฯ กล่าวลาด้วยสายตา





'โอกินิ' เธอหยิบยื่นคำขอบคุณตามแบบฉบับเกียวโตมาพร้อมรอยยิ้มกว้าง
ก่อนออกเดินก้าวสั้นๆ
มุ่งหน้าสู่การพักผ่อนซึ่งเป็นภารกิจสุดท้ายของเธอในวันนั้น




ที่มา: ชาธิป สุวรรณทอง
โดย: กรุงเทพธุรกิจ   28 ตุลาคม 2553

Views: 2790

Reply to This

Replies to This Discussion

ขายศิลปะ ไม่ขายตัว....สุนทรียะที่ผู้ใช้บริการ ( ชาย ) พึงต้องปฏิบัติ
ไม่ใช่เป็นกันง่ายๆนะเนี่ยย หากเราส่งใบสมัครไปคงได้โยนทิ้งลงถังขยะ กร๊ากกก อิอิ
ได้ความรู้เพิ่มดีจริงๆครับ

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service