หันหลังให้สตูดิโอ ระบบล้มเหลว หรือกระแสแฟชั่น

 



ภาพยนตร์ "กวน มึน โฮ" ทำรายได้ไป 130 กว่าล้านบาท

"สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่ารัก" รับทรัพย์ประมาณ 78 ล้านบาท

แม้ว่าปีนี้เป็นปีที่วงการหนังไทยค่อนข้างจะบาดเจ็บสาหัสในเรื่องรายได้ ส่วนหนึ่งมาจากเหตุการณ์ความวุ่นวายในประเทศช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม มีผลทำให้โรงหนังในกรุงเทพฯรวมถึงหัวเมืองต่าง ๆ ไม่สามารถเก็บเงินจากคนดูหนังได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงมีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่หลุดรอดออกมาเป็นปรากฏการณ์ให้คนทำหนังในระบบสตูดิโออย่างสหมงคลฟิล์ม และจีทีเอช ได้ยิ้มแห้ง ๆ กันที่มุมปากกันบ้าง

ในขณะที่การทำหนังผ่านระบบสตูดิโอ ซึ่งนายทุนทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์กำหนดทิศทางของหนัง กำลังอยู่ในช่วงชะลอตัว กระแสพ้องกันที่น่าสนใจในตอนนี้ก็คือ คนทำหนังส่วนหนึ่งเลือก เดินออกมาจากระบบสตูดิโอเพื่อกำหนดชะตากรรมของหนังที่ทำด้วยตัวเอง

ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า บารมีเทศกาลหนังเมืองคานส์ ที่ฝรั่งเศส คุณเจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เข้าไปเด็ดรางวัล ช่อมะกอกปาล์มทองคำรางวัลใหญ่จากเทศกาลระดับโลก จากหนังเรื่องลุงบุญมีระลึกชาติ (อันที่จริงการยืนหยัดในแวดวงหนังของเขามีมากมาย แต่ขอสรุปเพียงเท่านี้ก็แล้วกัน) หรืองานของผู้กำกับ ใหม่ ๆ ที่น่าจับตามองอย่าง อาทิตย์ อัสสรัตน์ ที่ได้รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ปี 2551 และรางวัลระดับนานาชาติอีกมากมาย จากผลงาน Wonderful Town อีกคนหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ อโนชา สุวิชากร เจ้าของผลงาน "เจ้านกกระจอก" ที่เดินสายฉายและประกวดในเทศกาลหนังรอบโลกมากมาย ล่าสุดได้คว้ารางวัลสูงสุดจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ "อีร่า นิว ฮอไรซันส์" จากโปแลนด์เมื่อไม่กี่เดือนมานี้


กลุ่มคนเหล่านี้มีความเหมือนกันตรงที่พวกเขาทำหนังของตัวเองโดยการพยายามหาทุนเองโดยไม่ผ่านระบบสตูดิโอ ทั้งทุนจากในประเทศ (ที่ระบบดูคลุมเครือชะมัด) กับทุนจากต่างประเทศ เป็นการกรุยทางให้คนทำหนังบ้านเรารุ่นใหม่ ๆ มองเห็นว่า "เออ แฮะ...มันมีวิธีการหาทุนและทำหนังแบบนี้อยู่ด้วย"



แม้แต่ผู้กำกับดังอย่าง วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ที่เพิ่งทำหนังฟอร์มน่าสนใจเรื่องล่าสุด "อินทรีแดง" กับสตูดิโอไฟว์สตาร์ยังประกาศชัดว่า นี่เป็นหนังเรื่องสุดท้ายที่เขาจะทำในระบบสตูดิโอ เขาเปิดใจผ่านนิตยสารไอโอสโคปฉบับที่ 106 เดือนกันยายน 2553 ว่า "มันทำให้เรากลับมาฉุกคิดว่าเราทำหนังมา 10 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีอะไรดีขึ้นเลย หมายถึงในแง่ระบบที่เรายังเอาตัวเข้าไปแลกอยู่ เราเลยได้ข้อสรุปแรก คือ เราหากินกับมันไม่ได้แน่ ๆ 2.เราก็คิดว่า เราแก่แล้ว เหมือนเดินขึ้นเขานะ 10 ปีที่แล้วเราเดินขึ้นภูกระดึง ยังเดินได้อยู่ 10 ปีต่อมาเราเริ่มอายุมากขึ้น มันจะไม่ถึงยอดเขาเอาแล้ว...

...เราไม่ได้คิดถึงเรื่องเงินทองด้วย แต่เราคิดถึงเรื่องตัวงาน ทุกครั้งที่มันไม่ได้อย่างที่เราคิด เราจะรู้สึกแย่"



ส่วนทางเจ้ย อภิชาติพงศ์ ที่เคยร่วมงานกับทางฝั่งนายทุนมาบ้าง ในผลงานอย่างภาพยนตร์ "หัวใจทรนง" ซึ่งทำกับแกรมมี่ แม้ว่าตอนนี้ความบิ๊กเนมของเขา ทำให้เขา (อาจจะ) หาทุนทำหนังได้ ง่ายขึ้น แต่ตัวเจ้ยเองบอกว่า


"ตอนนี้มาคิดว่ามีความสุขกับหนังแบบไหน เคยพยายามทำหนังกับนายทุนมาแล้ว แล้วมันสื่อสารด้วยความไม่เข้าใจกันแล้ว มันไม่มีความสุข รู้สึกว่า เรื่องเงินมันสำคัญ แต่ที่สำคัญด้วยก็คือ สิ่งที่เขา รู้ว่าจะทำอะไรที่เราไม่โกหกกัน อันนี้สำคัญที่สุด เพราะว่า โปรดิวเซอร์ที่ผมทำงานด้วยตลอดก็คือ เราว่ากันซื่อ ๆ คือ จำนวนเงินไม่สำคัญ เราบอกว่าเราอยากทำอะไร ผมไม่ได้มีโปรเจ็กต์เดียว มีหลายโปรเจ็กต์ แล้วเขาจะพยายามช่วยกันพิจารณาว่างบประมาณขนาดนี้เป็นไปได้ไหม"

ฟังดูแล้วการทำหนังแบบนี้ คนทำหนังสบายใจได้หนังที่เป็นหนังในแบบของเขาเอง แต่เอาเข้าจริงปัญหาใหญ่ของการทำงานแบบอิสระก็คือเรื่องการหาทุน การทำการตลาด ไปจนถึงการหาสถานที่ที่ฉายหนัง

อโนชา สุวิชากร เล่าถึงข้อจำกัดนี้ว่า "ตอนนั้นคิดไม่ตกเลย นอกจากหาทุนจากกองทุนต่าง ๆ แล้ว ได้ทางบ้านช่วยในเรื่องทุนอีกส่วนหนึ่ง เราไม่มีงบฯ การตลาด อาศัยปากต่อปากแนะนำ แต่เราก็อึด อดทนไปก่อน พอหนังเจ้านกกระจอกเปิดตัวที่ปูซาน มีโปรแกรมเมอร์จากเทศกาลอื่น ดูหนังแล้วติดต่อมาเราก็ได้ฉายตามเทศกาลต่าง ๆ บางแห่งให้ค่าตอบแทนตั้งแต่ 300-800 ยูโร ก็ไม่เยอะมาก แต่ดีตรงที่พอเจ้านกกระจอกออกฉาย มีงานเข้ามาในบริษัท อย่างการทำหนังสั้น รับผลิตให้ผู้กำกับอิสระ ก็มีรายได้จากตรงนี้"

ส่วนเรื่องสถานที่จัดฉายหนัง แม้ว่าหลายที่จะเปิดพื้นที่ให้กับหนังอิสระได้ เข้ามาฉาย อย่างเช่น ที่โรงหนังในเครือเอสเอฟ ซีเนม่า และโรงหนังในเครือ เอเพ็กซ์ หรืออย่างหอศิลป์ กทม. แต่อโนชาบอกว่า คำตอบที่ดีที่สุดอยู่ที่การจัดให้มี "ซีนีม่าเทค" (cinematheque)

"ก็เป็นเรื่องที่พี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์) พูดอยู่เป็นประจำว่าน่าจะมีซีนีม่าเทค คือหมายถึงว่ามีโรงหนังที่ไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรเป็นหลัก ฉายหนังทุกรูปแบบ แต่ในเมืองไทยมีโรงหนังทางเลือก อย่างโรงหนังลิโด เฮาส์รามา ซึ่งก็ดีนั่นแหละ เขาก็ทำในส่วนที่เป็นธุรกิจของเขา แต่ว่ามันต้องเข้าใจว่าคือธุรกิจ มีผลกำไรในการขายตั๋ว มันก็ช่วยได้ในส่วนหนึ่งสำหรับหนังที่อาจจะมีโปรไฟล์ดี แต่ถ้าเป็นหนังเล็กมาก ๆ ตรงนี้ซีนีม่าเทคจะมาดู เพราะไม่ได้มุ่งขายตั๋วอย่างเดียว จุดประสงค์คือเผยแพร่หนังให้คนได้ดูในหลายรูปแบบ ประเทศที่ให้ความสำคัญกับหนังจะมีอย่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส ข้อดีคือทำให้เกิดวัฒนธรรมการดูหนัง ทำให้เห็นผลระยะยาว สร้างทั้งคนดูหนัง คนทำหนัง ให้พัฒนาไปด้วยกัน"

อโนชาทิ้งท้ายว่า "ทำหนังอิสระแล้วอยู่อย่างสบายไม่มีทางแน่นอน ส่วนเลี้ยงตัวเองยังไม่แน่ใจ ตอนนี้ถ้าประหยัด ๆ ก็คงพอได้ แต่เราได้ทำในสิ่งที่เรา อยากทำ เรามีอิสระในการตัดสินใจ เป็นหนังแบบของเรา คืออยากทำให้มันดี ให้มันเสร็จ อย่างไรก็ตามเราไม่อยากเจ็บตัวนะ"

ต้องดูกันต่อไปว่า การทำหนังนอกระบบสตูดิโอนั้นมาเป็นสัญญาณที่บอกว่า ระบบสตูดิโอกำลังมีปัญหา หรือเป็นเพราะกระแสแฟชั่นเท่านั้น !

 

 

 

โดย: ณัฐกร เวียงอินทร์

ที่มา: ประชาชาติ 7 ตุลาคม 2553

Views: 395

Reply to This

Replies to This Discussion

ไม่ได้เป็นเพราะกระแสแฟชั่น แต่.. "มันกำลังมา"
เ็ห็นด้วย
ผมช่วยยืนยันในคำของพี่ศิษฏ์ครับ..."เราทำหนังมา 10 กว่าปีแล้ว แต่ยังไม่มีอะไรดีขึ้นเลย"
และผมเชื่อว่า...ในอีก 10 ปีข้างหน้าก็ยังจะมีคำพูดเฉกเช่นนี้ออกมาจากปากของคนรุ่นต่อไป...

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service