มิวเซียมสยาม เปิดตำนานประวัติศาสตร์การ์ตูนไทยจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดึงการ์ตูนนิสต์ชื่อดังร่วมสานฝันเด็กไทยสู่อาชีพนักเขียนการ์ตูน
มิวเซียมสยาม เปิดตำนานประวัติศาสตร์การ์ตูนไทยจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดึงการ์ตูนนิสต์ชื่อดังร่วมสานฝันเด็กไทยสู่อาชีพนักเขียนการ์ตูน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมพิพิธพาเพลินตอนการ์ตูนไทย เพื่อนำเสนอองค์ความรู้ในแง่ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ที่ถ่ายทอดผ่านลายเส้นของการ์ตูนไทยในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ และแอนิเมชัน ผ่านการเรียนรู้ที่สนุกสนานภายใต้แนวคิด Discovery Museum
ราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ บอกว่า นอกจากกิจกรรมเกี่ยวกับการ์ตูนไทยในงานแล้ว ยังจัดกิจกรรมสอนการวาดภาพจากการ์ตูนนิสต์ชื่อดัง อาทิเช่น เซีย ไทยรัฐ, สิทธิพร กุลวโรตตมะ,อิทธิวัฐก์ สุริยมาตย์ และผดุง บุญสิริ รวมไปถึงการฉายภาพยนตร์การ์ตูนไทย เล่าถึงการ์ตูนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้เยาวชนได้เข้าใจขั้นตอนการสร้างสรรค์การ์ตูนแบบต่างๆ จุดประกายความสนใจและสร้างทักษะการเป็นนักเขียนการ์ตูนในอนาคต รวมถึงการเสวนาเรื่อง “การ์ตูนไทย”
สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการสถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก บอกว่า การ์ตูนเป็นศาสตร์และศิลป์ที่มีพลังในการขับเคลื่อนสังคมได้ โดยเฉพาะการพัฒนาสมองและการเรียนรู้ของเด็ก
"มีงานวิจัย ระบุว่า การ์ตูนสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ในเด็กได้ ถ้าเด็กได้อ่านการ์ตูนที่ดีมีภาพสวยงาม และมีแม่คอยเล่านิทานให้ฟัง เด็กจะมีพัฒนาการดีกว่าเด็กที่ไม่ได้อ่านการ์ตูนเลย ดังนั้นการ์ตูนจึงช่วยสร้างหรือพัฒนาสมองเด็กได้ รวมถึงการพัฒนาด้านจิตวิญญาณด้วย"
แล้วจะทำอย่างไรให้สังคมเห็นความสำคัญของการ์ตูนไทย สุดใจ บอกว่า อยากให้มีพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ และเป็นเวทีให้เด็กไทยได้ฝึกฝนและพัฒนาฝีมือเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นการ์ตูนนิสต์รุ่นใหม่ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการ์ตูนไทยที่กำลังเติบโต
ส่วน วรัชญ์ วานิชวัฒนากุล ผู้เขียนหนังสือการ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่ กล่าวว่า ในอนาคตอุตสาหกรรมการ์ตูนไทยจะขยายตัวและมีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้นักเขียนหน้าใหม่มีโอกาสนำเสนอผลงานมากขึ้น รวมไปถึงผู้อ่านก็มีทางเลือกมากขึ้น
“ปัจจุบันการ์ตูนไม่ได้เป็นหนังสือเฉพาะเด็กๆ เท่านั้น แต่หนังสือการ์ตูนเป็นเหมือนภาพยนตร์ มีการแบ่งกลุ่ม มีคนทุกเพศทุกวัยอ่าน ทำให้มีความกว้างขวางมากขึ้นกว่าในอดีต ยกตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมการ์ตูนของโลก มีการ์ตูนแยกย่อยกว่า 300 ชนิดตามความต้องการของผู้อ่าน ซึ่งการขยายตัวของอุตสาหกรรมการ์ตูนไทยจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้นักเขียนรุ่นใหม่ได้ค้นหาตัวเองว่า มีความถนัดในการเขียนการ์ตูนแบบไหน แต่สิ่งสำคัญก็คือนักเขียนรุ่นใหม่จะต้องไม่ยึดติดกับแนวคิดและรูปแบบของตัวเองอย่างเดียว ต้องเปิดใจเรียนรู้และพัฒนาปรับปรุงผลงานของตัวเองให้ตรงกับตามความต้องการของตลาดด้วย”
ปัจจุบันได้เห็นแล้วว่า อาชีพนักเขียนการ์ตูน มีผลตอบแทนที่ดีไม่น้อยกว่าอาชีพอื่นๆ เนื่องจากการขยายตัวของธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการ์ตูน มีทั้งภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหว ภุชฌงค์ คล่องวาณิชกิจ นักเขียนการ์ตูนชื่อดัง แนะนำว่า คนที่จะเป็นนักเขียนการ์ตูนที่ดีต้องมีวินัย เป็นคนช่างสังเกต พยายามเรียนรู้จดจำเก็บข้อมูล เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตงาน และต้องสามารถทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่นได้
"นักเขียนการ์ตูนมืออาชีพ นอกจากจะต้องพยายามหมั่นฝึกฝนเขียนการ์ตูนทุกวัน เพื่อให้เกิดความชำนาญและมีลายเส้นที่เฉียบคมแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดก็คือแก่นของเรื่องหรือแก่นของความคิด รวมไปถึงเทคนิคในการนำเสนอ เพราะการ์ตูนที่ดีไม่ได้ดูที่ความสวยงามเท่านั้น ความสำคัญอยู่ที่การนำเสนอที่จะดึงดูดความสนใจและถ่ายทอดสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อไปยังผู้อ่านซึ่งปัจจุบันนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ยังขาดทักษะในเรื่องนี้"
นี่คือ...เรื่องราวคำแนะนำของนักเขียนการ์ตูนมืออาชีพ ที่ต้องการผลักดันเยาวชนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องเหล่านี้
..........................
นิทรรศการ “ประวัติการ์ตูนไทย” จัดแสดงตั้งแต่วันนี้-24 กันยายน 2553 ณ ห้องคลังความรู้ อาคารสำนักงาน
มิวเซียมสยาม ท่าเตียน กรุงเทพฯ สอบถามได้ที่ 0-2225-2777 ต่อ 414
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ 3 กันยายน 2553
Tags:
Switch to the Mobile Optimized View
© 2009-2025 PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.
Powered by