ล้วงวิชา... สะบัดปากกาจับโจร

 

ไม่ใช่เรื่องขำ แต่ก็ถูกเอามาอำกันไปทั่ว สำหรับภาพสเก็ตช์คนร้ายสวมหมวกกันน็อคที่เป็นข่าวโด่งดัง แถมยังกลายเป็นเรื่องโจ๊กเสียดสีตำรวจไทยไปอีกนาน แต่สำหรับคนทำงานขำไม่ออก เพราะเขายืนยันว่าทุกอย่างที่ทำไปไม่ใช่มั่วๆ 

ย้อนเวลากลับไปในปี พ.ศ. 2547 เรื่องราวคดีสะเทือนขวัญของผู้หญิงชื่อ "จิตรลดา" ที่เอามีดไล่แทงเด็กนักเรียน โรงเรียนดัง จนถึงการจับแก๊งแขกขาวเจาะเซฟในโรงแรม และเหตุการณ์คนร้ายปาระเบิดบ้าน "บรรหาร ศิลปอาชา” ล้วนแล้วแต่เป็นคดีดังที่คืบหน้าจนถึงคลี่คลายคดีได้ด้วยภาพสเก็ตช์หน้าคนร้ายที่ละม้ายคล้ายเสียจนนำไปสู่การแจ้งเบาะแสจากพลเมืองดี หรือ จับกุมคนร้ายได้ในที่สุด 

นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่สะท้อนถึงความสำเร็จของงานสเก็ตช์ภาพคนร้าย ฝีมือของหน่วยงานเล็กๆ อย่าง ฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 2 กองทะเบียนประวัติอาชญากร (ทว.) ที่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเพียง 16 คน 

แต่ก่อนที่เราจะมาทำความรู้จักกับเจ้าของผลงานสเก็ตช์ภาพคนร้าย พ.ต.อ.ปรีชา สุนทรศิริ รองผู้บังคับการ กองทะเบียนประวัติอาชญากร ขอพาทัวร์กองทะเบียนประวัติอาชญากร หรือเรียกสั้นๆ ว่า "ทว." เสียก่อนว่า เดิมทีเป็นเพียงส่วนงานเล็กๆ ที่ขึ้นอยู่กับกองพิสูจน์หลักฐาน เริ่มต้นจากงานพิมพ์ลายนิ้วมือสำหรับใช้ในงานพิสูจน์หลักฐานของตำรวจ เพื่อยืนยันพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล แต่ถัดมาความสำคัญของหน่วยงานก็ได้เพิ่มระดับขึ้น จนปัจจุบันมีฐานะเป็นกองบังคับการ 

พร้อมกันนี้บทบาทเนื้องานของ ทว. ก็ได้ทวีความสำคัญจนกลายเป็น "คลังข้อมูลคนร้าย" ซึ่งมีส่วนสำคัญในเบื้องหลังการคลี่คลายคดีต่างๆ เนื่องจากว่า ทว. เป็นหน่วยงานที่รวบรวมหมายจับทั่วประเทศ, ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์ รถหาย คนหาย, การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล การพิมพ์ลายนิ้วมือ เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลบุคคลพ้นโทษจากเรือนจำ รวบรวมแผนประทุษกรรมคนร้าย และอีกหนึ่งเนื้องานที่สำคัญ ก็คือ แหล่งรวมภาพสเก็ตช์ของคนร้าย สำหรับใช้เป็นแนวทางในการสืบสวน 

ทั้งนี้จำนวนการสเก็ตช์ภาพคนร้ายที่ผ่านเข้ามาให้ฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 2 ดำเนินการสเก็ตช์ภาพคนร้ายนั้น เรียกว่ามีเป็นหมื่นๆ หน้าแล้ว โดย ตัวเลขในปี 2550 มีทั้งสิ้น 4,096 ภาพ ปี 2551 มีการสเก็ตช์ภาพไป 2,562 ภาพ ก่อนจะลดลงมาเล็กน้อยในปี 2552 ซึ่งมีทั้งสิ้น 2,359 ภาพ และล่าสุดปี 2553 จากเดือนมกราคมถึงเมษายน รวม 4 เดือน มีการสเก็ตช์ภาพคนร้ายไปแล้ว 561 ภาพ 

ผลจากการสเก็ตช์ภาพคนร้ายของ ทว. สามารถช่วยเจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมคนร้ายได้จากภาพสเก็ตช์ราว 20 เปอร์เซ็นต์ จากสถิติการก่อคดีเฉลี่ยปีละ 3,000 ราย ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก 

ส่วนที่ออกมาแล้วกลายเป็นเรื่องโจ๊กนั้น เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กน้อยซึ่งเกิดขึ้นโดย ..ไม่ตั้งใจ 

 
พ.ต.อ.ปรีชา สุนทรศิริ 
-------------------------


ตำนานการสเก็ตช์ 

อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้น ว่าเรื่องนี้ ไม่ใช่ "ขำๆ" อย่างกรณีการสเก็ตช์ภาพคนร้ายและออกมาเป็นหมวกกันน็อค ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อเปิดเผยสู่สาธารณชน แต่ทำไว้เพื่อใช้เป็นแนวทางสืบสวนสอบสวน ที่สำคัญไม่ใช่เรื่องไร้สาระ เพราะหมวกกันน็อคที่คนร้ายใช้เป็นรุ่นใหม่ ทำให้ตีกรอบการตามจับได้ง่ายขึ้น แต่ปัญหาเกิดตรงที่ว่า สื่อมวลชนไปได้ภาพนั้นมาและนำออกเผยแพร่ จนกลายเป็นเรื่องตลกในที่สุด 

"การทำงานสเก็ตช์ภาพคนร้ายมีวัตถุประสงค์สองส่วนด้วยกัน หนึ่งคือ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนแจ้งเบาะแส กับอีกหนึ่ง คือ เพื่อการสืบสวนในทางลับ อย่างเคสหมวกกันน็อคก็คืออย่างที่สอง ซึ่งทางตำรวจไม่ได้สเก็ตช์ออกมาให้ประชาชนช่วยกันจับ แต่ถามว่าสเก็ตช์ภาพหมวกกันน็อคแล้วได้อะไร ก็ต้องตอบว่า สำหรับตำรวจแล้ว หลักฐานทุกอย่างที่ได้มา มีประโยชน์ทั้งหมด โดยสามารถนำมาประกอบเข้าด้วยกันเพื่อสืบจับได้ทั้งสิ้น" คำเปิดใจของ พ.ต.ท.ชัยวัฒน์ บูรณะ รองผู้กำกับการ ฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 2 กองทะเบียนประวัติอาชญากร (ทว.) ซึ่งกำกับดูแลงานด้านนี้โดยตรง และมีงานสเก็ตช์ภาพคนร้ายที่ผ่านมือนายตำรวจท่านนี้มาแล้วหลายพันภาพ 

ว่าแล้ว รองผู้กำกับชัยวัฒน์ ก็เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การสเก็ตช์ภาพตลอดระยะเวลา 13 ปีเศษ จากอดีตคนโฆษณาที่ผันตัวเองสู่เครื่องแบบสีกากี นำเอาวิชาศิลป์ที่ร่ำเรียนจาก รร.เพาะช่าง มาใช้อย่างเต็มประโยชน์ โดยตัวเขาได้ผ่านงานมาตั้งแต่รุ่นสเก็ตช์มือ ต่อเนื่องมาถึงการประกอบภาพด้วยแผ่นใส พัฒนาสู่การฉายสไลด์ แล้วกลับไปสเก็ตช์มืออีกครั้ง จนถึงปัจจุบันไฮเทคถึงขั้นใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการสเก็ตช์ภาพ ซึ่งช่วยให้ทำงานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น 

เริ่มต้นจากการสเก็ตช์ภาพด้วยดินสอเหมือนอย่างที่จิตรกรใช้วาดรูปกันนั้น รองผู้กำกับชัยวัฒน์เล่าถึงปัญหาว่า อันดับแรกคือมีคนทำได้น้อย เพราะต้องเป็นคนที่เรียนจนทางด้านศิลปะมาโดยตรง ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็มีทางเลือกในอาชีพการงานมาก โดยเฉพาะงานที่ได้รับค่าตอบแทนสูงกว่ากินเงินเดือนข้าราชการมากมายนัก 

"กว่าผมจะหลอกล่อ รองชัยวัฒน์ให้ทิ้งเงินเดือนสามหมื่นมาทำงานกับผมได้ก็ไม่ใช่ง่าย ล่าสุดมีลูกน้องจะขอย้ายกลับบ้านดูแลพ่อแม่ ผมก็ต้องสร้างแรงจูงใจบอกว่าจะโปรโมทขึ้นเป็นนายตำรวจ ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อรักษาคนของเราเอาไว้ไม่ให้เสียไป เพราะที่มีอยู่วันนี้ก็น้อยมากพออยู่แล้ว จากอัตราที่เรารับได้ 47 คน วันนี้เรามีคนประจำที่หน่วยงานนี้แค่ 16 คนเท่านั้น แล้วก็ยังไม่มีคนมาเพิ่ม" รองผู้บังคับการ ทว. สำทับถึงปัญหาซึ่งไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น เพราะเรื่องการขาดแคลนบุคลากรที่จะมาสเก็ตช์ภาพคนร้ายนั้นเป็นมาเนิ่นนานแล้ว 

แต่เมื่อยังไม่สามารถจูงใจให้มีคนมาทำงานในส่วนนี้เพิ่มขึ้นมากได้ ก็ต้องหาทางแก้ตรงจุดอื่น เพื่อให้งานสเก็ตช์ภาพเดินต่อไปได้โดยไม่ต้องอาศัยความชำนาญขั้นมืออาชีพที่จบจากหลักสูตรด้านศิลปะโดยตรง 

ความพยายามแก้ปัญหาจึงเกิดขึ้น โดยเป็นการลองผิดลองถูกมาเรื่อย จากการสเก็ตช์มือ เมื่อได้ฐานข้อมูลมากพอสมควร ก็มีการนำมาพิมพ์ใส่แผ่นใส แยกเป็นชิ้นส่วนเครื่องหน้า ตั้งแต่ รูปหน้า, หู, ตา, จมูก, ปาก, คิ้ว, คาง, ผม ฯลฯ เพื่อประกอบเป็นหน้าของคนร้าย 

ปัญหาของการนำเครื่องหน้าที่พิมพ์อยู่บนแผ่นสไลด์มาประกอบกันและนำไปถ่ายเอกสารนั้น คือ แผ่นที่อยู่ล่างจะชัด ส่วนแผ่นบนสุดก็จะเห็นแค่จางๆ ทำให้ได้ภาพสเก็ตช์ที่ไม่คมชัด มีการทดลองแก้ปัญหาต่อ โดยใช้กล้องถ่ายรูปถ่ายภาพสไลด์ใบหน้าคนร้ายที่ประกอบเสร็จแล้วด้วยฟิล์มสไลด์ และนำไปฉายด้วยเครื่องฉายสไลด์เพื่อบันทึกภาพอีกครั้งหนึ่งด้วยฟิล์มเนกาทิฟสำหรับใช้แจกจ่ายไปยังพื้นที่ต่างๆ แต่วิธีดังกล่าวก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก จนกลับมาใช้การสเก็ตช์มือแบบดั้งเดิมอีกครั้ง 

ความคิดริเริ่มที่จะพัฒนาโปรแกรมอัจฉริยะเข้ามาช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้เร็วและง่ายขึ้นชนิดที่ไม่ได้เรียนจบทางด้านศิลปะมาโดยตรงก็ยังสเก็ตช์ได้ จึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2532 โดย พล.ต.ท.ชาตรี สุนทรศร เป็นคนต้นคิดที่จะพัฒนาโปรแกรมดังกล่าวขึ้น จนท้ายที่สุดก็ประสบความสำเร็จ เกิดขึ้นเป็นโปรแกรม "ปิกัสโซ" ในปี 2535 


 
"โปรแกรมปิกัสโซ" ตัวช่วยไฮเทคในการสเก็ตช์ภาพ 
----------------------------


ปิกัสโซ โชว์ของ 

หลักการทำงานของโปรแกรมปิกัสโซ ประกอบด้วยส่วนสำคัญคือระบบจัดเก็บภาพสเก็ตช์ใบหน้าคนร้ายที่ทาง ทว. รวบรวมเอาไว้จนถึงปัจจุบันมีอยู่นับหมื่นใบหน้า แยกหมวดหมู่ตามความผิดเพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา เพราะตามทฤษฎีอาชญวิทยานั้น คนร้ายมักจะกระทำผิดในคดีเดิมๆ ซึ่งเมื่อแยกเป็นหมวดหมู่ตามความผิด ก็จะง่ายสำหรับให้ผู้เสียหาย หรือ พยาน เปิดดู หากโชคดีเปิดหาก็เจอตัวเลย แต่ถ้ายังไม่เจอก็จะให้พยานหรือผู้เสียหายปะติดปะต่อเครื่องหน้าโดยเลือกเอาจากภาพที่มีอยู่ทั้งหมด โดยเจ้าหน้าที่จะเลือกทีละชิ้นส่วนที่ได้รับแจ้งมาประกอบเข้าด้วยกันด้วยโปรแกรมที่ว่า และให้ผู้เสียหายหรือพยานตรวจสอบดูอีกครั้ง 

วิธีดังกล่าว ถือว่าช่วยย่นระยะเวลาการสเก็ตช์ภาพได้มากโข เพราะไม่ต้องนั่งทำนั่งลบด้วยยางลบเหมือนเมื่อก่อน แถมยังไม่จำเป็นต้องใช้คนที่เรียนศิลปะมาทำ จึงทำให้จำนวนเจ้าหน้าที่ที่จะสเก็ตช์ภาพมีมากขึ้น จนวันนี้ปิกัสโซ่กลายเป็นเครื่องมือหลักของการสเก็ตช์ภาพคนร้ายสำหรับเจ้าหน้าที่ใน ทว. ตลอดจนหน่วยงานพิสูจน์หลักฐานจังหวัด ซึ่งมีประจำอยู่ทุกจังหวัดก็ใช้โปรแกรมนี้ แต่สำหรับคนที่ยังสเก็ตช์มือได้ปัจจุบันมีเพียงแค่ 2 คน นอกจากรองผู้กำกับชัยวัฒน์แล้ว ก็ยังมี พ.ต.ท.ชุมพล กงทอง สารวัตรฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 2 ซึ่งกำลังจะเกษียณอายุราชการในปีนี้ 

"แต่ก่อนที่เคยสเก็ตช์มือ ถามไป-วาดไป วาดไป-ลบไป พอวาดใหม่ พยานบอกไม่เหมือน แบบเก่าเหมือนกว่า แก้กลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น ทำให้ต้องใช้เวลานาน อย่างเร็วไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง บางเคสครึ่งวัน หนึ่งวัน เลยไปจนถึงสองวันเลยก็มี" สารวัตรชุมพลนึกย้อนหลังไปถึงวิธีการสเก็ตช์ภาพแบบดั้งเดิมซึ่งตัวเขาคร่ำหวอดมานานกว่าใครๆ 

นอกจากโปรแกรมอัจฉริยะที่ว่านี้แล้ว พ.ต.อ.ปรีชา เผยว่า ทว. ยังไม่หยุดที่จะพัฒนาต่อ โดยตอนนี้ได้แอบซุ่มพัฒนาเครื่องมือชิ้นใหม่ที่หากทำสำเร็จ จะไม่ต่างอะไรกับหนังสืบสวนสอบสวนระดับฮอลลีวูด เพราะเครื่องมือที่ว่านี้ คือ สามารถสแกนหน้าคนจากกล้องวงจรปิดที่ติดอยู่ทั่วประเทศเพื่อนำมาสุ่มตรวจสอบหาตัวผู้กระทำผิดได้ 

"แทนที่เราจะมานั่งสเก็ตช์ภาพคนร้ายและส่งให้ตำรวจไปสืบจับอาจไม่ทันสมัยแล้ว ตอนนี้เราเลยมีโครงการทดลองโปรแกรมใหม่ คือ โปรแกรมเปรียบเทียบภาพถ่ายอัตโนมัติ โดยเราเห็นว่าปัจจุบันนี้ ทั้งหน่วยงานราชการ และ เอกชน บริษัท ห้างร้านต่างๆ ก็มีนำเอากล้องวงจรปิดมาใช้บันทึกภาพเป็นจำนวนมาก ซึ่งเราเองก็มีฐานข้อมูลภาพถ่ายบุคคลอยู่ในระบบทะเบียนราษฎร์อยู่แล้ว จึงพยายามออกแบบโปรแกรมให้ทั้งสองส่วนนี้มาเชื่อมโยงกัน สมมติว่ามีบุคคลต้องสงสัยหรือต้องตามหมายจับที่เราต้องการตัวเดินผ่านกล้องของเรา กล้องก็จะทำการเสิร์ชหาว่าใช่คนที่เราต้องการหรือไม่ โดยเปรียบเทียบกับภาพที่มีอยู่ในดาต้าเบส ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการทดลอง" รองผู้บังคับการปรีชาเล่า พร้อมทั้งยืนยันว่าหากคิดค้นสำเร็จ ก็จะไม่ทิ้งวิธีสเก็ตช์ภาพแบบที่ใช้อยู่ไป แต่จะนำมาใช้ประกอบกันตามความเหมาะสมของแต่ละสถานการณ์ 

 
พ.ต.ท.ชัยวัฒน์ บูรณะ 
---------------------


อยากจำกลับลืม 

ระหว่างรอเครื่องมือสุดไฮเทคตัวใหม่ของ ทว. ว่าจะใช้งานได้เยี่ยมขนาดไหน ตอนนี้คนไทยเราก็ยังคงต้องอยู่กับการสเก็ตช์ภาพคนร้าย ทั้งด้วยวิธีอัตโนมัติและอัตโนมือ โดยไม่ว่าเครื่องมือที่ใช้จะเป็นอย่างไร ส่วนที่สำคัญที่สุดของคดี ย่อมต้องเป็น พยานบุคคล ว่าจดจำใบหน้าของคนร้ายได้มากเพียงใด 

ขั้นตอนการซักถามพยานหรือตัวผู้เสียหายเองมีความสำคัญมาก เพราะโอกาสที่จะลืมใบหน้าคนร้ายมีสูง เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการจึงจะต้องพูดคุยสอบถามพยานหรือผู้เสียหายให้ค่อยๆ ฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับใบหน้าของคนร้าย โดยไม่ว่าจะสเก็ตช์ภาพด้วยวิธีไหน เทคนิคการพูดคุยสอบถามก็ยังเป็นเรื่องจำเป็นมากเกี่ยวกับการสเก็ตช์ภาพคนร้าย 

"เริ่มแรกเลย เราต้องอธิบายให้พยานหรือผู้เสียหายซึ่งจะเป็นคนให้ข้อมูลใบหน้าคนร้ายสบายใจ ว่า ภาพวาดที่จะออกมานั้นไม่ได้หมายความว่าเหมือนใครแล้วเราจะไปจับคนนั้นเลย บางคนบอกว่ากลัวบาปเดี๋ยวจับผิดตัว ซึ่งเราก็ต้องทำความเข้าใจกับเขา หลังจากนั้นก็ต้องค่อยๆ ทำการรื้อฟื้นความทรงจำ โดยซักถามไปเรื่อยๆ ห้ามบีบคั้นหรือเร่งรัด ต้องใช้ความอดทนสูง" 

ส่วนคำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป หากกลายเป็นผู้เสียหายหรือพยานที่ต้องให้ปากคำ ว่า เรื่องแรกที่สำคัญที่สุด คือ การช่างสังเกต โดยถ้าไม่มีสิ่งนี้แล้ว รองผู้กำกับชัยวัฒน์ บอกว่ายากที่จะอธิบายรูปพรรณสัณฐานของคนร้ายได้ โดยตามธรรมชาติของมนุษย์เมื่อได้เห็นหน้าอีกฝ่าย สิ่งแรกที่เห็นคือ จมูก จากนั้นจึงจะเป็นดวงตา แล้วค่อยเลื่อนออกสู่จุดที่โดดเด่น ซึ่งหากถามว่า ควรเลือกจำอะไรก่อนหลังนั้น ย่อมต้องเป็นตำหนิที่เด่นชัด ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการสเก็ตช์ภาพให้เหมือนจริงได้ ส่วนเรื่องของรายละเอียดอื่นๆ ยิ่งได้มาก ก็ยิ่งดี แต่จะดีมากกว่านั้น คือ "จำได้แล้ว ต้องไม่ลืม" 

พร้อมทั้งอธิบายว่า โดยปกติแล้ว สมองคนเรามีเรื่องให้คิดมากมาย จึงเป็นเรื่องยากที่จะจดจำใบหน้าคนร้ายได้อย่างละเอียด อย่างดีที่สุดคือ ต้องได้ซักถามเพื่อสเก็ตช์ภาพให้ได้เร็วที่สุด หลังจากเกิดเหตุการณ์ ไม่อย่างนั้น ความจำก็จะค่อยๆ ลางเลือนไป 

"สมองของคนเราไม่ใช่คอมพิวเตอร์นี่ครับ ..มันก็เหมือนเพลงที่ร้องกันว่า อยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ" รองผู้กำกับแอบหยอดทิ้งท้ายขำๆ 




โดย: ปานใจ ปิ่นจินดา 
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ 15 กรกฎาคม 2553  

Views: 854

Reply to This

Replies to This Discussion

สวววดยอดดดดดด อดีตวิช่วลไลเซอร์สินะ
*0*

ตำรวจไทยสุดยอดครับ

ชื่นชม

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service