ภาพพิมพ์แกะไม้ ศิลปินฯ ประหยัด พงษ์ดำ


 

ถึงวันนี้ศิลปินฯ ประหยัด พงษ์ดำ อายุจะเข้าเลข76 ทว่าพลังสร้างสรรค์งานภาพพิมพ์แกะไม้ยังเต็มเปี่ยม 

ถึงวันนี้ศิลปินภาพพิมพ์แกะไม้ Wood cut ประหยัด พงษ์ดำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) อายุจะเข้าเลข 76 ปีเต็มในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เกิด 28 ต.ค. 2477) ทว่าเส้นเอ็นมือของท่านยังคงซึ่งเรี่ยว แรงจับอยู่กับเครื่องไม้เครื่องมือแกะภาพพิมพ์อย่างมั่นคง 

ยิ่งเมื่อใดได้พบปะศิลปินฯ ถวัลย์ ดัชนี ด้วยแล้วดูอารมณ์ดี มีมุขขบขันกัน ทั้งเมื่อได้ถ่ายทอดวิชาความรู้งานภาพพิมพ์แกะไม้ให้กับนักเรียนนักศึกษาตามรั้วสถาบันการศึกษาศิลปะแล้วดูมีความสุขยิ่งขึ้น ดังล่าสุดเดินทางร่วมโครงการศิลปินฯ สัญจรภาคใต้ ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ต้นเดือนกรกฎาคม 

ถ้ากล่าวถึงศิลปินในเมืองไทยแล้ว อาจารย์ประหยัดมีชื่อเสียงเรื่องภาพพิมพ์แกะไม้คนหนึ่งในเมืองไทย นับแต่ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา ในความเชี่ยวชาญงานเทคนิคแกะไม้สามารถแลเห็นได้จากผลงานที่เป็นเอกลักษณ์หรือสไตล์เฉพาะตัว ผ่านรูปสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะรูป “ไก่ชนโก่งคอขัน” ชื่อภาพพิมพ์แกะไม้ “ยามเช้า” รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง ประเภทภาพพิมพ์การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 27 พ.ศ. 2524 

 
ชื่อภาพ ยามเช้า พิมพ์แกะไม้ 40 × 60 ซม. 
--------------------------------------

ภาพ “ยามเช้า” รูปไก่ชนเพศผู้โก่งคอขันบนสุ่มไก่ สื่อให้เห็นถึงยามเช้าของวิถีชีวิตไทยๆ ในชนบทได้เป็นอย่างดี (ภาพนี้ ผู้เขียนนึกถึงเมื่อครั้งชีวิตวัยรุ่นบ้านนอก ไก่โก่งคอขันยามเช้ามืดวันใหม่แทนนาฬิกาปลุก) และภาพพิมพ์นี้อาจารย์ประหยัดได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมประเภทภาพพิมพ์ในเวลานั้น 

ก่อนหน้านี้ “ในปี พ.ศ. 2504 ศิลปินประหยัดได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 ด้วยภาพพิมพ์เทคนิคแกะไม้ (Woodcut) ในผลงานชื่อ “ควายขวิดกัน” จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 12 ผลงานชิ้นนี้ แสดงชีวิตของสัตว์ที่เป็นกำลังสำคัญของชาวนา แสดงความมีพลังที่เข้มแข็งของสัตว์ที่เคยเป็นสัตว์ป่ามาก่อน ฉากหลังเป็นทิวทัศน์ชนบทอันกว้างใหญ่ไพศาล ทั้งหมดมีความประสานกัน ด้วยรอยแกะไม้ และจังหวะเคลื่อนไหวของกลุ่มควาย ที่วนเวียนอยู่เป็นวงรี” (บทสัมภาษณ์ สราวุฒิ ตันณีกุล) 

ในปี พ.ศ. 2506 ท่านได้สร้างงานที่แสดงออกเรื่องชีวิตของสัตว์ ที่พบเห็นได้ในสังคมไทย ชื่อว่า ตุ๊กแก ได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 ประเภทภาพพิมพ์ จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ผลงานต่อมา “สามแม่ลูก” เป็นเรื่องของแมวสามตัวแม่ลูก (อ้างแล้ว) สื่อสะท้อนเพื่อนร่วมโลกที่มีความรักความผูกพัน อาศัยกันอยู่แวดล้อมครัวเรือน นอกจากนี้มีภาพพิมพ์ไม้รูปสัตว์อีกหลายชนิด นกฮูก ช้าง ฯลฯ จนถึงเรื่องราวครอบครัว ที่สื่อความเป็นมนุษย์ รักบริสุทธิ์ของแม่ลูกผูกพันกัน 

ภาพศิลปินฯประหยัด พงษ์ดำ สาธิตภาพพิมพ์แกะไม้ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา จ.สงขลา



เรื่อง: เนติ โชติช่วงนิธิ 
ที่มา: สยามรัฐ 17 กรกฏาคม 2553 

Views: 19572

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service