'โรคห่า' สมัยพระเจ้าอู่ทองคือ 'กาฬโรค' ไม่ใช่ 'อหิวาตกโรค'


 
ภาพเขียนสีน้ำมัน 'โรคระบาดที่เมืองแอชดอด' โดย นิโกลาส์ ปุสแซง 'ศิลปินนักปราชญ์' ชาวฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ.1630 (พ.ศ.2173) 
------------------------------------- 

'พิษ' จากน้ำลายของมังกร หรือนาค คือ 'โรคห่า' ที่ระบาดอยู่ในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ไม่ใช่อหิวาตกโรคอย่างที่เคยเข้าใจกัน แต่เป็น 'กาฬโรค' 

ค.ศ.1347เรือพาณิชย์นาวีลำหนึ่งบรรทุกสินค้าจากโลกตะวันออกเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือพาณิชย์รัฐเจนัว ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศอิตาลี 

'ความตายสีดำ' (Black Death) กำลังจะเข้าคุกคามโลกยุโรปสมัยกลาง 

'ความตายสีดำ' เป็นที่มาของชื่อ 'กาฬโรค' ในฉบับภาษาไทย มีที่มาจากการระบาดของโรคที่ว่าในทวีปยุโรป ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการปวดบวมในบริเวณคอ รักแร้ หรือขาหนีบ มีแผลขนาดตั้งแต่ไข่ไก่จนถึงผลแอปเปิ้ลตามบริเวณต่อมน้ำเหลืองต่างๆ ที่สำคัญคือลำตัวจะมีสีดำคล้ำ จึงถูกเรียกเป็นภาษาละตินว่า 'altra' ที่แปลว่า 'สีดำ' 

เมฆหมอกของความตายสีดำปกคลุมอยู่ทั่วยุโรปจนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1350 ก็ค่อยทุเลาลงไปเรื่อยๆ มีผู้ประมาณการว่า การระบาดใหญ่ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตเฉพาะในดินแดนยุโรปประมาณ 25-50 ล้านคน 

ค.ศ.1350 ตรงกับ พ.ศ.1893 ปีที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ซึ่งมักจะมีวงเล็บต่อท้ายว่า 'พระเจ้าอู่ทอง' สถาปนากรุงศรีอยุธยา 

เอกสารทางประวัติศาสตร์บันทึกว่าการระบาดของโรคดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนในแถบพื้นที่มณฑลเหอเป่ย ประเทศจีนปัจจุบัน เมื่อปี ค.ศ.1331 และลุกลามขึ้นอีกครั้ง คราวนี้ระบาดหนักไปทั่วดินแดนจงหยวนระหว่างปีค.ศ.1353-1354 ชวนให้คิดถึงว่า 'อุษาคเนย์' ในฐานะส่วนหนึ่งของเครือข่ายการค้าโลกข้ามสมุทร โดยเฉพาะเป็นเส้นทางผ่านจากจีน ไปยังอินเดีย ถึงโลกตะวันตก คงจะหนึ่งในเหยื่อของภัยร้ายจากระบาดของความตายสีดำที่ว่า 

เรื่องพระเจ้าอู่ทองหนีโรคห่ามาสร้างเมืองอยุธยา มีบันทึกอยู่ในพงศาวดารเหนือ ซึ่งรัชกาลที่ 2 นำมาทรงเรียบเรียงเป็นพระราชพงศาวดารสยามอีกทอดหนึ่ง 

ในพงศาวดารทั้งสองฉบับอ้างว่าพระเจ้าอู่ทองหนีโรคห่ามาจากกัมพุชเทศ แต่ความเข้าใจที่แพร่หลายกว่ากลับปรากฏอยู่ในเรื่องเมืองอู่ทอง ในนิทานโบราณคดี ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่พระเจ้าอู่ทองหนีโรคห่ามาจากเมืองอู่ทอง 

ไม่ว่าพระเจ้าอู่ทองจะหนีโรคห่ามาจากไหนก็ดี ตำนานเกี่ยวกับการสร้างเมืองอยุธยาของพระเจ้าอู่ทอง ก็ดูจะสัมพันธ์กับโรคห่าอยู่มาก 

 
3. ภาพพิมพ์ไม้จากยุคกลาง ประกอบในหนังสือพงศาวดารฉบับนูเรมเบิร์ก เมื่อกาฬโรคระบาดครั้งใหญ่ในยุโรปเมื่อปีค.ศ. 1347-1350 (พ.ศ. 1890-1893) 
-------------------------------------------- 

 
ภาพพิมพ์ไม้จากยุคกลาง ประกอบในหนังสือพงศาวดารฉบับนูเรมเบิร์ก เมื่อกาฬโรคระบาดครั้งใหญ่ในยุโรปเมื่อปีค.ศ. 1347-1350 (พ.ศ. 1890-1893) ชนกลุ่มน้อยอย่างขอทาน นักบวชจากแดนไกล ผู้เร่ร่อน โดยเฉพาะ 'ชาวยิว' ถูกสงสัยว่าเป็นต้นเหตุ หลายเมืองในยุโรปมีการนำชาวยิวมาเผาทั้งเป็น 
--------------------------------------------


มีข้อมูลที่น่าสนใจปรากฏอยู่ในพงศาวดารอยุธยา ฉบับวันวลิต พ.ศ. 2182 ว่าพระเจ้าอู่ทองถูกเนรเทศมาจากเมืองจีน ขึ้นสำเภอมาลงที่เมืองปัตตานี แล้วย้ายอยู่ตามเมืองท่าชายทะเลต่างๆ เช่น เมืองนครศรีธรรมราช กุยบุรี (ประจวบคีรีขันธ์) เพชรบุรี บางกอก แล้วมาปราบโรคระบาด ที่มีสัญลักษณ์เป็น 'น้ำลาย' ของมังกร หรือนาค จากนั้นค่อยสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นมา 

เส้นทางที่สัมพันธ์อยู่กับการค้าทางทะเลเหล่านี้ ชวนให้นึกถึงชะตากรรมของผู้คนที่อาศัยอยู่ตามเมืองท่าในเส้นทางการค้าโลกข้ามสมุทร ซึ่งประสบเคราะห์กรรมด้วยภัยจากการระบาดของกาฬโรค 

ยิ่งเมื่อเอกสารโบราณแต่ละฉบับต่างให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1893 ศักราชที่ว่าตรงกับ ค.ศ.1350 ปีที่มีการระบาดใหญ่ของความตายสีดำในยุโรป และเทียบเคียงกับข้อมูลการระบาดของกาฬโรคในจีนซึ่งร่วมสมัยกันอยู่ ก็ยิ่งชวนให้คิดไปว่า โรค 'ห่า' ที่พระเจ้าอู่ทองปราบได้ คงจะเป็นเจ้าโรคเดียวกันกับที่ทำให้คนในยุโรปยุคกลางตายไปเป็นเบือ 

'พิษ' จากน้ำลายของมังกร หรือนาค คือ 'โรคห่า' ที่ระบาดอยู่ในสมัยพระเจ้าอู่ทอง จนพระองค์สามารถปราบลงได้ จึงไม่ใช่อหิวาตกโรคอย่างที่เคยเข้าใจกัน แต่เป็น 'กาฬโรค' หรือ 'ความตายสีดำ' ที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากตามเส้นทางการค้าโลกข้ามสมุทรสมัยโบราณ 

และก็เป็นเพราะ 'อยุธยา' ไม่ได้ตั้งอยู่อย่างโดดๆ แต่อยู่ร่วมในเครือข่ายการค้าโลกข้ามสมุทร พระเจ้าอู่ทอง จึงต้องหนี หรือปราบโรคห่า ก่อนจะสถาปนาอยุธยาจนยิ่งใหญ่ได้นั่นเอง 

 
คุณหมอจงอยปากนกแห่งกรุงโรม' ภาพพิมพ์ฝีมือ ของ Paul F?rst ผลิตขึ้นที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ราวค.ศ.1656 (พ.ศ. 2199) แสดงภาพนายแพทย์ผู้ดำเนินการเรื่องยาและโรคระบาดรวมถึง 'กาฬโรค' จะต้องสวมหน้ากากรูปร่างคล้ายจงอยปากนก 
-------------------------------


/////////// 
โรคห่า กาฬโรค ยุคพระเจ้าอู่ทอง ฝังโลกเก่า ฟื้นโลกใหม่ ได้ราชอาณาจักรสยาม 

เชิญร่วมโครงการ 'แบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลอง' เรื่อง 'โรคห่า กาฬโรค ยุคพระเจ้าอู่ทอง ฝังโลกเก่า ฟื้นโลกใหม่ ได้ราชอาณาจักรสยาม' ในวันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม 2553 ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป ณ โรงละครแห่งชาติ (โรงเล็ก) สนามหลวง เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า 
- ชมการแสดง 'Black Death in Music อยุธยากาฬโรค' โดยวงปี่พาทย์ลูกทุ่ง คณะศิษย์เรืองนนท์ 
- ชมสารคดี 'The Black Death' จากดิสคัฟเวอรี 
- ชมสารคดี 'Black Death และพระเจ้าอู่ทอง' โดย กระทรวงวัฒนธรรม (บทโดยสุจิตต์ วงษ์เทศ) 
- ร่วมรับฟังการเสวนาเรื่อง 'Black Death และพระเจ้าอู่ทอง' โดยอาจารย์ทรงยศ แววหงส์ นักวิชาการอิสระ, ดร.สายัณห์ แดงกลม คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, อาจารย์อติภพ ภัทรเดชไพศาล นักวิชาการอิสระ และอาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ดำเนินรายการโดยธนาวิ โชติประดิษฐ และปติสร เพ็ญสุต 
- ชมลิเกเสภาเรื่อง 'ท้าวอู่ทองปราบนาคมังกรระบาด' บทโดยสุจิตต์ วงษ์เทศ แสดงโดยศิลปินกรมศิลปากร ปกรณ์ พรพิสุทธิ์, กัญจนปกรณ์ แสดงหาญ, ถนอม นวลอนันต์, ประสาน ทองอร่าม, จรัล พูนลาภ ฯลฯ พร้อมด้วยศิลปินรับเชิญ วิโรจน์ วีระวัฒนานนท์, นฤพนธ์ หลานหอมหวล, วิไลวรรณ ชูเชิด และบุญสร้าง เรืองนนท์ ปี่พาทย์รับลิเก 

ชมฟรีไม่ต้องมีบัตร สอบถามเพิ่มเติมที่กระทรวงวัฒนธรรม โทร.02422-8851-3 




โดย : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ 
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ 8 กรกฎาคม 2553 

Views: 1831

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service