ศิลปะเครื่องดนตรีพิสดาร คล้ายกีตาร์ แต่หาใช่ไม่

ท่านที่ติดตามผมมาตลอด อาจจะกำลังคิดว่า ตานี่กำลังจะเขียนถึง ukulele อีกแล้วเป็นแน่แท้ แต่ไม่ใช่นะครับ คราวนี้ผมมาพร้อมกับเครื่องดนตรีที่มีลักษณะคล้าย ๆ กับกีตาร์ แต่ไม่ใช่ ซึ่งผมเองก็เพิ่งได้รู้จักเจ้าเครื่องดนตรีเหล่านี้ได้ไม่นานนัก เนื่องมาจากมีท่านนักดนตรีอาวุโสท่านหนึ่งมาปรึกษาให้ช่วยหาเจ้าเครื่องสายพิสดารนี่ให้ ซึ่งผมก็รับปากไปว่าได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ก็เหลือแค่หาให้พบเท่านั้น อ่านแล้วรบกวนให้ไปชมคลิปใน YouTube ประกอบจะได้อรรถรสอย่างมาก ชมทั้งภาพและฟังเสียงไปด้วยกัน

Bouzouki tetrachordo
---------------------------

มาเริ่มกันที่เครื่องแรกครับ ขอประเดิมด้วย Bouzouki เจ้าเครื่องดนตรีจากประเทศกรีซ ที่ชื่อคล้าย ๆ ยี่ห้อมอเตอร์ไซค์ตัวนี้ ลักษณะตัวเป็นรูปคล้ายลูกท้อ ที่ไม้ด้านหน้าประดับประดาด้วยลายมุกสวยงามไปเกือบทั้งตัว มีคอยาวมากจนดูเกะกะ เวลาเล่นรูดสายจากเสียงสูงมาต่ำกันสุดแขน ทีเด็ดคือมีสายที่ไม่ได้มาเป็นเส้น ๆ แต่มาทีละคู่ เช่น สามคู่ หรือสี่คู่ เวลาดีดแล้วเสียงจะออกมาทีละคู่ เวลาฟังได้อารมณ์ของ world music ติดกลิ่น exotic หน่อย ๆ อร่อยหูซ้ายไปถึงหูขวา เห็นแบบนี้ อย่าคิดว่าเป็นเครื่องดนตรีนอกกระแสนะครับ ที่กรีซเขาเอามาเล่นเป็นวง มีกลองชุด เบส มีเพอร์คัสชั่น คีย์บอร์ด และร้องเพลง เท่ระเบิดทีเดียว ผมไปดูมาจากในคลิปวิดีโอ ผู้ชมปรบมือเฮฮาตามกันใหญ่ สำหรับหูอย่าผึ่งฟังแล้วไม่ถนัด แต่ทราบว่าฝีมือคนเล่นไม่ธรรมดา เพียงแค่ไม่ชินในซาวนด์ที่สัมผัสเท่านั้นเอง


ต่อด้วย Baglama เจ้านี่ก็ไม่ธรรมดา หน้าตาโบราณจัด คล้ายซอของไทยเรา ที่ด้านหน้าแบน แต่ด้านหลัง ป่องเป่ง แต่ก็ไม่เหมือน เพราะขนาดเขื่องกว่า และรูปทรงยืดยาวกว่า (สรุปแล้วอาจไม่เหมือนในสายตาคุณก็ได้) มันเป็นเครื่องดนตรีของประเทศแถบตุรกีไปจนถึงเอเชียตอนกลาง สามารถเล่นได้ทั้งด้วยปิ๊กและใช้นิ้วดีด คาดว่าบรรดาหนุ่ม ๆ แขกขาวคงเล่นเจ้า Baglama เคล้าการร้องเพลง แทนเล่นกีตาร์เวลาจีบสาวกันถ้วนหน้า เสียงออกแนวแขก ๆ เหงา ๆ ดิบ ๆ แต่เร้าใจ ส่วนมากที่ได้ชมมา เขาจะเล่นรัวกันระ เร่า ในสำเนียงที่ทำให้หลับตาแล้วเห็นทะเลทรายตรงหน้าได้ทันที หากสนใจชม ขอแนะนำให้หาคลิปของ Orhan Gencebay มาลองครับ รับประกันความมันส์ เพราะท่านปู่คนนี้เป็นมือหนึ่งทางด้านนี้ เล่นมาตั้งแต่หนุ่มจนเป็นปูชนียบุคคลคน Baglama ไปแล้ว

A Bolivian charango
-------------------

ลำดับต่อมาคือ Charango อันนี้ย้ายจากโซนแขกขาว มาสู่โซนอเมริกาใต้ เสน่ห์ของมันที่บางท่านอาจจะไม่ชอบ คือตามตำรับแท้แล้ว ตรงตัวของ Charango จะต้องทำมาจากกระดองของตัว armadillo หรือตัวนิ่มนั่นเอง แต่ปัจจุบันมีคนเอาไม้มาทำแทนแล้ว สุ้มเสียงอาจไม่ขลังเท่า เพราะไม่มีวิญญาณสัตว์ฝังอยู่ด้วย ลักษณะตัวของเจ้าเครื่องสายจิ๋วนี้ ดูเผิน ๆ คล้าย ukulele หากเอาคอปักดินแล้วโผล่มาแค่ตัว อาจจะคิดไปอย่างนั้นได้ แต่หากดึงคอและหัวขึ้นมาจะพบว่า แม้คอจะสั้น แต่ความกว้างและขนาดของหัวนั้น ใหญ่ขนาดกีตาร์คลาสสิกเลยทีเดียว นับเป็นการผสมตัวเล็กกับหัวใหญ่และคออ้วนที่น่าพิสมัยยิ่ง สายของ Charango มีถึงห้าคู่ด้วยกัน รวมทั้งสิ้นสิบสาย ดีดทีเสียงประสานกันแน่นอย่างกับมาทั้งวง ว่ากันว่ามันถูกสร้างขึ้นมาครั้งแรกที่เปรู สมัยที่ชาวสเปนมาล่าอาณานิคม เลยเอาตำรับเครื่องดนตรีสเปนมายำกับของท้องถิ่นไปพร้อม ๆ กับการกลืนกินวัฒนธรรมของชาวอินคาเจ้าถิ่นไปด้วย ใครอยากชอบอารมณ์เจ้าเครื่องนี้ ขอเชิญไปชมที่คลิปของ Hector Soto กูรู Charango แถวหน้าของโลกคนหนึ่ง

Cuatro Venezolano
-------------------------

สุดท้ายขอปิดท้ายที่ Cuatro เครื่องดนตรีจากอเมริกาใต้อีกชิ้น เจ้านี่หน้าตาเหมือน ukulele อย่างกับแกะ การตั้งสายก็เหมือนกันกับการตั้งสายในแบบ D tuning ของ ukulele แต่เสียงเซตไว้ต่ำกว่ากัน ที่สำคัญ วิธีเล่นต่างกันคนละเรื่อง ซึ่งจริง ๆ แล้ว หากใครเล่น ukulele ได้ ก็หยิบ cuatro มาเล่นได้ เพียงแต่ที่อเมริกาใต้ เขาเอามันมาเล่นในวิธีอื่น อาจโดนแซวได้ นอกจากนี้ยังมี cuatro ที่มีสายมากกว่าสี่สาย พิลึกกึกกือกันเข้าไปอีก

เป็นอย่างไรครับ เอาของแปลกมาฝาก อาจจะพอสร้างความบันเทิงใจในสภาวะการเมืองเลวร้ายแบบนี้ได้ ลองหยุดติดตามข่าวแย่ ๆ แล้วเข้าเน็ตหาเครื่องดนตรีแปลก ๆ มาดูมาฟังกันครับ หากฟังไม่ชอบ ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราก็ได้เปิดโลกทัศน์ของเรา ดีกว่าไปก่อม็อบเป็นไหน ๆ ครับ


โดย : อัษฎา อาทรไผท 
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ (หน้าพิเศษ D-Life)
คอลัมน์ SOUND Delicious
วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4208 

Views: 3494

Reply to This

Replies to This Discussion

พิสดารดีมาก เล่นได้ไพเราะหูซ้ายไปทั่วหูขาวด้วย
เห็นแล้วทำให้นึกถึงหนัง "AGORA" ที่เพิ่งดูมา เรื่องราวย้อนไปศตวรรษที่ 4 ไม่แน่ใจว่าเมืองอเล็กซานเดรียในตอนนั้นมีดนตรีประเภทนี้รึยัง

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service