รายงาน 'หนังไทย' ใน 'ร็อตเตอร์ดาม'

โดย : ธัญสก พันสิทธิวรกุล 

เทศกาลหนังนานาชาติร็อตเตอร์ดามครั้งที่ 39 ที่จัดขึ้นในเมืองร็อตเตอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 27 มกราคม ถึง 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีผลงานหนังไทยได้รับเลือกไปร่วมงานนี้ทั้งหนังสั้นและหนังยาว ซึ่งงานที่ร็อตเตอร์ดามปีนี้ ได้รับการกล่าวขานถึงว่า เป็นงานที่แสดง "แนวโน้ม" และ "เปิดพื้นที่(หนัง)ทดลอง" สำหรับคนทำหนังมากกว่าจะเป็นงานโชว์ตัวดารา ปูพรมแดง หรือบรรยากาศแบบหรูหราแบบคานส์หรือเบอร์ลิน และคนที่ไปร่วมงานส่วนใหญ่เป็น "ผู้กำกับหนัง"

ธัญสก พันสิทธิวรกุล หนึ่งในคนทำหนังไทยที่ได้รับเชิญไปแสดงงานคราวนี้ ได้เก็บบรรยากาศ ความประทับใจ และหนังน่าสนใจ มาเล่าสู่กันฟัง


ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฉันมาเยือนเทศกาลนี้ หนังของฉันเริ่มฉายครั้งแรกที่นี่ตั้งแต่ปี 2005 เทศกาลหนังร็อตเตอร์ดามเป็นเวทีรอง ถัดจากเทศกาลเก่าแก่อย่าง คานส์ เวนิซ และเบอร์ลิน ขณะที่เทศกาลใหญ่เหล่านั้นเน้นพิธีการ ใส่สูท เดินพรมแดง มีแถลงข่าวสำหรับผู้กำกับใหญ่ และหนังต้องฉายด้วยฟิล์มเท่านั้น จุดขายของร็อตเตอร์ดัมจึงมุ่งไปที่ไม่มีพิธีรีตรอง เน้นผลักดันผู้กำกับรุ่นใหม่ และยอมรับหนังทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นดิจิตอล หรือฟิล์ม บันเทิงสุด ๆ ไปจนถึงทดลองหนัก ๆ


ที่นี่โปรแกรมจะแบ่งเป็น 3 สายหลัก ได้แก่ Bright Future คือ หนังของคนทำหนังหน้าใหม่ ที่เพิ่งทำหนังเข้าตามาไม่เกิน 2 เรื่อง ส่วนสาย Spectrum สายสำหรับผู้กำกับแบบออเตอร์(auteur)ที่มีลายเซ็นต์เป็นของตัวเองชัดเจน และ Signal คือสายที่จะมีธีมการนำเสนอเปลี่ยนไปในแต่ละปี เช่นปีที่แล้วเป็นหนังสยอง ปีนี้เป็นหนังจากอาฟริกา

หนังยาวของไทยปีนี้ประกอบด้วย เจ้านกกระจอก ของ อโนชา สุวิชากรพงศ์ และ เฉือน ของผู้กำกับ ก้องเกียรติ โขมสิริ ในสาย Bright Future นางไม้ ของ เป็นเอก รัตนเรือง และ จุติ (Reincarnate) ของฉันเอง (ธัญสก พันสิทธิวรกุล) ในสาย Spectrum ส่วน Unreal Forest ของ จักรวาล นิลธำรงค์ อยู่ในสาย Signal

ส่วนหนังสั้นไทย ได้แก่ เถียงนาน้อยคอยรัก ของ วิชานนท์ สมอุ่นจารย์ สุญญากาศและ Rise ของ วิศรา วิจิตรวาทการ My Mother and Her Portrait และ Small Village and Its Remains ของ ชัยศิริ จิวะรังสรรค์ และ จดหมายถึงลุงบุญมี ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ด้วยความที่เน้นผลักดันคนรุ่นใหม่ หนังที่มีสิทธิ์ประกวดบนเวทีแห่งนี้ จึงจำกัดแค่สาย Bright Future

ซึ่งปีนี้ตัวแทนประเทศไทยคือ "เจ้านกกระจอก" ที่คว้ารางวัลไทเกอร์ อวอร์ดส์ (หมายถึง รางวัลหนังยอดเยี่ยมในสายนี้ของเทศกาลนี้--กองบก.) มาได้สมใจ

แน่นอนว่าหน้าที่หลักของการมาเยือนเทศกาล คือพูดคุยกับคนดูทั้งก่อนและหลังฉายหนัง เวลาที่เหลือสำหรับฉัน คือการตระเวนดูหนังอย่างแข็งขัน ถ้าจะสาธยายทั้งหมดเกรงว่าหน้ากระดาษจะไม่พอ

ฉันขอเลือกที่โดนใจที่สุดจากมากไปหาน้อยมา 3 อันดับดังนี้ ซึ่งทั้งหมดเป็นหนังเอเชียในสาย Spectrum

(1) Spring Fever หนังจีนของผู้กำกับสุดฉาวของ ผู้กำกับ โล่วเอ่อ ที่เมื่อครั้งทำ Summer Palace ซึ่ง.นอกจากจะโป๊แล้ว ยังพาดพิงเหตุการณ์เทียนอันเหมิน อันมีผลทำให้เขาโดนโทษห้ามทำหนัง 5 ปี แต่ไม่ทันครบ 3 ปีดี เขาก็ลอบทำหนังดิจิทัลเรื่องนี้ออกมา แถมยังคว้ารางวัลบทยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์มาอีกด้วย หนังเปิดด้วยภาพชายรักชายที่จูงกันลักลอบหาความสุขในต่างเมือง ด้วยภาพแอบมอง ที่ค่อย ๆ เผยให้เห็นว่ามันแทนสายตาของชายอีกคนหนึ่ง ที่ถูกภรรยาของหนึ่งในคู่ชายรักชายนั้นจ้างวานมา ขณะที่ในบทบาทของการร่วมเพศเราจะพบว่า อีกคนที่ดูจะเป็นคิง กลางคืนก็แต่งหญิงโชว์ลิปซิงค์ในผับซะอย่างนั้น แล้วความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งหมด ก็ลื่นไหลสับคู่นัวเนีย เล่าอย่างนี้คงเห็นภาพเมโลดราม่าน้ำเน่า แต่เขากลับทำมันออกมาสมจริง สร้างแรงบีบไปสู่ทางออกของเรื่องราวที่คาดไม่ถึง ราวกับชะตาชีวิตที่ไม่อาจคาดเดา จนหัวใจแทบแหลกสลาย อันสะท้อนภาพสังคมหลังเปิดประเทศ ที่ก้าวกระโดดไปสู่ทุนนิยมสุดขั้วของจีนได้ชัดเจนที่สุด (ติดตามได้ใน youtube )



(2) Where are you?
หนังญี่ปุ่นของ มาซะฮิโระ โคบายาชิ ที่ให้ลูกชายตัวเองมาแสดงเหตุการณ์ในวัยเด็กของตัวผู้กำกับเอง เป็นหนังที่มีคนลุกออกเยอะมากที่สุดเท่าที่ดูมา ด้วยความที่เขาใช้ภาพซ้ำ ๆ ของชีวิตประจำวันเด็กหนุ่ม ที่ทำงานในร้านสะดวกซื้อ แอบขโมยของในร้าน แล้วกลับมาบ่นเรื่องความหิวของตัวเอง เพราะน้ำไฟถูกตัด เนื่องจากแม่ป่วยใกล้ตาย ส่วนพ่อก็ทิ้งไปสร้างครอบครัวใหม่ในโตเกียว ซึ่งตัวละครพ่อนั้นแสดงโดยผู้กำกับเอง เรียบง่าย แต่น่าทึ่ง เมื่อเขาเล่าอดีต โดยใช้ตัวเองและลูก มันจึงเต็มไปด้วยคำถามถึงอนาคตของลูกหากว่าวันหนึ่งพ่อต้องจากไป เขาจะไปอยู่ที่ไหนได้ ในสภาวะที่เศรษฐกิจในญี่ปุ่นกำลังจะล่มสลาย (ติดตามชมได้ที่ youtube)



(3) At the End of Daybreak
หนังมาเลเซีย ของโฮ ยูฮัง ซึ่ง Rain Dogs ของเขาเคยเข้าโรงบ้านเรา คราวนี้ต้องยอมรับจริง ๆ ว่าฝีมือของเขาก้าวกระโดดไปไกลจากเรื่องนั้นเป็นอย่างยิ่ง หนุ่มอายุ 23 ที่ยังทำตัวเป็นเด็กแว๊น กลางวันช่วยแม่ กลางคืนหิ้วแฟนอายุ 14 ซิ่งมอเตอร์ไซค์ไปแอบมีเซ็กซ์กันในบ้านร้าง เนื้อหาแทบจะไม่ต่างจากข่าว ที่เปิดอ่านได้ตามหนังสือพิมพ์บ้านเรา ที่มีทั้งเด็กตบกัน ความสัมพันธ์สับสนที่แยกเซ็กซ์กับรักไม่ออก รวมไปถึงแม่ที่ข้างนึงก็ตั้งใจอยากจะให้ลูกได้ดี แต่อีกข้างตัวเองก็แหว่งวิ่นไม่แพ้กัน ทั้งติดเหล้า ทั้งมีรักซ้อน ก่อนที่เรื่องจะค่อย ๆ เขม็งเกลียวไปถึงจุดที่ทุกอย่างแตกหักลง ในทิศทางที่ตรงข้ามกับภาพฝันสวยงามที่หนังปูไว้ตั้งแต่แรก (ติดตามชมได้ที่ youtube)



ในส่วนของจุติ (Reincarnate) หนังของฉันนั้น ถ้าจะไม่พูดถึงก็ดูจะใช่ที่ เพราะเห็นแววว่าคนไทยคงอดดูกัน ครั้นจะโม้ถึงหนังตัวเองก็ดูจะน่าเกลียดเกิน เลยขอยกคำวิจารณ์จาก กาซยาน ซุยลโฮฟ โปรแกรมเมอร์ที่คัดเลือกหนังของฉัน เขา(ให้เหตุผล)ว่า

"เป็นเรื่องรักเกย์ ที่มีส่วนผสมของหนังทดลอง สารคดี และเรื่องแต่ง ทั้งยังส่วนตัวมาก ๆ ซึ่งตัวผู้กำกับเอง ได้ถ่ายทอดชีวิตและความรู้สึกของเขาแก่คนดู ทั้งยังมีเนื้อหาในแง่มุมการเมือง ตัวหนังต่อต้านกฎหมายใหม่ในเมืองไทยชนิดที่เกินกว่ากองเซ็นเซอร์จะคาดถึง นำเสนอเนื้อหาเช่นการแสดงออกทางเพศ ที่นอกจากจะหมิ่นเหม่ต่อการถูกแบนแล้ว ยังร้ายแรงถึงอาจเป็นอาชญกรรม(ตามกฎหมายใหม่) สำหรับคนทำหนังอย่างเขาที่มักจะมุ่งเน้นอารมณ์ทางกายภาพในหนัง ธัญสกโต้แย้งว่า ให้เขาเลิกทำหนังเสียดีกว่าหากไม่อาจทำตามแรงกระตุ้น(ทางเพศและทางศิลปะ)ของ เขาได้ คงไม่ต้องถามว่าหนังเรื่องนี้จะได้ฉายในประเทศตัวเองหรือไม่ และยิ่งดูเป็นการเย้ยหยันอย่างยิ่ง เมื่อตัวผู้กำกับเองนั้นเคยได้รับรางวัลศิลปาธรจากหน่วยงานเดียวกับที่แบน หนังของเขา ในสมัยของรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งให้กับศิลปินคนสำคัญของไทย”

สุดท้าย เทศกาลปีนี้ นอกจากจะทำให้ฉันได้รู้โลกว่าเขาก้าวไปไกลกันแค่ไหนแล้ว ยังต้องย้อนกลับมาดูประเทศตัวเองด้วยว่า หนังได้กลายเป็นแค่ความบันเทิงที่เน้นสนองความพอใจของคนดู เพื่อเพิ่มยอดรายได้ โดยแทบไม่มีใครสนใจจะนำเสนอเนื้อหาที่หนักแน่นแข็งแรง และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้กับวงการแล้ว เรายังมีหน่วยงานที่จำกัดขอบเขตให้คนทำหนังไม่อาจทำอะไรที่แปลกต่างได้อีก ต่อไป

อยากจะบอกว่า ‘ถ้าไม่คิดจะสนับสนุน ก็โปรดอย่าทำลาย’


...................................


ของฝากจาก ร็อตเตอร์ดาม
--โปสเตอร์หนังเด่น
เอเดรียน เคอร์รี่ คอลัมนิสต์นักวิจารณ์ คัดเลือกโปสเตอร์หนัง 15 เรื่อง ที่ดีที่สุดจากเทศกาลหนังร็อตเตอร์ดัมมาให้ดู มีหนังไทยติดอันดับด้วย 2 เรื่อง ได้แก่ Nymp (นางไม้) ทีเป็นลายเส้นกราฟิกหญิงสาวกอดต้นไม้ และ Reincarnate (จุติ) งานดีไซน์ของ NSFW ที่ใช้งานไทโปกราฟีและใส่สีสะดุดตา (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.theauteurs.com/notebook/posts/1493)

-เกี่ยวกับโลโก้ "เสือแรกรุ่น"
75B (http://www.75b.nl/) เป็นกลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่มาแรง ซึ่งพำนักในร็อตเตอร์ดัม และได้รับการคัดเลือกให้มากำกับศิลป์ ทุกส่วนของเทศกาล ทั้งรีดีไซน์โลโก จากเสือดุ กลายเป็นเสือแรกรุ่น สีขาว-ดำ เรียบง่ายแต่ซุกซนด้วยการจับเข้าคู่สี ภาพ ฟ้อนท์ที่ดูไม่เข้าให้ลงตัวได้น่าทึ่ง เป็นการประกาศเจตนารมณ์ของเทศกาลที่จะมุ่งส่งเสริมการพัฒนาการของภาพยนตร์ ที่อิงศิลปะ และงานทัศนศิลป์อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับหนัง สรุปง่ายๆคือ ร็อตเตอร์ดาม จะดันหนังอาร์ตและงานศิลป์ในหนังอย่างเต็มตัว มุ่งสู่อนาคตต่อไป


โดย : ธัญสก พันสิทธิวรกุล
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ Life Style : ภาพยนตร์/ดนตรี
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553

Views: 816

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service