สัมมนาวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ 'ความทรงจำ : ปัจฉิมลิขิตของการลืม'


'ความทรงจำ' ปัจฉิมลิขิตของการลืม 

 

ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดโครงการสัมมนาวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ 'ความทรงจำ : ปัจฉิมลิขิตของการลืม' 

เทคโนโลยีปัจจุบันได้ย่นย่อพื้นที่และเวลา รูปลักษณ์ของความทรงจำหรือ/และความจำกลายเป็นรหัสที่สามารถถูกถอด เก็บ และโยกย้าย ต่างสามารถลดหรือเพิ่มหน่วยความจำ ปรับคุณภาพของหน่วยความจำ กระทั่งลบหน่วยความจำที่ไม่อยากจำ 


วิทยาการสมัยใหม่ให้ภาพของการจัดการความทรงจำที่ชัดขึ้น โดยย้อนมาตอกย้ำว่าความทรงจำที่สั่งสมผ่านรูปลักษณ์ต่างๆ ทั้งวัตถุ สถานที่ ลายลักษณ์อักษร หรือผ่านวัฒนธรรมมุขปาฐะ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ผ่านกระบวนการกรอง ตรอง ปรับ ตัด แก้ไข จนต้องตรวจสอบและทบทวน 


การสั่งสมกักเก็บความทรงจำไม่ได้มากับความจำเพียงเท่านั้น แต่มาพร้อมการ 'ลืม' การทำให้จำเลี่ยงไม่พ้นว่าต้องมีการทำให้ลืม/เลือน การเตือนความจำด้วยสิ่งที่เป็นปัจจุบัน (แล้วอะไรคือปัจจุบัน?) คือเตือนบอกถึงสิ่งที่ผ่านมาแล้ว เท่ากับว่าคงชีวิตไว้คู่ความตาย ชี้เป็นชี้ตายในกายเดียวกันต่อหน้าโบราณสถาน โบราณวัตถุ เอกสาร หลักฐานต่างๆ 


'งานประวัติศาสตร์ศิลปะ' เผชิญอยู่กับประเด็น 'ความจำ' และ 'ความทรงจำ' ตลอดเวลา ต้องระลึกยุค จำสมัย รู้รูปแบบ ลวดลาย ต้องจำว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นตัวแทนของความทรงจำประเภทใด ถูกดัดแปลง ปรับเปลี่ยนอย่างไร มีความหมายที่ต้องไถ่ถามตรวจสอบหรือไม่ และอีกนานาคำถามที่ทำให้ต้องควานไปค้นในความทรงจำทั้งที่อยู่ในตัวบุคคล และผ่านตัววัตถุ ทั้งที่เป็นลายลักษณ์และคำบอกเล่า ศาสตร์สาขาอื่นๆ อาทิ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา สังคมวิทยา วรรณกรรม ปรัชญา ศิลปะ ฯลฯ ต่างเผชิญหน้ากับประเด็นดังกล่าวด้วยเช่นกัน และต่างมีหนทางในการจัดการความทรงจำอย่างหลากหลาย 

 
'ตาชมหัล' หรือ 'ทัชมาฮาล' 
-----------------------


ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงได้จัดโครงการสัมมนาวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ 'ความทรงจำ : ปัจฉิมลิขิตของการลืม' เพื่อรวบรวมและนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับความทรงจำในบริบทของงานด้านศิลปวัฒนธรรม 


การรื้อฟื้นความทรงจำอาจตีแผ่เบื้องหน้าเบื้องหลังของกรณีศึกษา ทว่า การรื้อฟื้นไม่ช่วยให้ฟื้นคงเดิม แต่เป็นการปรับค่าและรูปลักษณ์ใหม่ ตลอดจนกดทับบางส่วนให้ตกไป ทั้งรื้อฟื้นและลบ ทั้งกลบและเผย หรือเชยเฉยอยู่กับความทรงจำเดิมๆ 


หลากหลายแง่มุมของ 'ความทรงจำ' ในประวัติศาสตร์ อาจมองผ่านกรณี 'ตาชมหัล' (Taj Mahal) สุสานของพระนางมุมตัชมหัล มเหสีของพระเจ้าชาห์ชาฮาน นับเป็นตัวอย่างของสุสานในฐานะของอนุสรณ์แห่งความรักที่คนส่วนมากรู้จักกันดี โดยสุสานดังกล่าวตั้งอยู่กลางสวนที่มีน้ำหล่อเลี้ยงตลอดเวลา สวนดังกล่าวนี้ คือสวนอีเดนตามคติสวนสวรรค์นั่นเอง และแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าชาห์ชาฮานมีพระประสงค์ให้พระนางมุมตาชมหัล ทรงประทับอย่างมีความสุขในสวนสวรรค์ 


หินอ่อนสีขาวทั้งหลังของตาชมหัล ยังเป็นการสะท้อนความประสงค์ของพระเจ้าชาห์ชาฮานที่จะให้สุสานของพระนางให้มีสีขาวประดุจปุยเมฆบนสรวงสวรรค์แสดงถึงความรัก/ความอาลัยของพระองค์ที่มีต่อพระนาง 

 
พระพุทธรูปนาคปรกศิลปะลพบุรี ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารวัดพระธาตุลำปางหลวง 
--------------------------------


หรือกรณีของพระพุทธรูปนาคปรกศิลปะลพบุรีซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในวิหารวัดพระธาตุลำปางหลวง มีตำนานระบุไว้ว่าเป็น “...พระสีลาเจ้าอันพระยาละโว้พ่อนางจามเทวี ให้มาไว้เป็นที่ไหว้แก่อนันตยศผู้เป็นหลานตน...” ตำนานดังกล่าวไม่ใช่เรื่องจริง เพราะว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีรูปแบบที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ในขณะที่พระนางจามเทวีเสด็จขึ้นมาครองราชสมบัติเมืองหริภุญชัยและเจ้าอนันตยศมาครองเมืองเขลางค์หรือลำปางเกิดขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 13 


การผูกโยงพระพุทธรูปองค์นี้เข้ากับพระบิดาของพระนางจามเทวีผู้เป็นเจ้าเมืองละโว้นั้น คงเป็นเพราะผู้แต่งตำนานรับทราบถึงพุทธลักษณะหรือที่มาของพระพุทธรูปองค์นี้ว่าเกี่ยวข้องกับเมืองลพบุรีนั่นเอง 

 
โถปัสสาวะ งานศิลปะร่วมสมัยของ Marcel Duchamp 
------------------------------


ในงานศิลปะร่วมสมัย โถปัสสาวะที่ Marcel Duchamp ศิลปินกลุ่มดาดา นำมาจัดแสดงอยู่ในแกลเลอรีเมื่อปี ค.ศ. 1917 ประหนึ่งว่าเป็นงานศิลปะชั้นสูง พร้อมไปกับที่เป็นการเย้ยหยันว่างานศิลปะเกิดขึ้นได้ก็เพราะแกลลอรีมากกว่าเพราะตัวชิ้นงานเอง โถปัสสาวะที่ว่าถูกจัดแสดงประหนึ่งว่าเป็นงานศิลปะชั้นสูง พร้อมไปกับที่เป็นการเย้ยหยันว่างานศิลปะเกิดขึ้นได้ก็เพราะแกลลอรีมากกว่าเพราะตัวชิ้นงานเอง 


ต่อมาผลงานชิ้นดังกล่าวถูกยกย่องว่าเป็นงานศิลปะที่ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ยิ่งเป็นการตอบย้ำว่าความเป็น 'ศิลปะ' ขึ้นอยู่กับเรื่องราวโดยรอบตัวชิ้นงานมากกว่าตัวชิ้นงานเอง หรือศิลปินผู้สร้างผลงานเสียด้วยซ้ำ 


การตัดสินว่าอะไรคือศิลปะจึงถูกผูกขึ้นจากความทรงจำทางสังคมในแต่ละช่วงขณะ ไม่ได้มีเกณฑ์มาตรฐานตายตัวใดๆ แต่สามารถไหลเลื่อนได้ไปตามเงื่อนไขที่แตกต่างกัน... 


ความทรงจำจึงเป็นเพียงการทิ้งท้ายของเรื่องราว เป็นเพียงป.ล.ของการลืม...เท่านั้นเอง 
......... 
หมายเหตุ : การสัมมนาวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ “ความทรงจำ : ปัจฉิมลิขิตของการลืม”จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 1-วันศุกร์ที่ 2 เมษายนนี้ ณ ห้องประชุม 305 อาคารหอประชุม มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ สำรองที่นั่งหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางarthistory.memento@gmail.com หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ 081-865-5541(คุณณัฐพร) 

............ 
กำหนดการ สัมมนาวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ 'ความทรงจำ : ปัจฉิมลิขิตของการลืม' 


วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2553 
8.00 น. ลงทะเบียน 


8.30 น. ประธานกล่าวเปิดงาน 


9.00 น. 'ชิมอดีต : การฟื้นความทรงจำผ่านเวลา สถานที่และนาฏกรรมของการลืม' โดย ดร. เกษม เพ็ญภินันท์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 


10.30 น. 'การเมืองในภาพของมุสตาฟา เคมาล อัตตาเติร์ก: การเมืองและการแย่งชิงความทรงจำเกี่ยวกับ "พ่อของชาวเติร์ก" ในยุคเริ่มต้นของสาธารณรัฐตุรกีถึงปัจจุบัน' โดย ธนาวิ โชติประ ดิษฐิ์ นักวิชาการอิสระ 


11.30 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน 


13.00 น. 'หลากเรื่องความทรงจำผ่านองค์พระพุทธปฏิมา' โดย ผศ.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 


14.00 น. 'สุสานกับการสร้างความทรงจำของบุคคลในราชวงศ์สมัยอิสลามอินเดีย' โดย ผศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 


16.00 น. 'จริง เลือน จำ : ภาพพร่ามัวของความทรงจำจากกรณีสงครามมหาเอเชียบูรพาที่ขุนยวม' โดย นุชนภางค์ ชุมดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 


16.15 น. 'วัฏจักรแห่งความทรงจำ: กรณีศึกษางานโบราณคดีที่เมืองนครปฐม' โดย สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 

วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553 
8.00 น. ลงทะเบียน 


8.30 น. 'ความจำ ความจริง : การนำเสนอความจำในงานวรรณกรรมของ Kazuo Ishiguro' โดย วรมาศ ยวงตระกูล คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 


9.30 น. 'การลบความทรงจำ : การรื้อเรื่องเล่าในงานของ Samuel Beckett' โดย วันรัก สุวรรณวัฒนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 


10.45 น. 'ความทรงจำทางประวัติศาสตร์กับการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์' โดย ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร 


13.00 น. 'ประวัติศาสตร์และความทรงจำในการสร้างวีรบุรุษหรือกบฏ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้' โดย แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 


14.00 น. 'เรื่องของ “หู” กับ “ตา” รัฐกับความทรงจำว่าด้วย “เสียง” และ “รูป”' โดย อติภพ ภัทรเดชไพศาล วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ คณะ โบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 


15.30 น. สรุปผลการสัมมนา โดย ดร. สายัณห์ แดงกลม หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 


Life Style : ศิลปวัฒนธรรม 
วันที่ 25 มีนาคม 2553 
กรุงเทพธุรกิจ

Views: 122

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service