"ศาสตร์ละครช่วยสะท้อนปัญญา"

ปรากฏการณ์ปัญหาสุขภาพของเยาวชนที่เกิดขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคม
ในยุคปัจจุบัน แสดงออกผ่านพฤติกรรมการใช้เวลาว่างที่ไม่เอื้อประโยชน์ เช่น
เล่นเกม และเสพสื่อที่ไม่ปลอดภัย บางส่วนมีพฤติกรรมเสี่ยง ดื่มสุรา
สูบบุหรี่ จนนำไปสู่การเสพยาเสพติด บ้างก็ถูกกระกระแสวัตถุนิยมชักจูงลากไป
ซื้อวัตถุและบริการที่ฟุ่มเฟือย หรือบางคนก็มักเห็นแก่ตัว
ทำประโยชน์เพื่อตนเองเป็นหลัก
อีกทั้งในสังคมยังมีพื้นที่เสี่ยงมากกว่าพื้นที่สร้างสรรค์ ฯลฯ



ปัจจัยดังกล่าวทำให้เยาวชนมีความอ่อนแอเชิงจริยธรรม ขาดความเข้มแข็งจากภายในที่สามารถรู้จักเท่าทันและเข้าใจตนเอง
ซึ่งทั้งหมดนี้มีสาเหตุมาจากเยาวชนไทยขาด "สุขภาวะทางปัญญา"
เป็นสำคัญนั่นเอง



สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมมือกับ มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (กลุ่มละครมะขามป้อม) จัดทำโครงการ
"ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง" ละครสะท้อนปัญญา หรือ Tranformative Theatre
for Teen โดยมีเป้าหมายใช้ศิลปะการละครพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาของเยาวชน
และสร้างนักการละครรุ่นใหม่ที่สามารถผลิตสื่อสร้างสรรค์ทางปัญญา
เอื้อประโยชน์และสอดคล้องกับประเด็นปัญหาในชุมชน
ที่คนทุกระดับสามารถเข้าถึงและเกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติทางปัญญา
อันนำไปสู่การมีพฤติกรรมสุขภาวะได้อย่างยั่งยืนภายใน 3 ปี



และในวันเปิดตัวโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง ละครสะท้อนปัญญาปี 2 (2553) ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อเร็วๆ นี้
กลุ่มละครเยาวชน "มดตะนอย" โดย กาญจนา พรมกสิกร และ วัชรวรงค์ รักชาติ
นักเรียนชั้น ปวส.ปี 2 โรงเรียนวิรุณบริหารธุรกิจและเทคโนโลยี จ.เชียงราย
ที่เข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายในการประกวดปีแรก
ได้มาอวดฝีไม้ลายมือเล่นละครเนื้อดีสะท้อนสังคมอีกครั้ง กับ
"ดากานดาผู้ไม่เคยพอ" ผ่านคำเมืองให้คอละครได้ชมกัน



กาญจนาสวมบทดากานดา หญิงสาวในรั้วมหาวิทยาลัยที่หลงไปกับกระแสวัตถุนิยมตามเพื่อน
เพราะมีความเชื่อว่าหากมีมือถือล้ำยุค มีโน้ตบุ๊คทันสมัย เพื่อนๆ
จะมารุมล้อมให้ความสนใจ
เลยไปขอให้แม่รับบทโดยวัชรวรงค์ที่เป็นชาวไร่ชาวนาซื้อของแพงๆ ให้
โดยไม่ได้ดูฐานะตัวเอง แม่ก็ใจอ่อนเพราะความรักลูก
จนฉากสุดท้ายเพื่อนสาวมีฐานะที่แสดงโดยวัชรวรงค์อีกเช่นกัน
ก็นำกระเป๋าสะพายแบรนด์เนมมาอวด ทำให้ดากานดาอยากได้ขึ้นมาอีก
และเอ่ยคำสุดท้ายก่อนปิดฉากว่า



"อีแม่ หนูอยากได้กระเป๋าใหม่ ใบละ 4 หมื่นเองเจ้า"



ซึ่งกาญจนาบอกเล่าหลังระบายม่านทิ้งตัวปิดลงว่า เนื้อหาในละครหยิบจับมาจากเรื่องจริงในสถานศึกษาที่มีนักเรียนไหลไปกับสังคม
วัตถุนิยม โดยไม่ดูถึงพื้นเพของตัวเองว่าเป็นครอบครัวเกษตรกรรม
จนทำให้พ่อแม่หลายคนต้องเอาที่นาไปจำนองเพื่อสนองความอยากของลูก
บางรายที่ไม่ได้ก็อาจก่อเรื่องเลวร้ายขึ้นเพื่อให้ได้ซึ่งของเหล่านั้นมา
แถมสุดท้ายพอจบมาก็เข้าเมืองสู่แสงสี
ไม่ได้หาเลี้ยงพ่อแม่อย่างที่พวกท่านหวังไว้
ซึ่งตนและเพื่อนที่ร่วมกันทำละครเรื่องนี้ขึ้นมา
ก็หวังให้เป็นบทเรียนสะท้อนทำให้เยาวชนได้ฉุกคิดว่า จริงๆ
เราไม่จำเป็นต้องฟุ้งไปกับกระแสรอบตัว
แต่สามารถสร้างคุณค่าและความมั่นใจในตนเองได้



"อย่างหนูกับเพื่อนๆ ตอนแรกอยากเป็นดารากันมาก พอรู้ว่ามีโครงการค่ายละครก็กรูกันมาสมัคร แต่พอได้เรียนรู้จริงๆ
แล้วมันไม่ใช่ นักแสดงละครเวทียากกว่าการเป็นดารามาก แถมยังเคยท้อ
เพราะเราทำกันเองโรงเรียนไม่รู้เรื่อง
ความเหนื่อยยากเกิดขึ้นและทะเลาะกันตลอด แต่พี่ๆ
กลุ่มมะขามป้อมก็ให้กำลังใจเสมอมา จนฝึกหัดตัวเองและเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย
ในจุดนี้เราก็พอใจมากแล้วแม้จะไปไม่ถึงฝั่งฝัน ทว่าเราก็ไม่เคยหยุดนิ่ง
หนูกับเพื่อนๆ ไปปูเสื่อแสดงสด ณ ถนนคนเดินเชียงราย
ยามคนดูชื่นชมและบอกให้สร้างเวทีแสดงไปเลย แค่เท่านี้จริงๆ
ก็รู้สึกได้ว่าเราเป็นดารา เรายิ่งใหญ่ เรามีคุณค่าในตัวเองแล้ว"
ละอ่อนเจียงฮายพูดด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ พร้อมกล่าวต่อด้วยว่า กิจกรรมดีๆ
อย่างนี้จะส่งต่อให้รุ่นน้องแน่นอน
เพราะเมื่ออาจารย์รู้ก็สนับสนุนให้เปิดชมรม คิดว่าโครงการปี 2
จะให้รุ่นน้องมาสมัคร เชื่อว่าเขาจะได้รับอะไรกลับไปมากมายทีเดียว



ขณะที่ นพ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการบริหารแผนงาน สำนักเปิดรับทั่วไป สสส. กล่าวว่า
ปีที่แล้วเราได้นักละครรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการสะท้อนมุมมองความคิดต่อ
สังคม 22 ทีม ในปีนี้ สสส.และมูลนิธิสื่อชาวบ้าน
คาดหวังว่าจะสร้างนักละครรุ่นใหม่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาคกลาง และภาคใต้ ให้ได้ภาคละ 10 กลุ่ม กลุ่มละ 4 คน
เพื่อเป็นแกนนำไปขยายผลสู่นักศึกษาและเยาวชนแนวร่วมในทุกภาค
นอกจากนี้ยังคาดหวังด้วยว่าจะมีผู้ชมที่เป็นนักเรียน นักศึกษา และประชาชน
ร่วมชมละครสะท้อนปัญญาอย่างน้อย 20,000 คนทั่วประเทศ
เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยให้กลายเป็นสังคมเยาวชนสุขภาวะทางปัญญา



"สุขภาวะทางปัญญา หมายถึง ความสุขที่เกิดจากการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยปัญญาในที่นี้นอกจากหมายถึงความรู้แล้ว
ยังครอบคลุมถึงความคิดความเชื่อและความเห็นที่ก่อประโยชน์เกื้อกูล
ผ่านการคิดดี คิดเป็นและเห็นตรง
และการเผยแพร่เรื่องสุขภาวะทางปัญญาให้เป็นเรื่องง่ายจับต้องได้
เราจึงใช้ปัญญาทางศาสตร์ศิลป์ผ่านงานละคร จากเด็กขยายสู่สังคม
โดยให้เด็กหยิบจับประเด็นทางสังคมมานำเสนออย่างแยบยล
ทำให้ตัวทำผู้เล่นละครรู้เท่าทันสภาวการณ์รอบตัว วิเคราะห์ ประเมินค่าได้
แล้วส่งเนื้อหาละครที่ผ่านการกลั่นกรองอย่างเข้าใจไปกระทบต่อผู้เสพ
ผ่านความบันเทิงสุนทรียะที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการเป็นคนมีสุขภาวะทาง
ปัญญา" นพ.บัญชาขยายความเพิ่มเติม



นักเรียน นักศึกษา หรือเยาวชนในพื้นที่ที่สนใจเข้าร่วมโครงการละครพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาของ
เยาวชน "ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง" ติดตามข้อมูลและการสมัครเพิ่มเติมได้ที่
www.transformtheatre.net หรือ www.makhampom.net
ปิดรับการสมัครวันที่ 5 มี.ค.2553 โดยทีมชนะเลิศจะได้รับรางวัลเป็นเงิน
10,000 บาท ส่วนทีมที่เข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายจะได้รับประกาศนียบัตร. 

ที่มา ไทยโพสต์ x-cite Category > ศิลปวัฒนธรรม >
ศิลปวัฒนธรรม 25 กุมภาพันธ์ 2553 - 20:23 

Views: 14

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service