'ไทยโย' มุมมองร่วมสมัย ไทย-ญี่ปุ่น

โดย : ชาธิป สุวรรณทอง

การแสดงผลงานศิลปวัฒนธรรมของศิลปิน นักออกแบบชาวไทยที่มีประสบการณ์การศึกษาจากประเทศญี่ปุ่น และผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยแรงบันดาลใจจากเนื้อหา กระบวนการคิด รูปแบบทางศิลปวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ

กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดโครงการ 'นิทรรศการวัฒนธรรมสรรค์สร้าง เศรษฐกิจสร้างสรรค์ : ไทยโย ศิลปะร่วมสมัย ไทย - ญี่ปุ่น' รวบรวมผลงานของเหล่าศิลปินไทยในหลากหลายสาขา อาทิ วิจิตรศิลป์ ประยุกต์ศิลป์ งานออกแบบและผลงานสร้างสรรค์ สถาปัตยกรรม แฟชั่น การ์ตูน แอนนิเมชั่น ภาพยนตร์ ดนตรี และศิลปะพับกระดาษของญี่ปุ่นจำนวนกว่า 30 คน

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 สาขาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ กระทรวงวัฒนธรรม เป็นการแสดงผลงานศิลปวัฒนธรรมของศิลปิน นักออกแบบชาวไทยที่มีประสบการณ์การศึกษาจากประเทศญี่ปุ่น และผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยแรงบันดาลใจจากเนื้อหา กระบวนการคิด รูปแบบทางศิลปวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ

"นิทรรศการในครั้งนี้เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านการใช้ชีวิต การทำงานและการได้รับการยอมรับในดินแดนอาทิตย์อุทัย อันปรากฏถึงการถ่ายเททางวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ จากวิถีชีวิต ศิลปะ วัฒนธรรม ในหลากหลายปรากฏการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศิลปะร่วมสมัยที่มีการนำเรื่องราว แนวความคิด ความเชื่อรูปแบบทางศิลปะมาปรับเปลี่ยนและพัฒนาสร้างสรรค์ จนเกิดเป็นผลงานใหม่ที่มีคุณค่าทางความงามและยังนำมาสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม ทางเศรษฐกิจอีกด้วย" ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผย

ศิลปินที่เข้าร่วมแสดงในนิทรรศการ 'ไทยโย' ประกอบด้วย นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล นำเสนอผลงาน 'ผ้าขาวม้า' หนึ่งในผลงานประยุกต์ศิลป์ที่เชื่อมโยงงานออกแบบแฟชั่นกับงานศิลปะด้วยรูป แบบการทำงานด้วยการตั้งคำถามและการนำเสนอนิยามทางศิลปะในมุมมองต่างๆ ตั้งแต่อัตลักษณ์ของศิลปิน บทบาทและพื้นที่ทางศิลปะ โดยให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรมเชิงประวัติศาสตร์และประเพณี

สุเทพ วงศ์กำแหง นักร้องเสียงขยี้แพรในฟองเบียร์ นำเพลง 'รักคุณเข้าแล้ว' และ 'ฉันยังเผ้าคอย' บทเพลงรักอมตะมาเอื้อนลูกคอในภาษาญี่ปุ่น ร่วมกับ 'Moderndog' กลุ่มนักดนตรีอินดี้ที่ได้รับความนิยมจนกลายเป็นแม่แบบในหมู่วัยรุ่น และได้เคยนำบทเพลงรักอมตะอย่าง 'รักคุณเข้าแล้ว' และ 'เสน่หา' ของสุเทพ วงศ์กำแหง มาบรรเลงใหม่ให้กลับมาเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นอีกครั้ง

วิศุทธิ์ พรนิมิต นำเสนองานวาดการ์ตูน Interactive installation ที่ให้ผู้ชมได้เล่นเกมกับเรื่องราวของการ์ตูนอย่างสนุกสนาน และการรวบรวมผลงานสเก็ตช์ของวิศุทธิ์ที่เราอาจไม่เคยได้เห็นมาก่อน

ศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัลศิลปาธร ประจำปี พ.ศ.2552 กุลภัทร ยันตรศาสตร์ ในนามของ wHY ARCHITECTURE กับผลงานการออกแบบบ้าน Wakasa หรือ Casa Wakasa ของครอบครัวเดี่ยว ซึ่งหัวหน้าครอบครัวเป็นทันตแพทย์ชาวญี่ปุ่น ตั้งอยู่ที่เมืองโอซาก้า โดยตั้งใจให้สื่อถึงลักษณะครอบครัวร่วมสมัยชาวญี่ปุ่นที่แสดงถึงการอยู่ร่วม กันแบบครอบครัว และให้ความสำคัญกับ พื้นที่ส่วนตัวที่เน้นความอิสระในการทำกิจกรรมต่างๆ

ภาพพิมพ์สีธรรมชาติที่ผ่านการทดลองและคิดค้นวิธีการสกัดสีจากต้นไม้ใบหญ้า และวัตถุดิบทางธรรมชาติที่เก็บได้จากสถานที่นั้นๆ ด้วยความสงบและเรียบง่ายที่สร้างจุดร่วมระหว่างความสุนทรีทางศิลปะ เป็นผลงานของ ญาณวิทย์ กุญแจทอง ที่ยังคงสนุกสนานกับกระบวนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ให้สามารถหวนรำลึกถึงความ ทรงจำที่ดีต่อสถานที่ต่างๆ

นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ กับผลงานเนื้อร้องเพลงชาติบนกระดาษซึ่งตัวอักษรถูกเจาะด้วยเข็มแทนการเขียน ชิ้นงานบางชิ้นกลับด้านเพื่อเผยให้เห็นรอยดุนของฝีเข็ม ที่ใช้เรื่องราวของการใช้ภาษาและการสื่อสารด้วยคำ ความหมาย และน้ำหนักของคำ ที่ใช้ความรู้สึกต่อการรับรู้ในเพลงที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของความเป็นชาติ และชาตินิยม เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวความทรงจำให้สามารถรับรู้ด้วยกัน

ผลงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่เน้นประโยชน์การใช้สอยที่ไม่เคยละทิ้งสไตล์การ ออกแบบแบบเรียบง่ายของของนักออกแบบผลิตภัณฑ์ นพปฎล พหลโยธิน ผู้คว้ารางวัลการออกแบบมากมาย

สันติ ลอรัชวี นักออกแบบกราฟิกนิทรรศการ 'มิตรจิตร มิตรใจ มิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น' หรือ 'Show Me Thai' กลับมาอีกครั้งพร้อมการเปลี่ยนบริบทของกราฟฟิคโปสเตอร์สู่งานจัดวางบนผนัง ที่แสดงความสัมพันธ์ของการแลกเปลี่ยนเชิงวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยและ ญี่ปุ่น

ส่วน เอกสิทธิ์ เข้มงวด นักพับกระดาษผู้เชี่ยวชาญในการพับ Origami ได้พลิกแพลงความสามารถและผสมผสานของทั้งสองวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น ลงบนการพับหุ่นหนุมานได้อย่างอลังการ

นอกจากผลงานศิลปะที่จัดแสดง ระหว่างนิทรรศการยังกิจกรรม มากมาย อาทิ วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม จะมีการ Workshop สอนทำสมุดทำมือญี่ปุ่น โดย Piece of Paper, วันอาทิตย์ที่ 28มีนาคม การวาดภาพประกอบเพลงโดย พีรพัฒน์ กิตติสุวัฒน์ และวันเสาร์ที่ 3 เมษายน อบรมการพับกระดาษแบบญี่ปุ่น (Origami) โดย เอกสิทธิ์ เข้มงวด



โครงการ 'นิทรรศการวัฒนธรรมสรรค์สร้าง เศรษฐกิจสร้างสรรค์ : ไทยโย ศิลปะร่วมสมัยไทย - ญี่ปุ่น' จัดแสดงระหว่าง 4 มีนาคม ถึงวันที่ 8 เมษายน 2553 ณ บริเวณชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน เวลาทำการระหว่าง ๑๐.๐๐ น. - ๒๑.๐๐ น. วันอังคารถึงวันอาทิตย์ (หยุดทุกวันจันทร์) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม โทรศัพท์ 0-2422-8868 หรือที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 0-2214-6630 ถึง 8

โดย : ชาธิป สุวรรณทอง
ทีมา กรุงเทพธุรกิจ Life Style : ศิลปวัฒนธรรม
วันที่ 8 มีนาคม 2553

Views: 42

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service