เสียงดนตรีแห่งชีวิต วิกทอเรีย วอร์ไรเทอร์

โดย : ชาธิป สุวรรณทอง 


ดนตรีชนเผ่าสำหรับคนทั่วไปอาจดูยากและเข้าไมถึง แต่สำหรับสุภาพสตรีตาต่างสีคนหนึ่ง มันคือ ท่วงทำนองแห่งชีวิต 


"...ถ้าหมู่บ้านไร้เสียงดนตรี แล้วจะเรียกว่าหมู่บ้านได้อย่างไร..." : ภาษิตอาข่า 



ถ้าโลกนี้เป็นหนึ่งหมู่บ้านใหญ่ เสียงดนตรีที่บรรเลงอยู่ในชุมชนโลกย่อมไม่ได้มีเพียงดนตรีตามแบบแผนของโลกตะวันตกหรือดนตรีในฐานะสินค้าทางวัฒนธรรมเพียงเท่านั้น แต่ในอีกบางมุมของโลกใบนี้ ยังมีบางสถานที่ที่เสียงดนตรียังคงคุณค่าในการเป็นสื่อของการดำรงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ไม่อาจแยกออกจากวิถีชีวิตของผู้คน 


วิกทอเรีย วอร์ไรเทอร์ เป็นนักไวโอลินคลาสสิค สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทสาขาดนตรีและปริญญาโทสาขาเสรีนิยม (Liberal Studies) รวมทั้งเคยเป็นอาจารย์สอนวิชาดนตรีที่มหาวิทยาลัยเดอพอล (DePaul University School of Music) เมืองชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา วิกทอเรียเป็นผู้เชี่ยวชาญการสอนไวโอลินด้วยวิธีการแบบซูซูกิ (Suzuki Method) และได้รับเชิญเป็นวิทยากรในการประชุมที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก 



ความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดยเฉพาะเรื่องของดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทำให้วิคทอเรียออกเดินทางข้ามทวีปเพื่อศึกษาและรวบรวมเรื่องราวของดนตรีชนเผ่าในประเทศโมรอคโค ก่อนจะเดินทางเข้ามาศึกษาวิถีดนตรีชนเผ่าในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งหมายรวมพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย รวมทั้งพื้นที่บางส่วนของลาว พม่า เวียดนามและจีน 



ชิคาโก-โมรอคโค-สามเหลี่ยมทองคำ 



จากชีวิตในฐานะนักดนตรีคลาสสิคจากเมืองแห่งแสงสีอย่างชิคาโก กลิ่นอายของวัฒนธรรมและดนตรีพื้นเมืองที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลามดึงดูดให้สาวนักดนตรีคลาสสิคเดินทางสู่ประเทศโมรอคโคในปี พ.ศ.2541 ที่นั่นวิกทอเรียได้เรียนรู้บทบาทของดนตรีในชีวิตของชาวพื้นเมืองซึ่งยังคงยึดมั่นในขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมที่สืบทอดผ่านการบอกเล่าปากต่อปากระหว่างคนรุ่นต่อรุ่นเป็นระยะเวลายาวนานนับพันปี 



การเดินทางเก็บเกี่ยวข้อมูลดนตรีพื้นเมืองจากทะเลแคริบเบียนจรดทะเลทรายซาฮาร่าถึงเทือกเขาแอตลาส จากอาณาจักรอันรุ่งเรืองไปสู่หมู่บ้านเล็กๆ ประสบการณ์นี้เป็นแรงผลักดันให้เธอก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรชื่อ "The Resonance Project" ขึ้น และได้สร้างภาพยนตร์สารคดี "The Music of Morocco and the Cycles of Life" ในรูปแบบรายการสำหรับการออกอากาศทางโทรทัศน์ ซึ่งเป็นเสมือนการกลั่นผลงานจากการเดินทางของวิกทอเรียในประเทศโมรอคโค 


ตั้งแต่ปีพ.ศ.2545 เป็นต้นมา ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเผยแพร่แล้วใน 3 ทวีป โดยการจัดฉายขององค์กรต่างๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ เทศกาลภาพยนตร์ โรงเรียน และมหาวิทยาลัย รวมทั้งสถานที่สำคัญ เช่น เนชั่นแนลจีโอกราฟิคโซไซตี้ สถาบันสมิธโซเนียน และศูนย์วัฒนธรรม Anfa ในเมืองคาซาบลังก้า ประเทศโมรอคโค 


ในปี พ.ศ. 2547 วิกทอเรียย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่เป็นการถาวร และเริ่มต้นการเดินทางโดยลำพังไปตามหมู่บ้านอันห่างไกลบนภูเขาสูงทั้งในประเทศไทย ลาว พม่า เวียดนามและจีน เพื่อบันทึกเรื่องราวของดนตรีและวิถีชีวิตของชาวเขาเผ่าต่างๆ ผลงานของเธอในชุด "The Music of the Golden Triangle and the Cycles of Life" เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนปีที่ผ่านไป รวมถึงผลงานในสื่อรูปแบบต่างๆ ได้แก่ ภาพยนตร์เพื่อการศึกษา หนังสือ และแผ่นซีดีเพลงชุด "Songs of Memory" ซึ่งเคยรวบรวมจัดแสดงในนิทรรศการ "Songs of Memory" ครั้งแรกที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สันในกรุงเทพฯ เมื่อปีพ.ศ.2551 และในปี พ.ศ. 2552 หนังสือประกอบภาพ "Songs of Memory" (บทเพลงแห่งความทรงจำ) ก็ได้รับการตีพิมพ์พร้อมกับแผ่นซีดีเพลงของชนเผ่าต่างๆ ที่เธอรวบรวมไว้ 



ทำนองชีวิตในบทเพลง 



หลังจากการทำงานในประเทศโมรอคโคเสร็จสิ้นลง วิคทอเรียเลือกจะเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อรวมรวมดนตรีชนเผ่า โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยและประเทศข้างเคียงซึ่งนับเป็นพื้นที่ทางสังคมที่มั่งคั่งด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 130 ชนเผ่า แต่ละกลุ่มยังมีรากฐานทางวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของตนอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูด การแต่งกาย ฯลฯ และแน่นอนรูปแบบท่วงทำนองของดนตรีซึ่งไม่เพียงทำหน้าที่เป็นสื่อเพื่อความบันเทิงเท่านั้น หากยังแสดงถึงเอกลักษณ์ของแต่ละชนเผ่า และยังคงมีบทบาทสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการดำรงชีวิตของกลุ่มชนต่างๆ 



"ในสังคมเมืองเราจะได้ยินเสียงดนตรีกันตลอดเวลา ในห้างสรรพสินค้า คลีนิคหมอฟัน แต่ดนตรีแบบนั้นกลับปราศจากผลสะท้อนที่ลึกซึ้งถึงชีวิตจริงๆ ที่สำคัญฉันคิดว่าทุกวันนี้เราแทบจะไม่เห็นผู้คนที่สร้างสรรค์เสียงดนตรีของตนเองอีกต่อไป ในโลกสมัยใหม่คนเราอาจจะร้องเพลง Happy Birthday หรือเพลงอื่นๆ ที่ร้องกันทุกวัน แต่เรากลับไม่ได้ยินเสียงเพลงที่ออกมาจากใจ เราไม่ได้ยินเพลงสำหรับช่วงเวลาต่างๆ ของปี เพลงที่คนเราจะร้องให้แก่กัน เพลงที่ว่าด้วยเรื่องราวหรือเหตุการณ์พิเศษในชีวิตของเรา ฉันคิดว่านี่เป็นเรื่องน่าเศร้านะ 


สิ่งที่ทำให้ฉันดีใจมากก็คือ ดนตรีชนเผ่าบทบาทเหล่านี้ยังคงอยู่ เพลงยังคงเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ความเชื่อ ของแต่ละชนเผ่าอยู่" 


"ชนเผ่าต่างๆ เหล่านี้อพยพมาจากมองโกเลีย ไซบีเรีย ธิเบต การอพยพมาเป็นพันๆ ปีก็ตั้งรกรากในที่ต่างๆ กัน ทำให้แต่ละกลุ่มมีเอกลักษณ์ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ ฉันได้เรียนรู้มากมายจากการเข้าไปศึกษาดนตรีของชนเผ่าต่างๆ ในฐานะนักไวโอลินคลาสสิคฉันได้รับการศึกษาเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิค เรียนรู้บทเพลงของโมสาร์ท บราห์ม เบโธเฟน สำหรับฉันดนตรีแบบนั้นเป็นดนตรีที่คุณเล่นเพื่อตอบสนองผู้คนที่จ่ายเงินเพื่อมาฟัง หรือเล่นในราชสำนัก เป็นเรื่องของความบันเทิงเสียเป็นส่วนใหญ่" 


"เมื่อฉันคิดเกี่ยวกับความสำคัญของดนตรี ฉันได้ตระหนักจากประสบการณ์การเดินทางที่ผ่านมาว่า ดนตรีมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในวิถีชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฉันได้สัมผัสกับชีวิตในหมู่บ้านชาวเขา ฉันได้พบว่าดนตรีของพวกเขาช่างพิเศษ บางเพลงจะเล่นเฉพาะเมื่อเด็กหนุ่มและเด็กสาวหมั้นกัน เพลงบางเพลงคุณอาจจะต้องเล่นต่อเนื่องกันคืนแล้วคืนเล่าเพื่อที่จะหาคนที่จะมาเป็นคู่ชีวิตของคุณ ดนตรีบางชนิดมีไว้เฉพาะให้พ่อหมอของเผ่าใช้ในการเรียกวิญญาณของคนที่ล่องลอยไปยังที่ต่างๆ ให้กลับสู่ร่าง ทั้งหมดนี้แสดงถึงความสำคัญดั้งเดิมที่ยังคงคุณค่าอยู่ของดนตรีชนเผ่าที่สืบทอดกันต่อมา" 



มรดกเสียงเพลงชนเผ่า 


ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมาของการลงพื้นที่เก็บข้อมูลวิถีชีวิต พิธีกรรม และดนตรีชนเผ่าในพื้นที่ตอนเหนือของไทย ลาว จีน เวียดนาม พม่า วิคทอเรียใช้ช่วงเวลา 3 ปีครึ่งหมดไปกับการเดินทางเพื่อเก็บข้อมูลและประสบการณ์ในหมู่บ้านชนเผ่าต่างๆ และอีกปีครึ่งกับการรวบรวมประสบการณ์ทั้งหมดไว้ด้วยกันเพื่อถ่ายทอดต่อไป 


"ฉันเลือกเดินทางมายังสามเหลี่ยมทองคำเพราะว่ามีความหลากหลายของผู้คนมากกว่า 130 ชาติพันธุ์ จะเรียกว่าเป็นศูนย์รวมของความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของโลกก็ว่าได้ ในการเดินทางไปสัมผัสกับหมู่บ้านของชนเผ่าต่างๆ จะมีเพียงฉันกับผู้ติดตามที่ทำหน้าที่ล่ามแปลภาษาเพื่อจะได้สื่อสารกับชนเผ่าต่างๆ ได้ และไม่ใช่การไปเพียงครั้งเดียวแล้วจบ แต่จะไปซ้ำหลายๆ ครั้งจนเป็นเพื่อนกันไปแล้ว" 


หลายหมู่บ้านที่ไปเยือนไม่มีภาษาเขียน ไม่มีการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ดังนั้น ประวัติศาสตร์ของชุมชนเรื่องราวชีวิตของพวกเขาทั้งหมดจะถูกถ่ายทอดในชุมชนผ่านเสียงดนตรี ดนตรีจึงเป็นสื่อที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และความความหมายมากกว่าเพียงแค่ความบันเทิง 


“ชนเผ่าที่อยู่บนภูเขาที่ยากจะเข้าถึงในดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ มีชีวิตผ่านมานับร้อยปีโดยการถ่ายทอดความรู้ ประวัติศาสตร์ ประเพณีและความเชื่อต่างๆ ด้วยการบอกเล่าปากต่อปาก จากรุ่นสู่รุ่น แต่ก็ไม่รู้ว่าวัฒนธรรมเหล่านี้จะคงอยู่ต่อไปได้อีกนานเท่าไหร่ เป้าหมายในการทำงานของดิฉันคือช่วยรักษาความยิ่งใหญ่ของขนบธรรมเนียมประเพณีของชนเผ่าเหล่านี้ไว้ก่อนที่จะสูญหายไป หลังจาก 5 ปีครึ่งของการทำงาน หลังจากการเดินทางไปเยือนหมู่บ้านชาวเขาแต่ละหมู่บ้านครั้งแล้วครั้งเล่า ฉันพบว่าตัวเองมีคลังข้อมูลมหาศาล ซึ่งถ้าฉันเก็บมันเอาคนเดียวคงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก” 


นั่นคือสาเหตุที่ทำให้นักไวโอลินจากชิคาโกวางแผนจัดตั้ง "ศูนย์วิจัยและพิพิธภัณฑ์ดนตรีชนเผ่า" ขึ้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์มรดกทางเสียงเพลงและดนตรีของชาวเขาเผ่าต่างๆ เพื่อให้ชาวโลกได้ประจักษ์ถึงศักดิ์ศรี ภูมิปัญญา และความงดงามของวัฒนธรรมพื้นบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเพื่อเป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจในวัฒนธรรมระหว่างกันของกลุ่มคนเชื้อชาติต่างๆ 


"อยากทำที่เชียงใหม่เพราะเป็นที่ที่สะดวกที่สุดในการเดินทางไปลาว พม่า จีน เวียดนาม เป็นพื้นที่ที่มีชนเผ่าอยู่มาก อยากให้เป็นสถานที่ที่สามารถจะนำเอานักดนตรีชนเผ่ามาแสดงดนตรี ให้หัวหน้าชุมชนมานำเสนอเรื่องราวของเขา และเป็นศูนย์กลางเก็บข้อมูลคุณค่าของดนตรีชนเผ่าที่ได้ค้นคว้ามาเพื่อสืบทอดต่อไป" 


"และที่สำคัญ...อยากให้พวกเราภูมิใจกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศไทย" 



.......... 


หมายเหตุ :นิทรรศการ 'บทเพลงแห่งความทรงจำ : เอกสารัตถ์ทางวัฒนธรรมแห่งชาติพันธุ์' (Songs of Memory : Tribal Wisdom Symposium) จัดแสดงศิลปะการดนตรี เครื่องดนตรี เครื่องแต่งกาย และวิถีการดำเนินชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กระเหรี่ยง, ม้ง, เมี่ยน, ลาหู่, อาข่า และลีซู รวมถึงกิจกรรมการประชุม การแสดงและสาธิตทางวัฒนธรรมในหลายรูปแบบ จัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ - เมษายน 2553 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 0-5321-7793 /ดูข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยของวิกทอเรีย วอร์ไรเทอร์ ได้ที่เว็บไซต์ www.tribalmusicasia.com 



โดย : ชาธิป สุวรรณทอง 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ Life Style 

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 

Views: 26

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service