ศิลปินส่วนใหญ่ ทั้งชีวิตอาจไม่มีโอกาสได้พบข้อเสนอระดับเดียวกับปิกัสโซ แต่วิธีการส่งเสริมตนเองและส่งเสริมการขายนั้นมีอยู่
ราว10 ปีก่อน นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชาวญี่ปุ่นรายหนึ่งจ่ายเงิน 51.3 ล้านเหรียญสหรัฐในการประมูลผลงาน "Pyrite’s Wedding" ของพาโบล ปิกัสโซ
โทโมโนริ ทสุรุมากิ เข้าร่วมการประมูลของสถาบันการประมูลในปารีสทางโดยการโทรศัพท์จากโตเกียว ทสุรุมากิ กล่าวว่าเขาวางแผนจะนำผลงานชิ้นนี้ไปแขวนที่รีสอร์ทและสนามแข่งรถที่เขากำลังสร้างที่เกาะคิวชู
ในเวลานั้น การประมูลของทสุรุมากิเป็นทำสถิติราคาสูงเป็นสองของการซื้อผลงานศิลปะที่เคยมีมา สองปีก่อนหน้านั้น ผลงาน "Irises" ของวินเซนต์ แวน โก๊ะห์ ถูกขายที่สถาบันการประมูลโซเธอบี้ นิวยอร์ค ที่ราคา 53.9 ล้านเหรียญ
"Irises" [1889] by Vincent van Gogh.
---------------------------------
ฤดูร้อนปี 2006 ราชาเครื่องสำอางโรแนลด์ เอส ลอเดอร์ ซื้อผลงาน "Portrait of Adele Bloch-Bauer" ของกุสตาฟ คลิมท์ เป็นผลงานจิตรกรรมที่วาดด้วยสีน้ำมัน เงิน และทอง บนผ้าใบ ลอเดอร์จ่ายไป 135 ล้านเหรียญ สร้างประวัติศาสตร์ราคาซื้อขายงานศิลปะอีกครั้ง
พูดถึงราคาของงานศิลปะ ผลงานของปิกัสโซ แวน โก๊ะห์ และคลิมท์ เป็นราคาซื้อขายระดับที่หนังสือพิมพ์ต้องเอามาพาดหัว แต่ในความเป็นจริง ศิลปินเพียงไม่กี่คนที่สามารถทำราคาผลงานได้ในระดับนั้น
“ศิลปินส่วนใหญ่สนใจการสร้างผลงานมากกว่าการขาย” ลอรา ไมเนอร์ อดีตอาร์ต บายเออร์ของซิตีแบงค์ กล่าว
“97% ของคนทำงานศิลปะต้องมีอาชีพอื่นด้วยถึงจะอยู่ได้”
ธุรกิจศิลปะ
แม้ศิลปินส่วนใหญ่จะไม่มองตนเองในฐานะองค์กรธุรกิจ แต่จริงๆ แล้วศิลปะก็ยังเป็นธุรกิจอยู่ดี ขณะที่จิตรกร นักถ่ายภาพ และประติมากรส่วนใหญ่จะไม่มีโอกาสได้เห็นข้อเสนอระดับเดียวกับศิลปินอย่างปิกัสโซไปตลอดชีวิต แต่ก็ยังมีหนทางที่สามารถจะส่งเสริมการขายผลงานของตนเอง
ปัญหาหลักอยู่ที่ ศิลปินส่วนใหญ่เรียนศิลปะ แต่ไม่ได้เรียนวิธีการทำให้ศิลปะเป็นอาชีพ
“เมื่อฉันยังเป็นศิลปินรุ่นเยาว์ ฉันไม่เคยมีความคิดเกี่ยวกับธุรกิจศิลปะเลย” จูดิธ เพจ กล่าว เธอเป็นศิลปินทัศนศิลป์ผู้ซึ่งกลายมาเป็นครูสอนศิลปินคนอื่นๆ เกี่ยวกับแง่มุมทางธุรกิจสำหรับอาชีพศิลปิน
“ในโรงเรียนศิลปะ นักเรียนไม่ถูกกระตุ้นให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับวิธีการขายงานศิลปะ ไม่แม้แต่จะพูดคุยกันเรื่องนี้”
ขณะที่ลอรา ไมเนอร์ มองว่า “ฉันคิดว่าศิลปินควรจะได้เข้าชั้นเรียนธุรกิจกันบ้าง”
การเป็นที่ "มองเห็น" เป็นเรื่องสำคัญสำหรับศิลปิน เพื่อจะให้ผู้ซื้อสนใจ ทุกวันนี้ ด้วยอินเตอร์เนต ศิลปินสามารถทำให้ผลงานเป็นที่รู้จักโดยการสร้างเวบไซต์หรือสร้างชุมชนออนไลน์ขึ้นมา สิ่งนี้จะเป็นเหมือนรายงานประวัติการทำงานของศิลปินบนอินเตอร์เนท
“เวบไซต์เป็นเรื่องสำคัญ” เพจ กล่าว
เพจเป็นผู้บริหารโครงการอบรมธุรกิจศิลปะที่ ศูนย์ศิลปะร่วมสมัยอัลจิราในนิวเจอร์ซีย์ “คุณอาจจะไม่ได้ขายงานได้โดยตรงทางเวบไซต์ แต่อย่าลืมว่าผู้คนค้นหาทุกอย่างออนไลน์รวมทั้งศิลปะ”
ทำความรู้จักแกลลอรี
นอกจากระบบออนไลน์ การขายแบบออฟไลน์ก็สำคัญ จงสร้างความสัมพันธ์กับบรรดาแกลลอรีและร้านขายงานศิลปะซึ่งเป็นเสมือนประตูระหว่างศิลปินกับคนซื้องาน ในขณะเดียวกันก็ทำการบ้านด้วย
“นายหน้าศิลปะหลายคนบอกฉันว่าศิลปินบางคนเดินเข้ามาในแกลลอรีแล้วบอกว่า ช่วยแสดงผลงานให้หน่อยได้ไหม” ไมเนอร์กล่าว
“ปัญหาคือนายหน้างานศิลปะรายนั้นสนใจเฉพาะงานแนวนามธรรม แต่ศิลปินคนนั้นทำงานแนวเหมือนจริง”
คาลี ดาเน เฮิร์ช จิตรกรผู้เพิ่งจะได้รับรางวัลจากคณะกรรมการกรมการขนส่งจากผลงานการออกแบบลวดลายกระเบื้องของสถานีรถไฟใต้ดินนิวยอร์ค กล่าวว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องทำตัวเป็นมืออาชีพและเตรียมทุกอย่างให้พร้อมตลอดเวลา
"คุณควรมีประวัติส่วนตัว ประวัติการทำงาน ประวัติการแสดงผลงาน คำอธิบายแนวทางการทำงานพร้อมอยู่เสมอ ทำโปสการ์ดจากนิทรรศการของคุณ ทำให้งานของคุณอยู่ในใจของนักซื้องานศิลปะและคนจัดนิทรรศการ เตรียมให้พร้อมทั้งนามบัตร เวบไซต์ และจงวิเคราะห์ว่าสิ่งใดที่ทำแล้วใช้การได้และสิ่งใดไม่”
และศิลปินควรจะพร้อมเสมอในการอธิบายถึงผลงานของตนเอง
“การเขียนเกี่ยวกับการทำงานศิลปะของคุณเองเป็นเรื่องสำคัญมาก” เพจ กล่าว มันจะทำให้ผู้คนรู้ว่าคุณเป็นใคร คุณทำอะไร ทำไมจึงทำ ซึ่งจะสร้างความประทับใจที่ดีในระยะยาว
รู้จักแลกเปลี่ยน
“ถ้าคุณไม่สามารถเขียนคำอธิบายผลงานตัวเองให้ออกมาดีได้ ลองแลกเปลี่ยนกับนักเขียนดีๆ” เฮิร์ช แนะนำ
ในความเป็นจริง ศิลปินทุกคนต่างจำเป็นต้องเป็นนักแลกเปลี่ยนที่ดีพอๆ กับที่เป็นนักวาดหรือนักปั้นที่ดี
“ฉันเคยแลกเปลี่ยนผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งของฉันกับคอร์สบำบัด 6 ครั้ง วิธีนี้ยังใช้ได้กับเวบไซต์ ผลงานกราฟฟิค หรืออะไรก็ตามที่คุณจำเป็นต้องให้คนอื่นทำให้ ตอนเริ่มต้นฉันเอางานศิลปะแลกกับการทำเวบไซต์ ฉันคุยกับนักออกแบบเวบไซต์ 3 คนใน 10 วัน พวกเขารับภาพเขียนไป ส่วนฉันก็เป็นที่รู้จักมากขึ้นผ่านเวบไซต์”
ศิลปินควรจะรู้จักทุกคนที่เคยติดต่อด้วยและจดบันทึกเกี่ยวกับการติดต่อทุกครั้ง
“ก็เหมือนยุคสงครามเย็น” ไมเนอร์ กล่าว
“เชื่อใจกัน แต่ก็ต้องบันทึกให้ชัดเจน อย่าทิ้งผลงานของคุณไว้กับใครโดยไม่มีเอกสารยืนยัน ศิลปินบางคนอาจจะทิ้งผลงาน 10 ชิ้นไว้กับแกลลอรีแล้วก็ไม่ได้ข่าวคราวอีกเลย รู้อีกทีก็เมื่อเพื่อนบอกว่าเห็นแกลเลอรีขายงานชุดนั้นได้เป็นหมื่นเหรียญโดยศิลปินไม่ได้อะไรเลยเพราะไม่ได้ตกลงกันให้เรียบร้อยเป็นลายลักษณ์อักษร”
ท้ายที่สุด จงเป็นเด็กดื้อ “ถ้าคุณรักสิ่งที่คุณทำและยืนยันจะทำต่อไป คุณถูกผูกมัดให้ต้องพัฒนาฝีมืออยู่เสมอ” เฮิร์ช กล่าว
“คุณไม่มีทางรู้ว่าจะได้พักจริงๆ เมื่อไร จงเตรียมตัวให้พร้อม”
โดย: Stacy Perman www.businessweek.com
Tags:
© 2009-2025 PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.
Powered by