ส.ค.ส. ในโลกที่หมุนเปลี่ยน

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 4 มกราคม 2553



ปีใหม่ ช่วงเวลาแห่งความสุข สนุกสนาน ช่วงเวลาที่แปลกและน่าสนใจเมื่อความสุขกลายเป็นสิ่งรูปธรรมจับต้องได้ สามารถส่งให้กันและกันได้

ใช่, เรากำลังพูดถึง ส.ค.ส. ที่มีชื่อเต็มๆ ว่า ‘ส่งความสุขปีใหม่’

เชื่อว่าโรงเรียนสมัยนี้น่าจะมีเหลืออยู่บ้างที่ยังสอนนักเรียนทำ ส.ค.ส. เพื่อส่งให้คนที่รักและห่วงใย เด็กๆ อาจรู้สึกงงๆ ว่าทำไมต้องเขียนตัวหนังสือลงบนกระดาษกันอีก ทั้งที่แค่กดมือถือ ส่งข้อความ ส่งอีเมล หรือแอดคอมเม้นต์บนเฟซบุ๊กหรือไฮไฟว์ ก็จบแล้ว ไม่ยุ่งยาก

รอยต่อระหว่างยุคเช่นนี้แหละ ที่สิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ปะทะสังสรรค์กันอย่างสนุกสนาน แน่นอนทีเดียวเชียวว่าเครื่องมือสื่อสารยุคนี้ทำให้การส่งความสุขสะดวกโยธิน ยิ่ง แต่ ส.ค.ส. ก็ยังมีเสน่ห์ที่บางคนติดอกติดใจ



ส.ค.ส. มาจากไหน

เพื่อไม่ให้เป็นบทความว่าด้วยประวัติศาสตร์ ขอสรุปความเป็นมาของ ส.ค.ส. สั้นๆ ดังนี้

เดาได้ไม่ยากว่าธรรมเนียมการส่ง ส.ค.ส. ไม่ใช่ของคนไทยเรา ชาติแรกที่ริเริ่มการส่ง ส.ค.ส. คือผู้ดีแห่งเกาะอังกฤษ เมื่อนักธุรกิจอย่าง เฮนรี โคล ว่าจ้างให้ จอห์น ฮอร์สลี ออกแบบ ส.ค.ส. แล้วตัวเฮนรีก็เอาไปพิมพ์อีก 1,000 ฉบับ และวางขายในห้างของเขาเองในช่วงคริสต์มาสปี ค.ศ.1843 ถ้าคิดเป็นไทยก็เท่ากับปี พ.ศ.2386 และหลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็มีนักธุรกิจหัวใสลอกแบบไอเดียนี้ไปทำมาหากินกันถ้วนหน้า

สำหรับในเมืองไทย เท่าที่มีหลักฐานปรากฏ การส่ง ส.ค.ส. ครั้งแรกและใบแรก เกิดขึ้นในวันที่ 1 มกราคม ปี 2409 ตรงกับสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงโปรดให้จัดทำ ส.ค.ส. ขึ้น เพื่อมอบแก่คณะทูตานุทูต ข้าราชบริพาร และมิตรสหายชาวต่างประเทศ

สมบัติ พลายน้อย หรือ ส.พลายน้อย นักเขียนรางวัลอมตะ ปี 2551 ย้อนความทรงจำว่า ส.ค.ส. เริ่มแพร่หลายจริงๆ ก็คงอยู่ในราว ปี 2480 เศษๆ ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะช่วงนั้นบ้านเมืองค่อนข้างวุ่นวาย หลายคนจึงคิดว่าน่าจะทำอะไรที่สนุกสนานขึ้นมา เพื่อลดความตึงเครียดบ้าง จึงได้ริเริ่มทำกิจกรรมหลายๆ อย่าง เช่น การส่งไข่เป็นของขวัญ เนื่องจากช่วงนั้นคนไทยส่วนใหญ่เลี้ยงไก่เยอะและเศรษฐกิจอยู่ในภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ไข่ขายไม่ได้ หลายคนก็เลยเอาไข่ไก่มาใส่กระเช้าให้เป็นของขวัญ ทำขนมเค้ก ซึ่งริเริ่มโดยนักเรียนโรงเรียนฝรั่ง รวมไปถึงการให้ ส.ค.ส. ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องของคนที่มีฐานะสักหน่อย ทำกันเองและแจกให้กันในหมู่เพื่อนฝูงเป็นหลัก

“บัตร ส.ค.ส. ส่วนใหญ่พวกเราก็ทำเล่นกันเอง ยังไม่มีการพิมพ์ขาย เพราะสมัยสงครามมันต้องประหยัด กระดาษก็หายาก ขนาดก็เลยเล็กนิดเดียว บางแผ่นยาวสัก 2 นิ้ว กว้างนิ้วเดียวก็ยังมี สีก็หายาก ผมจำได้ว่าครูวาดเขียนนี่แหละที่เป็นตัวตั้งตัวตี เอาสีมาป้ายๆ เป็นภาพชายทะเล ต้นหมาก ต้นมะพร้าว ผมทำเสร็จก็ให้สาวๆ บ้าง (หัวเราะ) แจกเพื่อนบ้าง คนไหนอยู่ต่างจังหวัดก็ทำซองส่งไปรษณีย์

“แต่เดิมประชาชนไม่ได้สนใจช่วงปีใหม่เลย เพราะชาวบ้านเขาไม่ถือ คือมันไม่ได้ซึมซาบอยู่ในหัวใจ ของไทยปีใหม่ก็คือสงกรานต์ บางคนยังไม่รู้เลยว่าปีใหม่ฝรั่งมายังไง รัฐบาลท่านไปงุบงิบเปลี่ยนกันเอง แต่พอสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ยุคหลังนี่แหละที่เรื่องปีใหม่เริ่มแพร่หลายไปสู่ชาวบ้านมากขึ้น อย่างคำว่า 'สวัสดีปีใหม่' หรือการแลกของที่ระลึกกันก็มาช่วงนั้นเอง แล้วก็ค่อยๆ กำเริบขึ้นเรื่อยๆ จนกลายธรรมเนียม มีการพิมพ์การ์ด โรยกากเพชรให้มีราคามากขึ้น เรื่องนี้ก็ขยับไปตามสังคม”



ส.ค.ส. ยังไม่ตาย บุรุษไปรษณีย์ยืนยัน

อย่างที่เกริ่นไว้ ในยุคที่สามารถกดมือถืออวยพรได้ชั่วพริบตา ส.ค.ส. น่าจะลดบทบาทลงไปเยอะ ซึ่งก็จริง แต่ถึงจะลดลง ก็ยังถือว่ามีคนส่ง ส.ค.ส. มากมายอยู่ดี เรื่องนี้ยืนยันได้จากปากคำของ ดนัย ยุกตานนท์ หัวหน้าแผนกลูกค้าธุรกิจ ศูนย์รับฝากไปรษณีย์จำนวนมาก แจ้งวัฒนะ นนทบุรี

“ส.ค.ส. ยังมีการส่งกันอยู่ แต่ลดลงไปบ้างครับ เมื่อก่อนคนส่งเยอะกว่าเดี๋ยวนี้ เพราะเดี๋ยวนี้เขาหันไปส่งเอสเอ็มเอส หรืออาจจะโทรศัพท์เอา แต่ก็ยังมีคนที่ใช้ไปรษณีย์ เพราะว่ามันจับต้องได้ เก็บเป็นที่ระลึกได้”

ดนัยบอกว่าช่วงที่พีกที่สุด ชนิดต้องออกข้อห้ามพนักงานว่าห้ามลา ห้ามขาด ห้ามพักร้อน และต้องจัดหาพนักงานมารองรับก็คือช่วงกลางเดือนธันวาคมถึงกลางเดือนมกราคม เนื่องจากปริมาณงานเยอะมาก ทั้งของเดิมและของใหม่ที่ผู้คนเริ่มทยอยส่งในช่วงปลายปี



ส.ค.ส. กับโลกที่หมุนเปลี่ยน

อย่างที่ดนัยบอก ส.ค.ส. ยังไม่ตาย และไม่ถึงขั้นหายใจรวยรินอย่างที่คนจำนวนหนึ่งคิด และถ้าสำรวจดูให้ดี การส่ง ส.ค.ส. ก็ไม่ได้เกี่ยวกับอายุ

วัยรุ่นอายุ 15 ปี อย่าง กฤตกนก พุ่มเจริญ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนแห่งหนึ่ง เธอยังส่ง ส.ค.ส. อยู่ เพราะเธอเชื่อว่า การส่ง ส.ค.ส. เป็นเหมือนการส่งความสุขไปให้คนที่เรารักและคิดถึงที่อยู่ห่างไกลได้

“ส.ค.ส. มันเก็บไว้อ่านได้นาน เวลานึกถึงก็หยิบมาอ่าน ไม่เหมือนเฟซบุ๊กหรือไฮไฟว์ที่พอมีคนมาคอมเมนต์ข้อความมันก็จะหายไปอยู่ ท้ายๆ”

ปีนี้เธอส่ง ส.ค.ส. หาคนที่รักที่อยู่ห่างไกลไป 5-6 คนแล้ว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือพ่อของเธอ โดยรูปแบบ ส.ค.ส. ที่ส่งหาเพื่อนและหาพ่อมีความแตกต่างกัน นั่นคือ ถ้าส่งหาพ่อรูปที่เลือกจะเป็นทางการ เช่น ดอกไม้ หรือ ของขวัญ แต่ถ้าส่งให้เพื่อนๆ จะใช้รูปวิว บรรยากาศทั่วไป

“คิดว่ามันมีความสำคัญนะ เพราะมันเป็นการส่งคำอวยพร เป็นการบอกความรู้สึกของเราไปถึงคนที่เรารักและคิดถึงได้”

ธนภรณ์ มังคะตะ เจ้าของธุรกิจเชียงคาน เกสต์เฮ้าส์ วัย 52 ปี บอกว่า ปกติจะส่ง ส.ค.ส. ให้กับเพื่อนและคนรู้จักที่สนิทสนมกันมานานกว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ปลายทางของ ส.ค.ส. คือต่างประเทศ โดยปีใหม่แต่ละปีจะส่ง 2-3 ฉบับ รูปแบบ ส.ค.ส. ที่ใช้ส่งจะเป็นแบบที่ทำเอง โดยใช้รูปถ่ายของตัวเองคู่กับสถานที่เด่นๆ หรือสัตว์เลี้ยงแสนรัก อย่างสุนัขหรือแมว ซึ่งสามารถแสดงความมีเอกลักษณ์ของตัวเองได้

“เราไม่ซื้อ ส.ค.ส. นะ เราทำเองและมีตกแต่งให้สวยงามบ้างเล็กน้อย เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่แทนความรู้สึกดีๆ ที่เราอยากมอบให้เขา เนื้อหาที่เราอวยพรก็จะเน้นเรื่องให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ชีวิต”

เหตุผลที่ทำให้เธอยังคงส่ง ส.ค.ส. ให้แก่คนสนิท เป็นเพราะว่าเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีทั้งในปัจจุบันและอนาคต

“ส่ง ส.ค.ส. เหรอ? ไม่ส่งมานานมากแล้วนะ ครั้งสุดท้ายก็เมื่อตอนเรียน ม.ปลาย” สุพัตรา กรมขุนทด พนักงานบริษัทวัย 26 ปี เล่าถึงการส่ง ส.ค.ส. ของตัวเอง
เหตุผลที่เธอไม่ส่ง เพราะเธอไม่ชอบการเขียน และคิดว่าการส่ง ส.ค.ส. เป็นธรรมเนียมของคนมีอายุ จึงยุติการส่ง ส.ค.ส. ตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา

“เดี๋ยวนี้เราส่งข้อความทางโทรศัพท์หากันได้ ไม่ว่าจะใครก็ตาม ยิ่งเพื่อนยิ่งสะดวกใหญ่เลย เพราะเราไม่ชอบเขียนอยู่แล้ว แต่ก็ใช่ว่าเราไม่ส่ง ส.ค.ส. แล้วเราจะขาดการติดต่อกับเพื่อนคนนั้นๆ นะ เพราะเรายังสามารถโทร.หากันได้คุยกันได้ตลอด เพียงแต่การส่งคำอวยพรมันก็มีการพัฒนาขึ้น อาจจะเป็นการส่งข้อความทางเฟซบุ๊ก ไฮไฟว์แทนก็ได้”

ทำเป็นเล่นไป นักเขียนรุ่นเก๋าอย่าง ส.พลายน้อย ก็ไม่ได้ส่ง ส.ค.ส. มาหลายปีแล้ว เขามองว่า โทรศัพท์สะดวกกว่า

“ผมเองก็ไม่ได้ส่ง ส.ค.ส. มาหลายปีแล้ว อายุมากแล้ว เลยไม่ค่อยออกจากบ้าน (หัวเราะ) แต่จริงๆ การส่ง ส.ค.ส. ก็ค่อนข้างเรื่องมากเหมือนกันนะ ไหนจะต้องเดินหาอีก บางทีก็ไม่ค่อยถูกใจ แถมยังแพงอีกต่างหาก เดี๋ยวนี้บางคนเขาก็เลยไม่ส่ง เพราะมันยุ่งยาก โทรศัพท์เอาดีกว่า สะดวกกว่าเยอะ (หัวเราะ) อย่างล่าสุด เพื่อนผมที่อยู่เชียงใหม่ก็เพิ่งโทรศัพท์มาหา แล้วก็บอกว่าส่ง ส.ค.ส. เรียบร้อยแล้ว ขี้เกียจไปเดินหา ส.ค.ส. อย่างนี้ก็ไม่เป็นไรได้คุยกันสักหน่อยว่ายังอยู่ ก็ยังดี ไม่เสียหาย แต่ถ้าเป็นผู้น้อยถึงผู้ใหญ่บางคนก็อาจจะรู้สึกไม่เหมาะสมก็ได้”

เอาเข้าจริง แม้เทคโนโลยีจะมีผลต่อการใช้ชีวิต แต่ก็ใช่ว่ามันจะเกี่ยวกับการการส่งหรือไม่ส่ง ส.ค.ส. ไปซะหมด มันยังขึ้นอยู่กับการให้ความหมายของแต่ละคนด้วยว่า มอง ส.ค.ส. อย่างไร

ยกตัวอย่าง การส่ง ส.ค.ส. ในฐานะเครื่องมือการรักษาความสัมพันธ์ ต้องเรียกว่าแข็งแรงอยู่มาก โดยที่เทคโนโลยียังเข้ามาแทรกได้ยาก คงไม่มีฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทไหนส่งเอสเอ็มเอสไปอวยพรประธานกรรมการ บริหารของอีกบริษัทหนึ่งแน่ๆ เพราะมันอาจลุกลามทางความคิดได้ว่าเป็นการไม่ให้เกียรติ

ขณะที่บางคนก็มีมุมมองต่อ ส.ค.ส. อีกแบบ อย่าง้ ธีรภาพ โลหิตกุล ช่างภาพและนักเขียนสารคดี ที่แสดงทัศนะว่า การส่ง ส.ค.ส. ในช่วงวันปีใหม่มีความสำคัญในแง่ของการแสดงไมตรีต่อกัน ที่ผ่านมาเขาก็เคยส่งการ์ด ส.ค.ส. ให้แก่เพื่อนสนิทมิตรสหาย แต่เมื่อค้นพบว่าหลังจากอ่านการ์ดใบนั้นจบลง สิ่งนั้นก็จะกลายเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ทันที และเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุเขาก็เปลี่ยนจากการส่งการ์ด 1 ใบ มาเป็นการพิมพ์หนังสือเล่มเล็กๆ ส่งให้แทน

“8 ปีที่ผ่านมา ผมเปลี่ยนจากส่งการ์ด ส.ค.ส. มาเป็นการพิมพ์หนังสือเล่มเล็กๆ ที่รวมภาพที่ผมประทับใจ รวมถึงบอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวหนังสือ ประมาณ 34 หน้าส่งให้คนที่รู้จัก เกือบ 200 คน (ไม่นับรวมแจกตามงานบรรยาย) โดยเขียนในคำนำว่าเป็นการอวยพรปีใหม่ส่งความสุขให้ทุกคนที่ได้อ่าน”

นอกจากหนังสือเล่มเล็กดังกล่าวจะเป็นสื่อแทนคำอวยพรจากเจ้าของแล้ว ยังเป็นประโยชน์ได้มากกว่า ถ้าหนังสือนั้นมีคนอ่านมากกว่าหนึ่งคน ซึ่งก็หมายความว่ามีค่ามากกว่าการ์ด ส.ค.ส. หนึ่งใบ ที่เมื่อนานๆ ไปก็ต้องกลายเป็นขยะในที่สุด

“พวกการ์ด พออ่านเสร็จผมก็เก็บนะ และพยายามเอาออกมาใช้ประโยชน์ เช่น ตกแต่งผนัง กระจก บ้างเพื่อความสวยงามแต่สุดท้ายเราก็ต้องทิ้งอยู่ดี” ธีรภาพกล่าวทิ้งท้าย

คุยกับคนนั้นคนนี้ แล้วจะไม่ให้ถามความเห็นจากผู้ทำหน้าที่ส่งความสุข ก็ดูกระไรอยู่

ดนัยคิดว่าการส่งความสุขในแต่ละแบบ ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของความสนิทสนมที่แต่ละคนมีต่อกัน ซึ่งเขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าดีหรือไม่ดี แต่สำหรับตัวเขา

“ผมยังรู้สึกว่า ส.ค.ส. มีความประทับใจมากกว่า เพราะคนส่งอุตส่าห์ส่งมาให้ แล้วก็ตั้งใจเขียนด้วยลายมือ และมันก็เป็นสิ่งที่จับต้องได้”

เอาเป็นว่าจะส่งความสุขกันแบบไหน ความรู้สึกดีๆ ก็เดินทางไปถึงได้เหมือนๆ กัน
ขอให้มีความสุขในปีใหม่ 2553

Views: 193

Reply to This

Replies to This Discussion

ยังทำ ส.ค.ส. อยู่ทุกปีฮะ
ถึงแม้จะส่งโดยไม่ได้ใส่ซอง ติดแสตมป์

ถือโอกาสส่งความสุขเลยละกันฮะ

RSS

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service