แรงกระเพื่อมของหนังเทศ การโถมตัวของหนังไทย 2009

โดย : นันทขว้าง สิรสุนทร


เสียงระฆังในคืนคริสต์มาส อาจทำให้ใครบางคนคิดไปถึงเพลงและหนังของเทศกาลแห่งความสุข

แต่ในมุมหนึ่งของอุตสาหกรรม “จุดประกาย” นึกไปถึงคำพูดของ ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์หนัง ที่เคยหล่นวาจาบอกว่า หนังไทยปี 2009 ก็ไม่ต่างอะไรมากกับปีที่แล้ว

“พอผมลองอ่านที่ผมเขียนสรุปดู มันก็คล้ายๆ กับปีที่แล้ว คือคุณภาพไม่ได้มีมากมายนัก” เขาพูดทำนองนี้ ในงานประชุมกรรมการลงคะแนนหนังของรางวัลชื่อหนึ่ง ที่ร้านอาหารย่านสนามสแควร์

ทัศนะของนักวิจารณ์หนังคุณภาพอย่าง ประวิทย์ แต่งอักษร ทำให้นึกไปถึงความเห็นของ วิสูตร พูลวรลักษณ์ ผู้บริหารของ GTH ที่มีมุมมองต่อหนังทำเงินอันดับสองของปีอย่าง transformers 2 ว่า “ผมคงไม่แปลกใจ ถ้าถึงสิ้นปี 2009 หนังเรื่องนี้เป็นแชมป์หนังทำเงินสูงสุดประจำปี”

นัยที่ซ่อนเร้นก็คือ หนังที่จะทำเงินนั้น ต่อให้พูดเรื่องอะไรก็ตาม ถ้ามีวิธีการหรือสไตล์ที่แปลกออกไป หากว่ามันถูกรสนิยม ก็มีโอกาสกวาดเงินถล่มทลาย

ปี 2009 กำลังผ่านพ้นไป แต่ในแง่ของอุตสาหกรรมหนังต่างประเทศ นี่ไม่ใช่ช่วงเวลาที่น่าจดจำของหนังต่างชาติ เพราะมันคือเวลาทองของหนังไทย ซึ่งแม้จะจริงบ้างโม้บ้าง แต่หนัง 6-7 เรื่อง ทำเงินไปถึงระดับน้องๆ 100 ล้านและบางเรื่องก็เกินตัวเลขนี้

ความจำสั้นแต่รักฉันยาว, สาระแนห้าวเป้ง, 5 แพร่ง, วงษ์คำเหลา, รถไฟฟ้ามาหานะเธอ, แหยม 2 คือรายชื่อของหนังเป็นหน้าเป็นตาของหนังไทย ขณะที่ transfomers 2 และ 2012 วันสิ้นโลก ฟาดไปร่วมๆ 400 ล้านบาท
แต่ในแง่ของปริมาณหนังที่น่าจดจำ มีน้อยจนเกือบจะไม่มี

“ถ้ามองในแง่ของอุตสาหกรรม ปีนี้น่าดีใจจริงๆ นะ” ศิวาภรณ์ พงษ์สุวรรณ โปรดิวเซอร์หนังไทยหลายเรื่อง ให้สัมภาษณ์กับ “จุดประกาย” ที่ลานเบียร์สยามฯ เมื่อคืนวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา

“ขอเลือกรถไฟฟ้ามาหานะเธอ” เธอตอบเกือบจะทันที หลังจากถูกถามว่า ชอบหนังไทยมากๆ เรื่องใด

“ถามว่าชอบอะไร คือชอบภาพรวมๆ มันเป็นหนังของผู้หญิง พูดในสิ่งที่ผู้หญิงเข้าใจได้และรู้ว่าใช่ ทั้งไลฟ์สไตล์และความรู้สึกของคนที่ยังไม่ได้แต่งงานหรือมีแฟน แต่เชื่อมั้ย แม้แต่คนที่กำลังจะแต่งงานหรือมีแฟน ก็เห็นด้วยและชอบหนังเรื่องนี้” โปรดิวเซอร์สาว ที่ค่อยๆ พาตัวเองทะยานสู่เลข 4 ของอายุ แจกแจงอย่างน่าสนใจ

"มันหลายแง่มุม ไม่ใช่แค่เป็นหนังรักที่ดูตลกอารมณ์ดี เราว่า คริส หอวัง เองก็เก่งที่ทำให้คาแรคเตอร์ของ เหมยลี่ ได้รับความเชื่อมั่น นักแสดงหญิงที่เล่นตลก ออกแบบ comedy ให้กับตัวเองในบ้านเรามีไม่เยอะอยู่แล้ว คริส ไม่ใช่แค่หมวย เขามีอะไรมากกว่าการเป็นหมวย"

ศิวาภรณ์ แม้หมวยเช่นกัน และแม้ไม่พบคนหล่อๆ อย่าง เคน ธีรเดช ในหนังเรื่องใดก็ตาม แต่เธอขยายความคิดต่ออีกส่วนหนึ่งว่า แม้แต่เสื้อผ้าที่เหมยลี่ใส่ ก็คือ สิ่งที่อธิบายได้จริงกับหญิงสาวของคนเมือง ทัศนะของคนที่คลุกคลีวงในแบบ “ขึ้นเข่าเขย่าศอก” อย่าง ศิวาภรณ์ พงษ์สุวรรณ อยู่ท่ามกลางบรรยากาศ “หนังรัก 4 เรื่อง” ที่ดาหน้ากันฉายตลอดเดือนธันวาคม และอาจจะเป็นการสร้าง “สถิติปิดท้าย” ของปี 2009 ว่า นี่คือเดือนสุดท้ายของปีที่มีหนังในตระกูลเดียวกัน ฉายช่วงใกล้กันมากที่สุดในรอบหลายๆ ปี แม้ว่าบางเรื่องนั้น จะใช้สัมผัสด้าน comedy เข้ามาสนับสนุนก็ตาม (และแน่นอน หนังบางเรื่องถูกวิจารณ์ในมุมลบจากหลายคน)

อานิสงส์อีกอย่างหนึ่งที่พูดถึงก็คือ การเพิ่มปริมาณของ “หนังรัก” ให้ครองแชมป์มากกว่าจำนวนของ “หนังตลก” ซึ่งตัวเลขอยู่ที่ 14-15 เรื่อง

"แนวทางของหนังไทยโดยหลักๆ มันไม่ขยับแบบพลิกฟ้าคว้าดาวหรอก เพราะมันขยับรุนแรงไม่ได้ เนื่องจากพื้นฐานการดูหนังของคนไทย เปลี่ยนไม่ได้มาก ทุกๆ ปี หนังรัก หนังสยอง หนังผี และหนังตลก จะยึดหัวหาดการเป็นแนวทางหนังหลักในอุตสาหกรรมภาพยนตร์" สาวเก่ง คุยต่อ

คนดูไปไกลกว่าคนทำ(หนัง)
แต่แม้จะไม่เปลี่ยนมาก ปี 2009 ของหนังไทยมีเรื่องให้ต้องบันทึก 3 อย่าง ที่น่าจับตาไปถึงปีหน้า 2010
ประการแรก มีการผุดโผล่ของหนังแปลกๆ ออกมาทดลองตลาดอย่างน่าสนใจ หมายความว่าแนวทางนั้นน่าสนใจ แต่ไม่ใช่เรื่องราวหรือพล็อต ตัวอย่างเช่น สาระแนห้าวเป้ง และพลเมืองจูหลิง รวมไปถึงหนังที่พยายามจะมีอะไร และสามารถสมาร์ทได้อย่าง “เฉือน” ซึ่งออกจากกรอบที่ "5 แพร่ง" สร้างไว้ได้สำเร็จ

บางทีปีหน้า 2010 หนังแบบนี้จะมีมากขึ้น หนังที่พยายามจะทดลอง ถางทางใหม่ๆ ด้วยเชื่อมั่นว่า รสชาติแปลกออกไป ถ้ามีรสนิยม คนดูก็ให้โอกาส

เหมือนกินปลาในตลาดมานาน ลองไปกินปลาในบุฟเฟ่ต์ดูบ้าง แต่เป็นปลาเหมือนกัน

ประการที่สอง, ถ้าดูจากจำนวนรายได้ 500-600 ล้านจากหนัง 4-5 เรื่อง (ความจำสั้นฯ, สาระแนห้าวเป้ง, วงษ์คำเหลา, รถไฟฟ้ามาหานะเธอ, 5 แพร่ง, แหยม 2) ก็สะท้อนได้ถึงรสนิยมของคนดูหรือผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ แนวทางแม้เป็นแบบเดิม แต่วิธีคิด วิธีขาย หรือสไตล์การเสนอต้องเปลี่ยนไป รถไฟฟ้ามาหานะเธอ เล่นกับอารมณ์ของผู้หญิง แต่ไม่ใช่คนเมือง (ที่แม้จะมีรถไฟฟ้าและไลฟ์สไตล์ชนชั้นกลาง) ความจำสั้นฯ ตอบสนองสิ่งที่คนดูอยากพูดหรือใฝ่หา ส่วน 5 แพร่ง เป็นแฟรนไชส์ที่สานต่อความสำเร็จมาจาก 4 แพร่ง ที่จะต้องมีภาคต่อไปอีกแน่นอน และไม่ต้องรอนาน

หนังทำเงิน 3 เรื่องของ GTH ต่างกระจัดกระจายอยู่ใน 3 ตระกูลและแนวทาง (สยองขวัญ-ตลก-หนังรัก) แต่จุดร่วมที่มีเหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือ เป็นงานที่มีความเข้าใจตลาดของตัวเองสูง เล่นกับแง่มุมที่ตัวเองถนัด เสริมด้วยการตลาดที่ครอบคลุม

เหมือนแนวคิดของ shopper marketing บวกกับ popumentary
แพ็คเกจจิ้งสวย และเนื้อในใช้ได้ ไม่ใช่แกะกล่องกินแล้วคายทิ้ง

แต่ สหมงคลฟิล์ม ก็ไม่ได้ขายหน้าเช่นกัน เพราะขณะที่ GTH จับจนอยู่หมัดกับตลาดชนชั้นกลางในเมือง ทางสหมงคลฟิล์มเอง ก็กวาดตลาดแมส หรือคนดูที่อยู่ข้างล่างลงไป ด้วยโปรดักท์แข็งแรงอย่าง หม่ำ จ๊กมก ซึ่งมีบทบาทหมดไปกับหนัง 3 เรื่อง (สาระแนห้าวเป้ง, วงษ์คำเหลา, แหยม 2) แต่เป็น 3 เรื่องที่ไม่มีคุณภาพใดๆ ให้จดจำหรือเข้าตานักวิจารณ์ แถมถูกค่อนแคะในเชิงว่า เข้าสู่การเป็นนักการตลาดเต็มตัว จากการทำตัวเป็นข่าวกับสาระแนห้าวเป้ง

แม้จะถูกผู้คนเหน็บแนมไม่น้อย แต่คุณหม่ำ ยังขายได้ในปีนี้ และถ้านี่คือ หนังที่มีกลิ่นรสแปลกออกมาจนได้สตางค์ ปีนี้มีหนังเชยๆ เกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะมาฉายในยุคสมัยนี้

หนัง 3 เรื่องนั้น คือ 2022 สึนามิ วันโลกสังหาร และ ปายอินเลิฟ รวมทั้ง ม.3 ปี 4 เรารักนาย กับ roommate

สองเรื่องแรกนั้น ฉายผิดเวลาไปมาก เรื่องหนึ่งเลยมา 5 ปี อีกเรื่องหนึ่งเลยมา 4 ปี กระแสของปายนั้นไม่มีแล้ว และแม้จะมองออกจากโปรดักชั่นและโลเคชัน รูปแบบของหนังในแบบ anthology (รวมหลายเรื่องไว้ด้วยกัน) ก็ไม่ได้มีสิ่งใหม่ นอกจากโฆษณาแฝง

ที่เลวร้ายกว่าก็คือ สองเรื่องหลัง ซึ่งขายหน้าในการลอกเลียน แนวทางหนังของ GTH แบบไร้รสนิยม ก่อนจะบาดเจ็บด้วยการถูกปฏิเสธจากคนดู

การบาดเจ็บของหนังสองเรื่องที่ว่านี้ ได้บอกชัดเจนว่า คนดูนั้นได้ก้าวข้ามไปไกลกว่าคนทำหนังเสียแล้ว

เรื่องน่าอายอีกประการหนึ่งก็คือ การลอกเลียน ก๊อบปี้อย่างหน้าด้านด้วยประโยคโฆษณาแบบที่ GTH ใช้ ในพรินท์แอด คำพูดประเภทดูแล้วดูอีก, ดูกับครอบครัวหรือคนรัก รวมไปถึงสร้างสถิติประหลาด ซึ่งเป็นเคล็ดในการทำโฆษณาสินค้า ถูกนำมาใช้อย่างเกลื่อนกลาด และดาษดื่น อย่างน่าสำรอก

หนังไทยบางเรื่องถึงขั้นลอกนักแสดงกันเลย คือเลียนแบบแนวทางแล้วไม่พอ ต้องลอกนักแสดงเอามาเล่นด้วย แต่ลืมว่า แม้จะเป็นหนังที่พยายามใกล้กัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จ คล้ายๆ กับ “รักแห่งสยาม” นั้นดีแน่ แต่เมื่อจะไปซ้ำกับ “ฝันหวานอายจูบ” มันก็ล้มเหลวได้ทันที เพราะหนังแสนจะเชย

แม้ปี 2009 จะเป็น 12 เดือนที่รุ่งเรืองของอุตสาหกรรมหนังไทย แตกต่างไปจากปี 2008 ที่มีหนัง 100 ล้านประกอบอยู่ แต่ทุนสร้างที่สูงไม่ได้ทำให้ค่ายหนังแฮปปี้เหมือนปีนี้ ซึ่งทุนสร้างหลายเรื่องต่ำกว่าปกติ

ไม่ใช่ปีทองของหนังฮอลลีวู้ด
“ผมว่าหนังไทยเริ่มมีอนาคต เมื่อดูจากระยะหลังๆ” มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ นักวิจารณ์และนักท่องเทศกาลหนังทั่วโลก บอกกับ “จุดประกาย”

ความเห็นของเขา ถูกตั้งคำถามคู่ขนานทันทีว่า ถ้าเช่นนั้น หนังต่างประเทศอย่างฮอลลีวู้ด จะหมดวัฒนธรรมจักรวรรดินิยมผ่านหนังทุนนิยมแล้วหรือ ?

“มันมองได้หลายมุมนี้ถ้าถามแบบนี้” เขาขยับแว่นบนใบหน้า พร้อมกับขยับแก้วบนโต๊ะ ..“แนวคิดของฮอลลีวู้ดกับตอนนี้ อาจจะรู้สึกว่าการสร้างตลาดใหม่ๆ คือ วัฒนธรรมต่างพื้นที่ เช่นเอเชียของเราก็เป็นวัตถุดิบในการทำหนังของตะวันตก โดยจะเห็นได้อย่างหนึ่งว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมา การเอาหนังไปรีเมคใหม่เป็นที่นิยมกันในระดับหนึ่ง แม้ว่าจะล้มเหลวมากกว่าประสบความสำเร็จก็ตาม”

มโนธรรม บอกว่า ปีนี้เขาไม่ได้ประทับใจอะไรกับหนังใหญ่หรือหนังดังของฮอลลีวู้ด และถ้าเลือกหนังสักเรื่องในแง่ของการสร้างสรรค์และการน่าให้กำลังใจ เขามีอยู่เรื่องหนึ่ง

“ผมเลือก the box ของ ริชาร์ด เคลลี ซึ่งพอดูแล้ว รู้สึกชอบ ทึ่งและคิดว่าผู้กำกับคนนี้น่าสนใจมาก คือตอนไปดูก็ไม่ได้คาดหวังมาก แต่พอดูแล้ว รู้สึกว่ามันคือหนังที่ต้องให้คะแนนทีเดียว”

ในฐานะนักดูหนัง เขาบอกว่า หนังเล็กๆ หลายเรื่องๆ น่าสนใจมากกว่าภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ยักษ์ แม้ว่าบางครั้งบางที หนังลงทุนมากๆ จะมาพร้อมกับข่าวสารตูมตามก็ตาม

แน่นอน ปี 2009 ไม่ใช่ปีของฮอลลีวู้ด ต่อให้ 2012 คือแชมป์หนังทำเงินก็ตาม

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่หนังไทยและหนังเทศได้ร่วมกันทำหน้าที่เหมือนกันก็คือ หนังที่จะได้เงินนั้น จะต้องมีวิธีคิดและสไตล์ที่แปลกออกไปจากอดีต ถ้าไม่ใช่รูปแบบที่ใหม่ ก็ต้องมีเนื้อหาที่โดนใจผู้บริโภค เหมือนโฆษณานั่นเอง

ใครที่รู้ว่าผู้บริโภคสินค้าอยากซื้ออะไร และพูดมันออกมาได้

เงินก็มากองอยู่ตรงหน้า



โดย : นันทขว้าง สิรสุนทร
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ Life Style
วันที่ 31 ธันวาคม 2552

Views: 44

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service