เรื่อง ฟองสมุทร



ในนิยามของความเป็นสมัยใหม่แล้ว ศิลปะกับคนดูหรือผู้ชมนั้นดูจะเป็นความสัมพันธ์ที่ขาดเสียซึ่งส่วนหนึ่งส่วน ใดไปไม่ได้ เพราะหากขาดซึ่งคนดูหรือผู้ชมแล้วศิลปะก็ไม่อาจดำรงสถานภาพของความเป็นศิลปะ ที่สมบูรณ์เอาไว้ได้ ความสัมพันธ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าคนดูหรือผู้ชมมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไป กว่าตัวศิลปะเองเลย และนั่นทำให้ขอบเขตของความสัมพันธ์ถูกนำมาเป็นประเด็นในการปรับเปลี่ยน พัฒนา ขยับขยายพื้นที่ ที่ระยะห่างระหว่างศิลปะกับคนดูถูกทำให้ใกล้ชิดกัน เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ตลอดจนขาดเสียซึ่งส่วนหนึ่งส่วนใดไปเสียไม่ได้เลยทีเดียว

ความสัมพันธ์ประเภทที่ขาดเสียซึ่งส่วนหนึ่งส่วนใดไม่ได้นั้น สะท้อนออกมาอย่างเป็นรูปธรรมในศิลปะประเภทที่ต้องการมีปฏิสัมพันธ์ หรือ interactive art ที่ศิลปะและคนดูหรือผู้ชมต้องอาศัยพึ่งพากันและกัน ศิลปะประเภทนี้ทำให้ป้ายห้ามจับ (do not touch) ที่เคยพบเห็นในพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ไร้ความหมายไปอย่างสิ้นเชิง พร้อมๆ กับการสร้างความสับสนใหม่ให้กับคนดูหรือผู้ชม เพราะคนดูเองก็ไม่รู้หรือไม่แน่ใจว่าจากนี้ไปศิลปะตกลงว่าจับต้องได้หรือจับ ต้องไม่ได้ คือดูเฉยๆ กันแน่ พรมแดนที่เคยเป็นพื้นที่ดูแต่ตามืออย่าต้องถูกทำลายไป เกิดเป็นปรากฏการณ์ใหม่คือ ตาดู หูฟัง มือคลำ ไปเสียแล้ว

ในเรื่องปฏิสัมพันธ์ในศิลปะดังกล่าวนี้ นรเศรษฐ์ ไวศยกุล ดูจะเป็นศิลปินเพียงไม่กี่คนที่สนใจและให้ความใส่ใจอย่างจริงจังถึง ปฏิสัมพันธ์ที่ผู้ชมมีต่อศิลปะ อย่างน้อยก็ในศิลปะของเขา ที่แม้ว่าความสนใจและเรื่องราวในตัวศิลปะจะเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาไปอย่างไร แต่ประเด็นเรื่องปฏิสัมพันธ์ของคนดูยังคงเป็นส่วนหนึ่งในแนวคิดและผลงานของ เขา



ในผลงาน Another World พ.ศ.2550 ณ หอศิลป์ PSG มหาวิทยาลัยศิลปากร นรเศรษฐ์สร้างสถานการณ์ที่ผู้ชมไม่ได้ตระหนักว่าขณะที่เขาหรือเธอเดินไปใน ส่วนหนึ่งของห้องจัดแสดงนั้น เขาและเธอกลับเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงในห้องแสดงผลงานอีกห้องหนึ่ง ภาพจำลองสถานการณ์ผลพวงของวินาศกรรมและสงครามถูกถ่ายทอดผ่านภาพเคลื่อนไหวบน ผนังห้อง ที่ผู้ชมในฐานะของผู้แสดงเองก็ไม่ได้ระแคะระคายว่าเขาได้ผ่านจุดต่างๆ เหล่านั้นไป ราวกับว่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวนั้น ไม่ว่ามันจะเป็นจริงเพียงใด หรือไม่มีความเป็นจริงเลยก็ตามแต่ มันหาได้มีความหมายกับเขาไม่?

ในบริบทของคนดูที่คล้ายๆ กันนี้ นรเศรษฐ์สร้างความสมจริง ไปจนถึงความเกินจริงหรือเหนือจริงผ่านหุ่นจำลอง และแผนภูมิจำลองในผลงานล่าสุดของเขาใน subsconciouscape พ.ศ.2551 ที่ Gallery VER ที่เขานำเอาเรื่องราวที่ได้รับรู้จากข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ ที่มีตัวแปรคือภาพและขอบเขตของการรับรู้ที่จำกัด ซึ่งส่งผลต่อความจริงที่เกิดขึ้นจากการรับรู้นั้น ปรับและแปรมันเป็นแผนภูมิจำลองสามมิติที่ปิดทุกๆ ด้านไว้ ภาพของวัตถุและเหตุการณ์ถูกนำเสนอผ่านกล้องที่บันทึกและนำเสนอเหตุการณ์ผ่าน การควบคุมโดยคนดู ซึ่งในคราวนี้ คนดูแสดงบทบาทของผู้เล่นและผู้ควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในกล่องปิดนั้น

นรเศรษฐ์แปลงห้องแสดงนิทรรศการส่วนหนึ่งเป็นประติมากรรมกล่องไม้ปิด ที่ดูเสมือนเป็นผลงานจัดวางที่ลอยอยู่เหนือพื้น ผู้ชมไม่สามารถมองเห็นว่าอะไรที่อยู่ภายในประติมากรรมกล่องไม้นี้ แต่ผู้ชมถูกเชิญชวนและท้าทายให้เดินผ่านไปยังอีกส่วนหนึ่งของนิทรรศการที่มี กล่องควบคุม RC และจอโทรทัศน์ที่ทำให้ทราบว่ารูปลักษณ์ภายในกล่องที่อยู่อีกด้านของห้องแสดง งานนั้นมีอะไรอยู่บ้าง ซึ่งผู้ชมสามารถเข้าไปสำรวจ และมองเห็นภาพจำลองภายในผ่านรถบังคับวิทยุ ที่มีกล้องถ่ายภาพเสนอผ่านจอโทรทัศน์เบื้องหน้า วัตถุจำลองในภูมิทัศน์ที่สะท้อนความเป็นจริงที่ดูเสมือนว่าเกินจริงในบาง ครั้ง การแยกแยะความผิดเพี้ยนและความจริงนี้ ดูจะเป็นสารที่นรเศรษฐ์ปรารถนาให้ผู้ชมได้รับผ่านการเลือกสรรของผู้ชมเอง มากกว่าที่เขาจะเป็นผู้บอกว่ามันเป็นเช่นไร?

เรื่อง ฟองสมุทร
ที่มา mars magazine > Art2 > No.85

Views: 22

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service