ฟาร์ม 'จิม ทอมป์สัน' เกษตรผสานงานศิลป์


โดย : รัชดา ธราภาค


'เรือนโข่ง' ที่สามารถแยกส่วนเพื่อยกให้ลูกหลานหลายคนได้ (ภาพ : จิม ทอมป์สัน)
-----------------------------

จิม ทอมป์สัน (Jim Tompson) ชื่อนี้เป็นที่รู้จัก ในฐานะแบรนด์ผ้าไหมไทย ซึ่งสร้างชื่อยังต่างแดน

วันนี้ชาวไทยจำนวนไม่น้อย ยังตั้งตาคอยให้ถึงช่วงปลายปีที่ 'จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม' อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เข้าเยี่ยมชม และเลือกชมเลือกช้อปผลิตภัณฑ์เกษตรนานาชนิด รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมในสไตล์ Outlet ซึ่งกลายเป็นอีกกิจกรรมประจำปีที่น่าสนใจ นอกเหนือไปจากกิจการหลักด้านผ้าไหมของแบรนด์ดัง

ในที่สุด ช่วงเวลาแห่งการรอคอยก็มาถึง โดยในปีนี้ 'จิม ทอมป์สัน ฟาร์มทัวร์' เปิดรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ วันที่ 19 ธันวาคม ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 10 มกราคม 2553

ปีที่ผ่านๆ มา หลายคนอาจได้เห็นภาพฟาร์มกว้างที่ไม้นานาพันธุ์แข่งกันแตกใบเขียวสดสุดลูกหู ลูกตา กับฟักทองลูกโตสีส้มจัด และทุ่งทานตะวันผืนใหญ่ได้รับการถ่ายทอดผ่านสื่อต่างๆ ปีนี้ จิม ทอมป์สัน ยังสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ ด้วยการผนวกนิทรรศการศิลปะซึ่งจัดแสดงเป็นประจำที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ถนนพระราม 1 มานำเสนอใน โปรเจค Jim Tompson Art Center on Farm ซึ่งถือเป็นรสชาติแปลกใหม่ที่คอศิลปะอาจไม่ค่อยคุ้นชิน หรือแม้แต่จะจินตนาการไปถึง



มะเขือเทศออร์แกนิกที่นักท่องเที่ยวลงเก็บเองในแปลง - อาณาจักรฟักทอง ด้านหลังสีชมพูคือทุ่งคอสมอส
----------------------------


สุดสิริ ปุยอ๊อก สอนแกะฟักทอง - ภัทรี และจักรกริช ฉิมนอก กับ 'บุญหลายจำลอง'
--------------------------


สนุกกับเทคโนโลยีพื้นบ้าน - สาธิตการทำผ้าไหมที่ตลาดจิม ทอมป์สัน
-----------------------------


ฟาร์มปลอดสาร สู่สวนลอยฟ้า

จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ไม่ใช่สถานที่ใหม่ที่เพิ่งบุกเบิกหักร้าง แต่พื้นที่บริเวณเชิงเขาพญาปราบแห่งนี้ใช้เป็นแหล่งผลิตไข่ไหมเพื่อจำหน่าย ให้สมาชิกเกษตรกร และเป็นพื้นที่ปลูกหม่อนซึ่งเป็นอาหารหลักของหนอนไหมให้กับโรงงานผ้าไหมทอ มือของ จิม ทอมป์สัน มากว่า 20 ปี

ในช่วงไม่เกิน 10 ปีมานี้ จิม ทอมป์สัน เริ่มเปิดฟาร์มให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรปีละครั้งในช่วงเดือนธันวาคม เพื่อนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ด้านเกษตรและวงจรชีวิตของหนอนไหม ชมแปลงพืชผักและดอกไม้นานาชนิด ก่อนเลือกซื้อไม้ดอกไม้ประดับและผลผลิตทางการเกษตรติดไม้ติดมือกลับบ้าน

ฟาร์มทัวร์ของจิม ทอมป์สัน แบ่งโซนท่องเที่ยวเป็น 4 โซนหลัก ลำเลียงนักท่องเที่ยวไปตามจุดต่างๆ ด้วยรถรางนำเที่ยว

โซนแรก ต้อนรับคนรักสุขภาพด้วย 'สวนลอยฟ้า' ไอเดียปลูกผักกินเองสำหรับคนเมือง กระถางมะเขือเทศในถังคว่ำที่ห้อยกับไม้ระแนง บังคับให้พืชผักสวนครัวต้องงอกทะลุดินจากด้านล่างก่อนจะเติบโตแบบย้อนศรสู่ ทิศของแสงแดด วิธีการแบบนี้คุณ จริยา มีชื่น นักวิจัยประจำจิมฯ ฟาร์ม บอกว่าจะทำให้ต้นไม้ได้รับอาหารจากระบบน้ำหยดพร้อมสารอาหารแบบเต็มๆ ด้วยหลักแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้พืชผักงอกงามให้ผลผลิตสมบูรณ์ดี และเป็นวิธีที่เหมาะกับชาวคอนโด เพราะใช้เนื้อที่น้อย ไม่ต้องรดน้ำบ่อย แถมมีผักปลอดภัยไว้กินเองในครอบครัว

ในโซนเดียวกันนี้ ยังมีมะเขือเทศแปลงใหญ่ให้นักท่องเที่ยวได้ลงมือลงไม้เลือกเก็บมะเขือเทศ หลายพันธุ์มาลองชิมกัน ซึ่งนักวิจัยประจำฟาร์มบอกว่าผลิตภัณฑ์เกษตรของที่นี่ต้องปลอดสารเคมี เท่านั้น เพราะปลูกในบริเวณใกล้เคียงกับไร่หม่อนที่ใช้เลี้ยงไหม โดยเจ้าหนอนไหมถือเป็นสัตว์บอบบางสุดๆ เจอสารเคมีนิดเดียวหงายหลังตึงขาดใจทันที


เลือกซื้อฟักทองหน้าตาแปลกๆ กลับบ้าน - น้องบุญหลายยิ้มสู้กล้อง
-------------------------------------------


มะเขือเทศตีลังกาในสวนลอยฟ้า - พ่อใหญ่อีสานกับบายศรีสู่ขวัญ
-------------------------------------------


ศิลปะร่วมสมัยประชันภูมิปัญญาอีสาน

ผ่านสู่โซนที่สอง จุดชมวิวลำสำลาย นักท่องเที่ยวขอเรียกชื่อเอาเองว่า 'อาณาจักรฟักทอง' เพราะนอกจากทุ่งทานตะวันและนา 'คอสมอส' ดอกโตๆ ไว้ให้ถ่ายรูปเล่นแล้ว ไฮไลต์ของจุดนี้ก็เห็นจะเป็นฟักทองหลากสายพันธุ์ที่มีไว้ให้เลือกชมเลือก ซื้อกลับบ้าน และจุดนี้ที่ศิลปินอย่าง สุดสิริ ปุยอ๊อก เลือกสร้างสรรค์งานของเธอด้วยการแกะสลักผักและผลไม้

'สุดสิริ' เล่าถึงแนวคิดในการนำความรู้การแกะสลักผักเมื่อสมัยมัธยมมาสร้างศิลปะใน ฟาร์มครั้งนี้ว่า มาจากความสนใจเรื่องของ 'เวลา' ซึ่งธรรมชาติมีช่วงชีวิตที่ชัดเจน การได้ทำงานกับพืชผักทำให้ได้เรียนรู้จังหวะชีวิตของพวกมัน ในเวลาเดียวกันการแกะสลักซึ่งเป็นความงามที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นก็เป็นการขัด ขวางกระบวนการตามธรรมชาติให้ต้องหยุดชะงักขาดตอนลงด้วยเช่นกัน

โซนที่สาม ว่าด้วยเรื่องราวของศิลปวัฒนธรรมของ 'หมู่บ้านอีสาน' ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 โดยการรวบรวมบ้านเก่าในท้องถิ่นซึ่งนับวันแต่จะสูญหาย มาจัดสร้างและจัดแสดงเพื่อหวังสืบสานความรู้เชิงสถาปัตยกรรมของพื้นถิ่น อันได้แก่ เฮือนโคราช เฮือนภูไท และเฮือนเครื่องผูก เรือนแต่ละแบบล้วนมีความแตกต่างที่สะท้อนทั้งภูมิปัญญาและเสน่ห์ซึ่งไม่ซ้ำ กัน

ปีที่แล้ว ทางฟาร์มสร้าง 'หมู่บ้านโคราช' เพิ่มขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกัน เพื่อเป็นการขยายความเรื่องราวของสถาปัตยกรรมเฉพาะถิ่นให้ชัดเจนเห็นชัดยิ่ง ขึ้น โดยมี 'เฮือนโคราช' ที่นำมาจัดวางข้างเถียงนา โดยมีทุ่งข้าวสีเหลืองทองของฤดูนี้อยู่เคียงข้าง พร้อมกับ 'บุญหลาย' น้องควายอัธยาศัยดีคอยทำหน้าที่เสมือนประชาสัมพันธ์ให้การต้อนรับผู้มาเยือน ด้วยท่าทีเป็นมิตร

บริเวณเดียวกันนี้ยังเป็นพื้นที่ประชันผลงานของศิลปินพื้นบ้านกับศิลปินร่วม สมัย นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้พูดคุยกับ 'พ่อใหญ่' ชาวอีสาน ที่มาสาธิตการจารใบลาน บรรเลงดนตรีพื้นบ้าน รวมทั้งการทำงานหัตถกรรมพื้นถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักสาน หรือการตีหม้อดินโดยครูภูมิปัญญาตัวจริงมาเอง

ขณะที่ศิลปินร่วมสมัย จักรกริช และ ภัทรี ฉิมนอก จูงมือกันมาแสดงผลงานเท่ๆ ชื่อ 'เก้าอี้เทพเจ้าข้าวโพด' โดยการนำวัสดุเหลือใช้จากไร่นามาเติมไอเดียให้เป็นผลงานศิลปะแถมมีประโยชน์ ใช้สอย คือการทำเก้าอี้นั่งและเตียงนอนจากซังข้าวโพด ในงานชุดเดียวกัน ยังประกอบด้วยการประดิษฐ์ควาย 'บุญหลาย' จำลองจากเศษไม้ไร้ค่าในฟาร์ม แถมเพื่อนควายไม้ให้เป็นเพื่อนน้องบุญหลายอีกหนึ่งตัว

ส่งท้ายกันแบบเทกระเป๋าที่ โซนสวนไม้ดอกเมืองหนาว และ ตลาดจิม ทอมป์สัน ที่มีไม้ดอกไม้ใบ รวมทั้งผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปและผ้าไหมให้เลือกช้อปในราคาหน้าโรงงาน ใครไม่ดื่มด่ำกับการจับจ่ายก็สามารถหันไปหาความรู้จากการชมกระบวนการผลิตผ้า ไหม ที่นำมาสาธิตให้ดูกันแบบครบทุกขั้นตอน

สำหรับปีต่อๆ ไป จิม ทอมป์สัน กำลังจัดทำ 'มาสเตอร์แพลน' หวังขยายกิจกรรมด้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวให้ได้ตลอดทั้งปีจากที่เคยเปิดรับแค่ช่วงเดือน ธันวาคมรับพืชผักฤดูหนาว กับเทศกาลสงกรานต์กลางเดือนเมษายน รวมทั้งตั้งเป้าว่าภายในไม่เกินปีหน้า นักท่องเที่ยวจะสามารถมากางเต็นท์พักสัมผัสธรรมชาติและสูดอากาศบริสุทธิ์กัน ในฟาร์ม

ถือเป็นอีกกิจกรรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจสำหรับช่วงฤดูกาลนี้ รวมทั้งพัฒนาการระยะต่อๆ ไปของ 'จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม' ที่เป็นเรื่องต้องติดตาม

หมายเหตุ: จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม เปิดให้เข้าชมในเวลา 09.00-17.00 น. บัตรเข้างาน ผู้ใหญ่ราคา 60 บาท เด็กราคา 40 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร.(085) 660-7336, (044) 373-116 หรือคลิก jimthompsonfarm.com



โดย รัชดา ธราภาค
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ< br>Life Style : ท่องเที่ยว
วันที่ 29 ธันวาคม 2552

Views: 21

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service