รางวัล/อำนาจ/บทบาท ในวงวรรณกรรมไทย

โดย : พรชัย จันทโสก



'จุดประกายวรรณกรรม' ส่งท้ายปี 2552 รวบรวมรางวัลทางวรรณกรรมต่างๆ จากทั่วประเทศมาไว้ เพื่อฝันของคนอยากเข้าวงการนักเขียน

หากนับจำนวนรางวัลที่มอบให้กับผลงานวรรณกรรมหรือนักเขียนไทยในปัจจุบันแล้ว อาจไล่เรียงกันแทบไม่ไหวเลยทีเดียว เพราะช่วง 5-10 ปีมานี้ถือว่าวงการหนังสือบ้านเราออกจะคึกคักไปด้วยรางวัลต่างๆ มากมาย

บางรางวัลได้รับการยอมรับทั้งจากนักเขียนและนักอ่าน อย่างกว้างขวางจน เรียกได้ว่าเป็น 'สถาบันสูงสุด' ของวงการหนังสือบ้านเราไปเสียแล้ว แต่อีกหลายรางวัลยังคงอยู่ในความเงียบงันหรือไม่ค่อยถูกกล่าวถึงกันในวง กว้างมากนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่สิ่งเดียวที่จะทำให้ตัวรางวัลมีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาได้ก็ต้องวัดจาก คุณภาพผลงานว่าคนอ่านให้การยอมรับมากน้อยเพียงใด แม้หลายครั้งจะตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ครึกโครม แต่นั่นก็กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาและน่ายินดี

หากดูจากวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของการประกวดรางวัล วรรณกรรมต่างๆ แน่นอนว่าหนีไม่พ้นการมุ่งพัฒนาและส่งเสริมการอ่านการเขียนของบ้านเรา รวมทั้งทำให้นักเขียนได้มีเวทีแสดงความสามารถทางงานประพันธ์และรางวัลก็เป็น เสมือนน้ำหล่อเลี้ยงหรือกระตุ้นให้นักเขียนมีพลังสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ออกมา

แต่หลายๆ ครั้งได้มีคนตั้งคำถามว่ารางวัลที่จัดประกวดมากมายเหล่านี้ได้พัฒนาวงการ วรรณกรรมไทยจริงหรือ?

'จุดประกายวรรณกรรม' ฉบับส่งท้ายปี 2552 จึงได้รวบรวมรางวัลทางวรรณกรรมต่างๆ จากทั่วประเทศมาไว้เผื่อว่าหากคุณเริ่มต้นเขียนอะไรขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง แม้แรกเริ่มคุณอาจจะไม่ได้คิดถึงรางวัลใดๆ แต่หากงานเขียนของคุณดีมีคุณภาพ...สุดท้ายรางวัลจะถาโถมเข้าหาตัวคุณเองโดย ไม่ตั้งใจ

7 รางวัลทรงอิทธิพลแห่งยุค


แม้จะไม่มีมาตรวัดใดๆ สามารถชี้ชัดว่ารางวัลไหนทรงอิทธิพลที่สุดในวงการวรรณกรรมไทย แต่ถ้าหากพิจารณาจากจุดเริ่มต้นของการประกวดและจัดต่อเนื่องกันมาเป็นระยะ เวลายาวนานซึ่งอาจจะมากกว่า 5 ปี หรือ 10 ปีขึ้นไป และเป็นรางวัลที่มีนักเขียนส่งผลงานเข้าประกวดจำนวนมากอย่างสม่ำเสมอ หรือเป็นรางวัลที่ได้รับการกล่าวขานถึงในวงกว้าง รวมไปถึงตัวเงินรางวัลที่ค่อนข้างสูงและยังส่งผลต่อยอดขายซึ่งเป็นผลดีต่อ สำนักพิมพ์อีกต่อหนึ่ง ทั้งหมดนี้น่าจะทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

ลองมาไล่เรียงกันดูว่ารางวัลทรงอิทธิพลของวงการวรรณกรรมไทยจะเป็นรางวัลใด กันบ้าง

1.วรรณกรรมรางวัลซีไรต์

แน่นอนว่า 'รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน' หรือ 'ซีไรต์' นั้นมีอิทธิพลต่อวงวรรณกรรมและนักเขียนไทยมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ โดยเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2522 ซึ่งเป็นรางวัลประจำปีที่มอบให้แก่กวีและนักเขียนใน 10 ประเทศรัฐสมาชิกแห่งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน สำหรับรางวัลซีไรต์ของประเทศไทยมีการประกวด 3 ประเภท คือ นวนิยาย บทกวีนิพนธ์ และเรื่องสั้น โดยหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปเป็นประจำทุกปี แม้ว่าจะมีความพยายามเสนอเพิ่มประเภทงานเขียนสารคดีและบทละครเข้ามาแต่ยัง ไม่ประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้

ด้วยความที่รางวัลซีไรต์มุ่งส่งเสริมและประกาศเกียรติ นักเขียนผู้ สร้างสรรค์วรรณกรรมในกลุ่มประเทศอาเซียนทำให้รางวัลเป็นที่จับตามองเป็น ประจำทุกปีเพราะอีกนัยหนึ่งคือเป็นรางวัลนักเขียนนานาชาติ โดยผลงานและนักเขียนที่ได้รับรางวัลซีไรต์ในแต่ละปีที่ผ่านมาก็เป็นตัวการัน ตีถึงคุณภาพได้เป็นอย่างดี นอกจากทุกๆ ปีจะมีผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียวแล้วหนังสือที่ได้รับรางวัลยังมียอดขายและยอด พิมพ์พุ่งสูงกว่าปกติ ทำให้กลายเป็นกระแส 'เทศกาลซีไรต์' เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะวรรณกรรมแนวสร้างสรรค์ จนบางครั้งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่าคนไทยรออ่านหนังสือปีละเล่ม อย่างนั้นหรือ--ฟังดูน่าหดหู่เหลือเกิน (นักเขียนรางวัลซีไรต์จะได้รับเงินรางวัล 70,000 บาท พร้อมโล่จารึกเป็นอนุสรณ์เกียรติประวัติ และอื่นๆ)

2. ช่อการะเกดยอดเยี่ยม

การกลับมาของนิตยสาร เรื่องสั้น 'ช่อการะเกด' ในยุคที่สามของบรรณาธิการ 'สุชาติ สวัสดิ์ศรี' โดยมี 'เวียง-วชิระ บัวสนธ์' แห่งสำนักพิมพ์สามัญชนเป็นนายทุน ดูเหมือนว่ายังคงได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งนักเขียนและนักอ่าน ด้วยสโลแกน 'ผ่านรอ ผ่านเลย ผ่านเกิด' และนักเขียนหลายคนที่เคยผ่านเกิดในช่อการะเกดล้วนแต่กลายเป็นนักเขียนมีชื่อ เสียงและประสบความสำเร็จไปหลายคน โดยงานประกาศผลเรื่องสั้นช่อการะเกดยอดเยี่ยม ครั้งที่ 2 ที่เพิ่งจัดไปหมาดๆ ในงานชุมนุมช่างวรรณกรรมเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมายังคงคึกคักเหมือน เดิม --แต่คึกคักแค่ไหนคนที่ไปร่วมงานในวันนั้นคงรู้กันดี (รางวัลเรื่องสั้นช่อการะเกดยอดเยี่ยมรางวัลละ 10,000 บาท)

3.นายอินทร์อะวอร์ด

รางวัลนี้เป็นความ พยายามของสำนักพิมพ์ค่ายยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งจัดประกวดต้นฉบับงานเขียนที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์เป็นเล่มมาก่อน เพื่อสร้างนักเขียนหน้าใหม่ขึ้นมาประดับวงการวรรณกรรมไทย โดยจัดประกวดครั้งแรกเมื่อปี 2542 ต่อเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบันเป็นครั้งที่ 10 นอกจากจะเป็นการประกวดต้นฉบับแล้วความน่าสนใจยังอยู่ที่ความหลากหลายเพราะมี ประกวดถึง 6 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ สารคดี วรรณกรรมเยาวชน หนังสือภาพสำหรับเด็ก นวนิยาย เรื่องสั้น และกวีนิพนธ์ --เรียกว่าเป็นการเปิดโอกาสให้กับนักเขียนทุกรุ่นทุกแนวอย่างที่ไม่เคยปรากฏ มาก่อน (รางวัลชนะเลิศ 50,000 พร้อมโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยกเว้นประเภทเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์ รางวัลชนะเลิศ 30,000 บาท)

4. รางวัลพานแว่นฟ้า

ปี 2545 ซึ่งเป็นปีที่รัฐสภาครบ 70 ปี รัฐสภา ร่วมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้จัดประกวดวรรณกรรมเรื่องสั้นการเมืองขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องจากวรรณกรรมการเมืองนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการเมืองในระบอบ ประชาธิปไตยของไทย และยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงออกทางการเมืองผ่านศิลปะ ในรูปแบบของเรื่องสั้น และในปี 2546 ได้เพิ่มประเภทบทกวีเข้าประกวดด้วย ปัจจุบันจัดประกวดมาได้ยาวนานถึง 8 ครั้ง และถือเป็นการสร้างนักเขียนแนวเพื่อชีวิตเพื่อสังคมขึ้นมามากมายเพราะแนว การเมืองเป็นเรื่องที่นักเขียนวรรณกรรมแนวสร้างสรรค์ให้ความสนใจมากเป็นทุน เดิมอยู่แล้ว--ขณะที่การเมืองไทยกลับเหมือนวนเวียนอยู่ในวังวนของหุบเหว ซ้ำซาก (รางวัลชนะเลิศ 50,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ 30,000 บาท และรางวัลชมเชย 10,000 บาท)

5. รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด

หนังสือดีเด่น รางวัล 'เซเว่นบุ๊คอวอร์ด' (7 Book Awards) เริ่มจัดประกวดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2547 โดยบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อ 'เซเว่นอีเลฟเว่น' เพื่อคัดเลือกและส่งเสริมหนังสือดีมีคุณภาพให้กับสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้กับเยาวชน ปัจจุบันจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 6 โดยแบ่งออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ กวีนิพนธ์ นวนิยาย นิยายภาพ (การ์ตูน) รวมเรื่องสั้น วรรณกรรมสำหรับเยาวชน สารคดี และรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์

เรียกได้ว่าเป็นการกระจายรางวัลมากที่สุดและแต่ประเภท ยังมีเงินรางวัล สูงอีกด้วย --รางวัลนี้ทำให้นักเขียนหน้าชื่นตาบานกันถ้วนทั่ว (รางวัลชนะเลิศ 100,000 บาท พร้อมโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รองชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัล 50,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 30,000 บาท สำหรับรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ รางวัลชนะเลิศ 15,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัล 10,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 5,000 บาท)

6. วรรณกรรมเยาวชนแว่นแก้ว

จากกระแสความดังของพ่อมดน้อย 'แฮร์รี่ พอตเตอร์' ทำให้วรรณกรรมเยาวชนได้รับความสนใจไปทั่วโลก รางวัลนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้กับนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนโดยเฉพาะซึ่งจัด ประกวดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 6 โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ นวนิยายสำหรับเยาวชน และสารคดีสำหรับเยาวชน นับเป็นอีกเวทีหนึ่งที่มองเห็นความสำคัญเรื่องการอ่านของเยาวชนไทย ทำให้วรรณกรรมเยาวชนของไทยยกระดับขึ้นมาเทียบเท่ากับวรรณกรรมแนวอื่นๆ (รางวัลชนะเลิศ 50,000 บาท พร้อมโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และรองชนะเลิศ 30,000 บาท)

7. Young Thai Artist Award

รางวัลนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ มูลนิธิซิเมนต์ไทย ร่วมกับสถาบันการศึกษาด้านศิลปะชั้นนำของประเทศ จัดการประกวดรางวัลศิลปะเพื่อเยาวชนไทย (Young Thai Artist Award) อายุไม่เกิน 25 ปี โดยจัดต่อเนื่องกันมาเป็นครั้งที่ 6 เพื่อค้นหาศิลปินรุ่นใหม่ใน 6 สาขา ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม ดุริยกวี วรรณกรรม ภาพยนตร์ และภาพถ่าย มุ่งสนับสนุนเยาวชนรุ่นใหม่ให้แสดงออกถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงาน ศิลปะ พร้อมทั้งสร้างโอกาสที่จะก้าวสู่ระดับสากลต่อไป โดยเฉพาะสาขาวรรณกรรมนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากเพราะรางวัลนี้ได้ สร้างนักเขียนรุ่นใหม่ขึ้นมาประดับวงการวรรณกรรมหลายต่อหลายคน และต้องยอมรับว่าความสามารถของเยาวชนไทยนั้นไม่ธรรมดาเลยทีเดียว --ใครรู้ตัวว่ายังเป็นเยาวชนอยู่รีบๆ ส่งเข้านะ ถ้าอายุเลย 25 ไปแล้วเดี๋ยวจะหาว่าบักหำน้อยบ่เตือนเด้อ (รางวัลยอดเยี่ยมสาขาวรรณกรรม 300,000 บาท รางวัลดีเด่นเงิน 50,000 บาท พร้อมทุนการศึกษาจนจบปริญญาตรี)

5 รางวัลนักเขียนดาวรุ่ง

ถ้าดูจากรางวัลวรรณกรรมที่เพิ่งเริ่มต้นจัดประกวดเพียงไม่กี่ครั้ง แต่กลับมีคนส่งผลงานเข้าประกวดจำนวนมากและเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางใน แวดวงวรรณกรรม ในฐานะที่มีกลุ่มคนอ่านเฉพาะเป็นจำนวนมาก

1. ทมยันตี อะวอร์ด

โครงการถนนสู่ดวงดาวชิงรางวัล เกียรติยศ 'ทมยันตี อะวอร์ด' ซึ่งมีเจ้าของรางวัลเป็นนักเขียนหญิงชื่อดังของเมืองไทย 'คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์' หรือ 'ทมยันตี' เวทีปั้นนักเขียนเลือดใหม่ขึ้นมาประดับวงการวรรณกรรม โดยมีคนสนใจส่งผลงานต้นฉบับนวนิยายเข้าประกวดเป็นจำนวนมากจากทั้ง 2 ครั้ง และอาจเรียกได้ว่าเป็นรางวัลที่มีนักเขียนนวนิยายส่งผลงานเข้าประกวดมาก ที่สุดอีกรางวัลหนึ่ง แน่นอนว่านวนิยายแต่เรื่องจะต้องผ่านการพิจารณาอย่างเข้มข้นทั้งจากคณะ กรรมการและเจ้าของรางวัลนั่นเอง --แต่น่าแปลกใจว่าทำไมเงินรางวัลมันถึงได้ลดลงๆ ตามครั้งที่จัดเสียอย่างงั้น (รางวัลชนะเลิศ 100,000 บาท พร้อมเข็มกลัดปากไก่ทองคำประดับอะมีทีสสีม่วง รางวัลรองชนะเลิศ 30,000 บาท พร้อมเข็มกลัดปากไก่เงินประดับอะมีทีสสีม่วง และนักเขียนที่เข้ารอบ 10 คนจะได้รับรางวัลเงิน 20,000 บาท)


2.รางวัลชมนาด

โครงการรางวัล ชมนาด (Chommanard Book Prize) จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2550 โดยรับพิจารณาต้นฉบับนวนิยายเฉพาะของนักเขียนสตรีเท่านั้น เพื่อจัดพิมพ์เป็นนวนิยายสองภาษา (ไทย-อังกฤษ) เป้าหมายเพื่อเผยแพร่ผลงานออกไปสู่ระดับชาติและสากล ล่าสุด การประกวดครั้งที่ 2 เป็นการรับพิจารณาประเภทงานเขียนสารคดี (Non-Fiction) จากนักเขียนสตรีไทยเช่นเดิม --แต่กว่าจะเดินทางไปถึงจุดนั้นได้คงไม่ง่ายนัก (รางวัลชนะเลิศ 50,000 บาท พร้อมเข็มกลัดสัญลักษณ์รางวัลชมนาดล้อมเพชรแท้ รางวัลชมเชยอันดับ 1 เงินรางวัล 30,000 บาท และรางวัลชมเชยอันดับ 2 เงินรางวัล 20,000 บาท)

3. จุดประกายอวอร์ดส

ยุคของการสื่อสารไร้ พรมแดนและมีสื่อใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ โครงการประกวดผลงานเขียน 'จุดประกายอวอร์ดส' ครั้งที่ 1 นอกจากจะประกวดหนังสือสารคดีแล้วยังเปิดโอกาสให้กับวรรณกรรมสื่อใหม่อย่าง blog นั่นคือรับพิจารณาเรื่องสั้นปกติ และเรื่องสั้นผ่านบล็อก สำหรับครั้งที่ 2 เปิดรับพิจารณาต้นฉบับงานเขียนประเภท สารคดี และบทละครโทรทัศน์ --นับเป็นมิติหนึ่งของการสร้างสรรค์งานเขียนแนวใหม่ๆ (ประเภทสารคดี รางวัลยอดเยี่ยม 50,000 บาท รางวัลดีเด่นอันดับ 1 เงินสด 30,000 บาท และรางวัลดีเด่นอันดับ 2 เงินสด 20,000 บาท ส่วนประเภทบทละครโทรทัศน์ รางวัลยอดเยี่ยม 60,000 บาท รางวัลดีเด่นอันดับ 1 เงินสด 40,000 บาท รวมเงินรางวัลทั้งโครงการจำนวน 200,000 บาท)

4. นานมีบุ๊คส์อะวอร์ด

โครงการประกวดต้นฉบับ รางวัลนานมีบุ๊คส์อะวอร์ดจัดมาเป็นปีที่ 3 โดยแบ่งการประกวดเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.นิทานภาพส่งเสริมคุณธรรม สำหรับผู้อ่านวัย 3-8 ปี 2.การ์ตูนความรู้สังคมและวัฒนธรรมไทย สำหรับผู้อ่านวัย 9-15 ปี 3.นวนิยายสืบสวนสอบสวน สำหรับผู้อ่านอายุ 19 ปีขึ้นไป โดยในแต่ละปีอาจมีการเปลี่ยนแปลงประเภทและรางวัลตามความเหมาะสม (ชิงรางวัลเงินสดรวม 630,000 บาท รางวัลชนะเลิศ 100,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัล 50,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 30,000 บาท และรางวัลชมเชย 10,000 บาท)

5. รางวัลลูกโลกสีเขียว

ปัจจุบันจัดประกวดต่อ เนื่องเป็นครั้งที่ 11 โดยมีเป้ามายเพื่อสนับสนุนและให้กำลังใจแก่ผลงานการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ทั้งในด้านแนวความคิด ทัศนคติ และแนวทางปฏิบัติ สำหรับรางวัลแบ่งออกเป็น 7 ประเภท และหนึ่งในนั้นเป็นประเภทงานเขียนซึ่งมีนักเขียนสารคดีมืออาชีพได้รับรางวัล มาแล้วหลายคน --แม้จะไม่ได้เป็นการประกวดผลงานสารคดีโดยตรงก็ตาม (รางวัลงานเขียนดีเด่น 70,000 บาท และชมเชยรางวัลละ 20,000 บาท บาท ส่วนความเรียงเยาวชนรางวัลดีเด่น 5,000 บาท และชมเชยรางวัลละ 3,000 บาท)
...............................................

นอกจากนี้ยังมีรางวัลอื่นๆ ได้แก่ 1.รางวัลเรื่องสั้นและบทกวีดีเด่นของสมาคมภาษาและหนังสือฯ 2.รางวัลสุภาว์ เทวกุลฯ 3.รางวัลเรื่องสั้น กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ 4.นิทานยอดเยี่ยมรางวัลมูลนิธิเด็ก 5.รางวัลรักลูกอวอร์ด 6.ประกวดร้อยกรองออนไลน์ของสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย 7.รางวัลสุภัทร สวัสดิรักษ์ 8.เรื่องสั้นรางวัลอิวากิ 9.ประกวดเรียงความรางวัล Young CDG Writer Awards ฯลฯ

ลองคิดเล่นๆ เป็นตัวเลขกลมๆ ว่าในแต่ละปีเฉพาะรางวัลที่มอบให้กับวรรณกรรมหรือนักเขียนไทยรวมเป็นเงิน จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว ทุกวันนี้คงจะเรียก 'นักเขียนไส้แห้ง' เหมือนเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว แต่บางครั้งหากนักเขียนหมกมุ่นอยู่กับรางวัลมากเกินไปก็อาจจะทำให้พัฒนางาน เขียนไปได้ไม่ถึงไหนเพราะยังติดหล่มหรือกรอบความคิดบางอย่างชนิดถอนตัวไม่ ขึ้น...

ยิ่งไปกว่านั้นต้องเข้าใจด้วยว่ารางวัลมิได้เป็นตัวการันตีความเป็นนักเขียน เสมอไปเพราะนักเขียนอาชีพจริงๆ นั้นต้องทำงานด้วยความทุ่มเทอย่างต่อเนื่องและยาวนานไปตลอดชีวิต 0


โดย : พรชัย จันทโสก
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
Life Style : Read & Write
วันที่ 28 ธันวาคม 2552

Views: 54

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service