ศรีโคตรบูร นคร2ฝั่งโขง

โดย จิรพงศ์ เกิดเรณู



เมืองศรีโคตรบูร นครโบราณอันรุ่งเรือง ที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล และร่วมสมัยกับยุคทวารวดี อยู่ในยุคที่ยังไม่มีการแบ่งชาติพันธุ์

แต่ที่มีนักประวัติศาสตร์ ค้านว่าเป็นเพียงตำนานที่ถูกเขียนขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าอภัยพุทธบวร ไชยเชษฐาธิราช พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้าง

ในการบรรยายสาธารณะเรื่อง ศรีโคตรบูร : บ้านเมืองสองฝั่งโขงก่อนสมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม ที่มี รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม เป็นผู้บรรยาย ถ่ายทอดความเป็นมาของผู้คน บ้านแปลงเมืองสองฝั่งโขง และหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า ศรีโคตรบูร มีอยู่จริงไม่ได้เป็นเพียงแค่ตำนาน พร้อมทั้งยกหลักฐานอันน่าสนใจ

รศ.ศรีศักร เริ่มว่า มื่อประมาณ 2,000 กว่าปีก่อน ดินแดนด้ามอุษาคเนย์แห่งนี้ มีชาวอินเดียเดินทางเข้ามา และเรียกขานดินแดนนี้ว่า "สุวรรณภูมิ" เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ หลังจากนั้นจึงมีผู้คนหลากชาติพันธุ์ เข้ามาตั้งถิ่นฐาน

นอกจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นแล้ว ดินแดนที่ราบสูงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็มีหลายชนชาติมาตั้งถิ่นฐานเช่นกัน

ที่ราบสูงอีสานเริ่มต้นที่เทือกเขาดงพญาเย็น กั้นระหว่างภาคกลาง ทางทิศใต้มีเทือกเขาพนมดงรัก ทำให้ที่ราบสูงโคราชมีลักษณะเป็นรูปตัวแอล และภายในที่ราบสูงยังมีเทือกเขาภูพาน กั้นกลางแบ่งที่ราบสูงโคราช เป็นแอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร

โดยเฉพาะที่แอ่งสกลนคร ยังมีน้ำโขงไหลผ่าน พื้นที่อุดมสมบูรณ์ เป็นมีพื้นที่ราบ ไม่มีเทือกเขาสลับซับซ้อน ดังเช่นอีกฝั่งของลำน้ำโขง จึงมีผู้คนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอย่างมากมาย ในแอ่งสกลนครเอง ยังเป็นเป็น 2 เขตใหญ่ๆ



เขตแรก คือตั้งแต่เวียงจันทน์ ถึง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เป็นผู้คนที่มาจากทางเวียดนามและจีน เขตที่สองจาก อ.โพนพิสัย ถึง จ.นครพนม เป็น กลุ่มคนที่อพยพจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทางภาคอีสาน และชาวจามจากเมืองเว้ในเวียดนาม

รศ.ศรีศักร กล่าวต่อว่า ทางเขตเวียงจันทน์ไม่มีปัญหา เนื่องจากเป็นชนชาติเดียวกัน แต่ทางเขตนครพนมมีหลากชาติพันธุ์จึงแบ่งแยกเป็นหลายพวก หลายเมือง เมื่อระยะเวลาผ่านไป จึงเกิดรัฐขึ้นภายใน ชื่อว่าศรีโคตรบูร เป็นการรวมกันของ 2 เขต จากเขตเวียงจันทน์ถึงนครพนม มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ "พระธาตุพนม" เป็นนครสองฝั่งโขง ในยุคพุทธศัตวรรษที่ 12-13 เป็นยุคที่ชนชาติลาว หรือวัฒนธรรมล้านช้างยังไม่แผ่ขยายเข้ามา

ในอดีตพระธาตุพนม องค์พระธาตุจะอยู่กลางลำน้ำโขง เพราะน้ำโขงจะฉีกออกไปด้านขวาตามร่องน้ำเดิม เป็นโคกกลางลำน้ำโขง และเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญ

ขณะที่ เมืองเวียงจันทน์ เป็นศรีโคตรบูรตอนบน เป็นที่ราบที่สำคัญทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เพราะมีแม่น้ำงึมไหลผ่าน และเป็นที่ราบเพียงไม่กี่แห่ง นอกนั้นเป็นหินและภูเขา การตั้งถิ่นฐานของคนจากลาวและญวนที่อพยพมาจากเชียงขวาง มีหลักฐานเป็นทุ่งไหหิน ชาวญวนต้องการที่ราบจึงอพยพลงมา


รศ.ศรีศักร
----------------


รศ.ศรีศักร ชี้แจงว่า นักวิชาการไม่ยอมรับนครศรีโคตรบูรมีจริง เนื่องจากหลักฐานที่มีกระจัดกระจายเกินไป โดยมีตั้งแต่ อ.ศรีเชียงใหม่ ไล่มาจนถึง จ.สกลนคร แต่หลักฐานใหม่ที่มี เกิดขึ้นเมื่อช่วงที่พระธาตุพนมล้มเมื่อปีพ.ศ.2518 ที่ยอดมณฑป พบ "อูบมุง" เป็นอาคารชนิดหนึ่งใช้สำหรับบรรจุพระพุทธรูป ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หากเป็นของไทยจะใช้ผอบ

อูบมุง เป็นศิลปะที่ออกไปทางจามมากกว่าลาว และอาจจะเป็นในยุคศรีโคตรบูร

อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ได้ค้นพบ "อูบมุง" ลักษณะเดียวกับที่เคยพบที่พระธาตุพนม ที่บริเวณหนองเรือทอง ในประเทศลาว และลำน้ำเซบั้งไฟ ที่ไหลมาบรรจบน้ำโขงที่บริเวณพระธาตุพนม นี่คือหลักฐานสำคัญ

ขณะเดียวกัน ฝั่งตรงข้ามมีลำน้ำก่ำ ไหลมาจากหนองหาน จ.สกลนคร ซึ่งเมืองสกลนครเป็นเขตศรีโคตรบูรตอนล่างมีความได้รับอิทธิพลจากทวารวดี และจาม มีปราสาทแบบจามมากมาย ซึ่งต่อมากลายเป็นพระธาตุ เมื่ออิทธิพลของพระพุทธศาสนาแผ่ขยายเข้ามา เช่น พระธาตุนารายณ์เจงเวง พระธาตุดุม พระธาตุเชิงชุม

ต่ำลงไปจากนครพนม มีพระธาตุอิงฮัง ในสะหวันนะเขต ประเทศลาว



อาจารย์ศรีศักรอธิบายต่อว่า แต่ตามจารึกประวัติหอพระแก้ว มีบันทึกชื่อเมืองทรายฟอง และปัจจุบันมีเมืองหาดทรายฟองอยู่ในประเทศลาว แต่เมื่อไปสำรวจกลับไม่พบอะไรที่บ่งชี้ว่าเป็นเมืองทรายฟองในจารึก

แต่ฝั่งตรงข้ามหาดทรายฟอง คือเมืองเวียงงัว และเมืองเวียงคุก มีการพบเทวรูปหินทรายต่างๆ มีเจดีย์แบบล้านนา และมีที่ราบอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การตั้งถิ่นอาศัย และยังมีพระธาตุบังพวนเป็นพระธาตุที่สำคัญ

นอกจากนี้ ยังมีตำนานพระอุรังคธาตุ ของเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก ที่ระบุถึงเมืองศรีโคตรบูรทั้งหมด ตั้งแต่เวียงจันทน์ไปนครพนม ถึงร้อยเอ็ด เป็นตำนวนพุทธแบบเถรวาท

หลังจากนั้นชนชาติลาวอพยพมาที่หลวงพระบาง ก่อน แล้วจึงขยายอิทธิพลมาถึงเวียงจันทน์ในสมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม แต่ยังไม่อพยพลงมา

แต่เมื่อสมัยสมเด็จพระเจ้าอภัยพุทธบวร ไชยเชษฐาธิราช เห็นว่าเวียงจันทน์ เป็นที่เหมาะแก่การสร้างบ้านแปลงเมือง ได้ครอบครองศรีโคตรบูร และสถาปนาเวียงจันทน์เป็นเมืองหลวง

อาจารย์ศรีศักรชี้ว่า จึงจะเห็นได้ว่าสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เวียงจันทน์มีศิลปะแบบล้านนาผสมอยู่ เนื่องพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เคยเป็นกษัตริย์ครองเชียงใหม่ เมื่อต่อมาพุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลเขตศรีโคตรบูร ตอนบน เวียงจันทน์จึงเป็นพุทธแบบเถรวาททั้งหมด ไม่มีอย่างอื่นปน

แต่ที่สกลนคร หรือศรีโคตรบูรตอนบนล่าง เป็นพุทธผสมฮินดูและจาม

ก่อนจะย้ำว่า "ในอดีตเส้นเขตแดนยังไม่เกิดขึ้น ปัญหาเรื่องเชื้อชาติไม่มี นครสองฝั่งโขงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้"

นี่คือหลักฐานส่วนหนึ่งที่ช่วยพิสูจน์ถึงความเป็นมาของอาณาจักรนั้นๆ ดัง ศรีโคตรบูร นครสองฝั่งโขง


โดย จิรพงศ์ เกิดเรณู
ที่มา ข่าวสด วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6968

Views: 368

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service