เมืองไทย 'สี' อะไร? ฮานะบุสะ ยู

โดย : ชาธิป สุวรรณทอง



หลายปีก่อนศิลปินหญิง(สาว)จากประเทศญี่ปุ่น เดินทางสู่เมืองไทย และประทับใจในวิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่งดงาม ก่อนที่จะกลับมาอีกหลายครั้ง

เพื่อศึกษาเรื่องราวของ "สี" ที่ปรากฏในเมืองไทย โดยเฉพาะสีสันของสิ่งที่เธอพบเห็นในกรุงเทพฯ ซึ่งเธอมองว่าสามารถเชื่อมโยงวัฒนธรรมไทย ญี่ปุ่น และอินเดีย เข้าไว้ด้วยกัน

มาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อไร
เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ปี 1999

ทำไมถึงมาเมืองไทย
เพื่อนชวนมาเที่ยว เพราะว่ามีนิทรรศการของศิลปินญี่ปุ่นชื่อคุณโคบายาชิ เป็นศิลปินมีชื่อเสียงมากในญี่ปุ่น แต่เขามีสตูดิโอในกรุงเทพฯ ด้วย ก็มาดูงานเขา

มาเมืองไทยครั้งแรกรู้สึกอย่างไรบ้าง
ครั้งแรกมากรุงเทพฯ รู้สึกว่าไม่น่าอยู่ ตอนนั้นมาอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ ก็ได้เดินทางไปหลายๆ ที่ในเมืองไทย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน อยุธยา กรุงเทพฯ ไปหลายๆ ที่ก็รู้สึกว่าสวยงามมาก แต่ที่สุดแล้วสิ่งที่ดึงดูดใจมากที่สุด คือ บรรยากาศของความเป็นพุทธ

มีอยู่วันหนึ่งมีเพื่อนชวนไปบาร์เกย์ ที่พัฒนพงษ์ด้วย ไปถึงก็ช็อกนิดหน่อยเพราะเห็นเด็กผู้ชายที่อยู่ในนั้น แล้วดูพวกเขาไม่ค่อยมีความสุข ดูไม่มีอิสระ และมันง่ายเกินไปหน่อยที่จะไปที่แบบนี้ในเมืองไทย ก็เลยทำให้รู้สึกช็อกไปนิดหน่อย



ช็อกเสร็จเรียบร้อยก็เอาความรู้สึกนั้นมาทำงานศิลปะด้วย?
จากความรู้สึกตรงจุดนั้นก็เลยวาดรูปเด็กผู้ชายใส่กางเกงในแบบที่ใส่ในบาร์ เกย์ ขณะเดียวกันก็นึกไปถึงภาพของต้น "มัคนารีผล" ฉันชอบเรื่องราว ตำนานเกี่ยวกับจิตวิญญาณในสิ่งต่างๆ ก็เลยนำสองอย่างนี้มาผสมผสานกัน กลายเป็นต้นมัคนารีผลที่มีเด็กผู้ชายจากบาร์เกย์ห้อยอยู่ เพราะรู้สึกว่าเด็กพวกนี้ดูไม่มีอิสระ ต้องแขวนอยู่กับต้นไม้ แต่ก็ต้องปรับความรู้สึกนิดหน่อยเพราะในภาพวาดของฉันจะไม่ค่อยวาดอะไรเศร้าๆ แต่จะออกไปทางแสดงความรู้สึกสงบมากกว่า ตอนไปเชียงใหม่ก็วาดอะไรที่เกี่ยวกับตำนานความเชื่อแบบนี้เหมือนกัน
ฉันชอบวาดอะไรที่ตัวเองรู้สึก "รัก" ได้

หลังจากนั้นก็ได้มากรุงเทพฯ อีกหลายครั้ง?
จากที่มาคราวแรก 1999 กลับมาอีกทีตอนปี 2004 -2005 ตอนนั้นได้ทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้ศิลปินไปทำวิจัยในต่างประเทศ ก็เลือกมาเมืองไทย ตอนนั้นไปอยู่เชียงใหม่ แล้วก็มาอีกทีช่วงระหว่างปี 2007-2009 ได้ไปเป็นศิลปินในพำนักอยู่ที่ศิลปากร เวลาส่วนใหญ่ก็ทำงานตลอด แล้วก็พอดีเพื่อนมีสตูดิโอภาพพิมพ์ที่เชียงใหม่ก็ไปหาเพื่อนบ้าง ไปเที่ยวกาญจนบุรีบ้าง ไปพัทยานิดหน่อย

จริงๆ ที่มาคราวนี้ตั้งใจมาทำงานศิลปะที่กรุงเทพฯ เพราะฉันพบว่าวัฒนธรรมวิถีชีวิตในกรุงเทพมีความน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับจะเอา ไปทำงานศิลปะ จริงๆ สามารถจะเก็บแรงจูงใจที่เกิดขึ้นตอนนี้กลับไปทำงานศิลปะที่ญี่ปุ่นได้เหมือน กัน แต่อยากจะทำในสถานที่จริง เวลาจริง คือที่กรุงเทพฯ

อีกอย่างหนึ่งฉันรู้สึกว่าเมืองไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ เป็นเมืองของแม่น้ำ ในเมืองไทยฤดูฝนก็นาน ที่ญี่ปุ่นแค่เดือนเดียว ฉันคิดว่าคนไทยมีความรู้และความรู้สึกเกี่ยวกับน้ำมาก ฉันก็พยายามเก็บความรู้สึกจากแม่น้ำในกรุงเทพฯ ไว้ด้วย

คิดว่าคนกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร
คนกรุงเทพฯ จะเหมือนคนโอซาก้า ชอบคุยสนุก ตลกๆ ที่ญี่ปุ่นคนเกียวโต คนโอซาก้าจะชอบแสดงออกมากกว่าคนโตเกียว มีวัฒนธรรมการแสดงความรู้สึกออกมา ชอบคุยตลกๆ ที่คนโตเกียวไม่ค่อยเข้าใจ รายการโทรทัศน์ก็ไม่เหมือนกัน โตเกียวซีเรียส (หัวเราะ)...ไม่รู้ทำไม

หลังจากกลับมากรุงเทพฯ ครั้งหลังสุด ได้เก็บเกี่ยวอะไรไปทำงานศิลปะบ้าง
กลับมากรุงเทพฯ เที่ยวนี้อยู่ 2 ปี ก็เปลี่ยนหัวข้อที่วาดเป็นเรื่องของ "พวงมาลัย" ในกรุงเทพฯ มีพวงมาลัยเยอะมาก ฉันว่าฉันชอบวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ มากที่สุดในเมืองไทย ต่างจากวัฒนธรรมล้านนาของเชียงใหม่ เชียงใหม่อยู่แล้วรู้สึกเหงา แล้วก็หนาวด้วย



ทำไมถึงสนใจเรื่อง "สี"
ฉันสนใจศึกษาเรื่องทฤษฎีสี เวลาที่ญี่ปุ่นก็เป็นอาจารย์พิเศษสอนทฤษฎีสีในมหาวิทยาลัยที่เกียวโต สอนมา 5-6 ปีแล้ว มีจิตรกรญี่ปุ่นหลายคนไปศึกษาศิลปะยุโรป แต่ฉันสนใจเรื่องสีสันที่แสดงความเป็นพุทธและฮินดูในเอเชียมากกว่า

ในเมืองไทยฉันเห็นว่ามีหลายอย่างที่เหมือนกับญี่ปุ่น มีสภาพอากาศชื้นๆ มีฤดูกาล มีลมมรสุม มีต้นไม้ ดอกไม้หลายๆ ชนิดที่เหมือนกัน ฉันเลยคิดว่าอยากศึกษาเรื่องสีในเมืองไทยมากกว่าสีของยุโรปเพราะฉันรู้สึก สนิทใจกับเมืองไทยมากกว่า หวังว่าจะหาอะไรที่เป็นออริจินัลของเอเชีย

ต่อมาได้พบกับอาจารย์ญาณวิทย์ (ญาณวิทย์ กุญแจทอง คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) ศิลปินภาพพิมพ์ที่ใช้สีที่ทำจากพืชพรรณธรรมชาติ ซึ่งเป็นตัวแทนของสีในเอเชีย ก็เลยตั้งใจมาดูว่าอาจารย์ญาณวิทย์ทำงานศิลปะจากพืชพรรณต่างๆ ได้อย่างไรที่จะแสดงถึงสีธรรมชาติของเอเชีย

"สี" ของกรุงเทพฯ ที่มองเห็นเป็นอย่างไร
คงเป็นเพราะอากาศในกรุงเทพฯ จะอบอุ่นเสมอ ทำให้มีต้นไม้ ดอกไม้ หลายชนิดให้เห็นได้ตลอดปี ในญี่ปุ่นเราไม่สามารถเห็นสีจากธรรมชาติได้มากเท่าไรเพราะทุกอย่างดูเหมือน จะ...หลับกันหมด

ถ้าพูดถึงในกรุงเทพฯ ฉันได้เห็นสีสันมากมาย ทั้งสีสดๆ สีสังเคราะห์ต่างๆ สีจากสิ่งของต่างๆ ที่ผลิตออกมาจากโรงงาน ส่วนสีที่เป็นโทนสีธรรมชาติส่วนใหญ่เห็นจากต้นไม้ อย่างสีแดงที่เรียกว่า "มาเจนต้า" จากสีของบานไม่รู้โรย เหลืองทองเห็นจากท้องฟ้าหรือสีที่สะท้อนจากวัด สีน้ำตาลจากต้นไม้ ใบไม้

ฉันสามารถเห็นได้ว่าสีมาเจนต้า สีเหลืองทอง และน้ำเงินอมเขียว เป็นสีสันที่ถูกนำมาใช้ในด้านจิตวิญญาณ เช่น สีสันที่เห็นภายในวัดของไทย ถ้าเป็นที่ญี่ปุ่นก็จะเห็นสีแบบนี้ได้ในศาลเจ้าชินโต ซึ่งชินโตเองก็ใกล้เคียงกับฮินดูในอินเดีย ทำให้มองเห็นความเกี่ยวพันระหว่างศาสนาหรือความเชื่อของไทย ญี่ปุ่น และอินเดีย และเห็นว่าเรามีสีสันที่ค่อนข้างจะใกล้เคียงกัน



จากสีสันที่เห็นในกรุงเทพฯ เอามาทำงานศิลปะอย่างไรบ้าง
ช่วงที่มาอยู่กรุงเทพฯ ครั้งหลังนี้จะสนในเรื่อง "พวงมาลัย" ที่มีอยู่หลายแบบในกรุงเทพฯ เป็นการใช้สีสันจากวัสดุในธรรมชาติ

ฉันร้อยพวงมาลัยไม่เป็น ก็เลยพยายามทำสิ่งที่ทำได้คือการบันทึกสีสันที่เห็นเป็นงานจิตรกรรมลงบน ผ้าใบ ก็ค่อนข้างจะใช้เวลานาน พยายามทดลองเกี่ยวกับสี เอาคู่สีตรงข้ามมาใช้

สีสันเป็นประเด็นสำคัญสำหรับฉัน พยายามทดลองเรื่องนี้อยู่ คือ ถ้าคุณไม่สนในเรื่องทฤษฎีศิลปะอาจจะไม่สนใจเรื่องนี้ไปเลย แต่ว่าในสีต่างๆ จะมีคู่สีตรงข้าม อย่างเวลาเห็นสีในดอกไม้ตาคุณอาจจะมองเห็นแต่สีนั้น แต่ความจริงในความรู้สึกของคนเราจะรับรู้สีตรงข้ามไปพร้อมกัน นี่คือประเด็นที่ฉันต้องการทดลองในงานจิตรกรรมของฉัน ด้วยการเขียนงานจิตรกรรมที่มีพื้นผิวหลายชั้นซ้อนกันอยู่ ส่วนรูปทรงจะใช้รูปทรงง่ายๆ เพื่อจะให้ความสำคัญกับการทดลองเกี่ยวกับสีสันมากกว่า

ในญี่ปุ่นก็มีอะไรคล้ายๆ พวงมาลัยเหมือนกันแต่ไม่หลากหลายเท่า ฉันคิดว่าคนไทยเก่งมากในเรื่องของการทำงานที่ใช้ความชำนาญของมือ คิดว่าพอกลับไปญี่ปุ่นจะเอาดีไซน์ของพวงมาลัยหรือสีของสิ่งต่างๆ ที่เห็นในเมืองไทยไปปรับใช้กับการทำงานศิลปะร่วมสมัยในญี่ปุ่น
ฉันชอบความคิดของการผสมผสานทางศิลปะระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เพราะมันไม่ต่างกันมากนัก

เหมือนหรือต่างกันอย่างไรระหว่างสีสันของไทยกับญี่ปุ่น
ก็ต่างนิดหน่อย ในญี่ปุ่นมี 4 ฤดูกาล แต่ละฤดูสีสันของท้องฟ้าก็เปลี่ยนไป แต่เมืองไทยมีแสงแดดแรงกว่า แดดแรงตลอดปี ถ้าเทียบกับญี่ปุ่นก็จะให้ความรู้สึกต่างกันนิดหน่อย แต่ก็ไม่ต่างกันมาก

ฉันคิดว่าวัฒนธรรมไทยหลายอย่างถ่ายทอดมาจากอินเดีย ส่วนญี่ปุ่นก็รับหลายอย่างจากอินเดียเหมือนกันก่อนที่วัฒนธรรมจีนและเกาหลี จะเข้ามาญี่ปุ่น เรียกได้ว่าเรามีพื้นฐานวัฒนธรรมอินเดียเหมือนกัน

เพราะเห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างสามประเทศนี้ก็เลยเตรียมจะเดินทางไปดูสี ของอินเดียต่อ?
ความสนใจเรื่องเมืองไทยมีมาหลายปีแล้ว ประมาณ 10 ปี ที่ได้มาเมืองไทย เริ่มสนใจมาเมืองไทย แต่รู้สึกเหมือนว่าตอนนี้ยังเป็นเพียงจุดเริ่มของการเข้ามาทำงานศิลปะใน เมืองไทย คิดว่าคงไปๆ มาๆ เพราะว่าฉันรักเกียวโตด้วย รักเมืองไทยด้วย ไม่อยากทิ้งทางไหนไป ชอบวัฒนธรรมของทั้งสองที่

ส่วนอินเดียก็สนใจมานานแล้ว เพิ่งจะได้รู้จักคนจากมหาวิทยาลัยสันตินิเกตัน พอดีว่าปีหน้าจะต้องกลับไปทำงานที่มหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่นก็เลยเดินทางไปไกล ลำบาก แต่จะพยายามหาทางลองไปอินเดีย ไปดูก่อนว่าจะอยู่ไหวหรือเปล่า คงต้องใช้เวลานานเหมือนกัน เหมือนกว่าที่จะได้มาที่ศิลปากรก็ต้องเตรียมหลายอย่าง



ก่อนจะมานี่ตัวเองอาจจะมองแยกกันระหว่างสีสันแบบไทยกับของญี่ปุ่น แต่สีพื้นฐาน มาเจนต้า เหลือง น้ำเงินเขียวก็เป็นสีที่มีในญี่ปุ่นด้วย อยากจะรวบรวมสีพื้นฐานของเอเชียเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าใจความรู้สึกของสีใน เอเชียว่าต่างจากสีพื้นฐานของยุโรปอย่างไร สร้างทฤษฎีสีของตัวเองขึ้นมา

ถ้าพูดถึงสีสันทั่วๆ ไปที่เห็นในญี่ปุ่นจะค่อนข้างมืดๆ ไม่สดใสเท่าสีที่เห็นในไทยหรืออินเดีย แต่ถ้าพูดถึงสีสันที่มนุษย์ทำขึ้น อย่างสีของผ้าไหม สีของเครื่องแต่งกายประจำชาติของคนทั้งสามประเทศจะพบว่ามีความคล้ายกัน อาจจะไม่สดใสแบบสีสังเคราะห์แต่จะมีความ "ขลัง" มากกว่า

ความรู้สึกมันเหมือนกับว่าทั้งสามประเทศ เชื่อมโยงกันด้วยลมมรสุมน่ะ เชื่อมโยงกันด้วยสภาพอากาศ เชื่อมโยงกันด้วยลมฝน เพราะทั้งสามประเทศก็ได้รับอิทธิพลจากสภาพอากาศแบบมรสุมเหมือนกัน


โดย ชาธิป สุวรรณทอง
ที่มา
กรุงเทพธุรกิจ Life Style
วันที่ 22 ธันวาคม 2552

Views: 132

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service