'สินไซแห่งยุคสมัย' ในเวียงจันทน์เกมส์ 2009

โดย : แคน สาริกา



แม้จะล่วงเลยมาหลายวันแล้ว หลายคนก็ยังนึกถึงพิธีเปิดซีเกมส์ครั้งนี้ที่เรียบง่ายและงดงามตามแบบฉบับ ล้านช้าง โดยเฉพาะคนจุดคบเพลิง ที่ชื่อ สินไซ

มหกรรมกีฬาของชาวอาเซียนได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อค่ำวันที่ 9 ธันวาคม 2552 เมื่อ พุดอำไพ เทียมพะสอน นักกีฬายิงธนู ทีมชาติลาว ที่รับบทเป็น "สินไซ" แผลงศรหรือยิงธนูไฟจุดคบเพลิง

นั่นเป็นไฮไลต์ใน พิธีเปิดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 25 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่สนามกีฬาแห่งชาติแห่งใหม่ ก.ม.16 ถนนหมายเลข 13 (ใต้)

ก่อนหน้าพิธีเปิดซีเกมส์ นักข่าวกีฬาชาวไทยได้รายงานข้ามโขงมาว่า ทางลาวจะใช้วิธีการแผลงศรจุดคบเพลิง บางสำนักบอกว่า นักกีฬาลาวผู้ยิงธนูไฟ จะสวมบทเจ้าฟ้างุ้มมหาราช ผู้สร้างอาณาจักรล้านช้าง บางสำนักก็ว่าน่าจะเป็นการเลียนแบบพระรามแผลงศร ไม่มีใครนึกถึง "สินไซ" วีรบุรุษในวรรณกรรมสุดคลาสสิกแห่งลาวสมัยอาณาจักรล้านช้าง!

มิหนำซ้ำ ในการถ่ายทอดสด ของสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.) หรือช่อง 11 ที่ดำเนินการโดยบริษัทอาร์ เอสฯ ผู้บรรยายกีฬาชาย 2 คน หญิง 1 คน ไม่ได้ช่วยให้คนดูทางบ้าน "รู้จักลาว" และ "เข้าใจลาว" ผ่านการแสดงต่างๆ ในชามอ่างขนาดจุคนดูได้ 2 หมื่นคน

ทั้งที่รายการแสดงในพิธีเปิดการแข่งขันเวียงจันทน์เกมส์ ท่านบัวเงิน ซาพูวง รัฐมนตรีช่วยกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม สปป.ลาว ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการแสดงในพิธีเปิด-ปิดซีเกมส์ ได้ออกแบบให้การแสดงทุกชุดสะท้อนถึงศิลปวัฒนธรรม และประเพณีดีงามของชาติลาว

ที่สำคัญคือสะท้อน "ความเป็นลาว" ให้คนทั้งโลกได้ประจักษ์ ซึ่งการแสดงทุกชุดล้วนมีมิติทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตั้งแต่ยุคอาณาจักรล้านช้าง ผ่านมาถึงยุคสังคมนิยม และยุคกึ่งสังคมนิยมกึ่งทุนนิยมใน พ.ศ.นี้






ไม่หวือหวาแต่ยิ่งใหญ่
เสียงสะท้อนจากสื่อไทยบางค่าย และคนไทยจำนวนหนึ่ง ค่อนข้างผิดหวังกับการแสดงในพิธีเปิดเวียงจันทน์เกมส์ ด้วยเหตุผลที่ว่า "ไม่หวือหวา" แต่หารู้ไม่ว่า ในความเรียบง่ายแบบลาวๆ ได้ซ่อนความนัยของการปลุกกระแสสำนึกของความเป็นลาวอันยิ่งใหญ่ไว้ตั้งแต่ต้น จนจบ

เริ่มจากการเลือกเพลง 4 เพลงนำร่องโหมโรง ก่อนเข้าสู่พิธีการ ทุกเพลงล้วนมีความหมาย มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์
1.เพลง "จำปาเมืองลาว" ประพันธ์โดย ท่านอุตตะมะ จุนละมะนี นักปฏิวัติอาวุโส เป็นเพลงปลุกใจให้ฮักหอมความเป็นลาว ในยุคต่อสู้กู้ชาติ สมัยฝรั่งเศสยึดครองล้านช้าง

2.เพลง "แดนแห่งอิสระ" ประพันธ์โดย ท่านสีชะนะ สีสาน นักปฏิวัติอาวุโส เป็นเพลงปลุกเร้าจิตใจกล้าสู้ กล้าเอาชนะจักรพรรดินิยมอเมริกา ในการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประชาชาติลาว

3.เพลง "บ้านแม่เฮา" ประพันธ์โดย ท่านบัวเงิน ซาพูวง นักรบศิลปวรรณคดีปฏิวัติ ที่เรียกร้องให้ชาวลาวสร้างสรรค์สังคมนิยม หรือ "ลาวระบอบใหม่" ภายหลังเลิกล้มการปกครองในระบอบราชาธิปไตยเมื่อ 34 ปีที่แล้ว

4.เพลง "สะบายดี" ที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ของคนลาวคือ คำทักทาย "สะบายดี" รอยยิ้ม และมิตรภาพ ซึ่งผู้นำร้องหมู่เพลงสะบายดีคือ บุนเกิด หนูห่วง ซูเปอร์สตาร์ลูกทุ่งลาว

สำหรับชุดการแสดงเฉลิมฉลองซีเกมส์ ที่ใช้นักแสดงประมาณ 8,500 คน ซึ่งร่วมฝึกซ้อมกันมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552 ประกอบด้วย

ชุดที่ 1 "ยินดีต้อนรับซีเกมส์" แสดงถึงความยินดีของพี่น้องชาวลาว ในการต้อนรับเพื่อนบ้านจากชาติอาเซียน
ชุดที่ 2 "พงไพร สายน้ำ และชีวิต" แสดงถึงวัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆ ในประเทศลาว จำนวน 49 เผ่า แม้จะต่างด้วยภาษาและขนบธรรมเนียม แต่ก็อยู่ร่วมกันได้ด้วยใจที่เป็นหนึ่งเดียว
ในชุดนี้ ยังสื่อความหมายถึง "ยุครวมชาติ" ภายใต้การนำของ "เจ้าฟ้างุ้ม" มหาราชผู้ยิ่งใหญ่ของอาณาจักรล้านช้างเมื่อ 650 ปีที่แล้ว
ชุดที่ 3 "ทุ่งนาสีทอง" แสดงถึงชนชาติลาวที่ได้มาตั้งถิ่นฐาน แล้วเริ่มเรียนรู้การปลูกข้าว ชีวิตความเป็นอยู่ในชนบท และอารยธรรมต่างๆ
ชุดที่ 4 "แสงเทียน แสงธรรม" แสดงถึงชนชาติลาวเมื่อเรียนรู้การปลูกข้าวแล้ว ก็เริ่มเรียนรู้อารยธรรมต่างๆ ซึ่งมีการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ชาวลาวพร้อมใจกันลุกขึ้นสู้เมื่อถูกรุกรานจาก ชาติอื่นด้วย
ชุดที่ 5 "สินไซแห่งยุคสมัย" แสดงถึงความกล้าหาญของวีรบุรุษจากวรรณคดีเรื่อง "สินไซ" ที่ทุกคนต่างทราบกันดีถึงความสามารถ ความเก่งกาจของสินไซ ผู้มีอิทธิฤทธิ์ปราบยักษ์มาร
ชุดที่ 6 "อนาคตสดใส" แสดงถึงความมุ่งมาดปรารถนาของประชาชนชาวลาว ที่ต้องการนำพาประเทศก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองเคียงข้างนานาชาติ
ชุดที่ 7 "ใจประสานใจ" แสดงถึงความรัก ความสามัคคีของชนชาติในอาเซียน

การแสดงจบลงด้วยความม่วนซื่นของชาวลาวทั้งชาติ และผู้นำพรรคประชาชนปฏิวัติลาว คงภาคภูมิใจที่ชาติลาวทำให้ภาคีอาเซียนทราบว่า สามารถจัดการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศได้สำเร็จ

เหนืออื่นใด ผู้นำพรรคและรัฐ สปป.ลาว ได้ก้าวข้ามคำว่า "ลาวระบอบเก่า" และ "ลาวระบอบใหม่" หลอมรวมใจชาวลาวทั้งมวล ด้วยการจัดมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาติเล็กๆ บนแผ่นดินสุวรรณภูมิ






วรรณกรรมสองฝั่งโขง
กล่าวสำหรับการแสดงชุด "สินไซ" และการแผลงศรจุดคบเพลิงซีเกมส์ โดยนักกีฬาที่แต่งตัวเป็นสินไซนั้น มันมีค่าความหมายมากกว่า "ฮีโร่" จากวรรณคดีที่คนลาวรู้จักมานับร้อยปี

"สินไซ" หรือ "สังข์ศิลป์ชัย" เป็นวรรณกรรมที่มีอิทธิพลต่อประชาชนในชุมชนสองฝั่งโขง ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีการแบ่งแยกพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ว่า ฝั่งขวาคือไทย ฝั่งซ้ายคือลาว

หนังสือนิทานคำกลอนเรื่อง "สินไซ" ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุด ก็คือฉบับที่เรียบเรียงและแก้ไขโดย มหาสิลา วีระวงศ์ มหาปราชญ์แห่งราชอาณาจักรลาว ซึ่งท่านได้ค้นคว้าศึกษามาตั้งปี พ.ศ. 2477 และพิมพ์เป็นเล่มครั้งในปี พ.ศ.2494 ซึ่งหน้าปกเป็นรูปสินไซแผลงศร

เรื่องย่อของสินไซ มีอยู่ว่า พระยากุสราช เจ้าแผ่นดินเมืองเป็งจาล มีมเหสีชื่อนางจันทา พระยากุสราชมีน้องสาวคนหนึ่งชื่อ นางสุมนทา ต่อมามียักษ์ชื่อ กุมภัณฑ์ มาลักเอาตัวนางสุมนทาขณะที่ชมสวนไม้อยู่ ไปเป็นเมียมีลูกด้วยกันคนหนึ่ง

พระยากุสราช คิดถึงน้องสาวเป็นอันมาก จึงออกบวชแล้วไปตามหาน้องสาวจนถึงเมืองจำปา ได้เห็นลูกสาว 7 คนของนันทเศรษฐี เมืองจำปา มาใส่บาตรก็เกิดความรักจึงลาสิกขา แล้วแต่งอำมาตย์ไปขอนางทั้ง 7 มาเป็นมเหสี

ต่อมา มเหสีทั้งแปดก็เกิดมีครรภ์ โหรได้ทำนายว่าลูกของมเหสีองค์แรกและลูกของมเหสีองค์สุดท้องจะเป็นคนดี ส่วนลูกของมเหสีที่เหลือจะเป็นคนชั่ว ทำให้พวกนางมีความเคียดแค้น จึงจ้างวานให้โหรกลับคำนายใหม่ และทำเสน่ห์ยาแฝดให้พระยากุสราชเกลียดชังมเหสีสององค์นั้น

ครั้นถึงวันคลอด ลูกของมเหสีองค์แรกเป็นคชสีห์ ชื่อว่า สีโห และลูกของมเหสีองค์สุดท้อง มีสองคน คือผู้พี่ถือพระขรรค์ กับธนูศิลป์ออกมาด้วย จึงได้ชื่อว่า "ศิลป์ชัย" หรือ "สินไซ" ส่วน น้องเป็นหอยสังข์ จึงชื่อว่า สังข์ทอง

ท้าวกุสราชเชื่อฟังคำทำนายของโหร จึงขับไล่นางทั้งสองพร้อมด้วยลูกออกจากเมือง พระอินทร์จึงเนรมิตปราสาทให้ทั้ง 5 คนได้อยู่ในปราสาทนั้นเป็นเวลาถึง 7 ปี

สินไซ เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ปราบสัตว์ร้าย ยักษ์ และเผชิญกับภยันตรายต่างๆ ได้อย่างองอาจกล้าหาญ โดยมีพระอินทร์เป็นพี่เลี้ยง ขณะเดียวกัน สินไซก็ต่อสู้กับเล่ห์เพทุบายของลูกๆ มเหสีทั้ง 6 อยู่นานปี

เมื่อพระยากุสราชรู้ความจริง จึงจับลูกชายทั้งหกไปขังคุก แล้วเชิญสินไซมาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินแทนตัวเอง
ดวงเดือน บุนยาวง ลูกสาวมหาสิลา วีระวงศ์ อธิบายว่า นิทานคำกลอนเรื่องสินไซ น่าจะแต่งโดย "ท้าวปางคำ" เจ้าเมืองหนองบัวลำภู ในรัชกาลพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช (พ.ศ.2177-2235) แห่งอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งผู้แต่งจะต้องเป็นคนมีความรู้ในฮีตคองพระราชประเพณี และการเมืองการปกครองอย่างลึกซึ้ง

แม้สินไซจะเป็นนิทานพื้นเมืองเหมือนเรื่องอื่นๆ แต่ด้วยความเป็นกวีของผู้แต่ง ที่สอดแทรกคติธรรมทางพระพุทธศาสนา ทำให้นิทานคำกลอนเรื่องนี้ มีคุณค่าสมควรแก่การศึกษา และสร้างค่านิยมให้สอดคล้องแก่ยุคสมัย
อาทิ เรื่องการให้อภัยแก่กัน การไม่มีอคติทางเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ที่ต่างกับตน และ การเป็นพลเมืองที่ดีของโลก

หลังแผ่นดินลาวได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น "ระบอบสาธารณรัฐ" สหายไกสอน พมวิหาน ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลของลาวระบอบใหม่ ได้นำเอาวรรณกรรมสินไซ มาให้การศึกษาแก่เยาวชนคนรุ่นใหม่

ท่านไกสอน เรียกร้องให้ "วัยหนุ่มลาว" (คนหนุ่มสาวลาว) เป็นดั่ง "สินไซแห่งยุคสมัย" ลุกขึ้นยืนต้านพายุลมแรง มีความกตัญญู มีความรักชาติเด็ดเดี่ยวเหนียวแน่น

สินไซจึงเป็นวรรณกรรมที่คนลาวทั้งชาติรู้จัก และมีการนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงานมากที่สุด ซึ่งอาจจะมากกว่า "ลัทธิมาร์กซ-เลนิน" เสียด้วยซ้ำไป

ปัจจุบัน การเผยแพร่สินไซยังดำเนินต่อไปในกลุ่มเยาวชนลาว ด้วยรูปแบบร่วมสมัย เราจึงได้ฟัง "แร็พสินไซ" หรือ "ฮิพฮอพสินไซ" ประกอบท่าเต้น บี-บอย หรือเบรกแดนซ์

รวมถึงท่าเต้นมวยลาว ของเยาวชนนับพันในสนามกีฬาแห่งชาติเมื่อวันเปิดซีเกมส์ ในชุดสินไซแห่งยุคสมัย

ทั้งหมดนี้คือ คำอธิบายถึงการนำ "ฮีโร่" แห่งวรรณกรรมล้านช้าง มายืนแผลงศรจุดคบเพลิงเวียงจันทน์เกมส์ 2009


โดย แคน สาริกา
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ Life Style
วันที่ 14 ธันวาคม 2552

Views: 581

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service