ภาพยนตร์ สื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรมของชาติ

ภาพยนตร์เป็นสื่อที่มีผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ ภาพยนตร์เป็นสื่อที่ให้ความบันเทิง เป็นแหล่งเรียนรู้ เสริมสร้างจินตนาการ ความประทับใจและข้อคิดหรือทัศนคติแก่ผู้ชม จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นสื่อสามารถจรรโลงวัฒนธรรมที่ดีงามของชาติได้

ในอีกแง่มุมหนึ่งของภาพยนตร์อาจมองได้ว่าเป็นงานศิลปะที่เผยแพร่ให้คนดูได้รับความบันเทิง แต่อย่างไรก็ตามความเป็นศิลปะจะต้องอยู่ในกรอบของวัฒนธรรมและศีลธรรมอันดี ภายใต้กฎหมายที่บังคับไว้ในพระราชบัญญัติพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์พุทธศักราช 2551 ที่ได้กำหนดเนื้อหาสาระของภาพยนตร์ว่าระดับใดสมควรจะได้รับการเผยแพร่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรุนแรง เรื่องเพศ ซึ่งในระบบการเซ็นเซอร์จะใช้วิธีโมเสค (ปิคบังภาพไม่ให้เห็นมองชัดเจน) หรือให้ตัดทอนภาพที่ไม่สมควรเผยแพร่ออก

แต่ในระบบการจัดระดับ (เรตติ้ง) จะจัดให้เข้าเป็นลักษณะประเภทภาพยนตร์ซึ่งแบ่งเป็น 7 ประเภทด้วยกัน คือ ประเภทส่งเสริมให้ดู, ผู้ดูทั่วไปเหมาะสำหรับผู้มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป 15 ปีขึ้นไป 18 ปีขึ้นไป ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีรับชม (13+15+18+20-) และประเภทห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร (เรต 7) เป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงโดยมีเนื้อหาดังนี้

- เนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

- สาระสำคัญของเรื่องเป็นการเหยียดหยามหรือนำความเสื่อมเสีย มาสู่ศาสนา หรือไม่เคารพต่อปูชนียบุคคล ปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุ

- เนื้อหากระทบกระเทือนต่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ

- สาระสำคัญของเรื่องแสดงการมีเพศสัมพันธ์

- เนื้อหาแสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยะเพศ

การพิจารณาจัดระดับภาพยนตร์คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์จะพิจารณาตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 และมาตรา 26 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์พุทธศักราช 2551 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 41 มาตรา 43 และมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นขัดต่อกฎหมายที่กำหนดจะมีการกำหนดโทษทางอาญาของผู้ที่ฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์พุทธศักราช 2551 มาตรา 77 ผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรา 23 วรรคหนึ่ง หรือนำภาพยนตร์ตามมาตรา 26 (7) ออกเผยแพร่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งสาระสำคัญของมาตรา 23 ผู้สร้างภาพยนต์ต้องดำเนินการสร้างภาพยนตร์ในลักษณะที่ไม่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงและเกียรติภูมิของประเทศไทย

ผู้สร้างภาพยนตร์ผู้ใดสงสัยว่าการสร้างภาพยนตร์ของตนจะเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่งอาจขอให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์พิจารณาให้ความเห็นในเรื่องนั้นก่อนดำเนินการสร้างได้

ในกรณีนี้ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์จะต้องให้ความเห็นและแจ้งให้ผู้ซึ่ง ขอความเห็นทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ได้รับคำขอ ถ้าไม่แจ้งภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวให้ถือว่าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ให้ความเห็นชอบแล้ว

การขอความเห็นและค่าป่วยการในการให้ความเห็นให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ค่าป่วยการที่ได้รับให้นำส่งกลับเป็นรายได้แผ่นดิน

สำหรับโทษทางอาญาในพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์พุทธศักราช 2551 มาตรา 77 ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 23 วรรคหนึ่ง หรือนำภาพยนตร์ตามมาตรา 26 (7) ออกเผยแพร่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การส่งตรวจพิจารณาการจัดระดับภาพยนตร์ (เรตติ้ง) ของภาพยนตร์และวีดิทัศน์แต่ละเรื่องคิดค่าตรวจเป็นนาที นาทีละ 5 บาท 1 เรื่อง/ครั้ง รวมได้ ไม่เกิน 8,000 บาท ซึ่งในลักษณะของวีดิทัศน์ที่เป็นคาราโอเกะ จะใช้ระบบการเซ็นเซอร์ สั่งให้แก้ไขได้ในกรณีมีคำผิดหรือมีภาพ (มิวสิควิดีโอ) ไม่เหมาะสมตามที่พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์พุทธศักราช 2551 กำหนดไว้

อุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในยุคปัจจุบันจะคำนึงถึงเงินทุนเป็นเงื่อนไขเบื้องต้น และจะต้องมีเป้าหมายเพื่อการสร้างผลกำไรเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่ง

ตัวอย่างเช่น คำถามในใจของบรรดาผู้สร้างภาพยนตร์ จะสร้างภาพยนตร์ประเภทไหน จะให้ใครแสดง และจะหาทุนจากที่ไหน เป็นตัวตั้งก่อน มักจะไม่คำนึงถึงเรื่องของวัฒนธรรมที่จะถ่ายทอดให้แก่ผู้ชมเป็นปัจจัยหลัก

ภาพยนตร์และวีดิทัศน์จึงเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่จะต้องอยู่ในกระบวนการของกฎหมายและความถูกต้องทางวัฒนธรรมควบคู่กันไป จึงจะจัดอยู่ในสื่อที่เป็นได้ทั้งสร้างสรรค์สังคม

หากผู้สร้างผู้ผลิต นายทุนไม่เห็นความสำคัญของผลกระทบของภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่สร้างขึ้นเพื่อหวังเพียงผลกำไรเพียงอย่างเดียว รายละเอียดของเนื้อหา ภาพ เสียง ภาษาที่สื่อสารให้ผู้ชมรับทราบ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่บริโภคสื่อโดยไม่มีวิจารณญาณหรือไม่ได้รับการแนะนำจากผู้ปกครอง ก็จะไม่สามารถแยกแยะสิ่งดีและไม่ดีได้ด้วยตนเอง จะเสพสื่อแต่เพื่อความบันเทิงและเลียนแบบสื่อทั้งดีและไม่ดีไปพร้อมๆ กัน

เนื้อหาของภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่มีผลกระทบต่อการปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมให้แก่เด็กและเยาวชนคล้อยตามที่ควรเฝ้าระวังคือ

- เนื้อหาที่เป็นการบ่อนทำลายหรือกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของประเทศ หรือจงใจก่อให้เกิดการดูหมิ่นเหยียดหยามประเทศชาติ

- เนื้อหาที่เป็นการเหยียดหยาม หรือนำความเสื่อมเสียมาสู่ศาสนา หรือไม่เคารพต่อปูชนียบุคคล ปูชนียสถาน และปูชนียวัตถุ

- เนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ หรือกระทบกระเทือนต่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ

- เนื้อหาโดยรวมที่แสดงถึงการมีเพศสัมพันธ์และเห็นอวัยวะเพศในลักษณะลามกอนาจาร

นอกจากนี้ภาพยนตร์ที่ปลูกฝังค่านิยมที่ผิดๆ แก่เด็กและเยาวชนอาจทำให้เด็กเลียนแบบทำตามตัวอย่างที่ไม่ดี เมื่อสั่งสมประสบการณ์ที่ไม่ดีเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เป็นนิสัยที่แก้ไขได้ยากและเป็นปัญหาต่อสังคม จึงขอความร่วมมือสื่อทุกประเภท

โดยเฉพาะสื่อภาพยนตร์ เกม คาราโอเกะ ที่จัดจำหน่ายและเผยแพร่อยู่ในปัจจุบันนี้เห็นความสำคัญเรื่องการปลูกฝังวัฒนธรรมที่ดีต่อเด็กและเยาวชน ผลิตสื่อที่ดีๆ ถูกต้องตามหลักศีลธรรม จริยธรรมรวมทั้งการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องตามไวยากรณ์ของไทย เพราะถ้าผิดเพี้ยนไปก็จะทำให้ภาษาไทยที่ถูกต้องอาจสูญหายไปในที่สุด และการผลิตภาพยนตร์ที่ยั่วยุเรื่องเพศเป็นการปลูกฝังให้เด็กหมกมุ่นจนไม่ได้ใช้เวลาในการเรียน การทำงาน หรือคิดสร้างสรรค์พัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า

และประเด็นที่สำคัญคือ เป็นสาเหตุของการก่ออาชญากรรมทางเพศ เช่น การฆ่าข่มขืน ฯลฯ อิทธิพลของสื่อมีผลกระทบมากสำหรับการถ่ายทอดวัฒนธรรมในทุกยุคทุกสมัยที่ไม่ควรมองข้าม


ที่มา: มติชน
โดย กฤษณา พันธุ์มวานิช สำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
วันที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11589

Views: 573

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service