‘แม่ครู’แห่งศิลปะการแสดงร่วมสมัย ภัทราวดี มีชูธน กับตัวตนของศิลปะ



เอ่ยคำว่า ‘ศิลปะการแสดงร่วมสมัย’ ขึ้นมาครั้งใด ความหมายและรูปแบบย่อมกลายเป็นหัวข้อสนทนาที่ยืดยาวต่อมาไม่รู้จบสิ้นทุกครั้งไป แต่สำหรับศิลปินขนานแท้แล้ว การรับรู้รูปแบบที่แท้จริงของสาธารณชนอาจไม่สำคัญเท่ากับการเข้าใจสิ่งที่สื่อออกไปจากจิตใจของเขาก็ได้
ไฮคลาสฉบับนี้มีโอกาสพูดคุยกับภัทราวดี มีชูธน สตรีผู้เป็นเสมือนเครื่องหมายของศิลปะการแสดงร่วมสมัยของเมืองไทย เพราะทั้งตัวตน ผลงาน ลูกศิษย์ลูกหา ตลอดไปจนถึงเจตนารมณ์ของเธอผู้นี้ สะท้อนความเป็น ‘เรา’ ออกมาได้มากมายและเป็นเอก
“การแสดงร่วมสมัยก็คือการแสดงที่เอาภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เรามีอยู่มาจัดวางให้เป็นปัจจุบัน อาจจะไม่ใช่การเต้นอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของปรัชญาดั้งเดิมด้วย อย่างสมมุติว่าเรามีเก้าอี้เก่าๆตัวหนึ่งแล้วให้คนมาเล่น แสดงเหตุผลว่าคนนั้น ทำไมนั่งอยู่บนเก้าอี้ตัวนี้...ก็ได้
อาจจะไม่ต้องเอามาทั้งหมด แต่เราคัดมาเฉพาะแก่นเพียงจุดเดียว มันทำให้เกิดความน่าสนใจตรงที่ว่า ความรู้เดิมที่มีอยู่นิดหนึ่ง มันสามารถสร้างงานที่เป็นปัจจุบันได้ ทั้งนี้มันก็แล้วแต่คนคิด คนส่วนมากคิดได้แค่ว่าร่วมสมัยคือ เอารำไทยมาแล้วก็มาประยุกต์ใส่บัลเล่ต์ ใส่โมเดิร์นด๊านซ์ เท่านั้น ซึ่งจริงๆแล้วมันไม่ใช่เรื่องจำเป็นเลย คือมันมีได้มากกว่านั้น อย่างรำไทยก็ไม่จำเป็นต้อง ร๊ำ รำ (หัวเราะ) แค่กระดกเท้า อย่างเดียวก็เอามาใช้ได้แล้วก็เรียกว่าร่วมสมัยแล้ว
อีกแบบหนึ่งคือการใช้ของเดิมมาตีความใหม่ คือไม่ได้มาเล่าเรื่อง แต่เราอาจจะนำขุนช้าง-ขุนแผนมาทำเป็นละคร มันอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับขุนแผนโดยตรง แต่เราพูดถึงผู้ชายเจ้าชู้ที่มีลักษณะคล้ายๆกับขุนแผน เข้ามาร้อยแล้วสร้างเป็นเรื่องใหม่ แล้วสร้างให้มันเกิดอะไรขึ้นกับสังคม ก็คือเอาสิ่งที่เราเคยรู้ในอดีตมาเป็นพื้นฐานในการสร้างงานปัจจุบัน นั่นคือคำจำกัดความ
จริงๆแล้วมันอยู่ในการดำรงชีวิตเลย แต่คนไม่ค่อยรู้หรอกว่าสิ่งที่เขาพบเจอคือความร่วมสมัย ...วิธีการเสพศิลปะ คือ ไม่ต้องคิดอะไรมาก ถ้าเราไปคิดอะไรมาก เราก็จะยึดติด อย่างเช่นเวลาครูไปดูละคร ครูจะถามออกมาเลย เธอคิดอย่างไร คนที่ชอบเสื้อผ้าก็จะบอก อู้ย...เสื้อผ้าสวย อีกคนก็บอกแสงสวย ส่วนอีกคนก็บอกแหมคนเล่นหล่อ(หัวเราะ) เห็นไหม คนความรู้เท่าๆกัน พวกเดียวกัน ไปด้วยกัน ออกมาก็ไม่เหมือนกัน คือเพราะเราชอบ เรามองต่างกัน ถามว่าแล้วใครถูกใครผิด ก็ต้องบอกว่าถูกหมดทุกคน เราชอบอะไร เราดูอะไรเราก็จะเห็นอย่างนั้น
บางคนดูแล้วไม่รู้เรื่องเลย ไอ้นี่มันทำไม แล้วมันยังไง ก็บอกว่า นี่ไง...ได้แล้ว ได้คำถาม แต่เธอยังไม่ได้คำตอบ ถ้าเธออยากรู้คำตอบเธอก็ไปค้นหาคำตอบ แต่ถ้าเธอไม่อยากได้คำตอบ เธอก็ไม่ต้องไปค้นหา เธอก็ไปดูอย่างอื่นที่มันหาคำตอบง่ายๆ …”
ร่องรอยแห่งความอิ่มเอมและความสุขในรสของศิลปะฉายอยู่ในแววตาของครูอยู่ตลอดเวลา วูบลงเล้กน้อย เมื่อเล่าถึงความจริงในสังคมไทย ความเคยชินกับสิ่งที่ได้เห็น ได้รับกำลังนำเราออกห่างจากความงามในเชิงศิลป์
“ ประเทศเดนมาร์กเมื่อถึงฤดูหนาว ชาวนาทำนาไม่ได้ เขาจะให้เข้าโรงเรียนศิลปะ เพื่อฝึกให้คุ้นเคยกับของดีของงาม เมื่อกลับมาสู้สังคมเขาจะไม่กล้าทำเลว เพราะตัวเคยเห็นของดีมา รู้ว่าดีงามเป็นอย่างไร เห็นทุกวัน ฟังทุกวัน รสนิยมก็เกิด ปัญญาก็เกิด แล้วก็จะรู้ว่าของดีๆนั้นเหมือนกันหมดเลย คือมีพลังงานซ่อนอยู่ มันเกิดความสงบภายในที่เขาเรียกว่าอึ้ง พูดไม่ออก เพราะฉะนั้นเราจะไม่เห็นความงามเหล่านั้นเลยถ้าเราไม่เสพ ไม่ดู ดูจนกระทั่งชิน ชินกับความดีความงาม
ทีนี้ถ้าเราอยู่ในตลาด เราก็จะชินอยู่กับเสียงเอะอะมะเทิ่ง เสียงมอเตอร์ไซต์ เสียงคนด่ากัน เสียงหมาเห่า เสียงความก้าวร้าว ถ้าเด็กโตมากับสิ่งเหล่านี้แล้ว เราจะไปสอนคุณธรรมเขาทำไม เพราะเขาไม่ชิน เขาก็ซึมทุกอย่างที่เขาชิน แล้วคิดว่าดี ดีคือการด่ากัน ละครโทรทัศน์นี่ด่ากันกรี๊ดๆใส่กัน เขาชิน ครูถึงบอกว่าคนที่ทำงานศิลปะนั้นต้องรับผิดชอบต่อสังคมและต้องเข้าใจตนเอง ว่าเราทำให้เขาชินกับอะไร เราทำให้เขาชินกับเรน เพราะฉะนั้นใครที่น่าเหมือนเรนก็จะดีหมด ถ้าเราให้เขาชินกับอะไรเขาก็จะเป็นอย่างนั้น…
ครูมองว่าตอนนี้สังคมไทยเรายังขาดศิลปะที่หลากหลาย ให้คนได้เลือก เรายังขาดการสนับสนุนให้เอาของดีที่สุดมาให้คนดู เราบอกแต่ว่าให้ดูสิ่งดีดี แต่มีให้เลือกดูน้อยเหลือเกิน และมักจำกัดเอาด้วยว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนี้ดี สิ่งนั้นไม่ดี สิ่งนี้ไม่ดี แต่ยังขาดการนำสิ่งหลากหลายเหล่านั้นมาให้คนดู ให้คนชิน...”

โดย : HI-CLASS SOCIETY : INTERVIEW

Views: 148

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service