"ละครเป็นยังไงสังคมก็เป็นแบบนั้น" ดังกมล ณ ป้อมเพชร




"ละครมันสะท้อนสิ่งที่สังคมเป็นหรือขาดพร่อง" ชายหนุ่มเจ้าของวลี ดังกมล ณ ป้อมเพชร ยิ้มอย่างท้าทายตอนข้อสรุปนี้หลุดจากปาก

ดังกมลนั้นนอกจากจะเป็นอาจารย์และหัวหน้าภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และพ่วงด้วยการเป็นหนึ่งในคนแถวหน้าที่เคลื่อนไหวผลักดันวงการละครไทยอยู่ตลอดเวลา

เขายังเป็นผู้กำกับละครเวทีที่มีผลงานอย่าง "สัต(ว์)บุรุษสุดขอบโลก", "สยามนิรมิต", "นิทราชาคริต" และ "วัยไฟ" เป็นคนที่มีส่วนในการผลักดันให้เกิด หลักสูตรการละครระดับมหาบัณฑิตของคณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เป็นหลักสูตรที่จะฝึกให้คนเรียนกลายเป็นมืออาชีพในด้านการละคร และเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองทำมากขึ้น

ถ้าถามว่าจำเป็นแค่ไหนที่ประเทศไทยซึ่งวงการละครเวทีเล็กมาก แถมวงการละครโทรทัศน์ก็เป็นเรื่องเดิมๆ ไม่ได้ขยับขยายไปทิศทางใหม่ๆ จะต้องเปิดสอนหลักสูตรการละครระดับนี้

เขาฉีกยิ้มกว้าง แล้วว่าจำเป็นสิ

"แล้วมันไม่ใช่ว่าในวงการอาชีพต้องการหรือไม่ แต่เพราะประเทศต้องการ"

"คือละครนั้นพอถึงจุดหนึ่งก็ต้องมีสมดุลระหว่างศิลปะ-ความบันเทิง รสนิยมคนดู-รสนิยมที่ดี เพื่อเป็นสื่อในการเรียนรู้ชีวิตที่ดีของคนดูละคร"

สำหรับคนทั่วไปอาจจะมองว่าศาสตร์การละครเป็นเรื่องของการแสดงอารมณ์หรือการแสดงไปตามบทบาท แต่ดังกมลบอกว่าที่จริงละครเป็นเรื่องของเหตุผลและความเข้าใจล้วนๆ ไอ้เรื่องที่แค่ทำอารมณ์ให้ตรงกับสถานการณ์ แล้วพูดบทใส่กล้องเหมือนที่ละครโทรทัศน์สมัยนี้ทำอยู่เป็นเรื่องที่ผิดจากสิ่งที่ควรจะเป็น

"ละครเป็นเรื่องของคนที่มีความต้องการและก็ทำอะไรบางอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการนั้น" คือสิ่งที่ดังกมลบอก

"อารมณ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของละคร แต่ไม่ใช่ทั้งหมด คิดดูถ้าโกรธแล้วจะโกรธไปถึงไหน ตรงไหนที่จะสิ้นสุด ถ้าไม่รู้ว่าเหตุผลว่าตัวละครต้องการอะไร แสดงอารมณ์ออกมาทำไม"

แต่ละครทีวีที่เห็นๆ ก็ไม่ได้เป็นแบบที่ว่า แถมยังมีละครในแนวที่ตัวร้ายก็ตบ พระเอกก็ตบ (แถมจูบ) ให้เห็นบ่อยๆ จนหลังๆ แม้แต่นางเอก แม่นางเอก ก็ยังตบกับเขาด้วย ฉะนั้นถ้า "ละครสะท้อนสังคมในสิ่งที่เป็นและขาดพร่อง" อย่างเขาว่าก็น่ากลัว

"แล้วมันไม่จริงตรงไหน?" นี่ดังกมลย้อนถาม

"ที่ว่าคนไทยใจดี ผมว่าไม่จริงแล้ว เดี๋ยวนี้มองหน้าก็ยิง ไม่พอใจก็ด่า คนที่คิดต่างก็ถูกมองเป็นผู้ร้าย หนัง ละคร ข่าว และวัฒนธรรมเว็บบอร์ดหล่อหลอมให้คนมุ่งไปทางนั้น มันอยู่รอบๆ ตัวเรา คนเริ่มไม่อดทน ไม่เมตตา รู้สึกว่าปล่อยอารมณ์แบบนี้ได้ ก็ทำ ก็ปล่อย ถ้าไม่ทำซะอีกสิจะรู้สึกว่าไม่คุ้มเลย แล้วถ้าจะมาคิดเหมือนละครสมัยก่อนว่ากว่าจะได้แก้แค้นตอนละครจบ ก็ไม่รู้มันจบเมื่อไหร่ ก็เอามันตอนนี้เลยละกัน"

เรื่องบางอย่างดังกมลว่าคนทำคงไม่ได้เจตนา แต่ความที่ทำบ่อยๆ ซ้ำๆ ทำกันหลายคน มีในหลายเรื่อง จึงค่อยๆ ซึมไปหาคนดู สุดท้าย "คนไทยจึงกลายพันธุ์"

"เราจึงต้องมีสติกลับมา เพื่อดูว่าอันไหนเราก้าวถูก อันไหนเราก้าวผิด แล้วก็ยอมรับว่าพลาด ไม่ใช่ไปโทษคนอื่น คนดูเองก็เลือกได้ เรียกร้องได้ ก็ต้องเลือกและเรียกร้อง คนทำก็ต้องใช้ปัญญาในการทำงาน บวกกับรสนิยมและก็หลักธรรมในใจ ไม่ใช่เอาแต่ขายของ เอาตบกันกรี๊ดๆ ขายได้ ที่จริงคนทำละครไทยเก่ง แต่เพราะไม่มีเวลาคิด ต้องทำเร็วๆ มันเป็นธุรกิจ ก็เลยมาทางนี้"

ที่ชมกันอย่างนี้ ดังกมลบอกว่าไม่ใช่แค่ว่าอวยกันเฉยๆ แต่เพราะหลายคนที่ทำละครโทรทัศน์อยู่ก็เรียนจบการละครมาทั้งนั้น เพียงแต่พอถึงเวลาลงมือทำจริงคนที่มีอำนาจมากกว่าจะเอาแบบนี้ แบบที่เป็นสูตรสำเร็จ

แต่ก็ไม่ใช่ว่าในโทรทัศน์จะไม่มีละครดีๆ เพราะถ้าเอารีโมทกดไปช่องทีวีไทยแล้วไปเจอซีรีส์ฝรั่งกับซีรีส์ญี่ปุ่นเข้าก็จะได้เห็นละครที่เนื้อเรื่องเข้มข้น ประเด็นดี สนุก แถมยังได้ความรู้อีกด้วย

เขายกตัวอย่างซีรีส์ญี่ปุ่น "ทีมดราก้อน...คุณหมอหัวใจแกร่ง" (Iryu Team Medical Dragon) ที่ทีวีไทยนำมาฉาย ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับหมอผ่าตัดโรคหัวใจ ที่เรื่องก็ยาก รายละเอียดก็เยอะ และถ้าทำไม่ดีก็อาจดูไม่รู้เรื่อง แต่ผลออกมากลายเป็นตรงข้าม เพราะไม่เพียงแค่ดูรู้เรื่อง แต่ดูแล้วยังสนุกและกระทบใจ

"ให้เห็นว่าที่ตัวละครยอมโดนด่า โดนน้ำสาดหน้า แต่ว่าก็ทำไปเพื่อสิ่งที่ยึดมั่น"

"เขาจับประเด็นที่สะท้อนสิ่งที่สังคมเป็นอยู่และมีคำถาม ซึ่งน่าสนใจกว่าละครที่เล่นแต่ประเด็นรัก เศร้า ตลก มีเรื่องขึ้นๆ ลงๆ หวือหวาไปเรื่อย"

แน่นอนเรื่องบางเรื่องคงไม่ใช่สิ่งที่จะเปลี่ยนกันได้ง่าย ไม่ว่าจะในส่วนคนทำหรือคนดู แต่เรื่องนี้ถ้าจะเปลี่ยน ดังกมลว่าเปลี่ยนจากฝั่งคนดูก่อนน่าจะง่ายกว่า

"เราต้องฝึกฝนตัวเองไม่ให้แห้งผาก ไม่ตื้นเขิน ไม่ทำอะไรเอาง่ายเข้าว่า"

ที่พูดอย่างนี้ดังกมลออกตัวว่าไม่ได้หมายถึงจะให้เลิกดูละครโทรทัศน์แล้วไปดูละครหรือหนังที่ออกแนวอาร์ตๆ หรอก

"ก็ดูละครอย่างเดิมไป แต่ก็ให้ฉุกคิดด้วย อย่างเห็นตัวร้ายเสียงดัง ถลึงตา ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องรู้สึกหมั่นไส้ อยากตบ เพราะเขาอุตส่าห์ทุ่มทุนสร้าง ทำให้ดูว่าเวลาโกรธแล้วมันน่าเกลียดขนาดไหน แล้วถ้าเป็นเราเจอเรื่องอย่างนั้นควรทำอย่างไร"

"ไม่ใช่ดูไปอย่างนั้นระหว่างเด็ดผักบุ้ง"

และถ้าดูแบบฉุกคิดที่ว่า ยังไงเสียดังกมลก็ยืนยันว่าคนดูจะได้ประโยชน์ ได้การเรียนรู้ชีวิต

ละครจึงไม่ได้มีไว้ให้ดูเฉยๆ แต่ดูแล้วต้องคิดอย่างมีสติ ให้เข้าใจความเป็นละคร

แล้วย้อนดูตัวเอง


ที่มา : มติชน
วันที่ 09 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11293

Views: 340

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service