ดร.เฉียน วิศวกรผู้ยิ่งใหญ่ของจีนและอเมริกา




เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โลกได้สูญเสียนักวิชาการวิศวกรรมการบินคนสำคัญซึ่งมีบทบาทสูงยิ่งต่อการพัฒนาจรวด ยานอวกาศ ขีปนาวุธ ดาวเทียม ฯลฯ และมีชีวิตราวตัวละครในนิยายจารกรรม

Qian Xuesen (บางทีก็เขียนว่า Tsien Hsue-shen หรือ T.S. Tsien ออกเสียงว่า เฉียน-เสวีย-เซิน ซึ่งในที่นี้ขอเรียกว่า ดร.เฉียน) เสียชีวิตเมื่อมีอายุได้ 98 ปีในประเทศจีน หลังจากไม่ได้เหยียบแผ่นดินอเมริกามา 54 ปี ถึงแม้ว่าจะมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างระบบขับเคลื่อนจรวดและพัฒนาเครื่องบินเร็วซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สหรัฐอเมริกาครองอยู่ในโลกปัจจุบันก็ตามที

ดร.เฉียน เป็นคนจีนโดยสายเลือดและมีพื้นฐานการศึกษาแบบจีนตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่แต่ไปมีบทบาทสำคัญต่อเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา และในภายหลังได้ชื่อว่าเป็น "บิดาของการสร้างจรวด" ในจีน และได้รับการยกย่องอย่างสูงว่าเป็นวีรบุรุษของประเทศจีน ที่เป็นดังนี้ก็เพราะ ชีวิตของ ดร.เฉียนนั้นผันผวน

ดร.เฉียน เกิดใน ค.ศ.1911 จบปริญญาตรีจาก Chiao Tung University และไปเรียนต่อที่ MIT (Massachusetts Institute of Technology) และ Caltech (California Institute of Technology)

ขณะที่เป็นผู้ช่วยวิจัยและทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกกับนักฟิสิกส์คนสำคัญที่ Caltech คือ Theodore von Karman ในทศวรรษ 1930 เขาได้ทำวิจัยสำคัญเกี่ยวกับการขับเคลื่อนของจรวด เมื่อเรียนจบก็สอนหนังสือและทำวิจัยที่ Caltech

ในทศวรรษ 1940 เขามีส่วนในการสร้าง Jet Propulsion Laboratory ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นศูนย์ค้นคว้าสำคัญของ NASA อาจารย์ของเขาคือ Von Karmen ได้กล่าวถึงเขาในช่วงเวลานี้ว่า ดร.เฉียนเป็นอัจฉริยะอย่างแท้จริง งานศึกษาวิจัยของเขาช่วยทำให้เกิดความก้าวหน้าอย่างสำคัญในความรู้เกี่ยวกับการขับเคลื่อนของเครื่องยนต์เจ็ท ตลอดจนยานวิถีที่เดินทางด้วยความเร็วสูง

ในยุคนั้นเขาเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์เอกด้านจรวดของสหรัฐอเมริกา

เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนชนะและยึดครองประเทศได้ในปี 1949 ชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไปอย่างไม่คาดฝัน ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเขาทำงานให้รัฐบาลอเมริกัน ให้คำแนะนำแก่กองทัพในเรื่องเทคโนโลยีการนำวิถีของขีปนาวุธ เมื่อสงครามโลกจบลงเขามียศเป็นพันโท และได้มีโอกาสรับฟังข้อมูลจากของนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของนาซี และถูกส่งไปวิเคราะห์จรวด V-2 ของ ฮิตเลอร์ด้วย

ในปี 1949 เขาเขียนข้อเสนอให้สร้างยานอวกาศแบบมีปีก ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญในการสร้างยานอวกาศของ NASA ในเวลาต่อมา (ในปี 2007 นิตยสาร Aviation Week and Space Technology เชิดชูผลงานสำคัญนี้ของเขา)

เมื่อ ดร.เฉียนขออนุญาตไปเยี่ยมพ่อแม่ในประเทศจีนใหม่ที่คอมมิวนิสต์ยึดครอง ชีวิตของเขาก็เผชิญกับความระแวงว่าเป็นจารชนของจีน การเมืองยุค "จับผีคอมมิวนิสต์" ของสงครามเย็นที่มีวุฒิสมาชิก Joseph McCarthy เป็นหัวหอก ทำให้เขาต้องประสบปัญหาอย่างไม่เคยพบมาก่อนด้วยข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์

ข้อกล่าวหามีหลักฐานเพียงว่าเอกสารของพรรคคอมมิวนิสต์ในอเมริการะบุว่าในปี 1938 เขาไปร่วมงานสังคมซึ่ง FBI สงสัยว่าเป็นการพบปะกันของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในเมือง Pasadena ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ดร.เฉียนปฏิเสธคำกล่าวหา และไม่เคยมีหลักฐานว่าเขาได้มอบเอกสารลับให้รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์แต่อย่างใด

ความพยายามของเขาในครั้งที่สองที่จะไปเยี่ยมพ่อแม่ประสบความสำเร็จหลังจากถูกคุมขังอยู่ในบ้าน 5 ปี ดร.เฉียนถูกบีบให้ออกจากสหรัฐอเมริกาซึ่งก็คือการถูกเนรเทศ โดยแลกตัวกับนักบินอเมริกัน 12 คน ที่ถูกจับในระหว่างสงครามเกาหลี เขาต้องเดินทางออกนอกประเทศพร้อมภรรยาและลูก 2 คน ใน ค.ศ.1955

ความเป็นนักวิทยาศาสตร์แถวหน้าผู้รับใช้รัฐบาลอเมริกันผลิตเทคโนโลยีการบินที่สำคัญสำหรับชาวโลกจบสิ้นลง

เมื่อเขาไปถึงเมืองจีนก็ได้รับการต้อนรับเสมือนเป็นวีรบุรุษ รัฐบาลมอบหน้าที่พัฒนาจรวดให้เขาทันที ดร.เฉียนตั้ง Institute of Mechanics และระดมลูกศิษย์เก่งๆ ของเขามาทำงานจนประสบผลสำเร็จในการสร้างขีปนาวุธ Dongfeng ในปี 1964 และวางรากฐานสู่การพัฒนาขีปนาวุธ Silkworm ที่ทรงพลังและกำลังมีชื่อเสียงอยู่ในปัจจุบัน

ดร.เฉียน มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของ University of Science and Technology of China (USTC) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ที่สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะหลังการปฏิวัติในปี 1949 โดย Chinese Academy of Sciences (CAS) เพื่อเร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์ชั้นยอดมาช่วยงานพัฒนาประเทศ

ความก้าวหน้าของจีนในการสร้างดาวเทียม รับจ้างยิงดาวเทียม สร้างเครื่องบินนำสมัย ส่งยานอวกาศไปนอกโลก ฯลฯ ในปีปัจจุบันล้วนมีรากฐานมาจากผลงานของ ดร.เฉียนทั้งสิ้น คนจีนจึงรู้จักชื่อ ดร.เฉียน เป็นอย่างดี

อดีตปลัดกระทรวงทหารของสหรัฐอเมริกาคนหนึ่ง คือ Dan Kimball กล่าวว่า การเนรเทศ ดร.เฉียนคือสิ่งโง่เง่าที่สุดที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเคยทำ

ดร.เฉียน ไม่เคยเดินทางกลับไปสหรัฐอเมริกาอีกเลยถึงแม้จะติดต่อกับเพื่อนนักวิชาการอเมริกันตลอดมาก็ตาม เพื่อน ดร.เฉียนไม่เชื่อว่าเขาเป็นจารชน และไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ในตอนแรก แต่ต้องมาเป็นเพราะความจำเป็นใน ค.ศ.1958 ก่อนหน้าเขาเสียชีวิตไม่นานเพื่อนอเมริกันของ ดร.เฉียนบอกว่าเขายังมีความปรารถนาดีต่อสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ให้การศึกษา ให้โอกาส และสร้างชื่อเสียงให้แก่เขา

ในปี 2001 เขาได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นจาก Caltech และในปี 2007 นิตยสาร Aviation Week เลือกเขาเป็น Man of the Year อันเนื่องมาจากผลงานศึกษาวิจัยของเขาที่ได้วางรากฐานสำหรับการพัฒนายานอวกาศ เครื่องบิน ขีปนาวุธ ฯลฯ

คนจีนเศร้าสลดกับการจากไปของวีรบุรุษผู้สร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่ประเทศ ไม่มีใครรู้ว่าถ้าเขายังอยู่ในสหรัฐอเมริกาที่มีสิ่งแวดล้อมเพียบพร้อมต่อการศึกษาวิจัยในฐานะนักวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีด้านวิศวกรรมเครื่องบิน ศึกษาการขับเคลื่อนของจรวด ยานอวกาศ ฯลฯ โลกจักก้าวหน้าไปอีกมากเพียงใดในเรื่องเหล่านี้ ชีวิตที่ไม่อยู่ภายใต้ภาวะกดดันอาจสร้างจินตนาการและนวัตกรรมได้อีกมากมายก็เป็นได้ เชื่อว่าอีกไม่นานเราคงได้ชมภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวิตของ ดร.เฉียน เป็นแน่

บุรุษผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในโลกเสรี และไม่ยอมเป็นคอมมิวนิสต์ในประเทศคอมมิวนิสต์จนถึงภาวะจำเป็นได้จากไปแล้วพร้อมกับให้บทเรียนแก่ภาครัฐและมอบผลงานสำคัญแก่โลก

ที่มา : มติชน
โดย วรากรณ์ สามโกเศศ
วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11569

Views: 353

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service