หอแห่งแรงบันดาลใจ แอ่วเหนือ...แรงบันดาลใจดี ๆ ที่ดอยตุง





ลมหนาวมาเยือนอีกครั้งแล้ว คนรักการท่องเที่ยวเริ่มมองไปที่เข็มทิศที่ชี้ทางทิศเหนือ (โห...นักท่องเที่ยวยุคไหนเนี่ย) แล้วเดินทางขึ้นไปสัมผัสไอหนาวที่ดูสด ๆ อวบ ๆ ที่เมืองเหนือกัน

คราวนี้ขอเลือกที่หมายปลายทางเป็นเหนือสุดแดนสยาม...ที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

ที่อยากแนะนำที่นี่ เพราะตอนนี้ที่ดอยตุงเขามี "หอแห่งแรงบันดาลใจ" ให้เราเข้าไปชมด้วยนะ

ที่มาที่ไปของหอแห่งนี้ก็คือ สืบเนื่องมาจากการจัดงานนิทรรศการ "แสงหนึ่งคือรุ้งงาม" ในวันคล้ายวันพระราชสมภพครบ 84 พรรษา ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ระหว่างวันที่ 4-15 พฤษภาคม 2550 ที่จัดแสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยที่เมื่อเสร็จสิ้นการจัดงานแล้วคณะกรรมการจัดงานและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ตกลงกันที่จะนำชุดนิทรรศการนี้ส่วนหนึ่งไปตั้งแสดงเป็นการถาวร ณ หอพระราชประวัติ ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

ในเวลาต่อมา จึงเกิดความคิดกันว่าน่าที่จะปรับปรุงหอพระราชประวัติทั้งหมด เพราะหอพระราชประวัติเปิดมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ควรปรับปรุงเนื้อหาใหม่และเพิ่มเติมให้ครอบคลุมเจ้านายในราชสกุลมหิดล พระองค์อื่น ๆ ด้วย หอพระราชประวัติจึงเปลี่ยนเป็นหอแห่งแรงบันดาลใจ มีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยโดยเฉพาะรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และเข้าใจบทบาทของราชสกุลมหิดล ที่มีต่อคนไทยและแผ่นดิน

จึงกลายเป็น "หอแห่งแรงบันดาลใจ" ที่รวบรวมเรื่องราวของราชสกุลมหิดล เริ่มจากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช

งานนี้คุณจิทัศ ศรสงคราม พระนัดดาในสมเด็จพระเจ้า

พี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะทำงานในการสร้างสรรค์หอแห่งแรงบันดาลใจ ด้วยแนวความคิดของหยดน้ำหยดเดียวที่ส่งแรงกระจายออกไปเป็นวงกว้าง เช่นเดียวกับสมาชิกทุกพระองค์ที่ทรงเริ่มงานจากจุดเล็ก ๆ แต่ผลที่แผ่ไปทำให้ทุกชีวิตในแผ่นดินได้เติบโตงอกงาม



หยดน้ำหยดเดียวจะเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเราทำดีได้อย่างไร ไปชม "ความคิด" ข้างในหอกันดีกว่า

แต่ก่อนที่จะเดินเข้าหอแห่งแรงบันดาล เห็นพระดำรัสของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ว่า "เราจะทำอะไรให้เมืองไทย ถ้าไม่มีความรับผิดชอบ จะไปช่วยเมืองไทยได้อย่างไร" เท่านี้ก็ทำให้เราฮึกเหิมที่จะเดินเข้าไปฟังเรื่องราวดี ๆ ในห้องนี้กันแล้ว

พอเข้ามาข้างใน ที่นี่แบ่งเป็น 7 ห้อง ดังนี้

ห้องที่ 1 "ราชสกุลมหิดล" ห้องแรกนี้เป็นบทนำ พูดถึงครอบครัวเล็ก ๆ ครอบครัวหนึ่ง และแนะนำสมาชิกในราชสกุล 5 พระองค์ ผังราชสกุลเท้าความไปถึงรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระพันวัสสาฯ แสดงถึงแต่ละพระองค์ในบทบาทต่าง ๆ และความสัมพันธ์ของทุกพระองค์

ผ่านเข้ามาสู่ห้องที่ 2 "เรื่องราวของราชสกุลผ่านพระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี" เป็นห้องที่นำเสนอพระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ ในแต่ละช่วงของพระชนม์ชีพ จากเด็กสาวสามัญ (เด็กหญิงสังวาลย์) มาเป็นคู่ชีวิตเจ้าฟ้า (หม่อมสังวาลย์) ได้ซึมซับพระราชปณิธานอันแรงกล้าของสมเด็จพระบรมราชชนก และทรงนำมาอบรมเลี้ยงดูพระโอรส พระธิดา ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เมื่อทรงเป็นแม่ของลูก (พระราชชนนีศรีสังวาลย์) ช่วงสุดท้ายทรงเป็นแม่ฟ้าหลวง (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสมีชีวิตที่ดีขึ้น

ห้องที่ 3 "การกลับคืนสู่มาตุภูมิของราชสกุลมหิดล" ที่ห้องนี้เขียนไว้ว่า "จากดินบินสู่ฟ้า จากฟ้าคืนแผ่นดิน" ซึ่งเป็นเหตุการณ์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่สมาชิกพระองค์หนึ่งของราชสกุลนี้ต้องทรงเปลี่ยนแปลงจากชีวิตส่วนพระองค์ที่มีความสุขเรียบง่าย อิสระ มาทรงรับหน้าที่อันสูงสุด เป็นความหวังของประชาชน เสด็จนิวัติกลับคืนสู่มาตุภูมิด้วยความรับผิดชอบที่ทรงมีต่อประเทศชาติ

ฟังข้อมูลแต่ละห้องแล้ว อย่าเพิ่งเครียดกันนะครับ เพราะเขานำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ด้วยรูปแบบสื่อผสมที่ดูสนุกสนานตามแนว edutainment ที่ให้ความรู้บวกกับความสนุกไปพร้อม ๆ กัน

ต่อมาห้องที่ 4 ห้องนี้เป็นห้อง "ความทุกข์ยากของประชาชน" ที่สะท้อนความทุกข์หลายมิติของปัญหาที่คุกคามคุณภาพชีวิตของประชาชน และบั่นทอนคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำเสนอผ่านแผ่นกระดานเขาวงกตที่บอกเล่าให้เห็นถึงความทุกข์ยากของพสกนิกร

ความทุกข์ยากของพสกนิกรคลี่คลายเป็นรอยยิ้มผ่านห้องที่ 5 ห้องแบบแผนการแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนอย่างยั่งยืน ที่ประมวลพระวิสัยทัศน์ หลักการ และวิธีในการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เพื่อแก้ปัญหา โดยผ่านอุปกรณ์ธรรมดาที่ใช้ทรงงาน เช่น แผนที่ วิทยุสื่อสาร ดินสอ และกล้องถ่ายรูป บอกเล่าแนวทางการแก้ปัญหาน้ำใน 4 ภูมิประเทศ คือ บนภูเขา-ต้นน้ำ แถบที่ราบสูง-กลางน้ำ แถบที่ราบลุ่ม-ในเมือง และแถบชายฝั่งทะเลที่ได้ทรงศึกษาและทดลองใช้ได้ผลดีแล้ว ตรงนี้ดูสนุกตรงที่การใช้สื่อที่เรียกว่า shadow animation ที่เพียงนำมือไปวางตรงตัวละครที่ต้องการบนจอหนังเล็ก ๆ ตัวละครตัวนั้นก็จะดำเนินเรื่องเพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ชม

พอมาถึงห้องที่ 6 "แบบแผนการแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนบนดอยตุง" ห้องนี้สะท้อนพระวิสัยทัศน์และการทรงเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุงของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อทรงมีพระชนมายุ 87 พรรษา เพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่น ความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจบนดอยตุง

และห้องสุดท้าย "ห้องแห่งแรงบันดาลใจ" ที่สะท้อนความใกล้ชิดของสมาชิกราชสกุลมหิดล ทั้ง 5 พระองค์ ที่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทย ผลงานที่ทรงล้วนแล้วแต่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี ที่เกิดประโยชน์ ห้องสุดท้ายนี้เป็นเสมือนแรงกระเพื่อมของน้ำที่กระทบจิตใจของผู้ชม ห้องนี้ได้จัดฉายภาพยนตร์สั้น 5-7 นาที ที่ผู้กำกับทั้งมืออาชีพและสมัครเล่น ได้สร้างสรรค์ขึ้นภายใต้โครงการหยาดน้ำเพื่อชีวิตของโครงการปิดทองหลังพระ ในชุด "ในหลวงคือแรงบันดาลใจ" ทั้ง 11 เรื่องต่อเนื่องตลอดเวลา

เดินออกมาจาก "หอแห่งแรงบันดาลใจ" แล้ว สิ่งที่น่าเก็บไปตั้งคำถามกับตัวเองก็คือ เราสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ ณ ที่ตรงนี้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร

แม้ว่าเราจะเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย แต่การทำดีของเราจะเป็นเหมือนหยดน้ำที่กระเพื่อมเสริมส่งให้คนอื่น ๆ ในสังคมมีแรงบันดาลใจในการทำดีมากขึ้น

การเดินทาง

ดอยตุงอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงราย 60 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 110 ไป 45 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1149 ไปประมาณ 15 กิโลเมตร สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถประจำทาง สามารถใช้บริการรถสองแถวสีม่วงบริเวณปากทาง รถออกตั้งแต่ 07.00 น.

การเข้าชม

ดอยตุงเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.00-18.00 น. เก็บค่าเข้าชมพระตำหนักดอยตุง คนละ 70 บาท สวนแม่ฟ้าหลวง 80 บาท และหอแห่งแรงบันดาลใจ

50 บาท ติดต่อศูนย์การท่องเที่ยวและบริการ โครงการพัฒนาดอยตุง

พระตำหนักดอยตุง โทร.0-5376-7015-7 ต่อ 2230-31 หรือ www.doitung.con

สัมผัสลมหนาวคราวนี้ มาดอยตุงทั้งทีนอกจากจะแวะมาชม "หอแห่งแรงบันดาลใจ" แล้ว ที่นี่ยังมีสถานที่ที่น่าสนใจอีกมากมาย อย่างเช่น

พระตำหนักดอยตุง เรือนไม้ 2 ชั้นบนเนินต่างระดับ สถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างบ้านปีกไม้ ศิลปะล้านนา กับชาเลต์แบบสวิส (swiss chalet)

สวนแม่ฟ้าหลวง มาที่นี่อย่าลืมหยิบกล้องถ่ายรูปมาด้วย เพราะสวนที่นี่ออกแบบได้สุดยอดมาก เต็มไปด้วยแปลงไม้ดอกและไม้พุ่มจากทุกมุมโลกที่มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตามแต่ฤดูกาล

สวนรุกขชาติดอยช้างมูบ ที่นี่มีจุดชมวิวที่น่าชมอีกจุดหนึ่ง ร่มรื่นไปด้วยกลิ่นไม้สน พร้อมกับเดินชมดงกุหลาบพันปี

หมู่บ้านชาวเขา ชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าอาข่า (อีก้อ) ลาฮู (มูเซอ) ไทยใหญ่ (ฉาน) และจีนอพยพ ที่ยังคงความดั้งเดิมของวัฒนธรรมตนไว้

นอกจากนี้ ยังมีร้านกาแฟดอยตุงที่มีกาแฟอร่อย ๆ ไว้ให้ชิม และร้านดอยตุงไลฟ์สไตล์ที่ขายสินค้าดีไซน์สวยฝีมือชาวดอยตุง

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ (หน้าพิเศษ D-Life)
โดย ณัฐกร เวียงอินทร์
คอลัมน์ DESTINATION
วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4158

Views: 440

Reply to This

© 2009-2024   PORTFOLIOS*NET by CreativeMOVE.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service